ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

       เด็กมักจะคิดและทำอะไรตามความรู้สึกนึกคิดคือคิดอยากทำอะไรก็ทำทันทีไม่ต้องถามหาความผิดหรือความถูกต้อง ส่วนผู้ใหญ่จะทำอะไรมักจะไตร่ตรองโดยรอบคอบบางคนคิดแล้วคิดอีก จนบางครั้งได้แต่คิดโดยไม่ได้ลงมือกระทำเลย เด็กกับผู้ใหญ่จึงมีจิตต่างกัน ถ้าหากผู้ใหญ่มีจิตที่คิดแบบเด็ก แต่กระทำแบบผู้ใหญ่จะเกิดอะไรขึ้น ในโลกนี้มีคนคิดแบบนี้จริงๆ
 

       บุคคลที่มีชื่อเสียงโด่งดังระดับโลกท่านหนึ่ง เขาผลิตสินค้าภายใต้สัญลักษณ์รูปแอปเปิลขายทั่วโลก เป็นสินค้าที่มีคุณภาพที่ทุกคนอยากได้ สินค้าของเขามีคุณภาพดีเยี่ยมก็จริง แต่ราคากลับแพงอย่างน่ากลัว เช่นคอมพิวเตอร์โน็ตบุ๊คเครื่องหนึ่งภายใต้เครื่องหมายการค้าแอปเปิล ราคาอาจจะเพียงพอสำหรับซื้อคอมพิวเตอร์ยี่ห้ออื่นได้ถึงสามเครื่อง  มีผู้กล่าวอ้างว่านักออกแบบกราฟฟิคที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์จะต้องรู้จักชื่อของเขาชายผู้แต่งตัวธรรมดา แต่ขายสินค้าราคาแพงชื่อของเขาคือสตีฟ จ๊อบส์ ผู้บริหารระดับสูงบริษัทแอปเปิล คอมพิวเตอร์ ที่มีสินค้าที่กำลังครองตลาดเทคโนโลยีในปัจจุบันที่ผู้คนอยากได้คือไอโฟน ไอแพต บางคนอยากเป็นเจ้าของมากถึงกับลุงทุนขายไตเพื่อนำเงินมาซื้อไอแพตเลยทีเดียว

 

       สตีฟ จ๊อบส์ บอกว่าเข็มทิศในการทำงานข้อหนึ่งคือ “จิตของผู้เริ่มต้น” เขากล่าวในหนังสือ “เป็นที่หนึ่งไม่เหมือนใคร สไตล์ สตีฟ จ๊อบส์” ตอนหนึ่งว่า “มีคำพูดในพระพุทธศาสนาว่าจิตของผู้เริ่มต้นมันเป็นสิ่งมหัศจรรย์อย่างยิ่งที่ทุกคนควรจะมีจิตของผู้เริ่มต้น” เขาอธิบายต่อไปว่า “มันเป็นจิตที่มองเห็นทุกสิ่งทุกอย่างตามความเป็นจริง ซึ่งค่อยๆทำให้เราตระหนักถึงแก่นแท้ของสิ่งเหล่านั้น จิตของผู้เริ่มต้นก็คือการนำหลักการของเซนมาปฏิบัติจริง เป็นจิตพิสุทธิ์ที่ปราศจากอคติ การคาดหวัง การตัดสิน ความลำเอียง ให้คิดว่าจิตของผู้เริ่มต้นเป็นเหมือนจิตของเด็กน้อย ซึ่งเต็มไปด้วยความอยากรู้อยากเห็น ความสงสัย และความประหลาดใจ” (ทศ คณนาพร วชิระ จึง และสุธีรัตน์ อินจิโนแปล,เป็นที่หนึ่งไม่เหมือนใคร สไตล์ สตีฟ จ๊อบส์,กรุงเทพฯ:แฮปปี้บ๊ค,2554,หน้า 61)
       เขาคิดแบบเด็กแต่ทำแบบผู้ใหญ่  เพราะเด็กนั้นเกิดมาบนโลกยังไม่ได้รับข้อมูลความรู้อะไรมาก จึงยังไม่ยึดติดกับความรู้เหล่านั้น จิตเดิมที่ติดตัวมาจึงยังสะอาดบริสุทธิ์ ไร้ขอบเขตขีดจำกัด ความคิดแบบเด็กจึงยังไม่มีอะไรมาขวางกั้น ไม่มีเรื่องของความเป็นไปไม่ได้ ไม่ว่าในเชิงธุรกิจ ผลกำไรหรือขาดทุน เด็กจึงมีความคิดที่เต็มไปด้วยจินตนาการ อยากให้อะไรเป็นอะไรได้ทั้งสิ้น

