วันอาสาฬหบูชาที่ผ่านมามีผู้ใช้นามว่า “ผู้อ่านไซเบอร์วนาราม” ส่งหนังสือ “สนฺติธมฺโม บูชา” มาให้ทางไปรษณีย์ เป็นหนังสืออนุสรณ์ในงานประชุมพระเพลิงพระครูสันติวีรญาณ (หลวงปู่ฟัก สันติธัมโม) อดีตเจ้าอาวาสวัดพิชัยพัฒนาราม (เขาน้อยสามผาน) อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี พิธีประชุมเพลิงวันที่ 12 ธันวาคม 2553 พร้อมทั้งส่งผ้าอาบน้ำฝนมาถวายในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา ที่จริงได้รับในวันอาสาฬหบูชาพอดี แต่ยังไม่มีโอกาสแจ้งข่าวให้ทราบ เพราะมัวแต่อ่านหนังสือสันติธัมโมบูชาด้วยความสุขใจ การที่ได้อ่านปฏิปทาของพ่อแม่ครูบาอาจารย์นั้นเป็นความสุขอย่างยิ่ง ท่านสร้างสมบ่มบารมีมานานจนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายของชีวิต
ผู้เขียนไม่ค่อยได้เดินทางไปยังจังหวัดจันทบุรีเท่าใดนัก ที่อยู่นานที่สุดคือวัดป่าโป่งจันทร์ ตอนนั้นน่าจะอยู่ในอำเภอมะขาม ส่วนปีนี้ตรวจดูแล้วขึ้นอยู่กับกิ่งอำเภอเขาคิชกูฏ จังหวัดจันทบุรี ปีนั้นมีเพื่อนสหธรรมิกจากจังหวัดเพชรบูรณ์คือพระภูมี มหาวีโร ตอนนั้นยังไม่ได้เป็นพระมหาเปรียญทั้งคู่ พึ่งบวชได้ไม่นาน มาชวนเพื่อเดินทางไปธุดงค์ปฏิบัติธรรมที่จังหวัดจันทบุรี ยี่สิบกว่าปีมาแล้ว ขึ้นรถลงรถหลายรอบจากจังหวัดอุดรธานีมุ่งหน้าสู่เป้าหมายคือวัดป่าโป่งจันทร์ เจ้าอาวาสในตอนนั้นคือพระอาจารย์สวาท ปัญญาธโร
วันแรกที่เดินทางไปถึงตอนนั้นอยู่ในช่วงเดือนเมษายน ผลไม้เมืองจันทร์เช่นเงาะ ทุเรียน ระกำ มังคุดกำลังสุก ผลไม้ที่ขึ้นชื่อในตอนนั้นคือทุเรียน เนื่องจากผู้เขียนเป็นพระบ้านนอกไม่ค่อยได้ฉันทุเรียนเท่าใดนัก พอได้ฉันทุเรียนในวันแรกเนื่องจากเดินทางไกลจึงหิวมาก ความหิวไม่เข้าใครออกใคร จึงฉันจนทุเรียนอิ่มเต็มที่หมดไปหลายลูก เพราะความเห็นแก่ปากแก่ท้องไม่รู้จักประมาณในการบริโภคนี่แหละ ทุเรียนจึงทำเหตุ เกิดร้อนในเกือบตายเพราะพิษทุเรียน
เนื่องจากวัดป่าโป่งจันทร์มีกุฏิอยู่ห่างกันมาก พระแต่ละรูปต่างฝ่ายต่างอยู่ จะพบกันวันหนึ่งไม่กี่ครั้งคือตอนเช้าออกบิณฑบาตพร้อมกัน ฉันภัตตาหารพร้อมกันครั้งเดียว จากนั้นก็แยกย้ายกลับเข้าที่พัก ใครจะทำอะไรก็เลือกทำได้ตามสะดวก ส่วนมากจะเดินจงกรม พอเหนื่อยเหงื่อออกหายง่วงนอนแล้ว จึงจะหาที่สงบนั่งสมาธิภาวนาตามสะดวก พอตกตอนเย็นจึงจะมารวมกันที่ศาลาฉันน้ำร้อน น้ำชา กาแฟ หรือยาที่เรียกว่ายาปรมัตซึ่งเป็นพวกสมุนไพรผสมกันกันหลายอย่าง ฉันมากไม่ได้เพราะเป็นยาระบาย
พอกลับที่พักเดินจงกรมไปได้สักพักรู้สึกร้อนรนเหมือนมีใครเอาไฟมาเผากาย จึงเข้าห้องน้ำเอาน้ำราดทั้งตัว แม้จะเปียกปอนปานใดก็ยังไม่หายร้อน มันร้อนมากอาบน้ำแล้วอาบน้ำอีกก็ยังร้อน ในที่สุดก็ต้องอยู่ในห้องน้ำนั่งแช่น้ำไปเลยไม่ยอมออก ก็ยังไม่หายร้อน ใกล้เที่ยงแล้วบังเอิญมีพระภิกษุรูปหนึ่งเดินผ่านมาเห็นเข้า ท่านเอ่ยถามว่า “เมื่อเช้าฉันทุเรียนไปกี่ลูก”
จึงบอกท่านว่า “จำไม่ได้แต่มากเอาการอยู่”
ท่านยิ้มและถามว่า “ร้อนใช่ไหม”
จึงตอบท่านว่า “เหมือนกำลังถูกย่างบนกองไฟเลยครับ”
พระรูปนั้นบอกว่าอย่าพึ่งไปไหนรอสักครู่ ไม่นานท่านเดินกลับมาพร้อมด้วยเปลือกทุเรียนและบอกให้เทน้ำลงในเปือกทุเรียนและให้ดื่มโดยนึกว่ากำลังฉันยา ตอนนั้นไม่ต้องการเหตุผลอื่นใดแล้ว เพราะร้อนมาก จึงกระทำตามที่ท่านแนะนำ
หลังเที่ยงวันผ่านไปไม่นาน ดวงอาทิตย์เริ่มเคลื่อนคล้อยไปทางปัจฉิมทิศ มีกระแสลมอ่อนๆโชยผ่านมาจากแนวป่า อาการร้อนค่อยๆทะเลาเบาบางลง จนกระทั่งตอนเย็นเมื่อมาพบกับพระภิกษุรูปอื่นๆที่ศาลา จึงกลายเป็นเรื่องเล่าในวงสนทนา พระบ้านนอกฉันทุเรียน ร้อนในเกือบมรณภาพ จากวันนั้นเป็นต้นมาจึงค่อยๆทราบวิธีแก้อาการร้อนในจากทุเรียน คืออยู่ที่เปลือกทุเรียนนั่นเอง เทน้ำใส่เปลือกทุเรียนแช่ไว้สักพัก พอฉันทุเรียนเสร็จจึงดื่มน้ำจากเปลือกทุเรียนและใช้น้ำล้างปาก เท่านี้ก็เป็นวิธีแก้อาการร้อนในที่เกิดจากทุเรียนได้ ธรรมชาติให้ความอร่อยพร้อมทั้งฉาบพิษภัยมาด้วย และธรรมชาติเองก็ไม่ได้โหดร้ายยังให้วิธีแก้ไขมาในขณะเดียวกันด้วย
พระอาจารย์สวาท ปัญญาธโร เจ้าอาวาสวัดป่าโป่งจันทร์ มักจะมีคำสอนสั้นๆเช่น “ให้มอง กาย วาจา ใจปฏิบัติธรรมอยู่ที่ตัว นะโม แรกคือพ่อแม่ ให้เคารพพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ระลึกถึงพระรัตนตรัยด้วย จุดสำคัญ ต้องทำกรรมฐานจนเห็นไตรลักษณ์ ปัญญาเกิดรู้ได้ด้วยตน” ผ่านมายี่สิบกว่าปีแล้วยังไม่มีโอกาสไปกราบและศึกษาธรรมะจากพระอาจารย์อีกเลย
การรู้จักประมาณในการบริโภคเรียกว่าโภชเนมัตตัญญุตาจัดเป็นธรรมสำคัญอย่างหนึ่งมีแสดงไว้หลายแห่งเช่นในขุททกนิกาย มหานิทเทส (29/931/465) เป็นธรรมเป็นส่วนสุดรอบอย่างหนึ่ง ในคำว่าประพฤติธรรมเป็นส่วนสุดรอบมีสี่ประการคือธรรมเป็นส่วนสุดรอบคือศีลสังวร ธรรมเป็นส่วนสุดรอบคืออินทรียสังวร ธรรมเป็นส่วนสุดรอบคือโภชเนมัตตัญญุตา ธรรมเป็นส่วนสุดรอบคือชาคริยานุโยค”
มีคำอธิบายธรรมเป็นส่วนสุดรอบคือโภชเนมัตตัญญุตาว่า “ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณา โดยอุบายอันแยบคายแล้วฉันอาหาร ไม่ฉันเพื่อเล่น ไม่ฉันเพื่อมัวเมา ไม่ฉันเพื่อประดับ ไม่ฉันเพื่อตกแต่ง ฉันเพื่อความตั้งอยู่แห่งกายนี้ เพื่อจะให้กายนี้เป็นไป เพื่อเว้นความลำบากแห่งกายนี้ เพื่ออนุเคราะห์แก่พรหมจรรย์ ด้วยมนสิการว่า เราจะบำบัดเวทนาเก่า จักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น และความดำเนินของเรา ความที่เราไม่มีโทษ ความอยู่สบายของเราจักมีดังนี้ อย่างเดียวเท่านั้น พิจารณาอาหารเปรียบด้วยน้ำมันสำหรับหยอดเพลาเกวียน ผ้าสำหรับปิดแผลและเนื้อบุตร (ของคนที่เดินทางกันดาร) ชื่อว่าประพฤติในธรรมเป็นส่วนสุดรอบคือโภชเนมัตตัญญุตา ย่อมไม่ทำลายโภชเนมัตตัญญุตาอันเป็นเขตแดนในภายใน นี้ชื่อว่าธรรมเป็นส่วนสุดรอบคือโภชเนมัตตัญญุตา”
ในสุกชาดก ขุททกนิกายชาดก (27/364/100) ได้แสดงประโยชน์ความเป็นผู้รู้จักประมาณว่า “ความเป็นผู้รู้จักประมาณคือความไม่หลงติดอยู่ในโภชนะเป็นความดี ด้วยว่าบุคคลใด ไม่รู้จักประมาณ ย่อมจมลงในอบายทั้งสี่ บุคคลผู้รู้จักประมาณแล ย่อมไม่จมลงในอบายสี่”
การบริโภคโดยไม่รู้จักประมาณนั้นเห็นโทษมาด้วยตนเองแล้วที่วัดป่าโป่งจันทร์ จังหวัดจันทบุรีนี่แหละ จากวันนั้นเป็นต้นมาทุเรียนจึงกลายเป็นของแสลง ไม่จำเป็นจะไม่ฉันหรือหากจะฉันก็จะต้องพิจารณาฉันในปริมาณที่น้อย ไม่อยากเกิดอาการร้อนในเพราะทุเรียนเป็นครั้งที่สองแม้จะทราบวิธีแก้แล้วก็ตาม วันนั้นแม้จะไม่จมลงในอบายแต่ก็เกือบเอาชีวิตไม่รอด มันร้อนทุรนทุรายจริงๆ บวกกับความร้อนเดือนเมษายนด้วยสิ
พักอยู่ที่วัดโป่งจันทร์นานพอสมควร วันหนึ่งจึงได้รับนิมนต์ไปร่วมงานที่วัดเขาน้อยสามผาน ดังนั้นจึงเพียงไปร่วมงานเท่านั้น ไม่เคยอยู่พักเลย ตอนนั้นยังอดฉงนสนเท่ห์ไม่ได้ว่า คิดยังไงจึงมาสร้างวัดบนเขาเล็กๆ ที่สำคัญตอนนั้นกำลังสร้างเจดีย์ ณ กึ่งกลางยอดเขาอีกต่างหาก ได้กราบหลวงปู่ฟักครั้งหนึ่ง แต่เนื่องจากในช่วงนั้นเป็นพระบวชใหม่ไม่ค่อยใกล้เข้าใกล้ครูบาอาจารย์เท่าไหร่ จึงนั่งเงียบๆฟังห่างๆ ครูบาอาจารย์ที่มีคุณธรรมเพียงแต่ได้เห็นก็รับรู้ได้ถึงพลังแห่งเมตตาของท่าน ตอนนั้นทราบเพียงแต่ว่า หลวงปู่ฟัก สันติธัมโมเป็นศิษย์ของหลวงปู่ลี ธัมมธโร แห่งวัดอโศการาม
วิธีภาวนาที่หลวงปู่ฟักสอนแปลกดีดังที่บันทึกไว้ในหนังสือสันติธัมโม หน้า 171 ความว่า “พระอาจารย์ฟักสอนเรื่องภาวนาว่า ต้องทำกันอย่างจริงๆจังๆ เวลาภาวนาก็จะเดินกันทั้งวัน ท่านพระอาจารย์นั้นตั้งแต่เป็นพระพรรษาน้อยๆเมื่อนั่งภาวนามักจะตกภวังค์ ตัวจะโยกไปมาเหมือนหลับ ท่านก็หาวิธีแก้โดยได้นำวิธีแก้เหล่านั้นมาปรับใช้กับลูกศิษย์ท่าน เช่น “ข้างหน้าขนุนข้างหลังทุเรียน” หมายความว่าท่านจะเอาลูกทุเรียนกับขนุนมาวางดักไว้ข้างหน้าและข้างหลัง ถ้าสัปหงกเมื่อไรเป็นโดนเปลือกทิ่ม” เรียกว่าเป็นการประยุกต์ใช้อุปกรณ์การฝึกจากสิ่งที่มีอยู่จริง เพราะจันทบุรีมีผลไม้ทั้งขนุนและทุเรียนจำนวนมากนั่นเอง
อ่านหนังสือ “สันติธัมโม บูชา” อย่างมีความสุข แม้จะเป็นหนังสือขนาดใหญ่หนาถึง 360 หน้า แต่สิ่งใดก็ตามหากได้ทำแล้วมีความสุข ย่อมไม่ได้คำนึงถึงขนาดว่าจะใหญ่หรือเล็ก นับเป็นของฝากจากจันทบุรีที่ทรงคุณค่าเป็นอย่างยิ่ง ขอกราบถวายสักการะหลวงปู่ฟัก สันติธัมโมด้วยความเคารพ และขอขอบคุณผู้ที่ใช้นามว่า “ผู้อ่านไซเบอร์วนาราม” ที่เมตตาส่งหนังสือมาให้อ่านและส่งผ้าอาบน้ำฝนมาถวายในพรรษานี้ ผู้อ่านท่านนั้นจะเป็นใครไม่ทราบ ขอขอบคุณที่ติดตามอ่าน หากมีเรื่องจะเผยแพร่ยินดีรับพิจารณา เข้าพรรษาปีนี้ตั้งใจไว้ว่า “จะไม่ถามเรื่องส่วนตัวของใคร” ขออนุโมทนา ผ้าอาบน้ำฝนผืนนั้นได้อธิษฐานใช้ตามพระธรรมวินัยแล้ว
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
19/07/54