ในช่วงชีวิตมนุษย์นั้นมีบางคนบอกว่าช่วงชีวิตของการเป็นนักเรียนนักศึกษานั้นจะเป็นช่วงที่มีความสุขมากที่สุด เพราะมีหน้าที่อย่างเดียวคือเรียนให้จบตามหลักสูตร ไม่ต้องกังวลถึงการทำมาหาเลี้ยงชีพ พ่อแม่จะเป็นผู้อุปถัมภ์เรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ แต่สำหรับคนที่ทำงานไปด้วยเรียนไปด้วยอาจจะไม่ค่อยเห็นด้วยเพราะต้องเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้น แต่หากมองโดยทั่วไปแล้วชีวิตในช่วงที่เป็นนักเรียนนักศึกษาชีวิตมีรสชาติมากที่สุด มีทั้งทุกข์และสุขผสมผสานคละเคล้ากันไป
ช่วงนี้มีโทรศัพท์แปลกๆเข้ามาอยู่เรื่อย ส่วนหนึ่งจะเป็นพวกที่ขายประกัน แนะนำสินค้า คงคิดว่าเป็นคนมีเงินจึงโทรมาหา การมีเสียงโทรศัพท์บ่อยๆแม้บางครั้งจะรู้สึกรำคาญ แต่เมื่อตัดสินใจที่จะมีแล้วก็ต้องยอมรับ หากไม่อยากรับก็ปิดเครื่องทุกอย่างก็จบสิ้นกัน โทรศัพท์มีไว้ติดต่อสื่อสารมีคนโทรเข้ามามากแสดงว่ามีคนรู้จักมาก จึงพยายามรับทุกสายที่โทรมา หากจะปฏิเสธก็ปฏิเสธแบบนิ่มนวลแบบบัวไม่ให้ซ้ำน้ำไม่ให้ขุ่นประมาณนั้น
เพื่อนเก่าคนหนึ่งโทรมาจากต่างจังหวัดบอกว่าบังเอิญกำลังค้นหาข้อมูลเรื่องหนึ่งจึงใช้อินเทอร์เน็ตค้นหา พบเรื่องที่กำลังต้องการในเว็บไซต์ไซเบอร์วนาราม เห็นชื่อแล้วจึงสงสัยว่าจะเป็นเพื่อนเก่าสมัยเรียนหนังสือชั้นมัธยมต้นหรือไม่ จึงโทรมาสอบถาม พอเขาเอ่ยชื่อขึ้นมาจำได้ทันที เป็นเพื่อนสมัยเรียนมัธยมต้นเรียนร่วมกันอยู่สามปี เป็นเพื่อนในกลุ่มเดียวกัน เขาบอกว่าทุกวันนี้รับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนต่างจังหวัดแห่งหนึ่ง เขาเอ่ยชื่อโรงเรียนที่ทำงานอยู่ให้ฟัง แต่ขอสงวนนาม
จึงแสดงความยินดีด้วยที่เพื่อนเก่ามีความก้าวหน้าเป็นถึงผู้อำนวยการโรงเรียน ถือว่าขึ้นถึงจุดที่สูงพอสมควรในอาชีพครู เขาบอกว่า “ตอนเป็นครูน้อยดูจะมีความสุขมากกว่า มีอิสระมากกว่า จะคิดทำอะไรก็เสนอขึ้นไปตามลำดับ ส่วนมากมักจะไม่ค่อยมีปัญหาหากมีงบประมาณเพียงพอ แต่ส่วนมากมักจะอนุมัติหรือเห็นชอบแต่ให้หางบประมาณเอง ผมทำมาหลายเรื่องโดยที่ไม่ต้องพึ่งพางบประมาณ เงินเดือนจึงไม่ค่อยเหลือ แต่เนื่องจากแม่บ้านซึ่งเป็นครูด้วยกันมีความเข้าใจ เราสองคนจึงทำงานอย่างมีความสุข ตอนเป็นครูน้อยมีโครงการมากมายหลายอย่างเลยครับ บางอย่างทำเงินได้ด้วยเช่นปลูกผักสวนครัว เลี้ยงปลา ปลูกผลไม้ นอกจากจะเพียงพอกับการเป็นอาหารของนักเรียนแล้วยังขายได้เงินมาทำโครงการอื่นๆได้อีก”
