พุทธศาสนิกชนคงคุ้นเคยกับพุทธสุภาษิตว่า “ธรรมแลย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม ธรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้วย่อมนำสุขมาให้”ธรรมนั้นเป็นสากลใครจะอธิบายอย่างไรก็ว่ากันไป จะยกตัวอย่างหรืออุทาหรณ์อะไรมาประกอบก็ได้ แต่เนื้อหาดั้งเดิมยังคงอยู่ บางครั้งอ่านแล้วเข้าใจทันที แต่บางคนก็ต้องมีตัวอย่างประกอบ ธรรมหมวดนี้มาจากชาดกเรื่องหนึ่งคือ “ธรรมปาลชาดก”ที่หลายคนอาจนึกถึงประวัติความเป็นมาของวันสงกรานต์ที่ธรรมปาลกุมารตอบปัญหาท้าวมหาพรหมได้ พรหมจึงเหลือแต่เศียรต้องให้เหล่าธิดาทั้งเจ็ดนางดูแลรักษาบนถาดทองคำ และนำมาสรงน้ำในวันสงกรานต์ แต่ธรรมปาลกุมารในพระสูตรนี้กล่าวถึงสาเหตุที่ทำให้คนไม่ตายตั้งแต่ยังอยู่ในวัยหนุ่มสาว
คนเรานั้นหากยังไม่ถึงที่ตายย่อมมีเหตุที่ทำให้รอดตายจนได้ ส่วนคนที่ถึงที่ตาย แม้จะพยายามหลีกเลี่ยงแล้ว แต่ก็มักจะมีเหตุให้เสียชีวิตจนได้ บางคนเสียชีวิตตั้งแต่เด็ก บางคนตายในวัยหนุ่มสาว แต่บางคนแม้จะมีผู้อยากให้ตายเขาก็ยังอยู่ ความตายนั้นกำหนดไม่ได้ แต่หากเลือกได้ทุกคนก็คงอยากตายในเวลาที่สมควรนั่นคือในเวลาที่แก่พอสมควรแล้ว ตายตอนแก่ยังไงก็ยังดีกว่าตายตั้งแต่ยังอยู่ในวัยหนุ่มสาวหรือยังอยู่ในวัยเด็ก อย่างน้อยก็ยังมีเวลาได้เห็นโลกมากขึ้น ส่วนใครจะเข้าใจโลกมากน้อยแค่ไหนนั้นตัวใครตัวมัน
มีพระสูตรหนึ่งแสดงถึงคนที่ไม่ตายตั้งแต่ยังหนุ่ม เนื่องจากมีการประพฤติธรรม ดังที่แสดงไว้ในมหาธรรมปาลชาดก ขุททกนิกาย ชาดก(27/1414-1420/263-264)สรุปความว่า “ครั้งหนึ่งชายหนุ่มคนหนึ่งนามว่าธรรมปาลเดินทางไปศึกษาศิลปวิทยากับอาจารย์ทิศาปาโมกข์ที่เมืองตักศิลา บอกกับอาจารย์ว่าครอบครัวของเขานั้นไม่เคยมีใครเสียชีวิตตั้งแต่ยังเด็กหรือในวัยหนุ่มสาวเลย ส่วนมากจะเสียชีวิตในเวลาที่มีอายุมากหรือแก่แล้วทั้งนั้น อาจารย์ไม่เชื่อจึงอยากจะทดลองความจริง อาจารย์จึงนำกระดูกสัตว์ต่างๆใส่หม้อแล้วเดินทางไปพบญาติของธรรมปาลที่เมืองพาราณสี
เมื่อไปถึงจึงแจ้งข่าวแก่พ่อแม่และญาติของธรรมปาละว่าเขาได้เสียชีวิตแล้ว จึงได้นำกระดูกมาให้จากนั้นก็เปิดหม้อให้ดู พ่อแม่ของหนุ่มธรรมปาละพอเห็นกระดูกก็พากันหัวเราะและบอกว่า “ตามปรกติในสกุลของเราไม่เคยมีใครเสียชีวิตในขณะที่ยังเป็นหนุ่มสาวเลยเป็นเวลายาวนานกว่าเจ็ดชั่วโคตรแล้ว ทุกคนจะเสียชีวิตตอนแก่แล้วทั้งนั้น ดังนั้นบุตรชายของเรายังไม่ตาย พวกเรามั่นใจ กระดูกนี้คงเป็นกระดูกคนอื่น” แม้ว่าอาจารย์ทิศาปาโมกข์จะพยายามพูดอย่างไรพวกเขาก็ไม่ยอมเชื่อ
ในที่สุดอาจารย์คนนั้นจึงเล่าความจริงให้ฟังว่าต้องการพิสูจน์ความจริงเท่านั้น วันนี้ได้เห็นว่าตระกูลที่ไม่เคยมีคนตายตั้งแต่วัยหนุ่มนั้นมีอยู่จริง จากนั้นจึงได้ถามสาเหตุว่าพวกท่านยึดมั่นในข้อปฏิบัติอะไรจึงทำให้มีอายุยืน ไม่มีคนในสกุลเสียชีวิตตั้งแต่ยังเด็กหรือในวัยหนุ่มสาวเลย
พ่อของธรรมปาละจึงแสดงวัตรปฏิบัติประจำตระกูลให้ฟัง ดังที่มีปรากฎในมหาธรรมปาลชาดก(27/1411-1420/263-264) ความว่า “พวกเราประพฤติธรรม ไม่กล่าวมุสา งดเว้นธรรมชั่ว งดเว้นธรรมอันไม่ประเสริฐทั้งหมด เพราะเหตุนั้นแหละคนหนุ่ม ๆ ของพวกเราจึงไม่ตาย
พวกเราฟังธรรมของอสัตบุรุษและของสัตบุรุษแล้ว เราไม่ชอบใจธรรมของอสัตบุรุษเลย ละอสัตบุรุษเสีย ไม่ละสัตบุรุษ เพราะเหตุนั้นแหละคนหนุ่ม ๆ ของพวกเราจึงไม่ตาย
ก่อนที่เริ่มจะให้ทาน พวกเราเป็นผู้ตั้งใจดี แม้กำลังให้ก็มีใจผ่องแผ้ว ครั้นให้แล้วก็ไม่เดือดร้อนภายหลัง เพราะเหตุนั้นแหละคนหนุ่ม ๆ ของพวกเราจึงไม่ตาย
พวกเราเลี้ยงดูสมณะ พราหมณ์ คนเดินทาง วณิพก ยาจก และคนขัดสนทั้งหลายให้อิ่มหนำสำราญด้วยข้าวน้ำ เพราะเหตุนั้นแหละคนหนุ่ม ๆ ของพวกเราจึงไม่ตาย
พวกเราไม่นอกใจภรรยา ถึงภรรยาก็ไม่นอกใจพวกเรา พวกเราประพฤติพรหมจรรย์นอกจากภรรยาของตน เพราะเหตุนั้นแหละคนหนุ่ม ๆ ของพวกเราจึงไม่ตาย
พวกเราทั้งหมดงดเว้นจากการสัตว์ งดเว้นสิ่งของที่เขาไม่ให้ในโลก ไม่ดื่มของเมาไม่กล่าวปด เพราะเหตุนั้นแหละคนหนุ่ม ๆของพวกเราจึงไม่ตาย
บุตรที่เกิดในภรรยาผู้มีศีลดีเหล่านั้นเป็นผู้ฉลาด มีปัญญา เป็นพหูสูต เรียนจบไตรเพทเพราะเหตุนั้นแหละคนหนุ่ม ๆ ของพวกเราจึงไม่ตาย
มารดาบิดา พี่น้องหญิงชาย บุตร ภรรยาและเราทุกคนประพฤติธรรมมุ่งประโยชน์ในโลกหน้า เพราะเหตุนั้นแหละคนหนุ่ม ๆ ของพวกเราจึงไม่ตาย
ทาสทาสี คนที่อาศัยเลี้ยงชีวิตคนรับใช้คนทำงานทั้งหมด ล้วนแต่ประพฤติธรรมมุ่งประโยชน์ในโลกหน้าเพราะเหตุนั้นแหละคนหนุ่ม ๆ ของพวกเราจึงไม่ตาย
ธรรมแลย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม ธรรมบุคคลประพฤติดีแล้วย่อมนำสุขมาให้ นี้เป็นอานิสงส์ ในธรรมที่ประพฤติดีแล้ว ผู้ประพฤติธรรมย่อมไม่ไปสู่ทุคติ
ธรรมแลย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรมเหมือนร่มใหญ่ในฤดูฝนฉะนั้น ธรรมปาละบุตรของเราอันธรรมคุ้มครองแล้ว กระดูกที่ท่านนำเอามานี้ เป็นกระดูกสัตว์อื่น บุตรของเรายังมีความสุข
ธรรมที่บิดาของธรรมปาละแสดงนี้มีมาก่อนพระพุทธศาสนา เป็นธรรมเนียมปฏิบัติหรือวัตรปฏิบัติของพราหมณ์ตระกูลหนึ่ง ต่อมาภายหลังเมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้ากลับไปเยี่ยมพระราชบิดาที่เมืองกบิลพัสดุ์ พระเจ้าสุทโธทนะจึงได้เล่าข่าวลือให้ฟังในทำนองว่ามีคนเล่าลือกันว่าลูกชายคือพระพุทธเจ้านั้นได้เสียชีวิตไปแล้ว แต่พระเจ้าสุทโธทนะไม่เชื่อ พระพุทธเจ้าจึงได้นำธรรมปาลชาดกขึ้นแสดง และกลายเป็นพุทธภาษิตที่ชาวพุทธคุ้นเคยบทหนึ่งนั่นคือ
“ธรรมแลย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม ธรรมบุคคลประพฤติดีแล้วย่อมนำสุขมาให้ นี้เป็นอานิสงส์ในธรรมที่ประพฤติดีแล้ว ผู้ประพฤติธรรมย่อมไม่ไปสู่ทุคติ”
แปลมาจากภาษาบาลีว่า “ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารึ ธมฺโม สุจิณฺโณ สุขมาวหาติ
เอสานิสํโส ธมฺเม สุจิณฺเณ น ทุคฺคตึ คจฺฉติ ธมฺมจารีฯ”
เนื้อหาทั้งหมดของธรรมในพระสูตรนี้นี้มีเนื้อหาค่อนข้างยาว ครั้นจะตัดบางส่วนออกก็รู้สึกว่าจะไม่ได้เนื้อหาที่สมบูรณ์ เพราะสุภาษิตบางแห่งนำไปอ้างเพียงข้อความบางช่วงของพระสูตรเท่านั้น วันนี้จึงนำแสดงทั้งหมดแม้เนื้อหาจะยาวแต่คิดว่าคงไม่ยากเกินไปที่จะทำความเข้าใจดังที่ได้ยกมาแสดงไว้ในวันนี้ ค่อยๆอ่านอย่ารีบร้อนการศึกษาและปฏิบัติธรรมต้องใจเย็นๆ ค่อยเป็นค่อยไป หากใครอยากมีอายุยืนยาว ไม่อยากตายตั้งแต่ยังอยู่ในวัยหนุ่มสาว หรืออยากให้ลูกหลานมีอายุยืนยาวไม่ด่วนตายในวัยที่ยังไม่สมควร ก็ลองนำวัตรปฏิบัติของตระกูลธรรมปาละไปปฏิบัติดูได้ ส่วนใครที่ไม่มีโอกาสได้อ่านก็ต้องขอยืมสำนวนของนักเขียนท่านหนึ่งที่บอกว่าเสียดายคนตายไม่ได้อ่าน
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
25/04/54