จำได้ว่าตอนที่ยังอายุไม่มากมีเพื่อนมาก จะไปไหนมาไหนไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องที่พัก ไปถึงบ้านไหนก็มักจะมีเพื่อนหรือคนรู้จักอย่างน้อยหนึ่งคน หรือหากหมู่บ้านใดตำบลใดไม่มีก็เดินทางต่อไปอีกไม่เกินสามหมู่บ้านจะมีคนที่รู้จักเสมอ แต่พออุปสมบทได้ในช่วงสิบปีแรกมีเพื่อนมากรู้จักคนมาก รู้จักพระสงฆ์มาก แต่พอยี่สิบปีผ่านไปเพื่อนที่เป็นนักบวชกลับมีน้อยลง ยิ่งเพื่อนที่เป็นฆราวาสยิ่งมีปริมาณเหลือน้อย การมีเพื่อนมากกับการมีเพื่อนดีต่างกัน เพื่อนมากอาจจะไม่ใช่เพื่อเพื่อนดีก็ได้ ส่วนเพื่อนดีบางทีไม่จำเป็นต้องมีมาก ทุกวันนี้มีคนรู้จักมากแต่ทำไมกลับเหลือเพื่อนน้อยลง
มีคำที่เกี่ยวข้องกันหลายคำ เช่น มิตร สหาย เพื่อน หากเป็นมิตรเลวก็ได้ชื่อว่าปาปมิตร ถ้าเป็นมิตรดีก็จะเรียกว่ากัลยาณมิตร คำว่า “กัลยาณมิตร” มาจากภาษาบาลีว่า “กัลยาณมิตตตา” แปลว่า ความมีกัลยาณมิตร คือ มีผู้แนะนำสั่งสอน ที่ปรึกษา เพื่อนที่คบหา และบุคคลผู้แวดล้อมที่ดี ความรู้จักเลือกเสวนาบุคคล หรือเข้าร่วมหมู่กับท่านผู้ทรงคุณทรงปัญญามีความสามารถ ซึ่งจะช่วยแวดล้อม สนับสนุนชักจูง ชี้ช่องทาง เป็นแบบอย่าง ตลอดจนเป็นเครื่องอุดหนุนเกื้อกูลแก่กัน ให้ดำเนินก้าวหน้าไปด้วยดี ในการศึกษาอบรม การครองชีวิต การประกอบกิจการ และธรรมปฏิบัติ สิ่งแวดล้อมทางสังคมที่ดี
การมีมิตรดี คบหากับคนดีเป็นนิมิตแห่งอริยมรรค ดังที่แสดงไว้ในกัลยาณมิตตสูตร สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค (19/129/30) ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อพระอาทิตย์จะขึ้นสิ่งที่ขึ้นก่อน สิ่งที่เป็นนิมิตมาก่อนคือแสงเงินแสงทอง สิ่งที่เป็นเบื้องต้นเป็นนิมิตมาก่อน เพื่อความบังเกิดแห่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์แปดของภิกษุคือความเป็นผู้มีมิตรดี ฉันนั้นเหมือนกัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุผู้มีมิตรดี พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์แปดจักทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์แปด”
สาเหตุหนึ่งที่บวชอยู่ได้นานในปัจจุบันก็มาจากการมีมิตรทางธรรมที่ดี คอยแนะนำในทางการปฏิบัติ ผู้เขียนมีเพื่อนเป็นพระสงฆ์รูปหนึ่ง ปัจจุบันจำพรรษาทางภาคเหนือ ที่ไม่ได้เรียนจบสูงนัก จบเพียงนักธรรมชั้นตรี ก็เข้าป่าเดินตามเส้นทางของนักปฏิบัติตามแนวแห่งพระกรรมฐาน นานๆจะพบกันสักครั้ง แม้ผู้เขียนจะได้ชื่อว่าเรียนมาพอสมควร มีความรู้ทางธรรมทางด้านปริยัติ เรียนจบนักธรรมชั้นเอก เป็นพระมหาเปรียญ แต่หากมีปัญหาที่แก้ไขไม่ตกทางด้านการปฏิบัติก็มักจะไปหาเพื่อนที่เรียนจบเพียงนักธรรมชั้นตรีท่านนั้น
