ดูเหมือนว่าสังคมไทยกำลังวุ่นวายสับสน ประชาชนคนธรรมดา คนที่มีใจเป็นกลางไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดกำลังถูกผลักดันให้เลือกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากขึ้นทุกวัน ในช่วงนี้มีข่าวของการชุมนุมของคนเสื้อแดง ในขณะที่เสื้อเหลืองยังเก็บตัวเงียบ นอกจากนั้นยังมีเครือข่ายหยุดทำร้ายประเทศไทยออกมาเคลื่อนไหวอีก ครั้นจะเลือกเสื้อเหลืองก็ไม่ชอบสันติอโศก จะเลือกเสื้อแดงก็หนีไม่พ้นการสนับสนุนทักษิณ จะเลือกข้างรัฐบาลก็ไม่ชอบการเป็นหนี้เงินกู้ แล้วคนที่ยังไม่มีข้างที่ชอบให้เลือกอย่างฉันจะทำยังไงดี
แน่นอนว่าการชุมนุมย่อมมีผลกระทบทั้งด้านการจราจรและชีวิตความป็นอยู่ของผู้คนที่ไม่มีสี ตั้งแต่คนหาเช้ากินค่ำจนกระทั่งรัฐมนตรี จะชุมนุมเรียกร้องอะไรนั้นเป็นสิทธิของแต่ละคน เพราะการที่คนจะมีความเห็นอย่างเดียวกับเรานั้นมิใช่เรื่องง่าย
ทำไมคนแต่ละคนจึงมีความคิด ความเห็นแตกต่างกัน ในพระพุทธศาสนาถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมดา สาเหตุที่ทำให้คนมีความเห็นแตกต่างกัน ดำเนินชีวิตแต่ต่างกันนั้นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งมาจากพื้นฐานทางความคิดไม่เหมือนกัน พระพุทธศาสนาเรียกว่าจริต”
คำว่า “จริต” แปลว่า จิตท่องเที่ยว สถานที่จิตชอบท่องเที่ยว หรืออารมณ์ที่ชอบท่องเที่ยวของจิตนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ มี 6 ประการดังที่ปรากฎในขุททกนิกาย มหานิเทส (๒๙/๗๒๗/๓๔๐) สรุปได้ดังนี้ ราคจริต มีราคะเป็นปกติ โทสจริต มีโทสะเป็นปกติ โมหจริต มีโมหะเป็นปกติ วิตักกจริต มีวิตกเป็นปกติ สัทธาจริต มีศรัทธาเป็นปกติ พุทธิจริต มีความรู้เป็นปกติ
คนแต่ละคนจึงมีพื้นฐานของจิตและแสดงออกตามสิ่งที่ตนชอบ ในทางปฏิบัติธรรม พระพุทธองค์ทรงแสดงกัมมัฏฐานที่เป็นอุบายสำหรับคนละแต่ละประเภทไว้ดังนี้
คนราคจริต จะมีปกติรักสวนรักงาม จิตท่องเที่ยวไปในอารมณ์ที่รักสวยรักงาม คือพอใจในรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสนิ่มนวล ชอบการมีระเบียบ สะอาด ประณีต พูดจาอ่อนหวาน เกลียดความเลอะเทอะ เวลาศึกษาและปฎิบัติธรรมจะพึงแก้ด้วยพิจารณากายคตาสติ คือพิจารณาร่างกายโยความไม่สวยไม่งาม หรืออสุภกัมมัฏฐาน พิจารณาสิ่งที่ไม่งามทั้งหลายให้ตรงข้ามกับสิ่งที่เราชอบ
คนโทสจริต มีปกติหงุดหงิดโกรธง่าย มีอารมณ์มักโกรธ เป็นคนขี้โมโหโทโส จะเป็นคนที่แก่เร็ว พูดเสียงดัง เดินแรง ทำงานหยาบ แต่งตัวไม่พิถีพิถัน เป็นคนใจเร็ว จะพึงแก้ด้วยเจริญเมตตา
