การจัดการเรียนการสอนแผนกนักธรรมของคณะสงฆ์ไทย กำหนดให้มีการสอบปีละหนึ่งครั้ง ไม่มีการสอบซ่อม หากสอบตกก็ต้องรอสอบใหม่ในปีต่อไป ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนๆเขียนอธิบายอย่างเดียว การจัดการเรียนการสอนเป็นหน้าที่ของแต่ละวัด แม่กองธรรมสนามหลวงมีหน้าที่จัดสอบ ออกข้อสอบ ตรวจข้อสอบ คนสอนไม่ได้ออกข้อสอบ คนตรวจข้อสอบก็ไม่ได้สอน ต้องวัดดวงกันใครที่สอบนักธรรมผ่านถือว่ามีภูมิรู้พอสมควร งานของพระภิกษุสามเณรที่สำคัญอย่างหนึ่งคือการศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม ซึ่งเป็นพื้นฐานของการปฏิบัติที่ถูกต้อง
ในขณะที่นักเรียนวัดมัชฌันติการามกำลังสอบนักธรรมสนามวัดเพื่อเตรียมความพร้อมและทดสอบความรู้ของนักเรียนก่อนที่จะเข้าสอบสนามหลวงในวันที่ 6 ตุลาคม 2554 ที่จะถึงในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ การสอบนักธรรมชั้นนวกะหรือนักธรรมชั้นตรีปัจจุบันกำหนดสอบก่อนออกพรรษา เพราะในอดีตมีปัญหาว่านักเรียนมักจะอยู่ไม่ถึงวันสอบซึ่งกำหนดไว้หลังวันลอยกระทง กองธรรมสนามหลวงจึงกำนหนดสอบนักธรรมชั้นตรีก่อนออกพรรษา ส่วนนักธรรมชั้นโทและเอกยังคงสอบตามกำหนดเดิม
สำนักศาสนศึกษาวัดมัชฌันติการามจัดการศึกษาทั้งแผนกนักธรรมและบาลี เรียนทุกวันภาคเช้าเรียนนักธรรม ส่วนตอนเย็นเรียนบาลี แม้จะมีนักเรียนไม่มากแต่ก็ยังมีการจัดการเรียนการสอนตามปกติ ส่วนแผนกธรรมศึกษาทางวัดได้ร่วมกับโรงเรียนวัดมัชฌันติการามจัดสอบธรรมศึกษาในปีนี้มีนักเรียนเข้าสอบธรรมศึกษาชั้นตรี โท เอกจำนวนเกือบ 200 คน
นักเรียนกำลังก้มหน้าก้มตาทำข้อสอบ แม้จะเป็นการสอบสนามวัดแต่ก็ทำเหมือนสอบสนามหลวงทุกประการ ครูสอนในแต่ละชั้นไม่มีสิทธิออกข้อสอบ ผู้ที่ออกข้อสอบไม่ได้สอน นักเรียนจึงเก็งข้อสอบไม่ถูก เหมือนกับการสอบธรรมสนามหลวงที่แต่ละสำนักจัดการเรียนการสอนเอง ผู้ที่ออกข้อสอบก็ไม่รู้เป็นพระเถระรุปใด และผู้ตรวจก็ไม่รู้เป็นใคร ทุกคนทำหน้าที่กันไป การเรียนและการสอบแบบนี้เก็งข้อสอบยาก เพราะไม่รู้ท่านจะออกข้อสอบตรงไหน อย่างไร
ในขณะที่นักเรียนกำลังสอบจู่ๆพระเทพโมลี เจ้าคณะเขตดุสิตเดินทางมาเยี่ยมโดยไม่ได้แจ้งข่าว ท่านอยากดูสภาพที่แท้จริงว่ามีการจัดการเรียนการสอนจริงหรือไม่ ตอนนั้นพอเห็นหน้าเจ้าอาวาสท่านจึงบอกให้หากล้องถ่ายภาพเก็บภาพไว้ กล้องเก็บเข้าตู้ไม่ได้ใช้งานมานานแล้ว สิ่งที่ไม่ได้เตรียมพร้อมยากที่จะทันการณ์ แต่ก็พอทันถ่ายภาพไว้ได้ บางทีภาพๆเดียวอาจจะแทนคำอธิบายที่เป็นตัวอักษรตั้งร้อยคำพันคำก็ได้
พระเดชพระคุณได้เมตตาแนะนำว่า การเรียนนักธรรมควรใช้หนังสือของพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรสเป็นหลัก ส่วนหนังสืออื่นๆใช้ประกอบได้ เมื่อท่านถามถึงการเรียนแผนกบาลีจึงกราบเรียนท่านไปว่ายังคงเรียนตามปกติ เลิกเรียนประมาณสามทุ่ม ในฐานะครูใหญ่นอกจากจะทำหน้าที่ดูแลนักเรียนแล้วก็ยังทำหน้าที่สอนทั้งพระนวกะภาคเช้าและบาลีภาคเย็น วันหนึ่งสอนสองรอบ ครูสอนนักธรรมพอหาได้ แต่ครูสอนบาลีหายาก
เจ้าคณะเขตแนะนำว่า “ทั้งนักธรรมและบาลีเป็นหน้าที่ที่พระภิกษุสามเณรจะต้องเรียน เป็นหน้าที่โดยตรง เพราะหากไม่เรียนก็จะไม่รู้ ไม่ดูก็ไม่เห็น เมื่อไม่มีความรู้ก็ไม่รู้จะไปสอนใครเขาได้ นักธรรมคือความรู้พื้นฐานของพระภิกษุสามเณรให้ถือว่าเป็นหน้าที่สำคัญต้องรักษาไว้ วันนี้ดีใจที่ได้มาเห็นนักเรียนตั้งใจทำข้อสอบ แม้จะเป็นการสอบสนามวัดก็ตามที”
หน้าที่ของพระภิกษุสามเณรสรุปได้ว่า “ศึกษาเล่าเรียน พากเพียรปฏิบัติ สันทัดในการสอน ไม่สั่นคลอนศรัทธา” วัดมัชฌันติการามมีการเรียนการสอนทุกวัน ในวันธัมมัสสวนะมีการแสดงธรรมสี่กัณฑ์เช้าสองรอบ บ่ายอีกสองรอบ ในตอนกลางคืนยังมีการสวดมนต์นั่งสมาธิภาวนาโดยมีอุบาสกอุบาสิกามาร่วมปฏิบัติธรรมและรักษาอุโบสถศีลตลอดวันหนึ่งคืนหนึ่งทุกวันพระตลอดปี พระเณรที่วัดนี้จึงมีโอกาสแสดงธรรมทุกรูปโดยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันในวันพระ แม้จะยังไม่เห็นผลเพราะบางรูปก็ยังอ่านหนังสือไม่ค่อยถูกต้องตามอักขระเท่าใดนัก แต่ก็เป็นการฝึกฝนอบรมไปในตัว
ในงานเทศน์มหาชาติที่จะมาถึงในวันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน 2554 นี้ ได้คัดเลือกพระภิกษุสามเณรภายในวัดให้เป็นองค์แสดงธรรม ปัจจัยที่ได้จากการเทศน์มหาชาตินำมาเป็นงบประมาณในการจัดการศึกษาทั้งแผนกนักธรรม ธรรมศึกษาและบาลี ปัจจัยที่ศรัทธาญาติโยมบริจาคมาจึงไม่สูญเปล่า นำปัจจัยจากงานมหาชาติมาใช้ในการสร้างพระภิกษุสามเณรเพื่อให้เป็นบุคคลากรในการรักษาพระพุทธศาสนาต่อไป งานเทศน์มหาชาติปีนี้ "เทศน์ทำนองธรรมวัตร" เริ่มตั้งแต่หกโมงเช้าถึงหกโมงเย็น ใครว่างจะแวะมาเยือนขอเชิญได้
พอพระเทพโมลีกลับไปแล้ว สามเณรบิวนักธรรมชั้นตรีหันมาถามว่า “หลวงพ่อครับธรรมคุ้มครองโลกคืออะไร”
จึงตอบไปว่า “วันนี้หลวงพ่อตอบไม่ได้ หากอยากจะรู้จริงๆต้องถามหลังสอบเสร็จ”
สามเณรบิวก้มหน้าก้มตาทำข้อสอบต่อไปแต่ได้ยินสามเณรบิวบ่นเบาๆว่า “วันนี้หลวงพ่อโง่กว่าผม ตอบคำถามง่ายๆก็ไม่ได้”
วันนี้เห็นรอยยิ้มของพระเทพโมลีเจ้าคณะเขตดุสิตและรอยยิ้มของเจ้าอาวาสวัดมัชฌันติการามที่ได้มาเห็นนักเรียนกำลังทำหน้าที่ของการเป็นนักเรียนที่ดี ในฐานะครูใหญ่ก็พลอยยินดีไปด้วย
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
21/09/54