เช้าวันที่ 13 ตุลาคม 2554 วัดมัชฌันติการามได้จัดงานตักบาตรเทโวโรหณะมีผู้คนมาร่วมงานพอสมควร เนื่องจากเช้าวันนั้นฝนยังคงโปรยปรายมาตั้งแต่เช้า ผู้ที่เตรียมตัวในการใส่บาตรจึงต้องนั่งกั้นร่มไปพลางแหงนดูฟ้าไปพลางไม่รู้ว่าฝนจะตกหนักหรือไม่ เพราะในช่วงนี้ฟ้าฝนเดาใจยากนึกจะตกก็ตก บางครั้งตกตลอดคืน เตรียมพร้อมไว้ก่อนเป็นดีที่สุด ยิ่งได้ข่าวว่าน้ำกำลังจะทะลักเข้ากรุงเทพฯ ใครที่มีบ้านเรือนอยู่ริมฝั่งแม่น้ำก็ต้องคอยระวัง น้ำก็คาดเดาไม่ได้อีกเหมือนกัน ไม่รู้จะท่วมเมื่อไหร่
แม้ฟ้าจะคำรณสายฝนยังคงพรำ พุทธศาสนิกชนก็ไม่ถอย ยังคงเฝ้ารอจนถึงเวลา ไม่นานนักพอแดดเริ่มเผยโฉม ลมสงบ ฝนหยุดพักผ่อนชั่วคราว ได้เวลาพระสงฆ์ออกบิณฑบาตรอบๆพระอุโบสถ สองฟากฝั่งมีผู้คนเข้าแถวรอคอยอย่างใจเย็น เพราะเจ้าอาวาสวัดมัชฌันติการามสั่งให้ประกาศว่าจะรับอาหารและสิ่งของทุกอย่างที่มีผู้มาร่วมบริจาค เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม
การตักบาตรในวันเทโวโรหณะนั้น เพื่อเป็นการระลึกถึงการเสด็จลงจากเทวโลกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งชาวพุทธเชื่อกันว่า ในพรรษาที่เจ็ดพุทธเจ้าทรงจำพรรษาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อแสดงธรรมโปรดพุทธมารดา ดังที่พระอนุรุทธได้บอกกับมหาชนที่ชุมนุมกันในสังกัสสนครดังข้อความในอรรถกถาขุททกนิกาย ธรรมบท หน้า 310 ความว่า “พระพุทธเจ้าเสด็จไปจำพรรษาที่บัณฑุกัมพลสิลา ในภพดาวดึงส์แล้วทรงแสดงอภิธรรมปิฎกแก่พระมารดา" ส่วนพุทธมารดอยู่ที่สวรรค์ชั้นดุสิตดังข้อความว่า"พระศาสดาเมื่อประทับนั่งครอบงำเทพดาทุกหมู่เหล่าด้วยรัศมีพระสรีระของพระองค์อย่างนี้ พระพุทธมารดาเสด็จมาจากวิมานชั้นดุสิต ประทับนั่ง ณ พระปรัศว์เบื้องขวา"
เจ็ดวันก่อนวันมหาปวารณา ออกพรรษา มหาชนที่เฝ้ารอการเสด็จลงจากเทวโลกของพระพุทธเจ้าได้เข้าไปหาพระมหาโมคคัลลานะเพื่อให้ไปทูลถามพระพุทธเจ้าว่าจะเสด็จลงจากเทวโลกเมื่อไหร่ ข้อความในอรรถกถาขุททกนิกาย ธรรมบท เล่ม 1 ภาค 2 ตอน 3 - หน้าที่ 316 ได้บรรยายไว้ว่า “ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ฟังถ้อยคำของพุทธศาสนิกชนแล้วรับว่า " ดีละ" แล้วดำลงในแผ่นดินตรงนั้นเอง อธิษฐานว่า " บริษัทจงเห็นเรา ผู้ไปถึงเชิงเขาสิเนรุแล้วขึ้นไปอยู่ " มีรูปปรากฏดุจด้ายกัมพลเหลืองที่ร้อยไว้ในแก้วมณีเทียว ขึ้นไปแล้วโดยท่ามกลางเขาสิเนรุ แม้พวกมนุษย์ก็แลเห็นท่านว่า " ขึ้นไปแล้วหนึ่งโยชน์ ขึ้นไปแล้วสองโยชน์ " เป็นต้น
