ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai


            วันอาสาฬหบูชาปีนี้ตรงกับวันที่ 15 กรกฏาคม 2554 ทางหน่วยงานราชการได้จัดงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาเนื่องในเทศกาลอาสาฬหบูชาและเข้าพรรษาประจำปี 2554 มีหลายหน่วยงานเช่นกรมการศาสนาร่วมกับวัดสระเกศจัดงานที่วัดสระเกศ  มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชาวิทยาลัยจัดงานที่ศาลายา นครปฐม มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และองค์กรเครือข่ายพระพุทธศาสนา จัดกิจกรรมทั้งในส่วนกลางและภูมิภาคทั่วประเทศ


            สำหรับที่วัดสระเกศมีกิจกรรมสำคัญคือพิธีทำบุญตักบาตร พิธีถวายผ้าอาบน้ำฝน การแสดงพระธรรมเทศนา พิธีเวียนเทียน หล่อเทียนและถวายเทียนพรรษาจำนวน 9 ต้น โดยจะถวาย ณ พระอารามหลวงและวัด 9 แห่ง ซึ่งประชาชนจะได้ร่วมแสดงตนเป็นพุทธมามกะ การประกวดสวดมนต์หมู่สรรเสริญพระรัตนตรัย การออกร้านจำหน่ายหนังสือและสื่อธรรมะราคาย่อมเยาว์ การทำบาตรพระของชาวชุมชนบ้านบาตร ซึ่งงานดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชน ได้น้อมนำหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา มาประพฤติปฏิบัติในชีวิต และยังเป็นการสืบสานอนุรักษ์วัฒนธรรมการแห่เทียนจำนำพรรษา ซึ่งเป็นวัฒนธรรมประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมายาวนาน
            นอกจากนั้นยังได้อัญเชิญพระธรรมเจดีย์หรือพระคัมภีร์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลกเท่าที่ค้นพบ จากประเทศนอร์เวย์ มาประดิษฐาน ซึ่งพระคัมภีร์ดังกล่าวถูกค้นพบในถ้ำเทือกเขาบาบียัน ประเทศอัฟกานิสถาน ซึ่งเชื่อว่าเป็นพระคัมภีร์ที่พระอรหันต์ และพระสาวก เป็นผู้จารึกไว้ เมื่อ 2,000 ปีก่อน ซึ่งรัฐบาลนอร์เวย์ ได้มอบให้ไทยนำมาประดิษฐานไว้ที่วัดแห่งนี้อย่างถาวร โดยจะมีพิธีเปิดให้สักการะอย่างเป็นทางการในเวลา 19.00 น.ของวันที่ 15 กรกฎาคม หรือวันอาสาฬบูชา

 

 

            ในส่วนภูมิภาคสำนักงานวัฒนธรรม 76 จังหวัดพร้อมใจจัดงานที่ศาสนสถานสำคัญในจังหวัดนั้น ระหว่างวันที่ 13-15 กรกฎาคมเช่นกัน
            วันอาสาฬหบูชาตรงกับขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 (อาสาฬหะ) ในวันนี้มีเหตุการณ์สำคัญสรุปได้ 5 ประการคือ
             (1) เป็นวันแรกที่พระพุทธเจ้าประกาศพระพุทธศาสนา
            (2)พระพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนาคือธัมจักกัปปวัตนสูตร เป็นพระธรรมเทศนากัณฑ์แรก
            (3) เป็นวันแรกที่มีพระสงฆ์สาวกเกิดขึ้นในโลกคือพระอัญญาโกญทัญญะ
            (4)เป็นวันแรกที่พระรัตนตรัยครบบริบูรณ์คือพระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์
            (5) เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงได้ปฐมสาวกคือ การที่ท่านโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม และบวชเป็นพระภิกษุ จึงเป็นสาวกรูปแรกของพระพุทธเจ้า
            ส่วนวันเข้าพรรษาตรงกับวันแรม 1 ค่ำเดือน 8 เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงมีพุทธานุญาตให้พระภิกษุสงฆ์อธิษฐานจิตเริ่มอยู่จำพรรษาโดยไม่เดินทางไปค้างแรมที่อื่นตลอด 3 เดือน เป็นโอกาให้ประชาชนให้ลด ละ เลิกอบายมุขในวันสำคัญนี้ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาและถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
  พระสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงในวันอาสาฬหบูชาเรียกว่าธัมมจักกัปวัตนสูตร เป็นพระสูตรที่ปรากฎในพระวินัยปิฎก มหาวรรค  (4/13-17/18-22) พระสงฆ์จะนิยมสวดเป็นภาษาบาลี คนที่จะรู้ความหมายในพระสูตรได้จะต้องรู้ภาษาบาลี วันนี้ได้นำเอาธัมมจักกัปปวัตนสูตร ฉบับแปลเป็นภาษาไทยโดยไม่ได้ตัดต่อส่วนหนึ่งส่วนใดออกไป เป็นเนื้อหาที่แปลมาจากภาษาบาลีโดยตรงมีปรากฎตามสำนวนแปลจากพระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับหลวง ซึ่งกรมการศาสนาจัดพิมพ์ในปีฉลองรัชดาภิเษก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พุทธศักราช 2514  มาให้ศึกษา ส่วนผู้ที่เข้าใจภาษาจะสวดตามหรือฟังพระสวดและดูคำแปลภาษาไทยไปด้วยก็ได้ จะได้ทั้งบุญและได้ปัญญา

 

 

 

ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร


           ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกะพระปัญจวัคดีย์ว่า   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ที่สุดสองอย่างนี้อันบรรพชิตไม่ควรเสพคือ
           การประกอบตนให้พัวพันด้วยกามสุขในกามทั้งหลาย เป็นธรรมอันเลวเป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน     ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
           การประกอบความเหน็ดเหนื่อยแก่ตนเป็นความลำบาก ไม่ใช่ของพระอริยะ  ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
          ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย    ปฏิปทาสายกลาง    ไม่เข้าไปใกล้ที่สุดสองอย่างนั้นนั่นตถาคตได้ตรัสรู้แล้ว  ด้วยปัญญาอันยิ่ง   ทำดวงตาให้เกิด   ทำญาณให้เกิดย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ   เพื่อความรู้ยิ่ง   เพื่อความตรัสรู้  เพื่อนิพพาน

           ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ก็ปฏิปทาสายกลายที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วย ปัญญาอันยิ่ง  ทำดวงตาให้เกิด  ทำญาณให้เกิด  ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบเพื่อความรู้ยิ่ง  เพื่อความตรัสรู้  เพื่อนิพพานนั้น  เป็นไฉน
           ปฏิปทาสายกลางนั้น  ได้แก่อริยมรรคมีองค์แปดนี้แหละ  คือปัญญาอันเห็นชอบ  ความดำริชอบ เจรจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีวิตชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ ตั้งจิตชอบ
           ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  นี้แลคือปฏิปทาสายกลายนั้น  ที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง  ทำดวงตาให้เกิด  ทำญาณได้เกิด  ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบเพื่อความรู้ยิ่ง  เพื่อความตรัสรู้  เพื่อนิพพาน
           ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ข้อนี้แลเป็นทุกขอริยสัจ  คือ  ความเกิดก็เป็นทุกข์  ความแก่ก็เป็นทุกข์  ความเจ็บไข้ก็เป็นทุกข์  ความตายก็เป็นทุกข์ ความประจวบด้วยสิ่งที่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์  ความพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์  ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์  โดยย่นย่อ  อุปาทานขันธ์ห้าเป็นทุกข์

 

 

           ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ข้อนี้แลเป็นทุกขสมุทยอริยสัจ  คือตัณหาอันทำให้เกิดอีก  ประกอบด้วยความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิน  มีปรกติเพลิดเพลินในอารมณ์นั้น ๆ  คือ  กามตัณหา  ภวตัณหา  วิภวตัณหา.
           ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ข้อนี้แลเป็นทุกขนิโรธอริยสัจ   คือ  ตัณหานั่นแลดับโดยไม่เหลือด้วยมรรคคือวิราคะ  สละ  สละคืน  ปล่อยไป  ไม่พัวพัน
           ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ข้อนี้แลเป็นทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ  คืออริยมรรคมีองค์แปดนี้แหละ

         
           ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ดวงตา  ญาณ  ปัญญา วิชชา แสงสว่างได้เกิดขึ้นแล้ว แก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่านี้ทุกขอริยสัจ
           ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ดวงตา   ญาณ   ปัญญา  วิชชา  แสงสว่าง  ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่าทุกขอริยสัจนี้นั้นแลควรกำหนดรู้
           ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย   ดวงตา   ญาณ   ปัญญา   วิชชา   แสงสว่าง   ได้เกิดเกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่าทุกขอริยสัจนี้นั้นแล เราก็ได้กำหนดรู้แล้ว
           ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ดวงตา  ญาณ  ปัญญา  วิชชา  แสงสว่าง  ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า   นี้ทุกขสมุทยอริยสัจ
           ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ดวงตา  ญาณ  ปัญญา  วิชชา      แสงสว่าง  ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า  ทุกขสมุทยอริยสัจนี้นั้นแลควรละเสีย
           ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ดวงตา  ญาณ  ปัญญา  วิชชา  แสงสว่างได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า  ทุกขสมุทยอริยสัจนี้นั้นแล เราได้ละแล้ว
           ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ดวงตา  ญาณ  ปัญญา  วิชชา  แสงสว่าง  ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า   นี้ทุกขนิโรธอริยสัจ

 

 

           ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา  วิชชา  แสงสว่างได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า  ทุกขนิโรธอริยสัจนี้นั้นแลควรทำให้แจ้ง
           ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ดวงตา  ญาณ  ปัญญา  วิชชา  แสงสว่าง  ได้เกิด ขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่าทุกขนิโรธอริยสัจนี้นั้นแล เราทำให้แจ้งแล้ว
           ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ดวงตา  ญาณ  ปัญญา  วิชชา  แสงสว่าง  ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่านี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ                                                                         
           ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ดวงตา  ญาณ  ปัญญา  วิชชา  แสงสว่าง  ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่าทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนี้นั้นแลควรให้เจริญ                                                     
           ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ดวงตา  ญาณ  ปัญญา  วิชชา  แสงสว่าง  ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนี้นั้นแล   เราให้เจริญแล้ว        

 

 

                                   
         ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย    ปัญญาอันรู้เห็นตามเป็นจริงของเราในอริยสัจสี่นี้มีรอบสาม มีอาการสิบสอง  อย่างนี้ยังไม่หมดจดดีแล้วเพียงใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย   เรายังยืนยันไม่ได้ว่า   เป็นผู้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ   อันยอดเยี่ยมในโลก  พร้อมทั้งเทวโลก  มารโลก  พรหมโลก  ในหมู่สัตว์  พร้อมทั้งสมณะพราหมณ์  เทวดาและมนุษย์เพียงนั้น

         ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ก็เมื่อใดแล  ปัญญาอันรู้เห็นตามเป็นจริงของเราในอริยสัจสี่นี้มีรอบสามมีอาการ  สิบสองอย่างนี้หมดจดดีแล้ว    ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเมื่อนั้น   เราจึงยืนยันได้ว่า   เป็นผู้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ   อันยอดเยี่ยมในโลก  พร้อมทั้งเทวโลก  มารโลก  พรหมโลก  ในหมู่สัตว์  พร้อมทั้งสมณะ  พรามหณ์  เทวดา  และมนุษย์
         อนึ่งปัญญาอันรู้เห็นได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราว่า    ความพันวิเศษของเราไม่กลับกำเริบ  ชาตินี้เป็นที่สุด  ภพใหม่ไม่มีต่อไป
        ก็แลเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไวยากรณภาษิตนี้อยู่  ดวงตาเห็นธรรมปราศจากธุลี    ปราศจากมลทิน  ได้เกิดขึ้นแก่ท่านพระโกณฑัญญะว่า   สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา   สิ่งนั้นทั้งมวล    มีความคับเป็นธรรมดา
         ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศธรรมจักรให้เป็นไปแล้วเหล่าภุมมเทวดาได้บันลือเสียงว่า  นั่นพระธรรมจักรอันยอดเยี่ยม   พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศให้เป็นไปแล้ว    ณ ป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน    เขตพระนครพาราณสี   อันสมณะ  พราหมณ์   เทวดา   มาร   พรหม   หรือใคร ๆ  ในโลกจะปฏิวัติไม่ได้
           เทวดาชั้นจาตุมหาราช   ได้ยินเสียงของพวกภุมมเทวดาแล้ว   ก็บันลือเสียงต่อไป
           เทวดาชั้นดาวดึงส์ได้ยินเสียงของพวกเทวดาชั้นจาตุมหาราชแล้ว   ก็บันลือเสียงต่อไป
           เทวดาชั้นยามา ได้ยินเสียงของพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์แล้ว   ก็บันลือเสียงต่อไป
           เทวดาชั้นดุสิตได้ยินเสียงของพวกเทวดาชั้นยามาแล้ว   ก็บันลือเสียงต่อไป
           เทวดาชั้นนิมมานรดี ได้ยินเสียงของพวกเทวดาชั้นดุสิตแล้ว   ก็บันลือเสียงต่อไป
           เทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตดีได้ยินเสียงของพวกเทวดาชั้นนิมมานรดี   ก็บันลือเสียงต่อไป

 

 

 

       เทวดาที่นับเนื่องในหมู่พรหมได้ยินเสียงของพวกเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตดีแล้ว  ก็บันลือเสียงต่อไปว่า   นั่นพระธรรมจักรอันยอดเยี่ยม พระผู้มีพระภาคเจ้า   ทรงประกาศให้เป็นไปแล้ว  ณ ป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน  เขตพระนครพาราณสี  อันสมณะ  พราหมณ์  เทวดา  มาร   พรหม   หรือใคร ๆ ในโลกจะปฏิวัติไม่ได้
           ชั่วขณะกาลครู่หนึ่งนั้น    เสียงกระฉ่อนขึ้นไปจนถึงพรหมโลกด้วยประการฉะนั้นแล

          ทั้งหมื่นโลกธาตุนี้ได้หวั่นไหวสะเทือนสะท้าน  ทั้งแสงสว่างอันยิ่งใหญ่หาประมาณมิได้   ปรากฏแล้วในโลกล่วงเทวานุภาพของเทวดาทั้งหลาย
           ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งพระอุทานว่าท่านผู้เจริญโกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ  ท่านผู้เจริญ  โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ   เพราะเหตุนั้นคำว่า “อัญญาโกณฑัญญะ” นี้  จึงได้เป็นชื่อของท่านพระโกณฑัญญะ   ด้วยประการฉะนี้"

 

ธัมมจักกัปวัตนสูตร จบ

 

           เนื้อความแห่งปฐมเทศนาหรือเทศนาครั้งแรกที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้แสดงแก่ปัญจวัคคีย์ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี แม้กาลเวลาจะผ่านไปนานกว่าสองพันปีแล้ว แต่สถานที่แห่งนั้นปัจจุบันยังได้รับก่ีอนุรักษฺไว้เป็นอย่างดี มองเห็นซากแห่งสถานที่ที่เคยเป็นวัด และสถานที่ที่ทรงแสดงปฐมเทศนามีธัมเมขสถูปสร้างไว้เป็นอนุสรณ์ "ธัมเมกขสถูป" มาจากคำว่า "ธัมเมกขะ" หมายถึง เห็นธรรม ส่วน "สถูป" หมายถึงสิ่งก่อสร้างที่บรรจุของควรบูชา เป็นอนุสรณ์เตือนใจให้เกิดกุศลธรรม ดังนั้นธัมเมกขสถูปจึงเป็นอนุสรณ์แด่ท่านผู้เห็นธรรมในครั้งนั้น คือพระอัญญาโกณทัญญะ  
         เหตุการณ์ทุกอย่างในประวัติศาสตร์มีหลักฐานยืนยันไว้ชัดเจน เนื้อหาในธัมมจักกัปวัตนสูตรนั้นค่อนข้างยาก แต่หากค่อยๆอ่านค่อยๆพินิจพิจารณาก้จะเห็นได้ถึงความสละสลวยกลมกลืนของการแสดงธรรม ค่อยๆอ่านอย่างใจร้อน การอ่านและศึกษาธรรมะก็คือการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่ง ทุกอย่างย่อมมีครั้งแรกเสมอ หากเริ่มต้นดีย่อมมีชัยไปกว่าครึ่ง

 

 

พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน

14/05/54

 

 

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก