ช่วงนี้เปิดเทอมโรงเรียนหลายแห่งเริ่มเรียนกันหลายวันแล้ว ทุกเช้าวันจันทร์ถึงวันศุกร์จึงได้ยินจากโรงเรียนข้างวัดแว่วเข้ามาเป็นประจำ ส่วนหนึ่งมักจะได้ยินเสียงครูอบรมนักเรียนก่อนเข้าห้องเรียน เนื่องจากข้างๆวัดมีโรงเรียนหลายแห่งทั้งโรงเรียนวัด โรงเรียนเอกชน โรงเรียนกวดวิชา หรือแม้แต่มหาวิทยาลัย จึงมีนักเรียนเดินสวนกันไปมาให้ได้เห็นทุกวัน ในวันธรรมสวนะนักเรียนจะมาฟังเทศน์เป็นประจำโดยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาทุกชั้นเรียน นักเรียนสมัยปัจจุบันดูเหมือนจะมีความรู้มากกว่าในอดีต
ในพระพุทธศาสนาได้แสดงความสัมพันธ์ระหว่าอาจารย์กับศิษย์ในฐานะทิศอย่างหนึ่งอาจารย์เป็นทิศเบื้องขวาลูกศิษย์ต้องคอยเอาใจใส่ดูแล ดังที่แสดงไว้ในสิงคาลสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค (11/200/145) ความว่า “อาจารย์ผู้เป็นทิศเบื้องขวาอันศิษย์พึงบำรุงด้วยสถานห้าคือ ด้วยลุกขึ้นยืนรับ ด้วยเข้าไปยืนคอยรับใช้ ด้วยการเชื่อฟัง ด้วยการปรนนิบัติ ด้วยการเรียนศิลปวิทยาโดยเคารพ
ส่วนอาจารย์ก็ควรทำหน้าที่สอนศิษย์ด้วยลักษณะห้าประการคือ “อาจารย์ผู้เป็นทิศเบื้องขวา อันศิษย์บำรุงด้วยสถานห้าเหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์ศิษย์ด้วยสถานห้าคือ แนะนำดี ให้เรียนดี บอกศิษย์ด้วยดีในศิลปวิทยาทั้งหมด ยกย่องให้ปรากฏในเพื่อนฝูง ทำความป้องกันในทิศทั้งหลาย”
เนื่องจากในอดีตกับปัจจุบันระบบการศึกษาไม่เหมือนกัน ผู้เขียนเองเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่สี่ ยุคนั้นประถมศึกษามีถึงชั้นประถมปีที่เจ็ด และมีชั้นมัธยมศึกษาปีที่หนึ่งถึงหก พอมีชั้นประถมปีที่หก หากสังเกตจะเห็นว่าหายไปหนึ่งชั้น ปัจจุบันนักเรียนจึงอยู่ในระบบการศึกษาน้อยกว่าในสมัยอดีต การศึกษาปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม สมัยก่อนคนที่เรียนจบในระดับปริญญาตรีได้มีจำนวนน้อย เพราะไม่มีมหาวิทยาลัยมากมายเหมือนในปัจจุบัน ยิ่งมีมหาวิทยาลัยมากคนก็มีโอกาสได้ศึกษาเล่าเรียนมากขึ้น แต่การเป็นคนดีและคนมีความรู้อาจจะไม่ขึ้นอยู่กับปริญญาเสมอไป ชาวบ้านธรรมดาอาจจะมีความรู้เฉพาะทางมากกว่าผู้ที่เรียนจบจากมหาวิทยาลัยก็ได้
ที่วัดป่าแห่งหนึ่งมีหลวงตาแก่ๆรูปหนึ่งบวชมานานกว่าสามสิบปีแล้วจึงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส แต่เนื่องด้วยระบบการศึกษาของคณะสงฆ์ยังไม่ก้าวไกลนัก หลวงตาจึงเรียนจบเพียงนักธรรมตรี และเป็นเจ้าอาวาสที่วัดป่าแห่งนี้มานาน แต่ทว่าหลวงตามักจะส่งลูกศิษย์ที่เป็นพระภิกษุสามเณรเข้าไปศึกษาที่กรุงเทพมหานคร หลวงตามักจะพูดเสมอว่า "ผมแก่แล้วเรียนไม่ไหว แต่อยากให้พระภิกษุสามเณรรุ่นใหม่มีความรู้" หลายปีผ่านไปมีพระมหาเปรียญหลายรูป บางรูปยังพ่วงท้ายด้วยปริญญาตรี ปริญญาโทอีกต่างหาก
