วันพระที่ผ่านมาได้พบปะสนทนากับอุบาสกท่านหนึ่งซึ่งไม่ค่อยได้เห็นหน้ามาวัดสักเท่าไหร่ คะเนอายุน่าจะเลยหกสิบปีไปแล้ว พอเห็นว่าเป็นคนใหม่จึงเข้าไปทักและได้สนทนาธรรมตามสมควร ทุกวันนี้คนเข้าวัดส่วนมากจะเป็นคนที่มีอายุ มีสุภาพสตรีมากกว่าผู้ชาย นานๆจะมีผู้ชายเข้าวัดสักคนสองคน คุยไปได้สักพักอุบาสกท่านนั้นจึงบอกเล่าเรื่องราวของสิ่งที่คิดในช่วงเวลานี้ว่าผมคิดใกล้ๆและเดินไปช้าๆครับ
อุบาสกท่านนั้นเล่าต่อไปด้วยน้ำเสียงที่เนิบช้าแต่หนักแน่นมั่นคงว่า “ช่วงนี้ไม่ผมอยากคิดถึงอนาคตอันยาวไกลแล้ว เพราะคิดมานานแล้ว ไม่ค่อยจะเป็นไปตามสิ่งที่คิดไว้สักเท่าใดนัก เคยวางแผนอนาคตว่าควรจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่โลกปัจจุบันมีตัวแปรมาก สิ่งที่คิดไว้อาจจะไม่เป็นไปอย่างที่คิดก็ได้ ส่วนสิ่งที่ไม่ได้คิดไว้อาจจะเป็นไปก็ได้ ทุกอย่างมีความเปลี่ยนแปลงได้หมด ดูเหมือนกับว่าโลกนี้ไม่มีอะไรใหม่นอกจากความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง โลกเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ความคิดของมนุษย์ก็เปลี่ยนแปลงตามกระแสโลกไปด้วย
ลองหันกลับมาเริ่มต้นใหม่คิดใกล้ๆไปช้าๆ มองดูรอบๆกาย มองดูสิ่งที่เราพานพบอยู่ทุกวัน ต้นไม้ข้างบ้านหลายต้นที่ปลูกไว้เมื่อหลายปีก่อนบัดนี้ชูดอกออกผลพร้อมที่จะเก็บกินได้แล้ว ดอกไม้บางต้นออกดอกส่งกลิ่นหอมรวยรินลอยมาตามสายลม หลงคิดว่ากลิ่นหอมมาจากที่อื่น แต่เมื่อสังเกตดูจริงๆจึงเห็นว่าที่แท้ก็ต้นดอกไม้ที่เราเคยปลูกไว้ข้างบ้านแล้วลืมนั่นเอง จำไม่ได้แล้วว่าปลูกไว้ตั้งแต่เมื่อไหร่ จนกระทั่งได้สูดกลิ่นหอมเย็นชื่นใจจึงย้อนกลับมาคิดได้ ความเรียบง่ายคือความงามอย่างหนึ่ง และความสุขก็อยู่รอบๆตัวเรานี่เอง เรามัวแต่มองไกลเลยลืมมองสรรพสิ่งรอบๆตัว
เช้าวันหนึ่งได้รับประทานกล้วยน้ำหว้าที่มีรสชาติหอมอร่อย จึงถามเจ้าหลานสาวตัวเล็กอายุหกขวบว่าซื้อมาจากไหนทำไมมันหอมหวานอย่างนี้ หลานสาวบอกว่ามาจากกล้วยที่คุณตาปลูกไว้หลังบ้านนั่นไง ตาคงแก่จนหลงลืมไปแล้ว ฟังแล้วสะอึก โดนหลานสาวดุเลยคิดออกว่าเคยปลูกกล้วยไว้เมื่อสองสามปีก่อน ช่วงแรกยังบอกหลานสาวที่พึ่งหัดเดินว่า “จำไว้นะกล้วยต้นนี้ตาปลูกกับหลานต้องดูแลให้ดีสักวันหนึ่งเราจะได้กินกล้วยที่อร่อย” จากนั้นจึงค่อยๆย้อนคิดว่าเคยทำอะไรไปบ้างในรอบห้าหกปีที่ผ่านมา แต่พอย้อนคิดจริงๆกลับจำอะไรไม่ค่อยได้หรือจำได้ก็ไม่มาก ตอนนั้นอยู่ในช่วงปลายๆของการทำงานในระบบราชการแล้ว
หาเหตุผลว่าทำไมเราจึงจำอะไรไม่ค่อยได้ ทำไมไม่เห็นดอกแก้วตอนที่กำลังออกดอก ทำไมไม่เห็นต้นกล้วยที่ค่อยๆเจริญงอกงามจนออกผลให้ได้รับประทานในวันนี้ นั่งคิดเพลินๆก็กลับมาคิดถึงสิ่งที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้ว่าทุกสรรพสิ่งเป็นอนิจจังคือความไม่เที่ยง ทุกอย่างต้องมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาเพียงแต่ว่าเราไม่ได้สังเกตหรือสังเกตไม่เห็น เพราะความไม่เที่ยงถูกปิดบังด้วยความต่อเนื่องหรือความสืบต่อ ภาษาพระเรียกว่า “สันตติ” ความต่อเนื่องนี่เองปิดบังสิ่งทั้งหลายไว้
หันไปมองเจ้าหลานสาวตัวเล็กที่แต่งตัวในชุดนักเรียนพร้อมที่จะไปโรงเรียน เมื่อหกปีที่แล้วตอนนั้นยังนอนแบเบาะแต่ปัจจุบันกลายเป็นนักเรียนที่กำลังร่าเริงมีความสุขกับการที่จะได้ไปพบกับเพื่อนๆที่โรงเรียน แต่อีกไม่นานคงกลายเป็นสาว มีครอบครัวและกลายเป็นคนแก่เหมือนคนอื่นๆ เด็กๆมักจะคิดใกล้ๆคิดถึงปัจจุบันหิวก็กิน ง่วงก็นอน ไม่พอใจก็ร้องให้ แสดงออกตามที่คิดโดยไม่ต้องเสแสร้งแกล้งทำ แต่พอโตขึ้นมาหน่อยกลายเป็นหนุ่มสาวจึงจะเริ่มมองไปที่อนาคตวางแผนไว้ในระยะไกลวาดหวังอนาคตไว้อย่างสวยหรู ส่วนคนแก่มองย้อนกลับไปยังอดีต คนสามวัยมองกันคนละมุม หากคนแก่จะย้อนกลับไปคิดอย่างเด็กบ้างคงสนุกดี จากนั้นอุบาสกท่านนั้นก็หันมาถามว่า “คำว่าสังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีแสดงไว้ที่ไหนครับ”
จึงตอบไปว่ามีแสดงไว้หลายแห่ง ที่จำได้ดีที่สุดก็เป็นคำที่ท้าวสักกะเทวราชแสดงในวันที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน นอกจากจะปรากฎในมหาปรินิพพานสูตรแล้ว ยังมีอีกสูตรหนึ่งที่แสดงเนื้อความเดียวกันคือปรินิพพานสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค (15/623/192) ความว่า “เมื่อพระผู้มีพระภาคปรินิพพานแล้ว ท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่ของทวยเทพได้กล่าวคาถานี้ พร้อมกับกาลเป็นที่ปรินิพพานว่า สังขารทั้งหลาย ไม่เที่ยงหนอ มีความเกิดขึ้น และเสื่อมไปเป็นธรรมดา เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป ความเข้าไปสงบสังขารเหล่านั้นเป็นสุข”
อนิจจังแปลว่าความไม่เที่ยง ไม่คงที่ สภาพที่มีขึ้นแล้วก็ดับล่วงไปโดยทั่วไปมีลักษณะสี่ประการคือเป็นไปโดยการเกิดขึ้นและสลายไปคือเกิดๆดับๆมีแล้วก็ไม่มี (2) เป็นของแปรปรวนคือเปลี่ยนแปลงแปรสภาพไปเรื่อยๆ (3) เป็นของชั่วคราว อยู่ได้ชั่วขณะ (4) แย้งต่อความเที่ยงคือโดยสภาวะของมันเองก็ปฏิเสธความเที่ยงอยู่ในตัว ธรรมเรื่องความไม่เที่ยงมักจะมาพร้อมกับธรรมอีกสองข้อ จึงรวมกันเป็นสามคือ “อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา” แปลว่า “ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา”
อุบาสกท่านนั้นจึงบอกว่า “ผมว่าวันนี้พูดเรื่อง “ความไม่เที่ยง” อย่างเดียวก็น่าจะพอนะครับ ส่วนเรื่อง “ทุกข์ และอนัตตา” เอาไว้โอกาสหน้าผมจะหาเวลามาศึกษาใหม่ ทุกวันนี้ผมถือว่าอยู่ในวัยใกล้ฝั่งแล้ว เลิกมองที่อนาคตแล้วครับ แม้แต่อดีตก็ไม่อยากจะย้อนกลับไปคิดถึง เพราะสิ่งที่ยังมาไม่ถึงก็ยังไม่เกิดขึ้น ส่วนสิ่งที่ผ่านไปแล้วก็เป็นเรื่องที่ผ่านไปแล้ว แก้ไขอะไรๆไม่ได้แล้ว ผมจึงอยู่กับปัจจุบันกำหนดดูลมหายใจตัวเองเป็นหลัก หากมีเวลาว่างก็จะไปวัดฟังเทศน์และพบปะสนทนาธรรมกับพระภิกษุ ผมคิดใกล้ๆในเรื่องที่ใกล้ตัว ตื่นขึ้นมาตอนเช้าก็สำรวจว่าลมหายใจยังมีอยู่หรือไม่ จากนั้นก็ค่อยก้าวเดินไปสู่จุดหมายปลายทางช้าๆแต่ทว่ามั่นคง ผมคิดใกล้ๆไปช้าๆครับ”
ผู้คนส่วนหนึ่งมักจะคิดอะไรวางแผนไว้ไกลๆ ซึ่งก็ถูกส่วนหนึ่งเพราะคนต้องมองไปที่อนาคตที่ยังมาไม่ถึงเหมือนความฝันของชีวิต จากนั้นก็เติมฝันให้เต็ม แต่หลงลืมการมองในระยะใกล้ๆซึ่งก็คือปัจจุบันขณะเป็นชีวิตจริงๆ สุขหรือทุกข์เกิดขึ้นในชั่วขณะที่เราคิด เราสามารถรับรู้ได้ทันทีที่คิดโดยไม่ต้องรอฝันให้เป็นจริง เพราะสิ่งที่เราประสบอยู่ในขณะนั้นไม่ใช่ฝันแต่เป็นความจริงที่สัมผัสได้ การก้าวเดินไปข้างหน้าไม่ยาก ที่ยากที่สุดคือลืมเลือนเรื่องอดีต ลองนำวิธีการของอุบาสกท่านนั้นไปใช้ดูก่อนก็ได้ “คิดใกล้ๆ ไปช้าๆ”
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
01/07/54