วิธีการแนะนำของท่านมักจะมีอะไรแปลกๆโดยไม่ได้เน้นที่ตำรา ท่านมักจะออกตัวเสมอว่า “ผมไม่ค่อยมีความรู้ทางด้านปริยัติมากนัก แต่จะเล่าจากประสบการณ์ให้ฟัง จากนั้นก็เริ่มสาธยายไปเรื่อยๆ เช่นครั้งหนึ่งท่านเล่าให้ฟังว่า “เมื่อครั้งที่บวชใหม่ๆผมอยากลาสิกขา เกิดความกำหนัดอย่างรุนแรง ดูเหมือนว่าผู้หญิงทุกคนสวยงามไปหมด มองใครก็น่ารัก ก่อให้เกิดตัณหา ราคะที่เป็นอันตรายต่อชีวิตพรหมจรรย์เป็นอย่างยิ่ง คิดได้อย่างเดียวในตอนนั้นว่าต้องลาสิกขาสถานเดียว วันหนึ่งมีพระธุดงค์รูปหนึ่งเดินทางมาพักที่วัดจึงเข้าไปกราบท่าน สนทนาไปได้สักพักจึงเล่าให้ท่านฟังว่าเกิดความกำหนัด ตัณหาระคะครอบงำไม่รู้จะทำอย่างไรดี
พระธุดงค์ท่านนั้นอายุประมาณสามสิบปีบอกสั้นๆว่า “พระบวชใหม่ทุกรูปคงประสบปัญหาแบบเดียวกัน รูปอื่นจะแก้ปัญหาอย่างไรผมไม่ทราบ แต่สำหรับผมมีวิธีแก้ปัญหาด้วยวิธีธรรมชาติง่ายๆสั้นๆคือ “อด” หมายถึงเริ่มต้นจากการอดอาหาร ลองอดอาหารไม่ฉันอาหารสักสามวัน เมื่อร่างกายไม่มีแรง ตัณหา ราคะจะค่อยบรรเทาเบาบางลง หรือหลบหายเข้ากลีบเมฆไปเลย ครั้งแรกผมอดอาหารได้เพียงสองวัน ความกำหนัดเบาบางลงอย่างเห็นได้ชัด พอวันที่สามร่างกายของผมต้องขอร้องให้ฉันอาหาร ความกำหนัดเบาบางลง แม้จะไม่หายก็สามารถแก้ปัญหาได้ชะงัดนัก หากจะให้เข้มงวดขึ้นก็ต้องดำเนินการ “อด” อื่นๆอีกเช่น อดนอน เป็นต้น แม้จะแก้ปัญหาได้ไม่หมด ก็ทำให้ปัญหานั้นบรรเทาเบาบางลงได้บ้าง
เพื่อนพระภิกษุรูปนั้นมักจะจบการสาธยายสั้นๆแบบนี้เสมอ โดยไม่ได้แนะนำว่าเราควรจะทำอย่างไรต่อไป แต่ฟังแล้วเข้าใจได้ทันทีและสามารถนำไปปฏิบัติได้ทันที
แม้ว่าการอดอาหารตลอดจนการทรมานตนพระพุทธเจ้าจะไม่แนะนำให้ภิกษุปฏิบัติ โดยสอนให้ดำเนินตามทางสายกลาง แต่บางครั้งก็ต้องนำมาเป็นอุบายในการปฏิบัติธรรมได้ โดยไม่ได้ผิดพระธรรมวินัยแต่ประการใด ไม่ได้ทรมานตนตามคำว่า “อัตตกิลมถานุโยค” เพียงแต่ใช้เป็นอุบายเท่านั้น
สมัยนั้นผู้เขียนลองนำวิธีที่พระธุดงค์เล่าผ่านเพื่อนท่านนั้นมาลองปฏิบัติดู ผ่านไปเพียงวันเดียว ตัณหาราคะ ความกำหนัดทั้งหลายเบาบางลงจริงๆ แม้จะยังมีอยู่แต่รู้สึกสบายกาย พอวันที่สองผ่านไปอาการกำหนัดแทบจะไม่แสดงตัวให้ปรากฎให้เห็น พอเข้าวันที่สาม ความสวยความงามของสรรพสิ่งทั้งหลายแทบจะไม่ปรากฎให้เห็น เพราะร่างกายต้องการอาหารอย่างยิ่ง คำว่า “หิวจนตาลาย” ก็พึ่งเข้าใจได้ชัดเจนในตอนนั้น เมื่อเห็นว่าตัณหา ราคะเบาบางลงจึงเริ่มฉันภัตตาหารตามปกติ หากเกิดมีราคะความกำหนัดเกิดขึ้นอีกก็จะใช้วิธีแบบเดิม โดยอดอาหารเพิ่มขึ้นอีกสี่วัน ห้าวัน หรือจนกระทั่งราคาะเบาบาง
เพราะคำแนะนำของเพื่อนนักธรรมชั้นตรีท่านนั้น จึงทำให้ชีวิตในร่มกาสวพัตรดำรงอยู่มาได้ในทุกวันนี้ เพื่อนภิกษุรูปนั้นยังอยู่ในเพศสมณะ นานๆจะไปเยือนท่านสักครั้ง การมีเพื่อนที่ดีนั้นไม่จำเป็นต้องอยู่ด้วยกันตลอดเวลา ไม่จำเป็นต้องเห็นหน้ากันทุกวัน แต่เพื่อนที่เรียกว่ากัลยาณมิตร แม้จะอยู่ห่างไกลก็เหมือนอยู่ใกล้
ในสิงคาลกสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค (11/192/143) ได้แสดงมิตรแท้ไว้สี่จำพวกความว่า “มิตรสี่ จำพวกเหล่านี้ คือ มิตรมีอุปการะ มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ มิตรแนะประโยชน์ มิตรมีความรักใคร่ ท่านพึงทราบว่าเป็นมิตรมีใจดีเป็นมิตรแท้” เพื่อนภิกษุรูปนั้นจัดเป็นมิตรแนะประโยชน์
ส่วนในอุปัฑฒสูตร สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค (19/4/2) แสดงถึงความเป็นผู้มีมิตรดี เป็นพรหมจรรย์ทั้งสิ้น ความว่า “สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิคมของชาวศักยะชื่อสักระ ในแคว้นสักกะของชาวศากยะทั้งหลาย ครั้งนั้นท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่าข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี นี้เป็นกึ่งหนึ่งแห่งพรหมจรรย์เทียวนะพระเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ เธออย่าได้กล่าวอย่างนั้น เธออย่างได้ กล่าวอย่างนั้น ก็ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี นี้เป็นพรหมจรรย์ทั้งสิ้นทีเดียว ดูกรอานนท์ อันภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเจริญอริยมรรคประกอบด้วยองค์แปด จักกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคประกอบด้วยองค์แปด
ดูกรอานนท์ ก็ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี ย่อมเจริญอริยมรรคประกอบด้วยองค์แปดย่อมกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคประกอบด้วยองค์แปดคือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละย่อมเจริญสัมมาสังกัปปะ ... สัมมาวาจา ... สัมมากัมมันตะ ... สัมมาอาชีวะ ... สัมมาวายามะ ... สัมมาสติ ... สัมมาสมาธิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ดูกรอานนท์ ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี ย่อมเจริญอริยมรรคประกอบด้วยองค์แปดย่อมกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคประกอบด้วยองค์แปดอย่างนี้แล
ดูกรอานนท์ ข้อว่า ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี เป็นพรหมจรรย์ทั้งสิ้นทีเดียวนั้น พึงทราบโดยปริยายแม้นี้ ด้วยว่าเหล่าสัตว์ผู้มีชาติเป็นธรรมดา ย่อมพ้นไปจากชาติ ผู้มีชราเป็นธรรมดา ย่อมพ้นไปจากชรา ผู้มีมรณะเป็นธรรมดา ย่อมพ้นไปจากมรณะ ผู้มีโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส เป็นธรรมดา ย่อมพ้นไปจากโสกะ ปริเทวะทุกข์ โทมนัส และอุปายาส เพราะอาศัยเราผู้เป็นกัลยาณมิตร ดูกรอานนท์ ข้อว่า ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี เป็นพรหมจรรย์ทั้งสิ้นทีเดียวนั้น พึงทราบโดยปริยายนี้แล
พระพุทธเจ้าเป็นกัลยาณมิตรของสรรพสัตว์ แนะนำพร่ำสอนให้เข้าใจความจริง และนำไปสู่การหลุดพ้นได้ การที่บุคคลมีกัลยาณมิตรไว้คอยให้คำแนะนำจึงเป็นเรื่องที่ดีอย่างยิ่ง แม้หากว่าเราจะรู้จักคนทั้งโลก แต่ไม่มีใครแนะนำเราได้ การมีกัลยาณมิตรที่ดีสักคนหนึ่งที่พร้อมจะให้คำแนะนำในเวลาที่เราประสบปัญหาหาทางแก้ไขเองไม่ได้น่าจะดีกว่ามีคนรู้จักมากมายแต่เวลาประสบปัญหากลับมองหาใครให้คำแนะนำไม่ได้เลย
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
20/07/54