วันเสาร์ไปร่วมงานที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เขาเชิญไปให้บรรยายธรรมในพิธี ปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ ตอนนั้นยังคิดไม่ออกว่าเป็นนักศึกษาสาขาวิชาอะไร เขาให้เวลาสี่สิบนาทีอยากพูดเรื่องอะไรให้นักศึกษาฟัง ขอเชิญได้ตามสะดวก นิมนต์โดยไม่บอกหัวข้อ จึงตั้งหัวข้อเองว่า “นักศึกษายุคใหม่หัวใจใฝ่ธรรม” หากนักศึกษาเรียนแต่วิชาชีพอย่างเดียวไม่เรียนวิชาชีวิตไปด้วย เวลาประสบกับปัญหาบางทีจะหาทางออกไม่ได้ วิชาชีพคือวิชาทางโลกที่เรียนเพื่อประกอบอาชีพ ส่วนวิชาชีวิตคือธรรมศึกษาเพื่อการใช้ชีวิตในสังคมอย่างสันติสุข
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือตั้งอยู่ข้างๆวัดมัชฌันติการาม บริเวณรอบๆวัดมีหอพักนักศึกษาจำนวนมาก ในอดีตวัดมัชฌันติการามเคยเป็นสวนผลไม้เช่นมังคุด ขนุน โดยเฉพาะทุเรียนได้ชื่อว่าเป็นทุเรียนเมืองนนท์ด้วย เพราะเขตบางซื่ออยู่ติดจังหวัดนนทบุรี ในอดีตชาวบ้านแถบนี้จึงประกอบอาชีพชาวสวน แต่พอมีมหาวิทยาลัยเข้ามาตั้งอยู่ใกล้ๆ สวนทุเรียนเลยกลายเป็นหอพักนักศึกษา นัยว่าสร้างเท่าไหร่ก็ไม่ขาดทุน เพราะนักศึกษามีมาเรียนไม่ขาด รุ่นหนึ่งจบไปรุ่นใหม่ก็เข้ามา เจ้าของหอพักจึงเป็นอาชีพที่มีนักศึกษามาใช้บริการไม่ขาดสาย
ในส่วนของนักศึกษาส่วนหนึ่งจะพักอยู่ตามหอพักข้างๆวัด เวลาจะไปเรียนหนังสือจึงต้องเดินผ่านวัด บางคนก็ได้อาศัยลานวัดเป็นที่จอดรถไปด้วย แต่เท่าที่สังเกตเห็นนักศึกษาเหล่านี้ไม่ค่อยจะมาฟังเทศน์สักเท่าไหร่ แม้จะอยู่ใกล้วัดแต่ก็เป็นคนไกลวัด เพราะไม่ค่อยมีโอกาสได้เข้าวัด เพียงแต่อาศัยวัดเป็นทางผ่านเพื่อเดินไปเรียนที่มหาวิทยาลัย
วัดมัชฌันติการามกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือมีส่วนเกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเหมือนกัน เวลามีงานทำบุญที่มหาวิทยาลัยก็มักจะนิมนต์พระสงฆ์จากวัดมัชฌันติการามไปร่วมงานเสมอ หรือแม้แต่กฐินประจำปีนี้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระนครเหนือก็เป็นเจ้าภาพทอดกฐินที่วัดประมาณปลายเดือนตุลาคม
ในงานปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่วันนั้นพูดไปหลายเรื่อง แต่พอจะจำได้ว่า “การเป็นนักศึกษานั้นต้องมีความเคารพ คบการศึกษา กล้ารับความผิด คิดช่วยครู กตัญญูต่อสถาบัน” จากนั้นก็แสดงขยายความต่อไปว่า “การแสดงความเคารพในพระพุทธศาสนามาจากคำว่า “คารวะ” แปลว่าความเคารพในพระพุทธศาสนาแสดงไว้ในอปริหานิยสูตรอังคุตรนิกาย ฉักกนิบาต (22/303/300) สาเหตุมาจากเทวดาตนหนึ่งได้แสดงทัศนะต่อหน้าพระพุทธเจ้าว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมหกประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่ภิกษุคือความเป็นผู้เคารพในพระศาสดา ความเป็นผู้เคารพในพระธรรม ความเป็นผู้เคารพในพระสงฆ์ ความเป็นผู้เคารพในสิกขา ความเป็นผู้เคารพในความไม่ประมาท ความเป็นผู้เคารพในปฏิสันถาร ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมหกประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่ภิกษุ
เทวดานั้นได้กล่าวดังนี้แล้ว พระศาสดาทรงพอพระทัย ลำดับนั้น เทวดาตนนั้นทราบว่า พระศาสดาของเราทรงพอพระทัยแล้ว จึงถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้ว หายไป ณ ที่นั้น ต่อมาพระพุทธเจ้าจึงได้นำถ้อยคำของเทวดามาแสดงต่อภิกษุและได้สรุปว่า “ภิกษุผู้เคารพในพระศาสดา เคารพในพระธรรม เคารพอย่างแรงกล้าในพระสงฆ์ เคารพในสิกขา เคารพในความไม่ประมาท เคารพในปฏิสันถาร ย่อมเป็นผู้ไม่ควรเพื่อเสื่อม ย่อมมี ณ ที่ใกล้นิพพานทีเดียว”
แม้ว่าพระพุทธเจ้าจะแสดงแก่ภิกษุ แต่ก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับคนทั่วไปได้เหมือนกัน แม้ว่าในพระสูตรนี้จะใช้คำว่าศาสดา คำว่า “ศาสดา”แปลมาจากคำในภาษาบาลีว่า “สตฺถา” ซึ่งนอกจากจะแปลว่าศาสดาแล้วยังแปลว่าครูได้ด้วย ดังนั้นการเป็นนักศึกษาจึงต้องเคารพและเชื่อฟังครูอาจารย์เป็นเบื้องต้น ส่วนคำว่า “ธรรม” แปลความได้อีกว่าความจริง ความถูกต้อง ส่วนคำว่าพระสงฆ์แปลมาจากคำว่า “สงฺฆ” ภาษาบาลีแปลว่าหมู่คณะ ดังนั้นเมื่อนำมาประยุกต์ใช้กับนักศึกษาจึงกลายเป็น “ต้องมีความเคารพในครูอาจารย์ เคารพในความจริง เคารพในหมู่คณะ เคารพในการศึกษา เคารพในความไม่ประมาท และเคารพในการปฏิสันถารการต้อนรับ
คบการศึกษา ข้อนี้ชัดเจนนักศึกษาคือผู้ที่ต้องศึกษา หากมีโอกาสแล้วไม่ทำหน้าที่ศึกษาหาความรู้จะศึกษาจบตามหลักสูตรได้อย่างไร การศึกษาต้องเรียนควบคู่ไปพร้อมกับทั้งสองวิชาคือวิชาชีพและวิชาชีวิต วิชาชีพเพื่อนำไปประกอบอาชีพในอนาคต ส่วนวิชาชีวิตนั้นต้องเรียนรู้ด้วยตนเอง คนเราหากมีแต่วิชาชีพอย่างเดียวไม่เรียนรู้วิชาชีวิตไปด้วยก็จะกลายเป็นคนที่อยู่ในสังคมได้ยากลำบาก
กล้ารับความผิด ข้อนี้เป็นหน้าที่ที่คนส่วนหนึ่งหลงลืม จนมีบางคนกล่าวว่า “รับแต่ชอบ แต่ไม่รับผิด” ระบบการศึกษาต้องคำนึงถึงทั้งสองด้านคือหากทำผิดกติกาก็ต้องยอมรับโทษตามสมควรแก่ความผิด คนส่วนหนึ่งไม่ยอมรับว่าตนผิด คิดว่าสิ่งที่ตนทำคือความถูกต้อง เรื่องบางอย่างจึงหาคนรับผิดไม่ได้ ได้แต่โยนกันไปโยนกันมา เหมือนปัญหาการเมืองไทยที่มักจะมีแต่คนถูกไม่มีคนผิด เรื่องความรับผิดชอบต้องเรียนรู้ตั้งแต่การเป็นนักเรียนนักศึกษา
คิดช่วยครูและกตัญญูต่อสถาบัน สถานที่แห่งใดที่เป็นแหล่งในการประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ก็ต้องมีความกตัญญูต่อสถาบัน เพราะความกตัญญูรู้คุณนั้นเป็นเครื่องหมายของคนดี ตามพุทธภาษิตที่ว่า “นิมิตฺตํ สาธุรูปานํ กตญฺญูกตเวทิตา ความกตัญญูกตเวที เป็นเครื่องหมายแห่งคนดี”
บรรยายธรรมจบนักศึกษาพามาส่งที่วัดทันที เพราะยังมีกิจกรรมในวันปฐมนิเทศอีกหลายอย่าง เลยลืมถามไปว่านักศึกษาที่ปฐมนิเทศที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือในวันนั้นพวกเขาเรียนสาขาวิชาอะไรกันบ้าง แต่จะเรียนสาขาวิชาอะไรก็ตามหากในหัวใจใฝ่ธรรมศึกษาเรียนรู้สรรพวิชาด้วยความถูกต้อง เป็นจริง ก็ถือได้ว่าเริ่มต้นเดินถูกทางแล้ว ชีวิตนั้นสำคัญที่จุดเริ่มต้น หากเริ่มต้นด้วยการเดินถูกทาง ความสมหวังรออยู่ข้างหน้า
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
26/06/54