พรุ่งนี้วันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประชาชนพลเมืองที่มีสิทธิในการเลือกตั้งคงมีคำตอบอยู่ในใจแล้วว่าจะเลือกใครมาเป็นผู้ทำหน้าบริหารบ้านเมืองต่อไป เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาหากทุกคนเคารพกติกาพรรคที่ได้เสียงข้างมากก็ย่อมมีสิทธิในการจัดตั้งรัฐบาลทำหน้าที่บริหารบ้านเมือง เกรงแต่ว่าผู้พ่ายแพ้จะไม่ยอมรับกติกาของการเลือกตั้ง มีการชุมนุมเรียกร้องต่อไปอีก บ้านเมืองก็คงไม่สงบสุขเสียที บางทีอาจจะนำไปสู่ความแตกแยก ขาดความสามัคคีและอาจจะนำไปสู่การเสียบ้านเสียเมืองก็ได้
สมัยเป็นนักเรียนชั้นมัธยมมีหนังสือเล่มหนึ่งที่ครูบังคับให้เป็นหนังสืออ่านประกอบการเรียนในวิชาภาษาไทยคือ “สามัคคีเภทคำฉันท์” ประพันธ์โดยชิต บุรทัต สมัยนั้นอ่านแล้วชอบมาก เป็นฉันท์ที่ผู้ประพันธ์ช่างสรรหาถ้อยคำที่สละสลวย อ่านแล้วเห็นภาพเลย เช่นตอนที่วัสสการพรามหณ์ถูกโบยด้วยหวาย เพื่อที่จะไปลวงให้กษัตริย์วัชชีหลงเชื่อ จะได้ก่อการทำให้กษัตริย์วัชชีแตกความสามัคคี ข้อความตอนนั้นว่า
“บงเนื้อก็เนื้อเต้น พิศะเส้นก็สั่นรัว
ทั่วร่างและทั้งตัว ก็ระริกระริวไป
แลหลังก็หลั่งโล หิตโอ้เลอะลามไหล
เพ่งผาดอนาถใจ ตละร้อยด้วยรอยหวาย ฯ
ครูสั่งให้เลือกท่องบทใดบทหนึ่งที่ชอบ ผลของการท่องจำยังนำมาใช้ได้จนถึงปัจจุบัน แม้บางคำจะหลงลืมไปบ้าง ที่เขียนมาถือตามที่จำมาอาจจะเพี้ยนไปบ้าง ส่วนสำนวนในหนังสือจริงๆนั้นจะเป็นอย่างไร คงต้องไปหามาอ่านอีกที
สาระสำคัญของสามัคคีเภทคำฉันท์ว่าด้วยการแตกความสามัคคี จะทำให้บ้านเมืองอ่อนแอ ในที่สุดก็จะตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศอื่นได้โดยง่าย ที่มาของการแตกความสามัคคีมาจากมหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค (10/67/65) สรุปความว่า “ครั้งหนึ่งพระเจ้าแผ่นดินมคธ พระนามว่าอชาตศัตรู เวเทหีบุตร รบกับวัชชีเมื่อใดก็พ่ายแพ้ทุกที จึงเป็นเหมือนหนามที่ทิ่มแทงในหัวใจ ต้องบ่งหนามนี้ให้ได้ จึงเรียกประชุมข้าราชการว่าจะทำอย่างไรจึงจะปราบแคว้นวัชชีได้ มีอำมาตย์ท่านหนึ่งเสนอว่าลองไปถามพระพุทธเจ้าดูว่าพระองค์จะมีความเห็นอย่างไร พระพุทธองค์คงไม่กล่าวถ้อยคำเท็จเป็นแน่ แม้จะมีอำมาตย์หลายท่านห้ามว่าไม่ควรนำเรื่องการเมืองไปยุ่งกับเรื่องของสงฆ์ ในที่สุดที่ประชุมจึงมอบหมายให้วัสสการพราหมณ์เป็นตัวแทนเข้าไปสอบถามพุทธเจ้า
ขณะนั้นพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่เขาคิฌกูฏ เมืองราชคฤห์ วัสสการพรามหมณ์เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ถ้อยคำจากพระไตรปิฎกบรรยายไว้ว่า “วัสสการพรามหมณ์ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้วได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้วจึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นวัสสการพราหมณ์อำมาตย์ผู้ใหญ่ในมคธรัฐนั่งเรียบร้อยแล้วทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พระเจ้าแผ่นดินมคธ พระนามว่าอชาตศัตรู เวเทหีบุตร