วันนั้นพระภิกษุมหาเปรียญหลายรูปกลับมาเยี่ยมบ้านและร่วมงานประจำปีด้วย ท่านมหาเปรียญเจ็ดประโยครูปหนึ่งแม้จะมีความรู้มากกว่าหลวงตา เพราะเรียนมามากกว่า แต่ก็นับถือหลวงตาในฐานะอาจารย์ ปฏิบัติตามหลักการของศิษย์และอาจารย์ทุกอย่าง ครั้งหนึ่งท่านมหาได้แสดงทัศนะให้หลวงตาฟังว่า “การแสดงธรรมในปัจจุบันต้องประยุกต์ให้เท่าทันกับยุคสมัย ขืนแสดงธรรมตามรูปแบบเดิมมีหวังชาวบ้านเขาไม่ฟังแน่ เมื่อชาวโลกเขาเปลี่ยนไป ชาววัดก็ต้องรู้เท่าทันและแสดงธรรมให้เท่าทันกับชาวบ้านที่เขาศึกษามา หลวงตาต้องเปลี่ยนวิธีการแสดงธรรมแล้วครับ ต้องให้ทันสมัยเหมาะกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป”
หลวงตารับฟังไปเคี้ยวหมากไป อือออไปด้วย “ที่ท่านมหาปารภมาก็ถูก เมื่อโลกเปลี่ยนไป ธรรมต่างๆก็ต้องปรับปรุงให้ทันสมัยเท่าทันกับความเจริญของโลก มันก็จริงอย่างที่ท่านมหาว่ามา งั้นวันนี้แสดงธรรมแบบใหม่ให้ชาวบ้านฟังด้วย” หลวงตาพ่นน้ำหมากลงกระโถนและโปรยยิ้มด้วยฟันดำที่เคลือบด้วยน้ำหมาก
เมื่อชาวบ้านมาชุมนุมกันเต็มศาลาการเปรียญ ประกอบพิธีกรรมถวายผ้าป่า ถวายภัตตาหาร ก็ถึงเวลาฟังธรรม หลวงตาจึงให้ชาวบ้านนิมนต์ท่านมหาขึ้นแสดงธรรม หลวงตาบอกกับชาวบ้านว่าท่านมหาเป็นพระรุ่นใหม่ มีความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรมจะแสดงธรรมด้วยลีลาใหม่ๆ ขอเชิญญาติโยมทั้งหลายรับฟังตามสบาย”
ท่านพระมหาก้าวขึ้นธรรมาสน์และเริ่มแสดงธรรมว่า “นโม ตัสสะ ภควโต........” ท่านมหาขึ้น “นโม” ยังไม่จบด้วยซ้ำ หลวงตาก็พลันพูดแทรกขึ้นท่ามกลางหมู่มหาชนว่า “เดี๋ยวท่านมหา ไหนว่าจะแสดงธรรมแนวใหม่ แต่ “นโม” นี่มันเป็นของเก่ามานานกว่าสองพันปีแล้ว
ท่านพระมหาเปรียญธรรมเจ็ดประโยคสะดุ้งโหยงแทบตกธรรมาสน์ พลางคร่ำครวญอยู่ในใจว่า “หลวงตานะหลวงตาไม่น่ามาขัดในเวลาอย่างนี้เลย”
อาจารย์และศิษย์คู่นี้คงลืมดูหน้าที่ของครูและศิษย์ตามที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้ เพราะยังมีทิฏฐิมานะหวังจะเอาชนะกันจนลืมหลักการ โลกจะพัฒนาได้ หากคนลดละทิฏฐิมานะลงและยอมกันบ้าง หากหลงของเก่าเมาของใหม่ จะพัฒนาไปได้อย่างไรกัน หากยังลดละทิฏฐิมานะลงยังไม่ได้ถึงจะเรียนมากเท่าใดก็ใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ หลวงตาก็มัวแต่หลงของเก่าไม่ยอมเปลี่ยนแปลง ส่วนท่านมหาก็มัวแต่เมาของใหม่ จนลืมใส่ใจกับของเก่า เลยหลงและมัวเมากันทั้งอาจารย์และลูกศิษย์
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
25/06/54