ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

         เข้าพรรษาผ่านมาได้หลายวันแล้ว ช่วงนี้ฝนตกเกือบทุกวัน บางวันตกหลายครั้งจะเดินทางไปไหนก็ลำบาก บางคนต้องล้มป่วยเพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ปรับตัวไม่ค่อยทัน บางวันอากาศร้อนมากทั้งๆที่ฝนตก มันอบอ้าวเกิดอาการว้าวุ่นใจ พยายามรักษาตนให้รอดปลอดภัยจากอาการป่วยไข้ แต่ก็ยังไม่วายเป็นไข้หวัดจนได้ บางวันคิดอะไรไม่ออก จะเขียนอะไรก็ไม่ได้ สมองมึนงงไปหมด ดีที่ว่าหากยังสติที่ยังพอรักษาตนไว้ได้ อาการป่วยทางกายพอรักษาหายได้ แต่ถ้าป่วยทางใจรักษาได้ยากยิ่งกว่า


         ก่อนเข้าพรรษามีอุบาสกท่านหนึ่งแวะมาหาถามว่า “ในพรรษานี้ผมควรจะอธิษฐานอะไร”
         จึงบอกไปว่า “ก็เห็นทางราชการบอกว่าให้งดเหล้า งดบุหรี่ในช่วงเข้าพรรษา ลองพยายามทำดูปะไร”
         เขาบอกว่า “ผมตั้งใจจะเลิกทั้งสองอย่างทั้งเหล้าและบุหรี่”
         ได้บอกอุบาสกท่านนั้นไปว่า “ถ้าไม่แน่ใจก็เลิกอย่างเดียวไปก่อน เพราะหากทำผิดคำอธิษฐาน เรื่องมันจะยุ่ง เพราะคนที่ทำผิดสัจจะที่ให้ไว้แก่ตนมักจะเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดฝันเสมอ”
         จากนั้นอุบาสกท่านนั้นก็ลากลับ เข้าพรรษาผ่านไปหกวันอุบาสกท่านนั้นแวะมาเยือนอีกครั้ง พร้อมกับตั้งคำถามว่า “การอธิษฐานนั้นถอนได้ไหมครับ มีวิธีการอย่างไร”

 


         ผู้เขียนไม่ได้ตอบคำถามนั้นตรงๆแต่ได้เล่าเรื่องหนึ่งให้ฟังว่า “เรื่องมันนานมาแล้วมีเพื่อนภิกษุรูปหนึ่งติดบุหรี่ซึ่งท่านสูบมาตั้งแต่ที่ยังเป็นฆราวาส พอบวชเข้ามา สมัยนั้นชาวบ้านยังนิยมถวายหมากพลู บุหรี่ ในเวลาที่มางานเทศกาลต่างๆ การกินหมากและสูบบุหรี่ถือเป็นเรื่องธรรมดา พระสูบบุหรี่ในสมัยนั้นชาวบ้านก็ถือเป็นเรื่องธรรมดา พระในชนบทจึงสูบบุหรี่เป็นปกติ แต่พอมาถึงสมัยนี้การสูบบุหรี่ถือเป็นเรื่องที่สังคมรังเกียจไปแล้ว พระรูปใดยังเลิกไม่ได้ก็ต้องแอบสูบ 
        ในวันเข้าพรรษาปีหนึ่งพระภิกษุรูปนั้นอธิษฐานต่อหน้าพระประธานในพระอุโบสถและประกาศให้พระภิกษุทุกรูปทราบโดยอธิษฐานเสียงดังให้ได้ยินกันทุกคนว่า “ผมขออธิษฐานว่าจะเลิกบุหรี่ในช่วงเข้าพรรษา หากผิดสัจจวาจาขอให้มีอันเป็นไป”
         วันนั้นพระสงฆ์ทุกรูปต่างก็อนุโมทนา ทุกท่านต่างก็เข้าใจว่าพระภิกษุรูปนั้นเลิกบุหรี่ได้โดยเด็ดขาดแล้วภายในพรรษา
         วันหนึ่งผู้เขียนแวะไปเยี่ยมท่าน นั่งคุยกันสักพักท่านเอ่ยถามขึ้นว่า “คำอธิษฐานถอนได้ไหม เลิกได้ไหม”
        จึงบอกท่านไปกลางๆว่า “เคยอ่านประวัติของพระเถระรูปหนึ่ง ท่านบอกว่าในอดีตเคยตั้งจิตปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าหรือพระปัจเจกพุทธเจ้าไม่ค่อยแน่ใจ  แต่พอปฏิบัติธรรมไปมักจะมีความขัดข้อง ทำต่อไม่ค่อยได้ มันติดขัดไม่ลื่นไหล จึงเลิกความปรารถนาเปลี่ยนมาตั้งความปรารถนาเป็นพระอรหันต์แทน ปรากฎว่าการปฏิบัติธรรมของท่านเป็นไปด้วยดี การตั้งความปรารถนาบางอย่างต้องใช้ความเพียรความพยายามมาก และต้องใช้เวลายาวนานตัวอย่างเช่นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของชาวพุทธทั้งหลายองค์ปัจจุบัน ก็ใช้เวลาบำเพ็ญบารมีเริ่มต้นจากวันที่ตั้งความปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าและได้รับคำพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าพระนามว่าทีปังกร เป็นเวลานานถึงสี่อสงขัยแสนกัปป์ จึงสำเร็จตามความปรารถนา ส่วนพระอรหันตสาวกทั้งหลายก็ใช้เวลามากน้อยแตกต่างกันไป พระอรหันต์แต่ละองค์จึงมีบารมีไม่เท่ากัน”

 


         สนทนาสักพักก็ลากลับ ภายในพรรษานั่นเองเห็นพระภิกษุรูปนั้นยังคงสูบบุหรี่ตามปกติ แต่ไม่กล้าถามว่าท่านเลิกคำอธิษฐานอย่างไร ออกพรรษาได้ไม่นานต่างก็แยกย้ายกันไปตามหน้าที่ บางรูปลาสิกขา บางรูปเรียนหนังสือเตรียมสอบนักธรรม บางรูปก็ออกธุดงค์หาที่สงัดบำเพ็ญสมณธรรม ผู้เขียนอ่านหนังสือเตรียมสอบนักธรรมและบาลี สมัยนั้นสอบนักธรรมหลังวันลอยกระทง จึงไม่ได้ทราบข่าวว่าพระภิกษุรูปนั้นท่านเดินทางไปไหน
         สอบนักธรรมบาลีเรียบร้อยแล้วคิดถึงพระภิกษุรูปนั้นขึ้นมา จึงถามหาว่าท่านไปไหน เพื่อภิกษุอีกรูปหนึ่งบอกว่า “ภิกษุที่ท่านถามหานั้น มรณภาพแล้วมีกำหนดฌาปนกิจในอีกสามวันข้างหน้า ที่วัดป่าแห่งหนึ่ง”
         เมื่อถามว่าท่านมรณภาพด้วยโรคอะไร
         ภิกษุรูปเดิมบอกว่า “ได้ข่าวว่าท่านนอนหลับและไหลตาย”
         ยุคนั้นโรคไหลตายกำลังระบาด เรียกว่าเพื่อนพระภิกษุรูปนั้นมรณะด้วยโรคยอดนิยมกับยุคสมัย

 

 

         พอเล่าเรื่องจบลงจึงสรุปพุทธภาษิตที่เกี่ยวกับการรักษาตนดังที่มีแสดงไว้ในอัตตรักขิตสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค(15/338/91) พระพุทธเจ้าได้ตอบคำถามของพระเจ้าปเสนทิโกศลที่ถามว่า “ใครชื่อว่าเป็นผู้รักษาตน” ความว่า “ชนบางพวกย่อมประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจ ชนพวกนั้นชื่อว่าเป็นผู้ไม่รักษาตน  ถึงแม้ชนพวกนั้นจะมีพลช้าง พลม้า พลรถ หรือพลเดินเท้า คอยรักษา ถึงเช่นนั้นชนพวกนั้นก็ชื่อว่าไม่รักษาตน ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร ก็เพราะเหตุว่าการรักษาเช่นนั้นเป็นการรักษาภายนอก มิใช่เป็นการรักษาภายในฉะนั้น ชนพวก นั้นจึงชื่อว่าไม่รักษาตน ส่วนว่าชนบางพวกย่อมประพฤติสุจริตด้วยกาย วาจา ใจ ชนพวกนั้นชื่อว่าเป็นผู้รักษาตน ถึงแม้ชนพวกนั้นจะไม่มีพลช้าง พลม้า พลรถ หรือพลเดินเท้า คอยรักษา ถึงเช่นนั้นชนพวกนั้นก็ชื่อว่ารักษาตน ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร ก็เพราะเหตุว่าการรักษาเช่นนั้นเป็นการรักษาภายใน มิใช่เป็นการรักษาภายนอกฉะนั้น ชนพวกนั้นจึงชื่อว่าเป็นผู้รักษาตน”     

 

 

         ในขุททกนิกาย ธรรมบท (25/35/45) ก็มีพุทธภาษิตเกี่ยวกับการตักเตือนตนเองไว้ว่า “จงเตือนตนด้วยตนเอง จงสงวนตนด้วยตนเอง ผู้มีตนอันคุ้มครองแล้วมีสติ จักอยู่เป็นสุข ตนแลเป็นที่พึ่งของตน ตนแลเป็นคติของตน”
        พอเล่าเรื่องนี้จบลง อุบาสกท่านนั้นล้วงกระเป๋ากางเกงหยิบซองบุหรี่ที่เพิ่งซื้อมาใหม่ๆยังไม่ได้เปิดพร้อมด้วยไม่ขีดไฟวางลงตรงหน้าก้มลงกราบและรีบบอกลากลับทันที โดยไม่ได้ถือบุหรี่ซองนั้นกลับไปด้วยเลย เหมือนกับจงใจทิ้งไว้ให้ดูต่างหน้า พลันก็นึกถึงถ้อยคำของใครคนหนึ่งที่เคยพูดไว้น่าคิดว่า “บุหรี่เลิกง่ายจะตายไป ผมพยายามมาหลายร้อยครั้งแล้ว”

 

 

พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน
22/07/54

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก