ขบวนแห่นาคจากบริเวณหน้าวัดมาพร้อมกับเสียงดนตรีบรรเลงเพลงแห่ ค่อยๆเคลื่อนขบวนเวียนรอบพระอุโบสถ ผู้ร่วมงานต่างก็แสดงออกถึงความสุข บ้างก็ออกลีลาท่าทางไปตามเสียงดนตรี ในขณะที่นาคที่กำลังจะกลายเป็นพระภิกษุในอีกไม่กี่นาทีข้างหน้าประนมมือสงบนิ่ง สายตามองไปข้างหน้าอย่างมุ่งมั่น ครั้งหนึ่งในชีวิตของชายไทยที่เป็นชาวพุทธควรจะได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุสักครั้งหนึ่ง บางท่านบวชด้วยขบวนแห่ใหญ่โต แต่บางท่านเพียงแต่ถือดอกไม้ธูปเทียนเดินเข้าพระอุโบสถด้วยความเงียบเชียบ แต่ทว่าพิธีบวชอันใหญ่โตกับพิธีบวชที่ไม่มีขบวนอะไรเลยไม่ได้บ่งบอกว่าพระสงฆ์รูปนั้นจะอยู่ในเพศพรหมจรรย์ได้ตลอดไปหรือไม่ การบวชเป็นอีกเรื่องหนึ่งส่วนการดำรงอยู่ในเพศพรหมจรรย์เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
วันเสาร์ที่ผ่านมามีผู้ที่ใช้นามว่า “ผู้อ่านไซเบอร์วนาราม” ท่านหนึ่ง คงไม่ประสงค์ออกนามส่งไปรษณีย์ลงทะเบียนมาให้ พอเปิดดูข้างในเป็นหนังสือเล่มหนึ่งหน้าปกใช้ชื่อว่า “เพียงหนึ่งกำลังใจ” เป็นหนังสือขนาด 135 หน้าเท่านั้น ชื่อผู้เรียบเรียงนามว่า “กมโลภิกขุ” เนื้อหาภายในว่าด้วยเกร็ดประวัติของพระกรรมฐานท่านหนึ่ง เล่าเรื่องราวชีวิตตั้งแต่วัยเด็ก อุปสมบท การเดินธุดงค์ ให้แก่พระหนุ่มรูปหนึ่งฟัง และปัจจุบันน่าจะเป็นเจ้าอาวาสหรือเจ้าสำนักสงฆ์ที่ไหนสักแห่ง อ่านไปสักพักคล้ายๆจะรู้สึกคุ้ยเคยกับภิกษุท่านนี้ แต่ถึงแม้จะไม่รู้จักแต่สิ่งที่ท่านเล่านั้นอ่านแล้วทำให้มีกำลังใจในการปฏิบัติธรรม ตัวเราเองสุขสบายยิ่งกว่าท่านเสียอีก แต่สภาวะทางจิตคงเทียบท่านไม่ได้
ได้เห็นขบวนแห่นาคจึงหยิบขึ้นมาเปิดดูอีกครั้งทั้งๆอ่านจบไปตั้งแต่เมื่อคืนแล้ว หนังสือบางเล่มต้องอ่านหลายรอบจึงจะซึมซับเรื่องราวต่างๆได้อย่างเต็มที่ หนังสือแต่ละเล่มก็เหมือนช่วงชีวิตของแต่ละคนย่อมมีความแตกต่างกันไป การอ่านหนังสือ “เพียงหนึ่งกำลังใจ” เล่มนี้เหมือนกำลังอ่านเสี้ยวประวัติชีวิตของตนเอง แม้สถานที่ กาล เทศะจะต่างกัน แต่มีจุดหมายเดียวกันคือการพ้นทุกข์
ประสบการณ์ของแต่ละคนถึงอย่างไรก็คงไม่มีทางเหมือนกันทุกประการ อาจจะเหมือนเพียงบางส่วน และต่างกันเพียงบางเสี้ยว หนังสือในทำนองอัตตชีวประวัติของครูบาอาจารย์อ่านแล้วรู้สึกสงบ มีความสุข หนังสือแบบนี้น่าอ่าน ต้องขอขอบคุณอย่างสูงที่เมตตาส่งมาให้อ่านและได้อ่านจบแล้ว จากนั้นจึงจะมอบให้ห้องสมุดโรงเรียนวัดเพื่อที่จะให้คนอื่นๆได้อ่านด้วย โดยเฉพาะพระบวชใหม่หากได้อ่านอาจจะกลายเป็นครูบาอาจารย์ที่เป็นที่พึ่งของใครอีกหลายคนในอนาคตก็ได้ ขออนุญาตนำเนื้อหาบางส่วนในหนังสือเผยแผ่เพื่อประโยชน์ของคนอื่นๆ คงไม่ว่ากัน อยากให้คนอื่นๆได้อ่านด้วย
ชีวิตในเพศพรหมจรรย์ต้องผ่านการต่อสู้กับรงแห่งกิเลสตัณหามาอย่างหนัก แม้จะเป็นเหมือนคนมีชีวิตที่ดำรงอยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่สิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งที่เป็นกัลยาณมิตรได้ดีที่สุดคือครูบาอาจารย์ ที่คอยให้คำแนะนำ ชี้แนะเมื่อใจกำลังอ่อนล้า ดังเนื้อหาตอนหนึ่งว่า “เกิดเป็นคนต้องมีความอดทน ขนาดว่าหินแม้จะแข็งปานใดก็ตาม เมื่อโดนกระทบเข้าแรงๆ หลายๆครั้ง ยังแตกหักได้ แต่เราเป็นคนจะต้องทนให้ได้กว่าหิน แม้ร่างกายจะอ่อนก็จริง แต่จิตใจต้องแข็งแกร่งกว่า......ใจของคนเรานั้นมีเรื่องเข้ามากระทบมากมายตั้งแต่เป็นเด็กตัวเล็กๆจนกระทั่งเติบใหญ่ ล้วนต้องต่อสู้มาด้วยกันทุกคน ทว่าจิตใจจะมีการพัฒนาให้เข็มแข้งขึ้นเมื่อผ่านอุปสรรคแต่ละครั้ง ประหนึ่งเพชรที่กำลังถูกขัดถูกเจียรหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่แต่ละคนควรพิจารณาใคร่ครวญให้ดี” (เพียงหนึ่งกำลังใจ,หน้า13)
อ่านมาถึงตรงนี้ก็ต้องหยุดคิดและย้อนกลับไปอ่านใหม่อีกครั้ง การอ่านหนังสือบางครั้งก็ต้องใช้ความช้า อ่านไปคิดไป จินตนาการก็เกิดขึ้นไปพร้อมๆกัน นี่คือเสน่ห์ของการอ่านที่แตกต่างจากสื่ออื่นๆ ผู้เขียนจึงชอบอ่านมากกว่าที่จะดูหรือฟังจากโทรทัศน์หรือวิทยุซึ่งจะต้องใช้ความรวดเร็ว เผลอเมื่อไหร่อาจพลาดดูตอนที่สำคัญไป
ผู้เขียนเองเคยมีประสบการณ์บางส่วนเหมือนท่านเจ้าของเรื่องเช่นการเป็นไข้มาลาเรีย แต่วิธีการรักษาไม่เหมือนกัน ดังที่มีปรากฎในหนังสือตอนหนึ่งว่า “ครั้งหนึ่งพิษไข้มาลาเรียที่ติดตัวผมมาตั้งแต่เกิดกำเริบขึ้นอย่างหนัก ยาใดๆก็ไม่มีให้ฉันเพราะอยู่ห่างไกลจากตัวเมืองมาก มีอาการปวดศีรษะราวกับจะแตกเป็นเสี่ยงๆเสียให้ได้ ...สุดท้ายเลยต้องใช้ธรรมโอสถคือการภาวนาจนกระทั่งโรคนั้นหายไปเอง”(หน้า 102)
ฟังดูเหมือนง่ายหรือยอมพ่ายแพ้แก่โชคชะตา แต่ถ้าหากมองให้ลึกแล้วเป็นวิธีแก้ปัญหาของคนที่เข้าใจโลก เพราะโรคภัยบางอย่างรักษาจึงหาย ไม่รักษาไม่หาย โรคบางอย่างไม่รักษาก็หายได้เอง โรคบางอย่างจะรักษาหรือไม่รักษาก็ไม่มีทางหาย โรคมาลาเรียหรือไข้ป่ามักจะเกิดกับพระกรรมฐานเพราะท่านชอบอยู่ตามป่าตามเขา ก็ย่อมจะมียุงกัดบ้างเป็นธรรมดา