 

 

       ในพระพุทธศาสนาแสดงไว้ว่าจิตมีธรรมชาติผุดผ่อง แต่ที่เศร้าหมองเพราะอุปกิเลสที่จรมา ดังที่ปรากฎในอังคุตตรนิกาย เอกนิบาต (20/50/8)ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตนี้ผุดผ่อง แต่ว่าจิตนั้นแลเศร้าหมองด้วยอุปกิเลสที่จรมา ปุถุชนผู้มิได้สดับ ย่อมจะไม่ทราบจิตนั้นตามความเป็นจริง ฉะนั้น เราจึงกล่าวว่าปุถุชนผู้มิได้สดับย่อมไม่มีการอบรมจิต”
       อุปกิเลส มาจากภาษาบาลีว่า “อุปกฺกิเลส” แปลว่า กิเลสเครื่องเศร้าหมอง แสดงไว้ในวัตถูปมสูตร มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ (12/93/48) ความว่า  “ดูกรภิกษุทั้งหลายธรรมที่เป็นเครื่องเศร้าหมองของจิตคืออภิชฌาวิสมโลภะ (ละโมบไม่สม่ำเสมอ คือความเพ่งเล็ง) พยาบาท (ปองร้ายเขา) โกธะ (โกรธ) อุปนาหะ (ผูกโกรธไว้) มักขะ (ลบหลู่คุณท่าน) ปลาสะ (ยกตนเทียบเท่า) อิสสา (ริษยา) มัจฉริยะ (ตระหนี่) มายา (มารยา) สาเฐยยะ (โอ้อวด)ถัมถะ (หัวดื้อ) สารัมภะ (แข่งดี) มานะ (ถือตัว) อติมานะ (ดูหมิ่นท่าน) มทะ (มัวเมา) ปมาทะ (เลินเล่อ) เหล่านี้เป็นธรรมเครื่องเศร้าหมองของจิต”
       เมื่ออุปกิเลสทั้งหลายเหล่านี้จรเข้ามาในจิต จิตที่เคยผุดผ่องก็ย่อมถูกย้อมจนกลายเป็นความเศร้าหมองไปด้วย เหมือนผ้าขาวที่ถูกสีย้อมก็ย่อมจะมีสีเหมือนสีที่ถูกย้อม ผ้าขาวที่ถูกย้อมสีแล้ว จะทำให้กลับคืนมาเป็นผ้าขาวเหมือนเดิมนั้นยาก เมื่อจิตถูกอุปกิเลสย้อมก็ยากยิ่งจะทำให้กลับมาบริสุทธิ์เหมือนเดิมได้อีก แต่สิ่งที่ยากยิ่งเพียงใดก็ไม่เกินวิสัยของมนุษย์ไปได้

 

 

       ทำแบบผู้ใหญ่ โดยการทำธุรกิจที่มุ่งตรงพิจารณาไปถึงความสำเร็จที่เป็น “แก่น” ไม่สนใจในข้อจำกัดประเภทที่ทุนไม่มี คู่แข่งเยอะ ราคาถูกหรือแพง มุ่งหน้าไปที่ “ผล” หรือการกระทำให้ดีที่สุด เพื่อสิ่งนั้นหรือคนที่จะได้รับสิ่งนั้น สตีฟ จอบส์คิดแบบนี้จึงผลิตสินค้าที่เน้นที่คุณภาพ ไม่เน้นที่สินค้าดีแต่ราคาถูกที่คนชื่นชอบกัน สินค้าของเขาทั้งดี ทนทาน ใช้งานสะดวกคุ้มค่า แต่ทว่าราคาแพงมาก ผู้คนส่วนหนึ่งก็ยังอยากจะได้ครอบครองเป็นเจ้าของ

