ปัญหาส่วนหนึ่งของมนุษย์มาจากความเห็นที่ไม่ตรงกัน ใครที่มีความเห็นตรงกับเราเราจะเห็นว่าเขาถูก ส่วนใครที่มีความเห็นไม่ตรงกับสิ่งที่เราคิด ความเห็นของคนอื่นที่ไม่ตรงกับที่เราคิด มักจะถูกมองไว้ในเบื้องต้นก่อนว่าเขาผิด บางครั้งจะเกิดการโต้เถียงกันขึ้น การเถียงกันเพื่อมุ่งเอาชนะกันนั้นบางครั้งก็ไม่ต้องการเหตุผล ในช่วงปีที่ผ่านมาพอยกเรื่อง "เสื้อแดง เสื้อเหลือง" ขึ้นสู่่วงสนทนาทีไรมีอันทำให้วงแตกทุกที ในพรรษานี้ตั้งใจไว้ว่าจะไม่เถียงกับใครโดยไร้เหตุผล และจะไม่ถามเรื่องส่วนตัวของบุคคลอื่น หากใครอยากจะบอกหรืออยากจะเล่าให้ฟังก็ขอให้เขาบอกมาเองพร้อมที่จะรับฟัง
เรื่องของเหตุผลนั้นถือว่าเป็นอาวุธสำคัญอย่างหนึ่งของนักปรัชญา แปลมาจากคำว่า “Reason” ศัพท์ทางปรัชญาแปลว่าวิจารณญาณ เหตุผล การอธิบายหรือการแสดงเหตุผลที่ถูกต้อง การโต้แย้งหรือการกล่าวในวิธีทางตรรก สมัยโบราณนักปรัชญาที่ชอบโต้แย้งหาคำตอบมากที่สุดคนหนึ่งคือโสเครตีส เขาถามเสียจนบางคนไม่มีคำตอบ ต่อมาก็มีนักปรัชญานามว่าเพลโตและอริสโตเติลได้พยายามพัฒนาหลักการโต้แย้งจนกลายเป็นศาสตร์ที่เรียกว่า “ตรรกศาสตร์”
ตรรกศาสตร์(Logic) เป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยการคิดแบบเหตุผล พร้อมด้วยกฏเกณฑ์และเงื่อนไขต่างๆที่ถือเป็นวิธีการในการใช้เหตุผลอย่างถูกต้องตามแนวแห่งศาสตร์และศิลป์ เพื่อให้บรรลุถึงความจริงและสามารถแสดงออกมาได้อย่างถูกต้อง เป็นวิชาที่มีสอนในระดับปริญญาตรี โดยเฉพาะผู้ที่เรียนทางปรัชญาจะต้องเรียนวิชานี้ การให้เหตุผลมีอยู่สองประการคือนิรนัยและอุปนัย
การให้เหตุผลแบบนิรนัย(Deductive Reasoning) เกิดจากการมีสมมติฐานทั่วไปและตามด้วยสมมติฐานเฉพาะย่อยๆ ไปเรื่อยๆ ความสัมพันธ์ระหว่างสมมติฐานทั่วไป และสมมติฐานเฉพาะจะก่อให้เกิดผลสรุปเฉพาะ โดยต้องยอมรับว่าสมมติฐานทุกสมมติฐานเป็นข้อความที่เป็นจริง เพื่อหาเหตุผลนำไปสู่ข้อสรุป หากฟังแล้วเข้าใจยากก็ขอสรุปสั้นๆว่าหาเหตุผลจากหลักการใหญ่ไปสู่หลักการย่อย เช่น “คนทุกคนต้องตาย พระมหาบุญไทยเป็นคน ดังนั้นพระมหาบุญไทยต้องตาย” บทสรุปอย่างนี้ถูกต้องตามหลักการคือมองจากส่วนใหญ่ไปหาส่วนย่อย แม้ว่าในช่วงเวลานี้พระมหาบุญไทยจะยังไม่ตายยังมีลมหายใจอยู่ แต่ต่อไปในอนาคตก็ต้องตาย แต่การให้เหตุผลแบบนิรนัยอาจผิดก็ได้เช่น “เรือทุกลำลอยน้ำได้ ถังน้ำพลาสติกลอยน้ำได้ ดังนั้นถังน้ำพลาสติกเป็นเรือ” แต่ข้อเท็จจริงถังพลาสติกไม่ใช่เรือ
การให้เหตุผลแบบอุปนัย (Inductive Reasoning) หมายถึงกระบวนการให้เหตุผลที่เนื้อความของข้อสรุปมีเกินกว่าเนื้อความของข้อตั้ง ซึ่งหากข้อตั้งเป็นความจริงแล้ว ข้อสรุปก็น่าจะเป็นความจริงได้ ฟังแล้วเข้าใจยากอีกสรุปสั้นๆว่าหาเหตุผลจากการรวบรวมข้อมูลย่อยต่างๆนำไปสู่ข้อมูลหลัก เช่น "นายแดง นายมี นายขาวต้องตาย นายแดง นายมี นายขาวเป็นคน เพราะฉะนั้นคนทุกคนต้องตาย" เป็นการรวบรวมจากสิ่งที่เห็นจากส่วนย่อยไปหาส่วนใหญ่ ซึ่งก็ได้บทสรุปตามหลักการของการให้เหตุผล คนที่ใช้เหตุผลเป็นเมื่อพูดหรือโต้แย้งกับคนอื่นมักจะน่าเชื่อถือเหมือนคนบางคนพูดแต่ละทีดูดีมีเหตุผล จนคนฟังเคลิบเคลิ้มตาม แต่เนื้อหาที่พูดนั้นจะจริงหรือเท็จยังไม่อาจทราบได้ หากคำพูดก็ไพเราะแถมรูปหล่อด้วยยิ่งน่าเชื่อถือ
ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมแก่ชาวเกสปุตตนิคมว่าด้วยหลักแห่งความเชื่อ แม้ว่าจะมีเหตุผลก็ตามแต่ก็อย่าพึ่งเชื่อ ภาษาบาลีว่า “มา ตกฺกเหตุ” ภาษาไทยแปลว่า “อย่าได้ยึดถือโดยเดาเอาเอง” คำว่า “ตกฺกเหตุ” ที่ภาษาสมัยปัจจุบันน่าจะแปลว่า “เหตุผลทางตรรก” แต่พระไตรปิฎกฉบับหลวงแปลเพียงว่าเป็นการเดาเอาเอง
ข้อความนี้มีปรากฎในเกสปุตตสูตร อังคุตรนิกาย ติกนิบาต(20/505/179) ความว่า “มาเถิดท่านทั้งหลายท่านทั้งหลายอย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำที่ได้ยินได้ฟังมา อย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำสืบๆ กันมา อย่าได้ยึดถือโดยตื่นข่าวว่า ได้ยินอย่างนี้อย่าได้ยึดถือโดยอ้างตำรา อย่าได้ยึดถือโดยเดาเอาเอง อย่าได้ยึดถือโดยคาดคะเน อย่าได้เชื่อถือโดยความตรึกตามอาการ อย่าได้ยึดถือโดยชอบใจว่าต้องกันกับทิฐิของตัว อย่าได้ยึดถือโดยเชื่อว่าผู้พูดสมควรจะเชื่อได้ อย่าได้ยึดถือโดยความนับถือว่าสมณะนี้เป็นครูของเรา เมื่อใดท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศลธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ผู้รู้ติเตียน ธรรมเหล่านี้ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้วเป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายควรละธรรมเหล่านั้นเสีย”
แปลมาจากภาษาบาลีว่า “เอถ ตุมฺเห กาลามา มา อนุสฺสเวน มา ปรมฺปราย มา อิติกิราย มา ปิฏกสมฺปทาเนน มา ตกฺกเหตุ มา นยเหตุ มา อาการปริวิตกฺเกน มา ทิฏฺฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา มา ภพฺพรูปตาย มา สมโณ โน ครูติ ยทา ตุเมฺห กาลามา อตฺตนาว ชาเนยฺยาถ อิเม ธมฺมา อกุสลา อิเม ธมฺมา สาวชฺชา อิเม ธมฺมา วิญฺญุครหิตา อิเม ธมฺมา สมตฺตา สมาทินฺนา อหิตาย ทุกฺขาย สํวตฺตนฺตีติ” อ่านแล้วลองเทียบเคียงดู แม้จะมีเหตุผลก็ยังไม่ควรยึดถือว่าจะเป็นจริง
การใช้เหตุผลเพื่อจะมุ่งเพื่อเอาชนะกันนั้นย่อมเกิดขึ้นได้กับคนทุกคน แต่การเถียงกันแม้จะใช้เหตุผลก็ยังทำให้เกิดความขัดแย้งกันได้ บางคนอาจสงสัยว่าหากไม่เถียงกันแล้วจะพูดอะไรกัน ในพระพุทธศาสนาให้พูดกันด้วยคำสุภาษิต ดังที่แสดงไว้ในสุภาษิตสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค (15/738/229) ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย วาจาอันประกอบด้วยองค์สี่เป็นวาจาสุภาษิต ไม่เป็นวาจาทุพภาษิต เป็นวาจาไม่มีโทษ และเป็นวาจาอันวิญญูชนทั้งหลายไม่ติเตียนคือ(1) ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมกล่าวแต่วาจาที่บุคคลกล่าวดีแล้วอย่างเดียว ไม่กล่าววาจาที่บุคคลกล่าวชั่วแล้ว (2) ย่อมกล่าวแต่วาจาที่เป็นธรรมอย่างเดียว ไม่กล่าววาจาที่ไม่เป็นธรรม (3) ย่อมกล่าวแต่วาจาอันเป็นที่รักอย่างเดียว ไม่กล่าววาจาอันไม่เป็นที่รัก (4) ย่อมกล่าวแต่วาจาจริงอย่างเดียวไม่กล่าววาจาเท็จ วาจาอันประกอบด้วยองค์สี่เหล่านี้แล เป็นวาจาสุภาษิต ไม่เป็นวาจาทุพภาษิต เป็นวาจาไม่มีโทษ และเป็นวาจาอันวิญญูชนทั้งหลายไม่ติเตียน”
วันนี้อธิบายมาจากคำว่า “ไม่เถียง” อย่างเดียว ส่วนคำว่า “ไม่ถาม” ขอนิยามความหมายสั้นๆว่า “ไม่ถามเรื่องส่วนตัวของบุคคลอื่น” วันนี้อธิบายได้เท่านี้ อธิบายขยายความยิ่งมากเท่าไหร่ดูเหมือนกับกำลังโต้แย้งหรือโต้เถียงกับตัวเองอยู่ หากสนทนากับใครแล้วทำให้มีปัญหาก็ควรหันมาสนทนากับตนเอง หรือหากจะโต้เถียงอะไรกับใครแล้วทำให้เกิดปัญหา ก็จงหันมาเถียงกับตัวเอง พรรษานี้ตั้งใจไว้แล้วว่า “ไม่ถือ ไม่เถียง และไม่ถาม” ขออยู่อย่างสงบและสันติ ปิดปากไว้ไม่พูดจา ดีกว่าเจรจาแล้วมีโทษ
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
18/07/54