ขอถวายบังคมพระบาททั้งสองของท่านพระโคดมด้วยเศียรเกล้า ทูลถามถึงอาพาธน้อย พระโรคเบาบาง ความกระปรี้กระเปร่า พระกำลังการประทับอยู่สำราญ ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญพระเจ้าแผ่นดินมคธ พระนามว่า อชาตศัตรู เวเทหีบุตร ทรงปรารถนาจะเสด็จไปปราบแคว้นวัชชี ท้าวเธอรับสั่งอย่างนี้ว่า ก็เราจักตัดพวกเจ้าวัชชีผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากอย่างนี้ๆ จักให้แคว้นวัชชีพินาศถึงความวอดวาย”
พระพุทธเจ้าไม่ได้ตอบวัสสการพรามหณ์โดยตรง แต่ได้ผินพระพัตร์ไปทางพระอานนท์ที่นั่งอยู่ข้างๆ ตามสำนวนในพระไตรปิฎกบรรยายไว้ว่า (10/68/66) “สมัยนั้นท่านพระอานนท์ ยืนถวายอยู่งานพัดพระผู้มีพระภาค อยู่ ณ เบื้องพระปฤษฎางค์ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ เธอได้ยินมาอย่างไร พวกเจ้าวัชชีหมั่นประชุมกันเนืองๆหรือ
ท่านพระอานนท์ทูลว่า ข้าพระองค์ได้ยินมาอย่างนั้น พระเจ้าข้า
ดูกรอานนท์ พวกเจ้าวัชชีจักหมั่นประชุมกันเนืองๆ อยู่เพียงใด พึง หวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น
จากนั้นจึงถามเป็นข้อๆตามลำดับไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่ได้ตรัสกับวัสสการพรามหณ์ที่นั่งอยู่ใกล้ๆ เลยพราหมณ์ก็ไม่ได้กล่าวคำอะไรสอดแทรกขึ้นมา พระพุทธเจ้ายังสนทนากับพระอานนท์ไปเรื่อย พระอานนท์ก็ตอบรับว่าได้ยินมาอย่างนั้น และพระพุทธเจ้าก็สรุปบทสนทนาตามลำดับว่า
พวกเจ้าวัชชีจักพร้อมเพรียงกันประชุม จักพร้อมเพรียงกัน เลิกประชุมและจักพร้อมเพรียงกันทำกิจที่เจ้าวัชชีพึงกระทำอยู่เพียงใด พึงหวัง ได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียวไม่มีเสื่อมเพียงนั้น
พวกเจ้าวัชชีจักไม่บัญญัติสิ่งที่มิได้บัญญัติไว้ จักไม่ถอนสิ่งที่ได้บัญญัติไว้แล้ว จักสมาทานประพฤติอยู่ในวัชชีธรรมของเก่าตามที่บัญญัติไว้แล้วอยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น
พวกเจ้าวัชชีจักสักการะเคารพนับถือบูชาท่านที่เป็นผู้ใหญ่ของพวกเจ้าวัชชี และจักเชื่อฟังถ้อยคำของท่านเหล่านั้นอยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อมเพียงนั้น
พวกเจ้าวัชชีจักไม่ฉุดคร่าขืนใจสตรีหรือกุมารีในสกุล ให้ อยู่ร่วมด้วยอยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อมเพียงนั้น
พวกเจ้าวัชชีจักสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเจดีย์ของ พวกเจ้าวัชชีทั้งภายในภายนอก และจักไม่ปล่อยให้ธรรมิกพลี ที่เคยให้ ที่เคย กระทำ แก่เจดีย์เหล่านั้นเสื่อมทรามไปอยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญ อย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น
พวกเจ้าวัชชีจักจัดแจงไว้ดีแล้ว ซึ่งความอารักขา ป้องกัน คุ้มครองอันเป็นธรรม ในพระอรหันต์ทั้งหลาย ด้วยตั้งใจว่า ไฉนหนอ พระอรหันต์ ที่ยังมิได้มา พึงมาสู่แว่นแคว้น และที่มาแล้ว พึงอยู่เป็นผาสุกในแว่นแคว้น ดังนี้ อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อมเพียงนั้น”
เมื่อสนทนากับพระอานท์จบลงจึงหันมาตรัสกับวัสสการพราหมณ์ อำมาตย์ผู้ใหญ่ในมคธรัฐ (10/69/67) ความว่า “ดูกรพราหมณ์ สมัยหนึ่ง เราอยู่ที่สารันททเจดีย์เขตเมืองเวสาลีนี้ ณ ที่นั้นเราได้แสดงอปริหานิยธรรมทั้งเจ็ดนี้แก่พวกเจ้าวัชชี ก็อปริหานิยธรรมทั้งเจ็ดนี้ จักตั้งอยู่ในพวกเจ้าวัชชีและพวกเจ้าวัชชีจักสนใจในอปริหานิยธรรมทั้งเจ็ดนี้อยู่เพียงใด พราหมณ์พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียวไม่มีเสื่อมเพียงนั้น” ธรรมทั้งเจ็ดประการนี้เรียกว่า “วัชชีอปริหานิยธรรม” เป็นธรรมสำหรับผู้รับผิดชอบต่อบ้านเมือง หรือธรรมสำหรับผู้บริหารบ้านเมือง
วัสสการพราหมณ์ อำมาตย์ผู้ใหญ่ ในมคธรัฐได้ทูลว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พวกเจ้าวัชชีมาประกอบด้วยอปริหานิยธรรม แม้ข้อหนึ่งๆ ก็ยังหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม จะป่วยกล่าวไปไยถึงอปรินิยธรรมทั้งเจ็ดข้อเล่า พระเจ้าแผ่นดินมคธ พระนามว่าอชาตศัตรูเวเทหีบุตร ไม่ควรกระทำการรบกับเจ้าวัชชี นอกจากจะปรองดอง นอกจากจะยุให้แตกกันเป็นพวก”
โปรดสังเกตว่าพระพุทธแสดงแก่พระอานนท์ไม่ได้แสดงแก่วัสสการพราหมณ์ แต่อนุญาตให้นั่งฟังได้ วัสสการพรามหณ์ได้ฟังแล้วก็กลับมากราบทูลแก่พระเจ้าอชาตศัตรู และวัสสการพราหมณ์ก็รับหน้าที่ไปยุยงให้กษัตริย์แตกสามัคคีกัน โดยการแกล้งถูกโบยจนเลือดหลั่งชโลมกาย ตามบทประพันธ์ในสามัคคีเภทคำฉันท์แสดงไว้ในตอนต้น
กษัตริย์วัชชีหลงเชื่อจึงตั้งให้วัสสการพราหมณ์เป็นอาจารย์สอนเหล่าโอรสทั้งหลาย และพรามหณ์ก็ทำสำเร็จค่อยสอดแทรกคำสอนผิดไปทีละน้อย จนในที่สุดโอรสทั้งหลายก็ได้เลิกล้มกฎกติกาทั้งหลาย บิดามารดาก็พลอยแตกความสมัคคีกันไปด้วย พระเจ้าอชาตศัตรูจึงได้รับชนะเพราะเมื่อมีกองทัพเข้ามาเหล่าบรรดากษัตริย์ลิจฉวีทั้งต่างก็เกี่ยงกันว่าไม่ใช่หน้าที่ ทุกคนปัดความรับผิดชอบกันหมด นั่งดูพระเจ้าอชาตศัตรูเข้ายึดเมืองได้โดยง่าย ตอนที่กษัตริย์ลิจฉวีเกี่ยงกันจนเสียเมืองนั้น ชิต บุรทัต ประพันธ์ไว้ว่า
แลสรรพะบรรตา วระราชะวัชชี
ถึงซึ่งพิบัตบี ฑะอนัตถ์พินาศหนา
เหี้ยมนั้นเพราะผันแผก คณะแตกและต่างมา
ถือทิฏฐิมานสา หศะโทษพิโรธจอง
แยกพรรคสมรรคภิน ทนะสิ้น บ ปรองดอง
ขาดญาณพิจารณ์ตรอง ตริมะลักประจักษ์เจือ
เชื่ออรรถยุบลเอา รสะเล่าก็ง่ายเหลีอ
มากโมหะฟั่นเฝือ บมิฟอกคดีมูล
จึ่งตาลประการหา ยนะภาวะอาดูร
เสียแดนผไทสูญ กิติศัพทะเสื่อมนาม ฯ
หากกษัตริย์ลิจฉวียังยึดมั่นในหลักอปริหานิยธรรมคือธรรมไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม ธรรมที่ทำให้ไม่เลื่อม เป็นไปเพื่อความเจริญฝ่ายเดียวก็คงไม่เสียเมือง หลักวัชชีอปริหานิยธรรมในสมัยอดีตใกล้เคียงกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยในปัจจุบัน ไม่แน่ใจว่าปัจจุบันหนังสือสามัคคีเภทคำฉันท์ยังใช้เป็นหนังสืออ่านประกอบวิชาภาษาไทยอยู่หรือไม่ เหล่าบรรดาผู้บริหารบ้านเมืองทั้งหลายน่าจะได้อ่านก่อนจะเข้าไปบริหารบ้านเมือง หากคนในชาติแตกสามัคคี มือที่สามอาจกำลังเพ่งมองจ้องเขมือบอยู่ก็ได้
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
02/07/54