คนที่จากกันไปนานบางคนยังจดจำกันได้ แต่ทว่าบางคนแม้จากกันไปเพียงไม่กี่วันก็จำกันไม่ได้แล้ว ทุกคนต้องมีญาติพี่น้องไม่มากก็น้อย บางคนเป็นญาติกันทางสายเลือด แต่บางคนเป็นญาติทางความผูกพัน แม้จะไม่ได้มีความเกี่ยวเนื่องทางสายโลหิตก็ตาม ความคุ้นเคยกันก็เป็นญาติอย่างหนึ่ง แต่ทว่าญาติที่มีส่วนเกี่ยวเนื่องกันนั้น ถึงอย่างไรก็ตัดกันไม่ขาด ไม่ได้พบน้องสาวคุณยายมานานแล้ว ในช่วงที่กลับมาเยี่ยมบ้านเกิด พอได้ข่าวน้องสาวคุณยายยังมีชีวิตอยู่จึงไม่ลังเลใจที่จะไปเยือนสักครั้ง
แดดยามเช้าค่อยๆร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ แต่ลุงเสาร์คนขับเรือกิตติมศักดิ์รับอาสาว่าจะพาไปถึงที่หมายได้อย่างแน่นอน เรือลำเล็กๆติดเครื่องยนต์ค่อยๆแหวกน้ำในบึงขนาดใหญ่ที่มองเห็นน้ำเต็มบึงสะท้อนกับแสงอาทิตย์ที่แผดแสงแรงร้อนขึ้นตามลำดับ แต่พอพ้นริมบึงจะเข้าสู่น้ำลึกเครื่องยนต์กับดับไปเฉยๆ ลุงเสาร์บอกว่าไม่เป็นไรแม้เรือจะไม่มีเครื่องยนต์ ผมก็สามารถพายเรือฝ่ากระแสน้ำเลาะเรียบตามริมบึงไปถึงจุดหมายจนได้ จากเรือยนต์เลยกลายเป็นเรือพายตั้งแต่บัดนั้น จุดหมายของการเดินทางวันนี้อยู่ที่อีกหมู่บ้านหนึ่ง หากเป็นฤดูแล้งจะใช้รถยนต์เป็นพาหนะในการเดินทาง แต่ในช่วงน้ำหลากอย่างนี้จึงต้องใช้เรือแทนรถ
เดินผ่านวัดประจำหมู่บ้าน หลวงพี่ออกมาถามว่าจะไปไหน จึงบอกว่าจะไปเยี่ยม "ยายทอง" หลวงพี่รูปนั้นบอกว่ายายทองอายุมากแล้วแต่ยังใส่บาตรทุกวัน เดินเข้าไปหน่อยก็ถึงบ้านหลังที่สี่ หลวงพี่บอกทางจากนั้นก็นั่งเรือไปตามบริเวณที่เป็นลานวัด ได้ยินหลวงพี่บอกว่า “วัดผมน้ำท่วมมาเป็นเดือนแล้ว แต่ไม่ได้เดือดร้อนอะไร น้ำท่วมทุกปีจนชินแล้วครับ ปีนี้ดีหน่อยไม่ถึงกับต้องแจวเรือบิณฑบาต”
คะเนดูน้ำจากขอบกำแพงน้ำน่าจะสูงประมาณหนึ่งเมตร บ้านเรือนที่ตั้งอยู่หลังเขื่อนพอถึงหน้าน้ำจึงท่วมอยู่ทุกปี แต่พอถึงหน้าแล้งน้ำก็ลด การย้ายวัดหนีน้ำเป็นเรื่องยาก วัดและหมู่บ้านแห่งนี้จึงยังอยู่กับน้ำมานานหลายร้อยปีแล้ว บางครั้งเพราะความคุ้นเคยจึงปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ได้ พอน้ำหลากมาก็ใช้เรือ แต่พอน้ำลดหมดหน้าน้ำก็หันมาใช้รถ เรือและรถจึงเป็นพาหนะที่หมู่บ้านย่านนี้ต้องมีไว้ประจำบ้าน
ผ่านผู้คนที่กำลังทำงานสานกระติบข้าวเหนียว ที่หมู่บ้านแถบนี้ถือเป็นอาชีพรอง ส่วนอาชีพหลักยังคงเป็นการทำประมงน้ำจืด เดินสักพักก็ถึงบ้านยายทองเป้าหมายของการเดินทางในวันนี้ ยายทองเป็นน้องสาวของยายของผู้เขียนเอง ที่ไม่ได้พบหน้ากันมานานร่วมยี่สิบปีแล้ว พอได้กลับมาเยี่ยมบ้านเกิดจึงอยากจะไปเยี่ยมสักครั้ง อาจจะเป็นครั้งสุดท้ายก็ได้ เพราะปัจจุบันยายทองอายุเก้าสิบปีแล้ว ยายทำหน้างงๆเมื่อเห็นพระสงฆ์เดินเข้าบ้านในเวลาเกือบเที่ยงวัน ยังดีที่มีลูกชายยายทองคนหนึ่งซึ่งปัจจุบันอายุร่วมเจ็ดสิบปีแล้วจำหลานชายได้ จึงค่อยๆไล่เลียงประวัติว่าเป็นลูกใคร หลานใคร ปัจจุบันอยู่ที่ไหน
ยายทองนั่งฟังอย่างสงบและมองหน้าตาไม่กระพิบ จากนั้นก็เริ่มร้องให้ น้ำตาไหลรินอาบสองแก้ม ค่อยๆขยับเข้ามาใกล้และเปลี่ยนจากร้องให้เป็นรอยยิ้ม ยิ้มทั้งที่น้ำตายังไม่แห้ง จากนั้นก็ถามนั่นถามนี่ ถามถึงพี่สาวคือยายบัวว่าอยู่ที่ไหน เมื่อบอกว่ายายบัวพี่สาวยายเสียชีวิตไปหลายปีแล้ว ยายก็ทำหน้าเศร้าก่อนจะเอ่ยเบาๆว่า “ถึงว่าพี่สาวไม่เคยกลับมาเยี่ยมเลย” ยายทองเริ่มทบทวนความจำว่า "มีพี่สาวหนึ่งคน น้องสาวสามคนและน้องชายอีกหนึ่งคน” ปัจจุบันเหลือเพียงน้องสาวคนเดียวย้ายหนีน้ำท่วมไปอยู่ที่สุโขทัย พี่น้องเหล่านั้นนานๆจะได้พบกันสักครั้ง แต่เนื่องจากยายทองอายุมากจึงจำไม่ได้
เมื่อถามว่าทำไมยายไม่ย้ายบ้านหนีน้ำท่วมเหมือนคนอื่นๆ ยายทองตอบว่า “น้ำมันมาเป็นช่วงเวลา มาเดี๋ยวเดียว เดี๋ยวก็ลด ในหนึ่งปีได้พบเห็นทั้งน้ำแล้งแห้งขอด และได้พบน้ำท่วมถือว่าเกิดมาโชคดี อีกอย่างเวลามีลูกหลานมาเยี่ยมจะได้จำได้ เพราะยายยังอยู่ที่เดิม ยายพยามทำบุญทุกวัน สิ่งที่ง่ายที่สุดก็คือการใส่บาตร ยายยังพอมีแรง ทุกเช้าจะให้หลานสาวพาไปรอพระบิณฑบาตที่หน้าบ้าน ได้เห็นพระสงฆ์แล้วรู้สึกสบายใจ ยายคงอยู่ได้อีกไม่นานแล้ว เมื่อคืนยังฝันเห็นพี่สาวและน้องชายมาเยี่ยมอยู่เลย” พูดจบยายก็ถ่มน้ำหมากทิ้ง ริมฝีปากสีแดงที่ถูกแต่งแต้มด้วยน้ำหมากพร้อมด้วยรอยยิ้มของคนชรา ดูแล้วน่ารักดี ในขณะที่หลานสาวยายทองซึ่งก็คือหลานสาวของผู้เขียนด้วย เอาแต่ยิ้มๆอย่างเดียวไมพูดไม่จา ขณะที่มือยังคงทำงานสานกระติ๊บข้าวอยู่ตลอดเวลา อาชีพนี้เป็นอาชีพอิสระทำงานทุกเวลาที่อยากทำ เธอก็เคยทำงานที่กรุงเทพฯมาก่อน แต่หนีมาก่อนน้ำท่วม เลิกอาชีพพนักงานโรงงานมาทำงานเป็นนายตัวเอง ทำได้วันละสามอันก็ขายได้วันละสามร้อยบาท บางคนขัยนหน่อยอาจทำได้วันละห้าหกอัน รายได้ดีกว่าค่าแรงขั้นต่ำที่กรุงเทพฯอีก วันนี้เธอยังสาวอีกไม่กี่ปี่ข้างหน้าหากยังมีชีวิตต่อไป เธอก็ต้องชราเหมือนกันยายทองนั่นแหละ มนุษย์หนีแก่ไม่ได้ หนีตายไม่พ้นอยู่แล้ว
การที่ได้พบญาติที่จากกันไปนานผู้ไปต่างถิ่น เมื่อกลับมาพบกันย่อมยินดีเป็นธรรมดา ส่วนผู้ที่ทำบุญไว้มากหมู่เทวดาทั้งหลายก็พร้อมที่จะเชื้อเชิญให้เข้าอยู่ในวิมานของตน มีคนดีเพิ่มขึ้นอีกคนเป็นความยินดีของเทวดา ดังเรื่องของนันทิยมาณพที่ทำบุญสร้างศาลาถวายพระพุทธเจ้า วันหนึ่งพระมหาโมคคัลลานะท่องเที่ยวไปยังวิมานของเทวดา พบเห็นปราสาทบนวิมานหลังหนึ่ง จึงถามเทวบุตรทั้งหลายว่า “ปราสาททิพย์ เต็มด้วยหมู่นางอัปสรนั่นเกิดแล้วเพื่อใคร”
เหล่าเทวบุตรจึงบอกแก่พระเถระว่า “ท่านผู้เจริญ วิมานนั่นเกิดแล้วเพื่อประโยชน์แก่บุตรคฤหบดีชื่อนันทิยะ ผู้ให้สร้างวิหารถวายพระศาสดาในป่าอิสิปตนะ” ฝ่ายหมู่นางอัปสร เห็นพระเถระนั้นแล้วพากันลงจากปราสาทกล่าวว่า “ท่านผู้เจริญ พวกดิฉันเกิดในที่นี้ด้วยหวังว่าจักเป็นนางบำเรอของนายนันทิยะ แต่เมื่อไม่พบเห็นนายนันทิยะนั้น เป็นผู้ระอาเหลือเกิน ด้วยว่าการละมนุษย์สมบัติแล้วถือเอาทิพยสมบัติก็เช่นกับการทำลายถาดดินแล้วถือเอาถาดทองคำฉะนั้น พระผู้เป็นเจ้าพึงบอกเขาเพื่อประโยชน์แก่การมา ณ ที่นี้” ตอนที่ปราสาทผุดขึ้นในวิมมานนั้น นันทิยคฤหบดียังมีชีวิตอยู่ในเมืองมนุษย์ แต่ผลแห่งบุญคือทิพยสมบัติได้เกิดรอผู้มีบุญล่วงหน้าแล้ว
เมื่อพระมหาโมคคัลลานะเถระกลับมาจากเทวโลกนั้นแล้ว จึงเข้าไปเฝ้าพระศาสดาทูลถามว่า “พระเจ้าข้า ทิพยสมบัติย่อมเกิดแก่บุคคลผู้ทำความดีที่ยังอยู่มนุษยโลกนี่เองหรือหนอ”
พระศาสดาจึงตรัสว่า “โมคคัลลานะ ทิพยสมบัติที่เกิดแล้วแก่นายนันทิยะในเทวโลก อันเธอเห็นแล้วเอง มิใช่หรือ” โมคคัลลานะ “ทิพยสมบัติ เกิดได้อย่างนั้นหรือ พระเจ้าข้า” พระศาสดาจึงตรัสกะพระเถระนั้นว่า “โมคคัลลานะ เหมือนอย่างว่า ใคร ๆ ยืนอยู่ที่ประตูเรือน เห็นบุตรหรือพี่น้อง ผู้ไปอยู่ต่างถิ่นมานาน กลับมาแต่ถิ่นที่จากไปอยู่พึงมาสู่เรือนโดยเร็ว บอกว่า “คนชื่อโน้นมาแล้ว เมื่อเป็นเช่นนั้นพวกญาติของเขา ก็ยินดีร่าเริงแล้ว ออกมาโดยขมีขมัน พึงยินดียิ่งกะผู้นั้นว่า “มาแล้ว มาแล้ว” ฉันใด