เช้าวันอาทิตย์พนักงานจากสถานีดับเพลิงบางซ่อนและข้าราชการเขตบางซื่อ มาร่วมพัฒนาวัด ทำความสะอาดสถานที่และฟังธรรมในเทศกาลอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา งานนี้เจ้าอาวาสสั่งมาว่าให้เป็นตัวแทนในการแสดงธรรมแก่บรรดาพนักงาน ข้าราชการ เจ้าหน้าที่เหล่านั้น ท่านคงคิดว่าเขียนมามากคงพูดได้ โดยระบุหัวข้อมาให้ว่าให้เน้นที่ความสามัคคีและธรรมสำหรับข้าราชการ เนื่องจากเวลามีพียงสามสิบนาที จึงพูดรวมๆกันไป โดยตั้งหัวข้อเสียใหม่ว่า “ประตูเข้าสู่ประโยชน์ ต้นทางสู่จุดหมาย”
เห็นบรรดาพนักงานดับเพลิงและเหล่าบรรดาพนักงาน เจ้าหน้าที่เขตบางซื่อ ทำงานแล้วต้องบอกว่าดูแล้วมีความสุข แต่ละคนช่วยกันทำงานตามความถนัด บางคนถือไม้กวาด บางคนสาดน้ำทำความสะอาด บางคนช่วยลอกคลองข้างวัด ทำงานไปหัวเราะสนุกสนาน พวกเขาทำงานด้วยความเพลิดเพลิน ทำงานด้วยความสุข คิดถึงข้อความที่มีคนเขียนไว้เกี่ยวกับข้าราชการที่ดีว่า “ไม่ยักท่า ไม่หน้างอ ไม่ให้รอนาน ไม่บ่นว่างานมาก ปากต้องไม่เสีย” ซึ่งบรรดาข้าราชการทั้งหลายฟังแล้วหนาวๆร้อนๆ ถ้าหากเพิ่มอีกสองประโยคเข้าไปอีกว่า “มาอย่างไทย ไปอย่างฝรั่ง” ทำให้อาชีพข้าราชการถูกมองไปในทางไม่ค่อยดีนัก แต่ข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ในเขตบางซื่อมักจะถือโอกาสในช่วงเทศกาลวันสำคัญต่างๆมาพัฒนาวัดต่างๆที่อยู่ในเขตบางซื่อ หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันไป วัดกับเขตจึงมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาโดยตลอด
การทำงานที่เป็นไปเพื่อความเจริญนั้นในพระพุทธศาสนามีแสดงไว้ในอัตถัสสทวารชาดก ขุททกนิกาย ชาดก (27/84/29)ว่าด้วยคุณธรรมหกประการที่นำไปสู่ความเจริญได้แก่ “บุคคลควรปรารถนาลาภอย่างเยี่ยมคือความไม่มีโรค ศีล ความรู้ของท่านผู้รู้ทั้งหลาย การสดับฟัง ความประพฤติตามธรรม ความไม่ท้อถอย คุณธรรมหกประการนี้ เป็นประตู เป็นประธานแห่งประโยชน์”
แปลมาจากภาษาบาลีว่า“อาโรคฺยมิจฺเฉ ปรมญฺจ ลาภํ
สีลญฺจ พุทฺธานุมตํ สุตญฺจ
ธมฺมานุวตฺตี จ อลีนตา จ
อตฺถสฺส ทฺวารา ปมุขา ฉเฬเตติ ฯ
ธรรมทั้งหกประการนี้รวมเรียกว่า วัฒนมุขคือธรรมที่เป็นปากทางแห่งความเจริญ ธรรมที่เป็นดุจประตูชัยอันจะเปิดออกไปให้ก้าวหน้าสู่ความเจริญงอกงามของชีวิต หากแยกย่อยออกเป็นข้อๆก็จะได้ความหมายดังต่อไปนี้
1.อาโรคยะ คือความไม่มีโรค ความมีสุขภาพดี ซึ่งคนทำงานเบื้องต้นจะต้องมีสุขภาพที่แข็งแร็ง แม้จะมีโรคภัยอยู่บ้างแต่ก็ต้องไม่เป็นโรคติดต่อหรือโรคที่สังคมรัเกียจ งานบางอย่างต้องคัดเลือกคนที่มีสุขภาพสมบูรณ์ ไม่เป็นโรคภัยบางอย่างเช่นคนที่จะบวชเป็นพระได้ก็ต้องไม่เป็นโรคต้องห้ามห้าชนิดคือ ”โรคกุฏฐัง (โรคเรื้อน)คัณโฑ (โรคฝี) กิลาโส (โรคกลาก โรคผิวหนัง)โสโส (โรคผอมแห้ง) อัปปมาโร (ลมบ้าหมู)” พระกรรมวาจารย์จะสอบถามในพิธีอุปสมบท คนที่มีโรคประจำตัวย่อมลำบากในการปฏิบัติงาน เพราะต้องคอยกังวลในการรักษาโรค คนที่ไม่มีโรคจึงเป็นลาภอันประเสริฐ