คนโมหจริต มีปกติเขลางมงาย มีอารมณ์จิตลุ่มหลงในทรัพย์สมบัติ ชอบสะสมมากกว่าการจ่ายออก มีค่าหรือไม่มีค่าก็เก็บหมด นิสัยเห็นแก่ตัว อยากได้ของของคนอื่น แต่ของตนไม่อยากให้ใคร ไม่ชอบบริจาคทานการกุศล เรียกว่า เป็นคนชอบได้ ไม่ชอบให้ จะพึงแก้ด้วยเรียนและถาม ด้วยการฟังธรรมและสนทนาธรรมโดยกาลด้วยอยู่กับครู
คนวิตกจริต มีปกตินึกพล่าน มีอารมณ์ชอบคิด ตัดสินใจไม่เด็ดขาด ไม่กล้าตัดสินใจ คนประเภทนี้เป็นโรคประสาทมาก มีหน้าตาไม่ใคร่สดชื่น แก่เกินวัย หาความสุขสบายใจได้ยาก จะพึงแก้ด้วยสะกดอารมณ์เช่นเพ่งกสิณหรือเจริญอานาปานัสสติกัมมัฏฐาน
คนสัทธาจริต มีปกติเชื่อง่าย มีจิตน้อมไปในความเชื่อเป็นอารมณ์ประจำใจ เชื่อโดยไร้เหตุผล พวกนี้ถูกหลอกได้ง่าย ใครแนะนำก็เชื่อโดยไม่พิจารณา จะพึงนำไปด้วยกถาเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส เช่นกล่าวถึงคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
คนพุทธิจริตหรืออาจเรียกว่า ญาณจริตก็ได้ มีปกติใช้ความคิด เป็นคนเจ้าปัญญาเจ้าความคิด มีความฉลาด มีปฏิภาณไหวพริบ การคิดการอ่าน ความทรงจำดี จะพึงนำไปด้วยแนะให้ใช้ความคิดในทางที่ชอบเช่นให้คำนึงถึงไตรลักษณ์
อารมณ์ที่กล่าวมาทั้งหกประการนี้ บางคนมีอารมณ์ทั้งหกอย่างนี้ครบถ้วน บางรายก็มีไม่ครบ มีมากน้อยกว่ากันตามอำนาจวาสนาบารมีที่อบรมมาในชาติอดีต อารมณ์ที่มีอยู่คล้ายคลึงกัน แต่ความเข้มข้นรุนแรงไม่เสมอกันนั้น เพราะบารมีที่อบรมมาไม่เสมอกัน
จริตของมนุษย์แต่ละคนจึงไม่เหมือนกัน และแต่ละบุคคลก็อาจมีจริตได้หลายอย่างคลุกเคล้าปะปนกันมา แต่ว่าจริตใดจะมีมากออกหน้า เป็นประธาน เป็นประจำ เป็นตัวนำ เป็นเด่นกว่าจริตอื่น ก็เรียกว่าเป็นผู้มีจริตนั้น
ธรรมชาติของมนุษย์จึงมีความแตกต่างกัน แม้แต่ตัวเราเองก็ยังขัดแย้งกันภายในเพราะบางอย่างเราชอบในบางครั้ง แต่ก็เกลียดในบางคราว สิ่งที่ควรทำให้มีขึ้นในจิตคือการศึกษาหาข้อมูลให้เพียงพอ จากนั้นจึงนำมาวิเคราะห์ด้วยปัญญา ก็จะเป็นการนำไปสู่ความเข้าอกเข้าใจกัน เข้าใจเขา เข้าใจเรา เข้าใจสัจธรรม นั่นคือธรรมชาติของมนุษย์ย่อมดำรงอยู่ได้แม้ในท่ามกลางความขัดแย้ง แม้การชุมนุมจะมีผลกระทบอยู่บ้าง แต่คงไม่มาก เพราะการชุมนุมภายใต้ พ.ร.บ. ความมั่นคงที่รัฐบาลนำมาประกาศใช้คงทำอะไรได้ไม่มากนัก
สิ่งที่ทำได้ในช่วงนี้คือพยายามทำความเข้าใจทุกฝ่าย อยากให้ประเทศไทยสงบ แต่สิ่งที่ทำได้ยากที่สุดคือการทำความเข้าใจจิตใจมนุษย์นี่แหละ เพราะจิตมนุษย์สุดหยั่งคาด ถ้าเข้าใจคน ก็เข้าใจธรรมะ
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
12/03/53