ฟังการประชันวิสัยทัศน์ระหว่างพรรคการเมืองใหญ่สองพรรคทางสถานีโทรทัศน์ การนำเสนอนโยบายของแต่ละพรรคการเมืองฟังแล้วเคลิบเคลิ้มน่าเชื่อถือ กลุ่มผู้ฟังปรบมือสนับสนุนเป็นระยะๆ ส่วนหนึ่งแม้จะเป็นการเสนอนโยบายแล้ว ยังมีการโจมตีคู่แข่งอีกด้วย ฟังแล้วไม่รู้จะเชื่อใครดี พรรคหนึ่งบอกว่าจะเดินหน้าด้วยนโยบายเพื่อประชาชน อีกพรรคบอกว่าเพื่อความเป็นธรรมของสังคม ทุกคนต้องเท่าเทียมกันทำอะไรต้องมีมาตรฐานเดียวกัน ต้องคิดใหม่ทำใหม่ ส่วนพรรคที่สามบอกว่าต้องเริ่มต้นด้วยนโยบายปรองดอง ลืมเรื่องอดีตมุ่งหน้าสู่การพัฒนา ยังมีพรรคอีกหลายพรรคที่เสนอนโยบายที่น่าสนใจ
อีกส่วนหนึ่งนักการเมืองต่างก็เร่งหาเสียงกันอย่างร้อนแรง ยิ่งใกล้วันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ก็ยิ่งมีการหาเสียงโจมตีกันระหว่างนักการเมืองซึ่งอยู่กันคนละพรรคมีนโยบายคนละอย่าง นอกจากจะนำเสนอด้วยนโยบายที่จะเข้าไปบริหารประเทศแล้ว นักการเมืองทั้งหลายต่างก็เปิดสงครามวาทะด้วยการกล่าวหาพรรคการเมืองอีกฝ่ายว่าเลวร้ายอย่างไร จากนั้นก็เสนอว่าพรรคตัวเองดีอย่างไร เลยกลายเป็นสงครามรายวันที่ต่อสู้กันด้วยวาทะ เพื่อหวังชัยชนะในการเลือกตั้ง ใครไม่รู้เคยพูดไว้ว่านักการเมืองจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง สงครามการเมืองครั้งนี้พึ่งเริ่มต้นเท่านั้น ยังจะมีสงครามวาทะต่อไปอีกในสภาหลังเลือกตั้งแล้ว
การรบกันด้วยการกล่าววาทะนั้นไม่ใช่พึ่งเกิดขึ้น แต่เคยเกิดมานานแล้วเป็นการรบกับด้วยวาทศิลป์ระหว่างอสูรและเทวดา มีปรากฏในเวปปจิตติสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค (15/869/266) สรุปความว่าสงครามครั้งนั้นรบกันอยู่นาน ก่อนจะมีการรบย่อมมีการวางแผนฝ่ายท้าวเวปจิตติจอมอสูรผู้เป็นจอมทัพสั่งพวกอสูรไว้ก่อนรบว่า “ดูกรท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลายถ้าเมื่อสงครามระหว่างเทวดากับอสูรประชิดกัน พวกอสูรพึงชนะ พวกเทวดาพึงปราชัยไซร้ ท่านทั้งหลายพึงมัดท้าวสักกะจอมเทวดา ด้วยการมัดห้าแห่งอันมีคอเป็นที่ห้า แล้วพึงนำมายังอสูรบุรี ในสำนักของเรา
ฝ่ายท้าวสักกะจอมเทวดาผู้เป็นจอมทัพฝ่ายเทวดาก็บัญชากะเทวดาชั้นดาวดึงส์ทั้งหลายว่า “ดูกรท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลายถ้าเมื่อสงครามระหว่างเทวดากับอสูรประชิดกัน พวกเทวดาพึงชนะ พวกอสูรถึงปราชัยไซร้ ท่านทั้งหลายพึงมัดท้าวเวปจิตติจอมอสูร ด้วยการมัดห้าแห่งอันมีคอเป็นที่ห้าแล้วพึงนำมายังสุธรรมาสภา ในสำนักของเรา”
ผลการรบครั้งนั้นปรากฎว่าพวกเทวดาชนะ พวกอสูรปราชัยพ่ายแพ้ ครั้งนั้นเทวดาชั้นดาวดึงส์ได้จับท้าวเวปจิตติจอมอสูรมัดด้วยการมัดอย่างแน่นหนาแล้วนำมายังสุธรรมาสภา ในสำนักของท้าวสักกะจอมเทวดา ท้าวเวปจิตติจอมอสูรแม้จะถูกมัดอย่างแน่นหนา แต่ปากไม่ได้ถูกปิดจึงใช้การยุทธด้วยปากได้ด่าบริภาษท้าวสักกะจอมเทวดาซึ่งกำลังเสด็จมายังสุธรรมาสภา ด้วยวาจาอันหยาบคาย มิใช่ของสัตบุรุษ ผู้ที่กำลังถูกมัดแต่ยังด่า ถ้าเป็นคนธรรมดาฟังแล้วก็ต้องโกรธ อาจจะถึงขั้นทำร้ายเชลยได้ แต่ท้าวสักะเทวราชนั้นต้องมีความอดกลั้นมากเป็นพิเศษ เทวดาที่ได้ยินต่างก็พากันคิดว่าท้าวสักกะกลัวจึงไม่โต้ตอบ
ต่อไปนี้เป็นคำสนทนาตอนหนึ่งระหว่างมาตลีเทพบุตรกับท้าวสักะ(15/870-876/266-267) ความว่า “มาตลีเทพบุตรผู้สงเคราะห์ได้ทูลถามท้าวสักกะจอมเทวดาด้วยคาถาว่า ข้าแต่ท้าวสักกะมฆวาฬ พระองค์ได้ทรงสดับถ้อยคำอันหยาบคาย เฉพาะหน้า ของท้าวเวปจิตติจอมอสูร ยังทรงอดทนได้ เพราะความกลัว หรือเพราะไม่มีกำลัง พระเจ้าข้า”
ท้าวสักกะตรัสตอบว่า “เราอดทนถ้อยคำอันหยาบคายของท้าวเวปจิตติได้ เพราะความกลัวหรือเพราะไม่มีกำลัง ก็หาไม่ วิญญูชน เช่นเราไฉนจะพึงโต้ตอบกับคนพาลเล่า”
มาตลีเทพบุตรกราบทูลว่า “คนพาลพึงทำลายได้อย่างยิ่ง ถ้าไม่พึงเกียดกันเสียก่อน เพราะฉะนั้นธีรชนพึงเกียดกันคนพาลด้วยอาชญาอย่างรุนแรง”
ท้าวสักกะตรัสตอบว่า “ผู้ใดรู้ว่าคนอื่นโกรธแล้ว เป็นผู้มีสติสงบระงับได้ เราเห็นว่า การสงบระงับได้ของผู้นั้นแล เป็นการเกียดกันคนพาล”
มาตลีเทพบุตรกราบทูลว่า “ข้าแต่ท้าววาสวะ ข้าพระองค์เห็นโทษในความอดทนนี้แล เมื่อใด คนพาลย่อมสำคัญบุคคลนั้นว่า ผู้นี้ย่อมอดกลั้นต่อเราเพราะความกลัว เมื่อนั้น คนมีปัญญาทรามยิ่งข่มขี่ผู้นั้นเหมือนโคยิ่งข่มขี่โคตัวที่แพ้หนีไปฉะนั้น”
ท้าวสักกะเทวราชตรัสตอบว่า“บุคคลจงสำคัญเห็นว่า ผู้นี้อดกลั้นต่อเราเพราะความกลัวหรือหาไม่ก็ตามที ประโยชน์ทั้งหลายมีประโยชน์ของตนเป็นอย่างยิ่ง ประโยชน์ยิ่งกว่าขันติไม่มี ผู้ใดแลเป็นคนมีกำลังอดกลั้นต่อคนผู้ทุรพลไว้ได้ ความอดกลั้นของผู้นั้น บัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่าเป็นขันติอย่างยิ่ง คนทุรพล จำต้องอดทนอยู่เป็นนิตย์ บัณฑิตทั้งหลายกล่าวกำลังของผู้ซึ่งมีกำลังอย่างคนพาลว่ามิใช่กำลัง ไม่มีผู้ใดที่จะกล่าวโต้ต่อผู้มีกำลังผู้ซึ่งธรรมคุ้มครองแล้วได้เลย เพราะความโกรธนั้น โทษที่ลามกจึงมีแก่ผู้ที่โกรธตอบต่อผู้ที่โกรธ บุคคลผู้ไม่โกรธตอบต่อผู้ที่โกรธ ย่อมชื่อว่าชนะสงครามซึ่งเอาชนะได้ยาก ผู้ใดรู้ว่าผู้อื่นโกรธแล้ว เป็นผู้มีสติระงับไว้ได้ ผู้นั้นชื่อว่าประพฤติประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย คือ ทั้งฝ่ายตนและคนอื่น คนที่ไม่ฉลาดในธรรม ย่อมสำคัญเห็นผู้รักษาประโยชน์ของทั้งสองฝ่ายคือของตนและของคนอื่น ว่าเป็นคนโง่”
เมื่อพระพุทธเจ้าแสดงเนื้อความในเวปปจิตติสูตรจบลงจึงได้สรุปให้ภิกษุทั้งหลายฟังว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ท้าวสักกะจอมเทวดาพระองค์นั้น เข้าไปอาศัยผลบุญของพระองค์เป็นอยู่ เสวยรัชสมบัติมีความเป็นใหญ่ยิ่งด้วยความเป็นอิสระแห่งเทวดาชั้นดาวดึงส์ ยังจักพรรณนาคุณของขันติและโสรัจจะได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่พวกเธอบวชแล้วในธรรมวินัยที่เรากล่าวชอบแล้วเช่นนี้ เป็นผู้อดทนและสงบเสงี่ยมนี้ จะพึงงามในธรรมวินัยนี้โดยแท้”
ท้าวเวปจิตติหัวหน้าอสูรด่าแล้วท้าวสักกะไม่โกรธจึงใช้วิธีการใหม่โดยท้ารบด้วยถ้อยคำสุภาษิต ใครจะพูดเก่งกว่ากัน ดังที่แสดงไว้ในสุภาษิตชยสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค (15/877-883/267-270) สรุปความว่า “ท้าวเวปจิตติจอมอสูรได้ตรัสกะท้าวสักกะจอมเทวดาว่า ท่านจอมเทวดา เราจงเอาชนะกันด้วยการกล่าวคำสุภาษิตเถิด”
เมื่อท้าวสักกะรับคำท้า จอมอสูรจึงเริ่มก่อนว่า “พวกคนพาลยิ่งกริ้วโกรธ ถ้าหากบุคคลไม่ตัดรอนเสีย ฉะนั้นนักปราชญ์ผู้มีปัญญา จึงควรกำจัดคนพาลเสียด้วยอาญาอันรุนแรง”
ท้าวสักกะจอมเทวดาจึงได้ตรัสคาถาตอบว่า “ผู้ใดรู้ว่าผู้อื่นโกรธแล้ว เป็นผู้มีสติระงับไว้ได้ เราเห็นว่าการระงับไว้ได้ของผู้นั้น เป็นเครื่องตัดรอนคนพาล”
ท้าวเวปจิตติจอมอสูรได้ตอบโต้ว่า “ดูกรท้าววาสวะ เราเห็นโทษของการอดกลั้นนี่แหละ เพราะว่าเมื่อใดคนพาลสำคัญเห็นผู้นั้นว่า ผู้นี้อดกลั้นต่อเราเพราะความกลัว เมื่อนั้น คนพาลผู้ทรามปัญญายิ่งข่มขี่ผู้นั้นเหมือนโคยิ่งข่มขี่โคตัวแพ้ที่หนีไป ฉะนั้น”
ท้าวสักกะจอมเทวดาได้ตอบด้วยการตรัสคาถาต่อไปว่า “บุคคลจงสำคัญเห็นว่า ผู้นี้อดกลั้นต่อเราเพราะความกลัวหรือหาไม่ก็ตามที ประโยชน์ทั้งหลายมีประโยชน์ของตนเป็นอย่างยิ่ง ประโยชน์ยิ่งกว่าขันติไม่มี ผู้ใดแลเป็นคนมีกำลังอดกลั้นต่อคนทุรพลไว้ได้ ความอดกลั้นไว้ได้ของผู้นั้นบัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่าเป็นขันติอย่างยิ่ง คนทุรพลย่อมจะอดทนอยู่เป็นนิตย์ บัณฑิตทั้งหลายเรียกกำลังของผู้ที่มีกำลังอย่างคนพาลว่ามิใช่กำลัง