อีกตอนหนึ่งนำเสนอวิธีแก้ปัญหาชีวิตที่ทุกคนสามารถนำไปใช้ได้ดังข้อความว่า “คนเรานั้น ในบางคราวเมื่อวิกฤตแห่งชีวิตมาเยือน ส่วนใหญ่ก็มักจะแก้ปัญหาด้วยความเคยชินตามนิสัยและสัญชาตญาณของตน ผลที่ได้จึงถูกบ้างผิดบ้าง ซึ่งต่างจากผู้ที่รู้จักฝึกฝนตนและใช้สติในการแก้ปัญหา ผลก็ย่อมจะเป็นที่น่าพอใจกว่า เพราะมีโอกาสผิดพลาดน้อยกว่าเสมอ” (หน้า 111)
วิธีแก้ปัญหาด้วยความเคยชินฟังดูเข้าท่า เรื่องนี้ตรงใจที่สุด เพราะเมื่อเกิดปัญหามนุษย์เราส่วนมากก็มักจะแก้ปัญหาด้วยวิธีเดิมๆอย่างที่เคยทำมา ทำให้นึกถึงอาจารย์สอนปรัชญาท่านหนึ่งบอกว่า “การแก้ปัญหาของประเทศนั้นเคยเห็นมาแทบทุกอย่างแล้ว แต่ยังไม่เคยเห็นวิธีแก้ปัญหาตามแนวแห่งปรัชญา เมื่อถามว่าปรัชญาเขาใช้วิธีการอย่างไร อาจารย์ท่านนั้นตอบว่า ปรัชญาแก้ปัญหาด้วยการคิด หากทุกคนคิดตามหลักความจริงจนเข้าใจที่มาของปัญหาที่แท้จริงแล้ว แนวทางจะตามมาเอง เพราะทุกคนต่างก็มีกรอบแนวคิดของตนเองตามหลักวิชาที่ได้ศึกษามา การแก้ปัญหามีหลายวิธี ชาวนาไม่มองไปที่นาของคนอื่น มองที่นาของตนเอง แก้ปัญหาจากที่นาของตนเอง ส่วนชาวประมงมองไปที่ทะเลหรือแหล่งน้ำ หากแหล่งน้ำสมบูรณ์ก็ย่อมจะมีปลาเอง ชาวสุโขทัยมีคำพูดติดปากว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” แต่ปัจจุบันชาวนาไม่ได้มองที่นาของตนเอง แต่มองไปที่ปุ๋ย ยาฆ่าแมลงของพ่อค้า ผลผลิตจึงได้ผลดีปีเดียว แต่มีผลเสียอีกหลายปี
อ่านหนังสือ “เพียงหนึ่งกำลังใจ” จบลงทำให้มีกำลังใจว่าการบวชนั้นคือเส้นทางที่เราเลือกแล้ว แม้จะทุกข์ทรมานอย่างไรก็ยังพอทนทานได้ ชีวิตย่อมจะต้องมีทั้งสุขและทุกข์คละเคล้ากันไปเป็นธรรมดา ขอบคุณอีกครั้งสำหรับหนังสือที่ส่งมาให้อ่าน โดยผู้ใช้นามว่า “ผู้อ่านไซเบอร์วนาราม” อย่างน้อยก็ยังมีคนอ่านที่อยากให้อ่านเรื่องอื่นๆ ทำให้มีความรู้สึกว่า “เราไม่ได้อยู่คนเดียวในโลกไซเบอร์นี้ ยังมีคนอ่านในสิ่งที่เราเขียน แม้บางครั้งจะออกทะเลไปบ้าง” หากอยากจะร่วมเป็นผู้เขียนเผยแผ่ในเว็บไซต์เล็กๆอย่าง “ไซเบอร์วนารามดอทเน็ต” ก็ยินดีอย่างยิ่ง คนเราเป็นเพื่อนกันได้ แม้จะไม่เคยเห็นหน้ากันมาก่อน
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
08/05/54