แต่พอมาเป็นผู้นวยการกลับรู้สึกว่าทำงานไม่ค่อยมีความสุขมากนัก เพราะงานมันมาก จึงไม่ค่อยมีเวลาคิดโครงการใหม่ๆขึ้นมา ผมว่าชีวิตช่วงที่เป็นนักเรียนเป็นช่วงที่มีความสุขมากที่สุด มีอิสระมากที่สุด พอผู้อำนวยการเพื่อนเก่าท่านนั้นเอ่ยขึ้นมา ความหลังของคนวัยกลางคนก็ค่อยๆผุดขึ้นมาในจินตนาการที่กำลังที่จะจางหายไปกับกาลเวลา
สมัยนั้นผู้เขียนอยู่ในวัยหนุ่ม แม้จะยังมีคำนำหน้าว่า “เด็กชาย” แต่เป็นเด็กชายที่โตแล้วอายุสิบหกสิบเจ็ดปี สมัยนั้นเขาทำบัตรประจำประชาชนอายุสิบเจ็ดปี โรงเรียนที่เรียนเป็นโรงเรียนเอกชนหรือที่นิยมเรียกสมัยนั้นว่า “โรงเรียนราษฎร์” ชื่อของโรงเรียนบอกให้ก็ได้คือโรงเรียนเบญจมิตรวิทยา ปัจจุบันเลิกกิจการไปแล้ว จึงรับนักเรียนไม่จำกัดจำนวนโดยที่ไม่ต้องผ่านการคัดเลือกมากนัก ใครก็ได้ที่อยากเรียน มีเงินจ่ายค่าเทอมก็เข้ามาเรียนได้เลย ดังนั้นนักเรียนจึงมีทุกประเภทตั้งแต่ประเภทที่เก่งที่สุด ยากจนที่สุด ลูกเศรษฐีเกเรที่เข้าเรียนที่ไหนไม่ได้ หรือแม้แต่นักเรียนที่ถูกไล่ออกจากโรงเรียนอื่นๆ โรงเรียนแห่งนี้จึงเป็นที่รวมของเหล่านักเรียนทุกประเภท
สิ่งหนึ่งที่เด่นที่สุดในโรงเรียนแห่งนี้คือการกีฬา นักเรียนแทบทุกคนจะต้องเล่นกีฬาเป็นอย่างน้อยหนึ่งประเภท พวกเราจึงกลายเป็นนักกีฬาที่ได้รับเชิญจากหมู่บ้านต่างๆในอำเภอนั้น เมื่อมีงานประจำปี งานกฐิน ผ้าป่าที่ไหนก็มักจะเชิญพวกเราไปร่วมแข่งขันกีฬาเสมอ เช่นทีมฟุตบอลที่มีพวกนักนักเรียนอยู่ร่วมทีม บางครั้งแม้จะมีเพียงสามคนกองหน้าคนหนึ่ง กองกลางคนหนึ่งและประตูอีกคน ก็เพียงพอแล้ว หากงานไหนมีการแข่งขันชกมวยนักมวยจากโรงเรียนแห่งนี้ก็มักจะเข้าร่วมเสมอ แพ้บ้างชนะบ้าง แต่มักจะได้รับเชิญให้เข้าร่วมแข่งขันแทบทุกครั้ง แข่งกีฬาเสร็จก็จะกลายเป็นแขกผู้มีเกียรติของหมู่บ้านั้นไปโดยปริยาย เที่ยวงานก็สนุก นักเลงที่ไหนก็ไม่อยากยุ่งกับแขกผู้มีเกียรติของหมู่บ้าน
ผู้อำนวยการท่านนี้ในอดีตตอนเป็นนักเรียนเป็นนักกีฬาหลายอย่างทั้งฟุตบอล ตระก้อ มวย พวกเรามีเพื่อนอยู่ตามตำบลต่างๆ จึงมักจะไปเยี่ยมเพื่อนและนอนพักที่บ้านเพื่อนไปด้วย มีนักเรียนโรงเรียนเบญจมิตรวิทยาอยู่ที่ไหนก็มีเพื่อนอยู่ที่นั่น บางทีผู้เขียนเองหายไปพักอยู่กับเพื่อนๆนานหลายเดือน พ่อแม่ก็ไม่ได้ว่าอะไร เพราะพวกเพื่อนๆทุกคนก็จะมาพักที่บ้านผู้เขียนเหมือนกัน พ่อและแม่จึงเหมือนมีลูกหลายคน บางครั้งแม้เพื่อนจะไม่อยู่บ้านหากมีเพื่อนมาเยี่ยมก็สามารถพักพาอาศัยได้อย่างสบาย บางคนยังช่วยพ่อแม่ทำงานอีกต่างหาก
“แต่ก่อนเราคิดใกล้ๆ ไปเร็วๆ อยากทำอะไรก็ทำ จึงมีโอกาสผิดพลาดได้สูง แต่เหตุเพราะพวกเรามีเพื่อนคอยเตือนสติและมีกีฬาเป็นที่แสดงออกจึงไม่ค่อยออกนอกกติกา กีฬาเป็นยาวิเศษที่เคยท่องในสมัยเด็กยังใช้ได้ แต่ปัจจุบันผมต้องคิดไกลแล้วครับ ผมมองไปที่อนาคตของโรงเรียน มองไปที่ความก้าวหน้าของลูกศิษย์ ไม่ได้คิดเพื่อตนเอง ต้องคิดไกลๆ แต่ว่าไปช้าๆ ค่อยเดินไปตามแผน เพราะผมไม่ได้เดินคนเดียว ผมมีนักเรียนที่จะต้องคอยส่งพวกเขาไปสู่อนาคตที่ดีกว่า แม้ผมจะเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนแต่ก็ยังขี่จักรยานไปทำงานทุกวัน” ท่านผู้อำนวยการแสดงทัศนะในการทำงาน
เมื่อเขาขอคำแนะนำว่าควรจะทำอย่างไรในอาชีพครู จึงบอกไปว่าครูที่นักเรียนรักนั้นตามทัศนะของพระพุทธศาสนาแสดงไว้ในในสขสูตร อังคุตรนิกาย สัตตกนิบาต(23/34/33) ว่า“ปิโย จ โหติ มนาโป จ ครุ จ ภาวนีโย จ วตฺตา จ วจนกฺขโม จ คมฺภีรญฺจ กถํ กตฺตา โหติ โน จ อฏฺฐาเน นิโยเชติ” แปลเป็นภาษาไทยว่าครูที่ดีควรเป็นผู้ที่รักใคร่พอใจ เป็นที่เคารพ เป็นผู้ควรสรรเสริญ เป็นผู้ฉลาดพูด เป็นผู้อดทนต่อถ้อยคำ พูดถ้อยคำลึกซึ้ง ไม่ชักนำศิษย์ในทางที่ไม่ดี” หรือที่มีผู้แปลไว้อย่างน่าสนใจอีกอย่างหนึ่งว่า “ทำตัวให้ศิษย์รัก หนักแน่นในจรรยา หมั่นแสวงหาความรู้ (พัฒนาความรู้) มีความขยันหมั่นแนะนำพร่ำสอน อดทนต่อถ้อยคำกล่าวหา สอนสิ่งที่ยากให้เข้าใจง่าย ไม่ชักนำศิษย์ไปในทางเสื่อมเสีย”
ผมเห็นว่าชีวิตช่วงที่เป็นนักเรียนนักศึกษานั้นเป็นช่วงที่มีความสุขที่สุด ผมจึงอยากคงสภาพการเป็นนักเรียนนักศึกษาไว้ จึงสมัครเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช แม้จะไม่ค่อยมีเวลาดูหนังสือ แต่อย่างน้อยก็ยังได้ชื่อว่าเป็นนักศึกษา ปัจจุบันผู้อำนวยการโรงเรียนท่านนั้นจึงกลายมาเป็นเพื่อนนักศึกษากับเว็บมาสเตอร์ไซเบอร์วนารามอีกครั้ง เพราะเว็บมาสเตอร์ฯเองก็สมัครเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชเหมือนกัน ความคิดของเพื่อนเก่าสมัยเรียนมัธยมต้นบังเอิญเดินสู่เส้นทางเดียวกันพอดี แม้จะไม่ได้พบหน้ากันมานานกว่าสามสิบปีแล้ว วันนี้ได้กลายมาเป็นเพื่อนนักศึกษามหาวิทยาลัยเดียวกันในวัยกลางคน
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
27/06/54