       สตีฟ จ๊อบส์เรียนไม่จบมหาวิทยาลัย แม้จะพยายามเรียนตั้งสองครั้งที่มหาวิทยาลัยรีด มีอันต้องลาออกกลางคันทั้งสองคราว ภายหลังได้ศึกษาพระพุทธศาสนานิกายเซน โดยเริ่มต้นจากการอ่านหนังสือ ที่มีอิทธิพลต่อเขามากที่สุดมีสองเล่มคือ “Zen Mind” และ  Beginner’s Mind” เขียนโดยชุนริว ซูซูกิ ชาวญี่ปุ่น จ๊อบส์เคยเดินทางไปประเทศอินเดีย ภายหลังกลับจากอินเดียมายังสหรัฐอเมริกา เขาแสดงให้เห็นว่าตนเองได้กลายเป็นพุทธศาสนิกเซนเต็มตัว จากบันทึกตอนหนึ่งว่า “เขาสรวมเสื้อผ้าแบบอินเดียโบราณ โกนศีรษะ เริ่มฝึกรับประทานอาหารมังสวิรัติ โดยแวะเวียนไปยังศูนย์พุทธศาสนานิกายเซนที่ลอสอัลตอลเป็นประจำ (หน้า26)

 

 

       ทำไมคนที่ประสบความสำเร็จทางด้านเทคโนโลยีหลายคนจึงเรียนไม่จบในระดับมหาวิทยาลัยเช่นบิล เกต แห่งบริษัทไมโครซอฟ ก็เรียนไม่จบมหาวิทยาลัย หรือแม้แต่ตัน ภาสกรนที อดีตเจ้าของโออิซิ ก็เรียนไม่จบมหาวิทยาลัยเหมือนกัน การเรียนจบในระดับมหาวิทยาลัยจึงไม่น่าจะเป็นประตูที่นำไปสู่ความสำเร็จเสมอไป
       ปัจจุบันพระพุทธศาสนานิกายเซนเจริญรุ่งเรืองในประเทศทางตะวันตก ควบคู่ไปกับพระพุทธศาสนานิกายวัชรยานแบบทิเบต ในขณะที่พระพุทธศาสนานิกายเถรวาทก็กำลังขยายตัวอย่างมากในประเทศทางยุโรป ออสเตรเลีย แคนาดาและสหรัฐอเมริกา

       การคิดแบบเด็ก แต่ทำแบบผู้ใหญ่ ภายใต้กรอบแนวคิดของ “จิตเริ่มต้น” เป็นแนวคิดข้อหนึ่งในเจ็ดข้อที่ทำให้สตีฟ จอบส์ประสบความสำเร็จ แนวคิดข้ออื่นๆเช่น “ทำอะไรให้ดีที่สุด เพราะวันนี้เป็นวันสุดท้ายของชีวิต เป็นตัวของตัวเองอย่าคิดและใช้ชีวิตเหมือนคนอื่น ทำทุกอย่างให้เรียบง่าย การเป็นผู้รู้จักให้ รู้จักให้อภัยตัวเอง และการระลึกถึงความตาย”

 

 

       อ่านแนวคิดของผู้ที่ได้ชื่อว่าประสบความสำเร็จทางด้านเทคโนโลยีแล้ว แทนที่จะได้กลิ่นไอของเทคโนโลยีและแนวคิดที่ทันสมัยที่มาจากความรู้ทางวิทยาศาสตร์ แต่ทำไมอ่านไปอ่านมาจึงกลับได้กลิ่นไอหลักธรรมของศาสนาเหมือนกำลังศึกษาธรรมของพระพุทธศาสนาจากนักคิดทางตะวันตก ผู้ที่เข้าถึงแก่นของพระพุทธศาสนาและนำมาประยุกต์ใช้ในทางธุรกิจก็ประสบความสำเร็จได้ ส่วนผู้ที่ต้องการความหลุดพ้นก็ย่อมสามารถกระทำได้ หากเข้าใจธรรมจริงๆย่อมไม่เหลือบ่ากว่าแรง

 

พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน
27/07/54

 

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก