ไม่ได้ยินเสียงเพลงฉันทนาที่รักมานานแล้ว จำไม่ได้เหมือนกันว่าเคยฟังครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ เช้าวันอาทิตย์อากาศที่กรุงเทพมหานครสลัวไปด้วยเมฆหมอก เป็นฟ้าหลังฝนที่ตกมาตั้งแต่เมื่อคืนและบางพื้นที่ยังคงมีสายฝนโปรยปรายอยู่บ้าง อากาศจึงเย็นสบาย ได้ยินเสียงเพลงที่เริ่มต้นว่า “ปิดไฟใส่กลอน จะเข้ามุ้งนอนคิดเห็นใบหน้า นั่งเขียนจดหมายแล้วรีบส่งไปโนรงงานทอผ้า.....” แว่วมาจากที่พักคนงาน ได้ยินเสียงเพลงนี้เมื่อใดทำให้ย้อนคิดถึง “วันแรงงานหรือวันกรรมกร”ขึ้นมา เพลงนี้เหมือนเป็นตัวแทนของกรรมกร
กรรมกรตามความหมายที่ทางราชการต้องการให้เป็นกับกรรมกรที่ผู้เขียนเข้าใจมีรู้จะมีความหมายตรงกันหรือไม่ไม่แน่ใจ คำว่า “กรรมกร”มาจากภาษาบาลีว่า “กมฺมกร” เป็นทั้งคำนามเพศชาย และเป็นคำคุณนาม แปลว่าผู้ทำการงาน ลูกจ้าง หากแปลความหมายตามนี้ก็ต้องบอกว่าใครที่ทำการงานคนนั้นก็ต้องเรียกว่า “กรรมกร”หากอธิบายตามความหมายนี้ก็น่าจะครอบคลุมคนได้ทุกคน ยกเว้นคนที่ไม่ทำงาน ถ้าหากยึดตามคำแปลนี้ก็ต้องบอกว่าผู้เขียนก็เป็นกรรมกรมาตลอดชีวิต ใช้แรงงานมาโดยตลอด เพียงแต่ไม่ได้ขายแรง เพราะมีแรงไว้ทำงานเท่านั้นไม่ได้มีแรงไว้ขาย
แรงงานถือเป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งที่ก่อให้เกิดผลผลิต พลังของผู้ใช้แรงงานจะแฝงอยู่ในผลผลิตทุกชิ้น ตึกทุกหลัง อาคารบ้านเรือนทุกแห่งไม่เว้นแม้แต่ศาลาการเปรียญ โบสถ์ วิหาร เจดีย์จะมีหยาดเหงื่อแรงงานของกรรมกรคนใช้แรงงานแฝงอยู่ทุกตารางนิ้ว แม้กรรมกรหรือคนงานจะทำงานเพื่อเงินค่าแรง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเพราะแรงงานของพวกเขาเหล่านั้นตึกรามบ้านช่องอาคารต่างๆจึงก่อเกิดขึ้นมาตั้งตระหง่านให้มนุษย์ใช้สอยประโยชน์ได้ ความมั่นคงก้าวหน้าหรือความอ่อนแอทางเศรษฐกิจของประเทศชาติส่วนหนึ่งจึงมาจากกรรมกรคนขายแรงทั้งหลาย หากคนงานทำงานไม่คุ้มค่าเหนื่อย ผลงานก็ย่อมจะมีคุณภาพลดลงด้วย
ตามข้อมูลของกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมระบุว่า “เพื่อเป็นการยกย่องและชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของแรงงาน เพื่อให้เกิดการพัฒนาทั้งในคุณภาพ ความเป็นอยู่ ตลอดจนสิทธิอันชอบธรรมที่ผู้ใช้แรงงานสมควรจะได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างจริงจัง รัฐบาลจึงได้กำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปีเป็น "วันแรงงานแห่งชาติ"ตามที่คณะพรรคสังคมนิยมระหว่างชาติได้กำหนดไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2432
ในประเทศไทยเริ่มมีการจัดการบริหารแรงงานขึ้นใน พ.ศ.2475 เมื่อรัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติจัดหางานประจำท้องถิ่น พ.ศ.2475 การบริหารแรงงาน หมายถึงการจัดสรรและพัฒนาแรงงาน คุ้มครองดูแลสภาพการทำงาน สร้างรากฐานและขบวนการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับภาระการสร้างงานประกอบอาชีพ
ในปี พ.ศ. 2477 ได้มีการจัดตั้งกองกรรมกรขึ้น ทำหน้าที่ด้านการจัดหางาน และศึกษาภาวะความเป็นอยู่ของคนงานทั่วไป พ.ศ.2499 รัฐบาลได้ขยายกิจการสัมพันธ์มากขึ้น และประกาศใช้พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฉบับแรก พ.ศ.2508 และปีเดียวกันนี้ได้มีการจัดตั้งกรมแรงงานขึ้น อีกทั้งประกาศใช้พระ ราชบัญญัติกำหนดวิธีระงับข้อพิพาทแรงงาน ในปัจจุบันใช้ พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518ปัจจุบันการบริหารงานอยู่ในความรับผิดชอบของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม
วันแรงงานแห่งชาตินั้นจะมีความสำคัญกับใครบ้างนั้นขึ้นอยู่กับความเกี่ยวข้องของแต่ละคน แต่เท่าที่เห็นมักจะมีการจัดงานและเล่นดนตรีเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลิน เพราะเป็นวันหยุดของคนทำงาน ปีนี้ตรงกับวันอาทิตย์เลยต้องหยุดชดเชยในวันจันทร์ ตามปรกติเช้าวันอาทิตย์ที่วัดจะเงียบที่สุด แต่จะเริ่มมีเสียงตอนเย็นๆ พวกคนงานที่กำลังทำการก่อสร้างศาลาการเปรียญหลังใหม่พากันหยุดงาน แต่พอถึงตอนเย็นคนงานเหล่านี้ก็จะพากันฉลองคงแอบดื่มเหล้าบ้าง แม้ทางวัดจะห้ามแล้วก็ยังได้ยินเสียงร้องรำทำเพลงตามประสา ส่วนมากจะเป็นเพลงที่ไม่เคยได้ยินและฟังไม่ออก ที่พักคนงานอยู่ภายในวัดใต้สถานที่ก่อสร้างนั่นเอง คนงานพวกนี้คงไม่รู้ว่าจะไปเที่ยวที่ไหน
ลูกจ้างและนายจ้างมักจะหนีไม่พ้นจากปัญหาเรื่องค่าแรง ลูกจ้างบอกว่าค่าแรงถูกเกินไป แต่นายจ้างบอกว่าค่าแรงแพงเกินไป ปัญหานี้เถียงกันไม่จบ แม้จะขึ้นค่าแรงแล้วแต่เครื่องอุปโภคบริโภคอื่นๆก็ขึ้นราคาตามค่าแรง หรือหากกรรมกรที่พอมีฝีมือมีค่าแรงแพงก็หาคนจ้างทำงานยาก นายจ้างก็มักจะเลี่ยงไปจ้างคนที่มีค่าแรงงานถูกกว่า ในที่สุดเมื่อไม่มีคนจ้างก็ต้องตกงาน กลายเป็นปัญหาที่ไม่มีวันสิ้นสุด เห็นมีป้ายประท้วงจากคนงานป้ายหนึ่งว่า "ขึ้นค่าแรงคน ยังไม่แพงเท่าค่าไข่ไก่"
บ่ายวันอาทิตย์แดดยังกล้าอยู่มองออกไปที่ศาลาการเปรียญที่กำลังสร้างใหม่ ซึ่งกำลังมุงหลังคาได้ครึ่งหนึ่งแล้ว เห็นคนงานท่านหนึ่งกำลังง่วนอยู่กับการปูกระเบื้องมุงหลังคาบนหลังคาศาลา แกทำงานของแกไปเรื่อย พร้อมทั้งร้องเพลงคลอไปกับเสียงเพลงที่เปิดจากวิทยุที่แกถือมาด้วย ลุงคนนี้ทำงานอย่างมีความสุขในวันหยุดงาน จึงหันไปถามว่า “ลุงวันนี้วันกรรมกรยังทำงานอยู่อีกหรือ ไม่หยุดงานไปเที่ยวเหมือนคนอื่นหรือไง” คนงานคนนั้นส่งยิ้มอย่างอย่างมีความสุข พลางตอบว่า “วันนี้ผมทำบุญครับ ผมไม่ได้ทำงาน”