ไม่มีผู้ใดที่จะกล่าวโต้ต่อผู้ที่มีกำลังอันธรรมคุ้มครองแล้วได้เลย เพราะความโกรธนั้น โทษอันลามกจึงมีแก่ผู้ที่โกรธตอบผู้ที่โกรธแล้ว บุคคลผู้ไม่โกรธตอบผู้ที่โกรธแล้ว ย่อมชื่อว่าชนะสงครามซึ่งเอาชนะได้ยาก ผู้ใดรู้ว่าผู้อื่นโกรธแล้ว เป็นผู้มีสติระงับไว้ได้ ผู้นั้นชื่อว่าประพฤติประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย คือ ทั้งฝ่ายตนและคนอื่น คนผู้ที่ไม่ฉลาดในธรรม ย่อมสำคัญเห็นผู้ที่รักษาประโยชน์ของทั้งสองฝ่ายคือของตนและคนอื่นว่าเป็นคนโง่”
กติกาเบื้องต้นคือการกล่าวคำสุภาษิต แต่คำสุภาษิตของอสูรและเทวดาไม่เหมือนกัน มีแนวทางในการแก้ปัญหาต่างกัน ในขณะที่อสูรบอกว่าต้องใช้วิธีการลงโทษที่รุนแรงเอาผิดกับคนทำผิด แต่ท้าวสักกะกลับบอกว่าหากพบกับคนพาลให้อดกลั้นไว้ ไม่ควรโต้ตอบ ผู้ที่อดทนต่อคำด่าของคนพาลได้จึงจะเป็นการดี แต่จอมอสูรบอกว่าก็เพราะอดทนไม่ตอบโต้นี่แหละคนพาลจึงได้ใจ ท้าวสักกะแย้งว่าต้องใช้ความอดทน เพราะถ้าตอบโต้ก็ไม่มีทางจบสิ้น มีแต่จะลุกลามกันต่อไป ทั้งจอมอสูรและจอมเทพต่างก็คิดว่าสิ่งที่ตนพูดนั้นถูกต้อง จึงต้องให้กรรมการกลางเป็นผู้ตัดสิน
ในที่สุดที่ประชุมลงความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่า “ครั้งนั้นแล ผู้ตัดสินทั้งของพวกเทวดาและพวกอสูรได้กล่าวคำนี้ว่า ท้าวเวปจิตติจอมอสูรได้ตรัสคาถาทั้งหลายแล้วแล แต่คาถาเหล่านั้นมีความเกี่ยวเกาะด้วยอาชญา มีความเกี่ยวเกาะด้วยศาตรา เพราะเหตุเช่นนี้ จึงมีความหมายมั่น ความแก่งแย่ง ความทะเลาะวิวาท ท้าวสักกะจอมเทวดาได้ตรัสคาถาทั้งหลายแล้วแล ก็คาถาเหล่านั้นไม่เกี่ยวเกาะด้วยอาชญา ไม่เกี่ยวเกาะด้วยศาตรา เพราะเหตุเช่นนี้ จึงมีความไม่หมายมั่น ความไม่แก่งแย่ง ความไม่ทะเลาะวิวาท ท้าวสักกะจอมเทวดาชนะเพราะได้ตรัสคำสุภาษิต”
สงครามระหว่างอสูรกับเทวดาแม้จะจบไปนานแล้ว แต่สงครามการเมืองดูไปก็คล้ายๆกับอสูรและเทวดากำลังรบกัน แต่ใครจะเป็นอสูรหรือเทวดานั้นโปรดพิจารณากันเอาเอง ฟังนักการเมืองหาเสียงโต้กันไปโต้กันมา ต่างฝ่ายก็ยืนยันว่าสิ่งที่ตนพูดนั้นถูกต้องตามความเป็นจริง ยิ่งสองพรรคใหญ่ดูเหมือนจะไม่ยอมกัน มีประเด็นให้โต้แย้งไม่เว้นแต่ละวัน ประชาชนเหมือนกรรมการที่จะคอยตัดสินว่าถ้อยคำของใครน่าเชื่อถือ และใครควรจะเป็นตัวแทนในการเข้าไปบริหารบ้านเมือง ใครเป็นอสูรใครเป็นเทวดา ประชาชนคือกรรมการตัดสิน อีกไม่กี่วันก็จะได้รู้กัน
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
29/06/54