เหล่าเทวดาต่างถือเอาเครื่องบรรณาการอันเป็นทิพย์สิบอย่าง ต้อนรับด้วยคิดว่า “เราก่อน เราก่อน” แล้วย่อมยินดียิ่งกะสตรีหรือบุรุษ ผู้ทำความดีไว้ ในโลกนี้ซึ่งละโลกนี้แล้วไปสู่โลกหน้า ฉันนั้นเหมือนกัน” จากนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้ทรงภาษิตพระคาถา ดังที่แสดงไว้ในปิยวรรค ธรรมบท ขุททกนิกาย (25/26/31) ความว่า “ญาติมิตร และเพื่อนผู้มีใจดี ย่อมชื่นชมต่อบุรุษผู้จากไปสิ้นกาลนาน กลับมาแล้วโดยสวัสดีแต่ที่ไกลว่ามาแล้ว บุญทั้งหลาย ย่อมต้อนรับ แม้บุคคลผู้ทำบุญไว้ ซึ่งจากโลกนี้ไปสู่โลกอื่น ดุจญาติต้อนรับญาติที่รัก ผู้มาแล้ว ฉะนั้น” ญาติต้อนรับญาติ บุญต้อนรับคนมีบุญ
มีความเชื่ออย่างหนึ่งของคนโบราณว่าหากใครเป็นเจ้าภาพสร้างพระอุโบสถ หรือศาลาการเปรียญสำเร็จบริบูรณ์มีพิธีฉลองแล้วให้ย้ายไปอยู่ที่อื่นสักพัก เพื่อทำให้ให้เทวดาลืม เพราะถ้าขืนอยู่ที่เดิมด้วยอำนาจแห่งบุญนั้น เทวดาทั้งหลายจะมาเชิญให้ไปเกิดในวิมานของตน เพราะมีปราสาทเกิดผุดขึ้นรออยู่ที่วิมานแล้ว คติความเชื่อนี้น่าจะมาจากเรื่องของนันทิยมาณพนี่เอง
วิกฤตน้ำท่วมเคยเกิดขึ้นหลายครั้งที่หมู่บ้านแถบนี้ หากใครมีที่ไปก็มักจะย้ายหนีไปอยู่ที่อื่น ที่น้ำท่วมไม่ถึง ส่วนหมู่บ้านเก่าก็มีคนใหม่ๆย้ายหนีแล้งมาอาศัยแหล่งน้ำ เป็นวัฏจักรที่หมุนเวียนจนก่อให้เกิดหมู่บ้านใหม่ๆ วิถีชีวิตของผู้คนมักจะเป็นไปในทำนองนี้ คนชนบทมาทำงานที่กรุงเทพฯและตั้งหลักปักฐานจนกลายเป็นคนกรุงเทพฯ ส่วนคนกรุงเทพฯส่วนหนึ่งก็ย้ายไปยังชนบททำมาหากินเหมือนคนชนบท นอกจากนั้นแม้แต่ฝรั่งจากยุโรปและอเมริกาก็นิยมมีภรรยาเป็นชาวบ้านในชนบทและอพยพมาอยู่อย่างถาวร ปัจจุบันจึงมักจะเห็นฝรั่งอาศัยอยู่ตามชนบททำไร่ ทำนาแถวอุดรธานี หนองบัวลำภู ขอนแก่น ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์เป็นต้นมากขึ้นทุกปี ฝรั่งเหล่านี้บางคนหลงกลิ่นไอของธรรมชาติจนไม่ยอมกลับบ้าน ส่วนบางคนพาภรรยาไปอยู่ที่ต่างประเทศ การย้ายถิ่นจึงเป็นเรื่องธรรมดา ย้ายแล้วอยู่สบายย่อมดีกว่าจะทนอยู่อย่างลำบาก
การกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดในครั้งนี้นอกจากจะได้เห็นสภาพภูมิทัศน์ที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ยังได้พบญาติผู้ใหญ่อีกหลายท่าน โดยเฉพาะยายทองญาติผู้ใหญ่จริงๆที่ยังมีชีวิตอยู่ ในช่วงนี้กรุงเทพมหานครอยู่ลำบากยากแก่การอยู่อาศัยเพราะไปไหนก็มีแต่น้ำท่วม คนที่มีญาติอยู่ต่างจังหวัดหากถือวิกฤตเป็นโอกาสก็จะได้กลับไปเยี่ยมญาติที่จากกันมานาน สงสารแต่คนที่ไม่มีที่จะไป เพราะเกิดและโตที่กรุงเทพมหานครมาโดยตลอด พอเกิดน้ำท่วมจึงไม่รู้จะอพยพไปไหน บ้านเกิดแม้จะอยู่ที่เก่า แต่เหลือไว้เพียงเงาแห่งอดีตในความทรงจำ เพราะทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว สรรพสิ่งย่อมต้องเปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดา แม้แต่ตัวเราเองก็เดินเข้าใกล้ความตายทุกเวลา
วันนั้นกว่าจะกลับถึงวัดป่าที่พักได้เวลาก็ล่วงเข้าตอนเย็นแล้ว ลุงเสาร์ยังคงพายเรือเลาะเรียบตามริมบึง พอผ่านตรงไหนที่น้ำลึกก็จะบอกให้ระวัง เพราะหากเรือล่มที่น้ำลึกก็อาจจะเป็นอันตรายได้ แต่หากถึงสถานที่แห่งใดที่น้ำตื้น ลุงเสาร์ก็จะพายเรืออย่างสบายอารมณ์ พลางขออนุญาตร้องเพลงให้ฟัง เมื่อถามว่าทำไมเรือเครื่องยนต์เสียยังอารมณ์ดีอยู่อีก ลุงเสาร์บอกว่า "วันนี้ดีใจที่ได้พบเพื่อนเก่าที่จากกันมานาน เพื่อนเก่าที่ว่าก็คือลูกชายยายทองคนนั้นนั่นเอง ผมเกณฑ์ทหารพร้อมกัน ที่ดีใจมากคือวันนี้ผมเห็นว่าเขาแก่กว่าผม ส่วนผมยังแข็งแรงสามารถพายเรือพาอาจารย์พ้นบึงมาได้ เรือเกือบจะล่มหลายครั้งแล้วแต่ผมยังประครองเรือไว้ได้ ตามปรกติผมไม่ได้พายเรือมานานแล้วเหมือนกัน ใช้แต่เรืองติดเครื่องยนต์มานานจนเคยชิน"
ยายทองทำบุญมาตลอดชีวิตบริจาคเงินสร้างกุฏิ ศาลาการเปรียญ สร้างพระอุโบสถมาหลายวัดแล้ว แต่ไม่เคยย้ายถิ่นไปไหน ยายทองก็ยังมีชีวิตอยู่ พออายุมากเข้าก็พยายามใส่บาตรแทบทุกวันเท่าที่สุขภาพจะทนทานไหว คนที่มีจิตใจใฝ่ในการทำบุญเหมือนมีทุนสำรองไม่เคยขาด วันนั้นกลับถึงกุฏิที่ซ่อนตัวอยู่ใต้หมู่แมกไม้ในบริเวณวัดป่า ที่นี่ยังรักษาธรรมเนียมปฏิบัติของหลวงปู่ขาว อนาลโยที่เคยมาพักอยู่จำพรรษาที่นี่ ก่อนที่หลวงปู่จะไปสร้างวัดถ้ำกลองเพล หนองบัวลำภู เจ้าอาวาสวัดป่าแวะมาเยี่ยมนั่งสนทนาปราศัยด้วยความเป็นกันเอง เพราะอยู่ในวัยใกล้เคียงกันนั่นเอง ก่อนกลับเจ้าอาวาสบอกว่า "หากกรุงเทพฯ น้ำไม่ท่วม ท่านก็คงไม่กลับมาเยี่ยมบ้านเกิด ไม่มาพักวัดป่า และอาจจะไม่มีโอกาสได้พบยายทองอีกเลย"
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
11/11/54