2. ศีล คือความประพฤติดี มีวินัย ไม่ก่อเวรกัน ได้ฝึกในมรรยาทอันงาม งานแต่ละอย่างจะต้องมีระเบียบแบบแผนที่ทุกคนจะต้องเข้าใจร่วมกันก่อน หากทำผิดระเบียบก็จะต้องได้รับการตักเตือนและถูกลงโทษตามสมควรแก่ความผิด บางคนหน้าที่การงานกำลังไปได้ดี แต่ทำผิดระเบียบจนถึงไล่ออก เลยทำให้เสียอนาคตเสียคนไปเลย แต่หากเคารพกฎกติกาของหน่วยงาน แม้บางครั้งจะไม่ถูกใจเรา แต่ก็ต้องทำตามระเบียบแบบแผน
3. พุทธานุมัต หมายถึงศึกษาแนวทาง มองดูแบบอย่าง เข้าถึงความคิดของพุทธชนเหล่าคนผู้เป็นบัณฑิต ในแต่ละหน่วยงานจะต้องมีคนที่เคยทำงานนั้นมาก่อน บางคนประสบความสำเร็จ บางคนไปไม่ถึงฝั่งแห่งความฝัน หากอยากมีความเจริญก้าวหน้าก็ต้องศึกษาแนวทางของผู้ที่เคยปฏิบัติมาก่อน แม้ในที่นี่จะใช้คำว่า “พุทธานุมัต” คำว่า “พุทธ” แปลได้อีกอย่างหนึ่งว่าผู้รู้หรือนักปราชญ์ก็ได้ ดำเนินตามแนวทางของนักปราชญ์โอกาสผิดพลาดย่อมมีน้อย
4.สุตะ หมายถึงใฝ่เล่าเรียนหาความรู้ ฝึกตนให้เชี่ยวชาญและทันต่อเหตุการณ์ ข้าราชการต้องศึกษาหาความรู้และต้องรู้เท่าทันเหตุการณ์ของโลกอยู่ตลอดเวลา โลกก้าวหน้าไปถึงไหนแล้ว ก็ต้องพยายามหาทางติดตามข่าวสาร อย่าให้เป็นคนตกยุค
5.ธรรมานุวัติ หมายถึงการดำเนินชีวิตและกิจการงานโดยทางชอบธรรม เรื่องนี้ชัดเจนหากไม่ดำเนินชีวิตตามครรลองครองธรรมแล้ว โอกาสที่จะเจริญก้าวหน้าเป็นไปได้ยาก
6.อลีนตา คือเพียรพยายามไม่ระย่อ มีกำลังใจแข็งกล้า ไม่ท้อถอยเฉื่อยชา เพียรก้าวหน้าเรื่อยไป เคยได้ยินบ่อยๆที่ข้าราชการบางคนมาบ่นให้ฟังว่า ทำงานหนักเกินไป เงินเดือนไม่พอใช้ แต่ทว่าจำเป็นต้องทำงานต่อไปเพราะมีภาระหนี้สินที่จะต้องรับผิดชอบ บางคนจึงกลายเป็นข้าราชการประเภทที่เรียกว่า “เช้าชาม เย็นชาม” ทำงานไม่มีจิตวิญญาณ หรือทำงานแต่เพียงกาย แต่จิตใจไม่อยู่กับงานหาความเจริญก้าวหน้าได้ยาก
ธรรมทั้งหกประการอาจจะสรุปได้สั้นๆว่า “สุขภาพต้องใช้ได้(ไม่มีโรคภัย) ใฝ่หาความรู้ มีใจสู้งาน คิดด้านสร้างสรรค์ มีมนุษยสัมพันธ์กับทุกคน ไม่บ่นไม่ท้อถอย” จะทำงานอะไรก็สามารถประสบความสำเร็จได้ ในพจนานุกรมพุทธศาสตร์ได้อรรถาธิบายเพิ่มเติมว่า “ธรรมทั้งหกประการนี้ในบาลีเรียกว่า “อัตถทวาร” หมายถึงประตูแห่งประโยชน์ ประตูสู่จุดหมาย หรือ “อัตถประมุข” หมายถึงปากทางสู่ประโยชน์ ต้นทางสู่จุดหมาย และอรรถกถาอธิบาย “อัตถะ” หมายถึง “วุฒิ” คือความเจริญซึ่งได้แก่ “วัฒนะ” ดังนั้นจึงอาจเรียกว่า “วุฒิมุข” หรือที่คนไทยรู้สึกคุ้นมากกว่าว่า “วัฒนมุข”
วันนั้นอธิบายธรรมที่นำไปสู่ความเจริญทั้งหกประการเหล่านี้ให้บรรดาข้าราชการพนักงาน เจ้าหน้าที่เขตบางซื่อและพนักงานดับเพลิงบางซ่อนฟัง ส่วนข้าราชการอื่นๆหรือคนที่ไม่ได้ประกอบอาชีพราชการจะนำไปใช้ก็ได้ เปลี่ยนคำอธิบายตามเหตุการณ์ หรือคนทั่วไปจะนำไปใช้ก็ไม่ผิดกติกา ธรรมของพระพุทธเจ้านั้นเป็นสาธารณะใครนำไปใช้ก็ย่อมได้ประโยชน์ตามสมควรแก่การปฏิบัติ ที่สำคัญและควรจำไว้อย่างหนึ่งคือเมื่อธรรมมาเป็นหมวด หากจะให้ประสบความสำเร็จก็ต้องทำตามให้ครบทุกข้อจึงจะสำเร็จประโยชน์ตามที่หวัง เข้าทำนองที่ว่า “ร่างกายต้องไหว ใจต้องพร้อม ย่อมมีโอกาสเข้าสู่จุดหมายได้ไม่ยาก”
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
10/07/54