มีผู้อ่านท่านหนึ่งส่งเรื่อง "อีคิวในพุทธธรรม" มาให้ อ่านแล้วได้ความรู้ไปอีกแบบ เรื่องของอีคิวมาคู่กับไอคิว เรื่องของไอคิวได้ยินมานานแล้ว ใครที่ฉลาดปราดเปรื่องมักจะได้ชื่อว่าคนมีเชาว์ปัญญา มีทักษะการเรียนรู้ที่รวดเร็ว ส่วนเรื่องอีคิวว่าด้วยเรื่องของการควบคุมอารมณ์ หากเรียนรู้ได้เร็วแต่ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ แม้จะฉลาดก็อยู่ในสังคมได้ยาก คนฉลาดบางคนจึงมักจะเป็นคนที่ค่อนข้างจะมีปัญหาทางด้านอารมณ์เข้ากับใครเขาไม่ค่อยได้ แต่ถ้าฉลาดแล้วควบคุมอารมณ์ได้ดีก็จะกลายเป็นคนที่ฉลาดและเฉลียว หรือจะเรียกรวมกันว่า "คนฉลาดเฉลียว" ความเห็นในบทความเรื่องนี้เป็นความเห็นของผู้เขียนที่ใช้นามว่า "จิรเดช อรชุน" ขอเชิญอ่านและพิจารณาตามสะดวก
อีคิวในพุทธธรรม
E.Q คำ ๆ นี้หลายคนคงได้ยินกันมานานในแวดวงวิชาการ หรือนักจิตวิทยาเดิมทีเดียวคนที่ให้กำเนิดก็คือ นายแดเนียล โกลด์แมน ซึ่งเป็นนักจิตวิทยาชาวอเมริกัน อีคิวชื่อเต็มคือ Emotional Quotient หมายถึง ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ หรือความฉลาดด้านอารมณ์ นักวิชาการบางกลุ่มเรียกว่าวุฒิภาวะทางอารมณ์ เชาวน์อารมณ์ ก็คงไม่ผิดเพราะยังไม่มีคำเรียกเป็นภาษาไทยอย่างเป็นทางการ และมีคำที่ใช้ควบคู่กันซึ่งเป็นที่รู้จักมักคุ้นกันดีคือ I.Q ไอคิวย่อมาจากคำว่า Intelligence Quotient ซึ่งหมายถึงความสามารถทางด้านสติปัญญา พูดง่าย ๆ ก็คือ มีทักษะการเรียนรู้ได้รวดเร็ว ถูกต้องและแม่นยำ
การที่บุคคลจะประสบกับความสำเร็จนั้นหากจะมองเรื่องของความสามารถแล้วหรือเรื่องของไอคิวก็ตามทีสิ่งที่เป็นปัจจัยพลักดันอีกแรงหนึ่งซึ่งไม่ควรมองข้ามก็คือ อีคิวหรือความฉลาดทางด้านอารมณ์จากการสำรวจของนักวิจัยทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศรวมทั้งการติดตามผลพฤติกรรมของบุคคลตั้งแต่เรียนในระดับประถมจนกระทั่งจบมหาวิทยาลัย และมีครอบครัวพบว่า คนที่มีไอคิวดีไม่ใช่เป็นเครื่องการันตีได้ว่าจะประสบความสำเร็จในชีวิตก็หาไม่ มีรายงานวิจัยที่ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งได้ติดตามนักเรียนโรงเรียนแห่งหนึ่งในรัฐอิลินอยส์จำนวน 81 คน ที่มีผลการเรียนดีเยี่ยม ภายหลังเรียนจบจากมหาวิทยาลัยแล้วเป็นระยะเวลา 10 ปี คณะวิจัยได้ติดตามผลของไอคิวว่าจะประสบความสำเร็จในชีวิตและหน้าที่การงานมากน้อยเพียงใด ในที่สุดก็พบว่ามีเพียง 25 คนหรือ 20 % ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานและครอบครัวส่วนที่เหลืออีก 56 คน หรือ 45 % กลับตรงกันข้ามซึ่งหมายถึงประสบความล้มเหลวในชีวิตและหน้าที่การงาน อีคิวนับว่ามีบทบาทมากในยุคโลกาภิวัตน์เพราะเป็นสังคมที่ไร้พรมแดนขับเคลื่อนอยู่ตลอดเวลาการปะทะสังสรรค์ทางสังคมย่อมเกิดขึ้นอยู่เนือง ๆ ผู้ที่รู้จักหรือเข้าใจอารมณ์ของตนเองและบุคคลอื่นย่อมสามารถครองตน ครองคนและครองงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ภายหลังที่เจ้าชายสิทธัตถะได้เสด็จออกบวชบำเพ็ญภาวนาจนกระทั่งค้นพบสัจธรรมอันล้ำเลิศตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ และได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณสั่งสอนเวไนยสัตว์เพื่อจะได้หลุดพ้นจากวัฏจักรแห่งการเกิด แก่ เจ็บและตายหลักธรรมคำสอนของพระองค์นับว่ามีความสุขุมคัมภีรภาพซึ่งบุคคลสามารถน้อมนำไปประพฤติปฏิบัติได้ตามความเหมาะสมหรือตามจริตของแต่ละบุคคล หากบุคคลนั้นพยายามทำตนเองไม่ให้เหมือนกับชาล้นถ้วยก็ยังพอมีทางที่จะได้รับความสุขบ้าง
หลักธรรมที่พระองค์ทรงแสดงมาแล้วกว่าสองพันปียังคงนำมาใช้ หรือประยุกต์ให้เข้ากับวิถีชีวิตในปัจจุบันเริ่มตั้งแต่ตนเอง ครอบครัวสังคมและประเทศชาติหลักธรรมที่ว่านี้ก็คือพรหมวิหารสี่ซึ่งสอดคล้องกับอีคิวของนักวิชาการทางด้านจิตวิทยา
พรหมวิหารสี่หมายถึง หลักธรรมที่ใช้สำหรับอยู่ร่วมกันในสังคมประกอบไปด้วย เมตตาคือ ความรัก กรุณาคือ ความสงสาร มุทิตาคือ ความยินดีที่บุคคลอื่นประสบความสำเร็จและอุเบกขาคือ ความวางเฉย รู้จักรอเวลาที่ยังมาไม่ถึงทั้งสี่ประการเกิดจากพลังขับเคลื่อนภายในจิตใจซึ่งได้ผ่านกระบวนการที่ได้ขัดเกลาหรือชำระซักฟอกด้วยอำนาจหรือพลังของศีล สมาธิและปัญญาจนกระทั่งอารมณ์ของบุคคลนั้นเกิดความสามารถหรือตระหนักรู้ (Self-awareness) ซึ่งเป็นแรงพลักดันให้เกิดคุณสมบัติทั้งสองประการอย่างยิ่งยวด ได้แก่ พลังอารมณ์แห่งความดีหมายถึง ความฉลาดในการควบคุมตนเอง รู้จักรักษาสัมพันธภาพต่อส่วนรวม เข้าใจและยอมรับอารมณ์ของตนเองและบุคคลอื่นรวมทั้งรู้จักสลายอารมณ์ที่ไม่สร้างสรรค์ออกไปจากจิตใจ สามารถตัดสินใจหรือวางแผนแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ มีความยืดหยุ่นเหมาะสมกับสถานการณ์ ถ้อยทีถ้อยอาศัยซึ่งกันและกัน และประการสุดท้ายคือ พลังแห่งความสุขหมายถึง ความฉลาดในการดำเนินชีวิต ภูมิใจในชีวิตของตนเอง พอเพียงในฐานะของตนเอง เข้าใจและยอมรับในจุดเด่น จุดด้อยของตนเอง มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี มีน้ำใจ มองโลกในแง่ดีไม่หวั่นไหวมีความมั่นคงในอารมณ์ที่มากระทบ หรือที่เรียกว่าใจเย็น ๆ มีอารมณ์ขันสนุกกับชีวิตและมีกิจกรรมที่เสริมสร้างความสุขให้กับตนเองและสังคม
องค์ประกอบของอีคิวพอสรุปได้สองประการ ประการที่หนึ่งคือ การรู้จักบริหารจัดการกับอารมณ์ตนเองได้ดีและประการสุดท้ายคือ การรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา เพราะเหตุนั้นจากงานวิจัยที่ผ่านมาเป็นตัวบ่งชี้ว่าบุคคลที่มีไอคิวสูงมักจะประสบกับความล้มเหลวในชีวิตเพราะมีวุฒิภาวะทางด้านอารมณ์ต่ำ หรือมีอีคิวต่ำทำให้บุคคลนั้นไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ เช่น ปัญหาการฆ่าตัวตายก็เป็นส่วนหนึ่งที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทยเพราะขาดทักษะในการบริหารจัดการกับอารมณ์ของตนเอง การที่บุคคลขาดขันติ หรือขาดความอดทนต่อสถานการณ์ที่ถูกกดดันรวมทั้งไม่เข้าใจความรู้สึก หรือความต้องการของบุคคลอื่น มุ่งแต่สนองความต้องการของตนเองเป็นใหญ่โอกาสที่จะเกิดความขัดแย้งจึงมีสูง ขาดทักษะในการสื่อสารกับบุคคลอื่นหรือบุคคลรอบข้างได้ไม่ดีพอ ภาษาธรรมเรียกว่าขาดปิยวาจาคือ การเจรจาที่ไม่ไพเราะเสนาะหูนั้นเอง หรือการเจรจาที่ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเกิดอารมณ์ที่ผูกอาฆาตพยาบาทซึ่งไม่เป็นไปเพื่อความสมานฉันท์
ท่านผู้อ่านคงเริ่มมองเห็นภาพของอีคิวแล้วนะครับ ณ ปัจจุบันยังไม่มีแบบวัดที่ได้มาตรฐานเพราะบริบททางสังคมและวัฒนธรรมในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน ยังคงใช้เครื่องมือจากการรู้จักสังเกตบุคคลอื่นหรือบุคคลรอบข้างเมื่อบุคคลนั้นมีอารมณ์ผ่านเข้ามากระทบจิตใจย่อมจะแสดงพฤติกรรมต่าง ๆ นั้นออกมาไม่ว่าจะดีหรือตรงข้ามย่อมขึ้นอยู่กับความฉลาดทางด้านอารมณ์ของบุคคลนั้น ๆ ที่จะเป็นเสมือนเบรคห้ามล้อ หรือสติคอยสกัดกั้นอารมณ์ที่ไม่สร้างสรรค์ซึ่งผ่านเข้ามากระทบทางอายตนะต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ทางตา หู จมูก ลิ้น กายและจิตใจ
ท่านใดอยากจะมีอีคิวที่ดีก็ลองมาศึกษาธรรมะดูบ้างโดยเฉพาะการปฏิบัติธรรมเจริญจิตภาวนาเพราะสิ่งนี้เป็นอุปกรณ์ที่จะไปสลายหรือลดระดับกิเลส ทำลายล้างสัญชาติญาณฝ่ายต่ำไม่ว่าจะเป็นอารมณ์โกรธ หรือความเห็นแก่ตัวซึ่งนับวันสังคมไทยกำลังเผชิญอยู่ สังคมใดก็ตามถ้ารู้จักจัดบริหารจัดการกับอารมณ์ของตนเองในเบื้องต้นพยายามที่จะแสดงพฤติกรรมอันเหมาะสมหรือสร้างสรรค์ออกมา ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เชื่อได้ว่าสถาบันครอบครัว องค์กร หรือหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งประเทศชาติและสังคมโลกย่อมได้รับความสุข และความสมานฉันท์ย่อมเกิดขึ้นเป็นแน่แท้
จิรเดช อรชุน
มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี
20/08/54
หมายเหตุ: หากใครอยากร่วมเสนอสาระในเว็บไซต์ไซเบอร์วนารามยินดีเป็นสื่อกลางนำเสนอให้ (เขียนฟรีเสนอเป็นธรรมทาน)
ขอเชิญส่งเรื่องมาได้ที่