พอเห็นคนถามทำหน้าสงสัย คุณลุงคนงานก่อสร้างจึงบอกว่า “ผมทำงานเพื่อเงินมาตลอดหนึ่งอาทิตย์ ได้หยุดงานหนึ่งวัน ผมพอแล้ว แต่วันนี้ผมอยากทำบุญ จึงมาดูกระเบื้องที่ไม่เรียบร้อย พร้อมทั้งจัดแจงให้เข้าที่เข้าทาง วันนี้ผมทำงานไม่รับเงินค่าแรง แต่อยากทำงานฟรีจะได้ชื่อว่าได้ร่วมก่อสร้างศาลาการเปรียญกับเขาบ้าง คนงานคนอื่นๆเขาไปเที่ยวงานวันแรงงานหมดครับ เหลือผมเฝ้าที่พักอยู่คนเดียว ผมจึงทำงานเอาบุญสักวัน”
วอร์เรน บัฟเฟตต์ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นมหาเศรษฐีอันดับต้นๆของโลกคนหนึ่งและได้ชื่อว่าเป็นเศรษฐีที่ใจบุญ เขาบริจาคเงินให้องค์กรการกุศลจำนวนมหาศาลเคยบอกไว้ว่า “ผมอาจบริจาคเงินหลายหมื่นล้านดอลลาร์ ยังมีค่าน้อยกว่าคนที่มีเงินเพียงหนึ่งร้อยเหรียญแต่ยังแบ่งเงินอีกยี่สิบเหรียญบริจาค คนที่น่ายกย่องที่สุดคือคนที่ไม่มีสมบัติอะไรเลย เขาไม่มีเงินมากพอจะบริจาค แต่ทว่าเขายังใช้กำลังแรงกายเท่าที่มีอยู่ไปช่วยเหลืองานการกุศล คนอย่างนี้สิน่ายกย่อง น่านับถือมากที่สุด”
ลุงคนงานท่านนี้ทำงานทุกวันได้ค่าแรงวันละไม่กี่บาท อาจจะไม่พอกับค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูครอบครัวด้วยซ้ำ เรื่องการทำบุญด้วยการบริจาคเงินนั้นเลิกคิดไปได้เลย แค่จะพอมีกินไปวันๆก็ถือว่าโชคดีแล้ว คุณลุงทำงานอาทิตย์ละหกวันเพื่อเงินค่าแรง แต่ใช้แรงกายเท่าที่มีอยู่ทำงานอีกหนึ่งวันเพื่อทำบุญ เขามีศาลาที่สวยงามที่สร้างเสร็จเรียบร้อยในจินตนาการแล้ว นี่สิยอดกรรมกร ยอดคนขายแรงงานตัวจริง ขอคารวะ
เสียงเพลงฉันทนาที่รักเงียบหายไปนานแล้วแต่ได้ยินเสียงเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับกรรมกรแทรกเข้ามาตลอด แต่เสียงเพลงที่ไพเราะที่สุดในวันนี้กลับมาจากน้ำเสียงของคุณลุงคนงานที่ไม่รู้จักชื่อคนนั้น แม้น้ำเสียงจะไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นนักร้องได้ แต่เพลงที่คุณลุงคนนั้นร้องเปล่งออกมาจากหัวใจแห่งความสุข
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
01/05/54
ฉันทนาที่รัก: รักชาติ
{youtube}oNtfjGxOsbo{/youtube}
ฉันทนาที่รัก: สดใส
{youtube}BppZie4l3CU&feature=related{/youtube}
ฉันทนาที่รัก: เบิร์ด
{youtube}IhWspozDbYM{/youtube}
ฉันทนาที่รัก: ปองศักดิ์
{youtube}OJpJd0KI_WA&feature=related{/youtube}