หลังวันออกพรรษาหนึ่งวัน ในหนังสือธรรมบทได้บรรยายถึงวันพระเจ้าเปิดโลกไว้อย่างน่าสนใจว่า “พระศาสดาเสด็จจำพรรษาปวารณาแล้ว ตรัสบอกแก่ท้าวสักกะว่า "มหาบพิตร อาตมภาพจักไปสู่ถิ่นของมนุษย์" ท้าวสักกะทรงนิรมิตบันไดสามชนิดคือบันไดทองคำ บันไดแก้วมณี บันไดเงิน เชิงบันไดเหล่านั้นตั้งอยู่แล้วที่ประตูสังกัสสนคร หัวบันไดเหล่านั้นตั้งอยู่แล้วที่ยอดเขาสิเนรุ ในบันไดเหล่านั้น บันไดทอง ได้มีในข้างเบื้องขวาเพื่อพวกเทวดาบันไดเงินได้มีในข้างเบื้องซ้ายเพื่อมหาพรหมทั้งหลาย บันไดเเก้วมณีได้มีในท่ามกลางเพื่อพระตถาคต พระศาสดาประทับยืนอยู่บนยอดเขาสิเนรุ ทรงทำยมกปาฏิหาริย์ในกาลที่เสด็จลงจากเทวโลกทรงแลดูข้างบนแล้ว สถานที่อันพระองค์ทรงแลดูแล้วทั้งหลายได้มีเนินเป็นอันเดียวกันจนถึงพรหมโลก ทรงแลดูข้างล่าง สถานที่อันพระองค์ทรงแลดูแล้ว ได้มีเนินเป็นอันเดียวกันจนถึงอเวจี ทรงแลดูทิศใหญ่และทิศเฉียงทั้งหลาย จักรวาลหลายแสนได้มีเนินเป็นอันเดียวกันเทวดาเห็นพวกมนุษย์ แม้พวกมนุษย์ก็เห็นพวกเทวดา พวกเทวดาเเละมนุษย์ทั้งหมดต่างเห็นกันแล้วเฉพาะหน้าทีเดียว พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งพระฉัพพรรณรังสีไปแล้ว มนุษย์ในบริษัทซึ่งมีปริมณฑล 36 โยชน์แม้คนหนึ่งเมื่อแลดูสิริของพระพุทธเจ้าในวันนั้นแล้วชื่อว่าไม่ปรารถนาความเป็นพระพุทธเจ้า มิได้มีเลย
ถ้าหากใครคนใดก็ตามได้พบเห็นเหตุมหัศจรรย์เห็นปานนั้นแล้ว ก็ยากที่จะไม่ตั้งความปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า เพราะมีแต่พระพุทธเจ้าเท่านั้นที่จะสามารถแสดงปาฏิหาริย์อย่างนั้นได้
ในการเสด็จลงจากเทวโลกนั้นมีบรรยายต่อไปว่า “พวกเทวดาลงทางบันไดทอง พวกมหาพรหมลงทางบันไดเงิน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จลงทางบันไดแก้วมณี เทพบุตรนักฟ้อนชื่อปัญจสิขะ ถือพิณสีเหลืองดุจผลมะตูมยืนอยู่ณ ข้างเบื้องขวา ทำบูชาด้วยการฟ้อนแด่พระศาสดาลงมา มาตลิสังคาหกเทพบุตรยืน ณ ข้างเบื้องซ้าย ถือของหอมระเบียบและดอกไม้อันเป็นทิพย์นมัสการอยู่ทำบูชาแล้วลงมา ท้าวมหาพรหมกั้นฉัตร ท้าวสุยามถือพัดวาลวิชนี พระศาสดาเสด็จลงพร้อมด้วยบริวารนี้หยุดประทับอยู่ที่ประตูสังกัสสนคร
นัยว่าในวันนั้นมนุษย์ที่อยู่ในเมืองสังกัสสนครมองเห็นเทวดาและพรหมทั้งหลาย เพราะอิทธิฤทธิ์ของพระพุทธเจ้าและหมู่เทวดา ในปัจจุบันวัดใดที่ตั้งอยู่บนยอดเขาก็จะจำลองการเสด็จลงจากเทวโลกของพระพุทธเจ้า พร้อมทั้งมีพระสงฆ์เดินบิณฑบาตลงมาจากยอดเขา เป็นการจำลองภาพที่น่าดูอย่างยิ่ง ที่โด่งดังมากที่สุดแห่งหนึ่งคือวัดพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี เพราะมีทำเลตั้งอยู่บนยอดเขา ภาพพระสงฆ์ที่เดินบิณฑบาตลงมาตามบันไดเป็นภาพที่ทั้งงดงามและแฝงไปด้วยความศักดิ์สิทธิ์ แต่หากวัดใดไม่มีทำเลอย่างนั้นก็สามารถจำลองเทวดาเดินนำหน้า และพระสงฆ์เดินบิณฑบาตรอบพระอุโบสถก็ได้ความรู้สึกเหมือนนำลังได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าพร้อมกับหมู่เทวดาเหมือนกัน
เมื่อพระพุทธเจ้าพระบาทแตะพื้น พระสารีบุตรเถระอัครสาวกเบื้องขวาได้เข้ามาถวายบังคมพระศาสดา เพราะเหตุที่พระศาสดาเสด็จลงด้วยพุทธสิริเห็นปานนั้น พระสารีบุตรไม่เคยเห็นแล้วมาก่อน จึงประกาศความยินดีของตนด้วยคาถา " พระศาสดาผู้มีถ้อยคำอันไพเราะทรงเป็นอาจารย์แห่งคณะเสด็จมาจากดุสิตอย่างนี้ เรายังเคยไม่เห็น หรือไม่ได้ยินต่อใคร ในกาลก่อนแต่นี้ พระเจ้าข้า วันนี้เทวดาและมนุษย์แม้ทั้งหมดย่อมกระหยิ่มปรารถนาต่อพระองค์ "
พระศาสดาตรัสกะท่านว่า "สารีบุตรชื่อว่าพระพุทธเจ้าผู้ประกอบพร้อมด้วยคุณเห็นปานนี้ย่อมเป็นที่รักของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายโดยแท้ จากนั้นได้แสดงคาถาว่า "พระสัมพุทธเจ้าเหล่าใดเป็นปราชญ์ ขวนขวายในฌาน ยินดีแล้วในธรรมที่เข้าไปสงบด้วยสามารถแห่งการออก, แม้เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ก็ย่อมกระหยิ่มต่อพระสัมพุทธเจ้าเหล่านั้น ผู้มีสติ”
พระสารีบุตรบอกว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาจากสวรรค์ชั้นดุสิต ตามตำราบอกว่าพระพุทธจ้าเสด็จจำพรรษาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ส่วนพุทธมารดาเป็นเทพบุตรอยู่ที่สวรรค์ชั้นดุสิต เรื่องของการแสดงฤทธิ์คนไม่มีฤทธฺ์อย่าคิดมากเดี๋ยวจะปวดหัวและมีส่วนแห่งความเป็นบ้าได้ง่าย ข้อความในอรรถกถา ธรรมบทแสดงไว้ว่า “พระศาสดาเสด็จไปโปรดพระมารดาชั้นดาวดึงส์ ครั้งนั้นพระศาสดาประทับนั่งในท่ามกลางเทวบริษัท ทรงปรารภพระมารดาเริ่มตั้งอภิธรรมปิฎกว่า "กุสลา ธมฺมา อกุสลา ธมฺมา,อพฺยากตา ธมฺมา " ดังนี้เป็นต้น ทรงแสดงอภิธรรมปิฎกโดยนัยนี้ เรื่อยไปตลอดสามเดือน ก็แลทรงแสดงธรรมอยู่ในเวลาภิกษาจารทรงนิรมิตพระพุทธนิรมิต ด้วยทรงอธิษฐานว่า "พุทธนิรมิตนี้จงแสดงธรรมชื่อเท่านี้จนกว่าเราจะมา " แล้วเสด็จไปป่าหิมพานต์ ทรงเคี้ยวไม้สีฟันชื่อนาคลตา บ้วนพระโอษฐ์ที่สระอโนดาต นำบิณฑบาตมาแต่อุตตรกุรุทวีป ได้ประทับนั่งทำภัตกิจในโรงกว้างใหญ่แล้ว พระสารีบุตรเถระไปทำวัตรแต่พระศาสดาในที่นั้น พระศาสดาทรงทำภัตกิจแล้ว ตรัสแก่พระเถระว่า " สารีบุตร วันนี้เราภาษิตธรรมชื่อเท่านี้ เธอจงบอกแก่ภิกษุห้าร้อยรูปนิสิตของตน " กุลบุตรห้าร้อยเลื่อมใสยมกปาฏิหาริย์ จึงบวชในสำนักของพระสารีบุตร
ครั้นตรัสแล้วพระพุทธเจ้าเสด็จไปสู่เทวโลก ทรงแสดงธรรมเองต่อจากที่พระพุทธนิรมิตแสดง แม้พระเถระก็ไปแสดงธรรมแก่ภิกษุเหล่านั้น ภิกษุเหล่านั้น เมื่อพระศาสดาเสด็จอยู่ในเทวโลกนั้นแล ได้เป็นผู้ชำนาญในปกรณ์เจ็ดแล้ว
ดังนั้นชาวพุทธในยุคต่อมาจึงเชื่อกันว่าพระพุทธเจ้าได้เสด็จขึ้นจำพรรษายังเทวโลกเพื่อแสดงธรรมแก่พุทธมารดาตลอดพรรษาเป็นเวลาติดต่อกันสามเดือน ในวันที่พระพุทธองค์เสด็จลงจากเทวโลกพุทธบริษัทจำนวนมากต่างก็เฝ้ารอการกลับมาของพระพุทธเจ้า จึงเป็นประเพณีนิยมเกิดเป็นการทำบุญหลังวันออกพรรษาหนึ่งวันเรียกว่า "วันเทโวโรหณะ" หากแปลตามตัวอักษรก็จะได้ความว่า “วันเสด็จลงจากเทวโลก” หรือชาวพุทธส่วนหนึ่งนิยเรียกกันว่า “วันพระเจ้าเปิดโลก”
ในวันตักบาตรเทโวโรหณะออกพรรษาปีนี้ ทางวัดมัชฌันติการามได้ประกาศให้ทุกคนทราบว่า “สิ่งของทั้งหมดที่ได้จากงานวันนี้จะนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม พระสงฆ์ก็บิณฑบาตด้วยใจที่เป็นกุศล คนที่มาใส่บาตรก็กระทำด้วยจิตกรุณาคืออยากให้คนอื่นพ้นจากความทุกข์ที่กำลังประสบอยู่ในขณะนี้
การตักบาตรในวันเทโวโรหณะพึ่งเสร็จสิ้นไปไม่นานนัก ผู้คนกำลังทะยอยกลับบ้าน อีกส่วนหนึ่งกำลังช่วยกันคัดแยกสิ่งของเครื่องใช้ให้เป็นหมวดหมู่เพื่อสะดวกในการขนย้าย ฟ้าก็เริ่มครึ้มส่งเสียงคำรามมาอีก ไม่นานนักฝนก็ค่อยๆโปรยปรายลงมาและเริ่มแรงขึ้นเรื่อยๆ เหมือนฝนให้โอกาสคนทำบุญ เพราะหากตกลงมาในช่วงพระสงฆ์บิณฑบาต คงลำบากทั้งสองฝ่าย
ปีนี้พุทธศาสนิกชนวัดมัชฌันติการาม แม้จะรวบรวมสิ่งของได้ไม่มากนัก การช่วยเหลือก็คงไปได้ไม่ทั่วถึง แต่ทว่าน้ำใจที่คิดจะช่วยเหลือคนอื่นนั้นยิ่งใหญ่นัก ขอเอาใจช่วยผู้ที่กำลังประสบภัยค่อยๆคิด ปัญหาทุกอย่างมีทางออก ผู้เขียนเดินขึ้นกุฏิเปิดบาตรจะฉันอาหาร ในบาตรมีข้าวต้มมัดสามมัด ข้าวต้มโยนอีกสองลูกและบะหมี่สำเร็จรูปอีกหนึ่งห่อ แต่นั่นเป็นภัตตาหารเช้าที่ฉันแล้วรู้สึกอร่อยและอิ่มที่สุดในหลายเดือนที่ผ่านมา
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
14/10/54