เห็นข่าวพระธุดงค์หลอกขายพระเครื่องแล้วสะท้อนใจ พระธุดงค์สมัยนี้เดินทางเข้าเมืองหลวงแล้วหรือ สิ่งที่ท่านทำจนกลายเป็นข่าวทางหนังสือพิมพ์นั้นมีส่วนทำให้พระรูปอื่นๆเสียหายไปด้วย ปลาเน่าตัวเดียวเน่าทั้งหนองอย่างนี้ ในอดีตพระธุดงค์มักจะอยู่ตามป่าตามเขา หรือไม่ก็บำเพ็ญภาวนาในป่าช้าอยู่ห่างไกลจากความเจริญ แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปความเข้าใจเกี่ยวพระธุดงค์เริ่มเปลี่ยนไป หลายปีมาแล้วเคยฟังเรื่องประสบการณ์การเดินธุดงค์ของพระภิกษุรูปหนึ่ง ท่านเมตตาเล่าประสบการณ์เมื่อครั้งที่เกิดปรากฏการณ์ผีแม่หม้ายให้ฟัง จึงขอถ่ายทอดให้อ่านกัน แต่อ่านแล้วโปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน
ท่านปุญญราโมกับท่านธัมมวิริโยเดินทางจากภูเก้ามุ่งหน้าสู่วัดหินหมากเป้งจังหวัดหนองคาย วันนี้ท่านปุญญราโมเมตตาเล่าให้ฟังสรุปว่า “จากวัดพระพุทธบาทภูเก้าเดินผมตามเส้นทางระหว่างรอยต่อของอำเภอโนนสังและหนองวัวซอ ซึ่งในตอนนั้นยังเป็นจังหวัดอุดรธานีทั้งสองอำเภอ แต่ปัจจุบัน อำเภอโนนสังเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดหนองบัวลำภู ผม(ปุญญราโม) อุปสมบทก่อนที่จะมีจังหวัดหนองบัวลำภูหลายปี หากมีคนถามเมื่อใดว่าเป็นคนจังหวัดไหน ผมก็มักจะตอบด้วยความเคยชินว่าเป็นคนจังหวัดอุดรธานี
ผม(ปุญญราโม)กับท่านธัมมวิริโยพักที่วัดพระพุทธบาทภูเก้าหลายวัน พอหายเหนื่อยแล้วจึงมุ่งหน้าออกเดินทางตามกำหนดการเดิมโดยมีจุดมุ่งหมายที่วัดหินหมากเป้งจังหวัดหนองคาย ส่วนมากเราจะเดินลัดเลาะตามชายป่าไม่ค่อยได้แวะเข้าหมู่บ้านใดเป็นพิเศษ หากถึงเวลาค่ำก็จะหาที่พักกลางกลดพักผ่อนตามต้นไม้ ชายป่าหรือชายเขาแล้วแต่จะพานพบ แต่ว่าไม่ห่างไกลจากหมู่บ้านนักจะได้สะดวกต่อการโคจรบิณฑบาต ประสบการณ์เมื่อครั้งที่ภูเก้านั้นเป็นบทเรียนที่สอนให้ต้องจดจำ
จนกระทั่งวันหนึ่งฟ้าเริ่มมืดค่ำมองเห็นแสงสีทองทาบทับขอบฟ้าทางปัจฉิมทิศ พร้อมกับมีหมู่เมฆไหลเอื่อยเหมือนประหนึ่งจะเป็นสัญญาณว่าวันนี้ฝนน่าจะตกหนัก เราทั้งสอง(ปุญญราโมภิกขุและธัมมวิริโยภิกขุ)จึงมองหาที่หลบฝน เดินทางไปถึงป่าแห่งหนึ่งใกล้ชายเขาทันเวลาก่อนค่ำเล็กน้อย เห็นว่าเป็นสถานที่เหมาะกับการหยุดพักสำหรับคืนนี้ เดินดูรอบๆเป็นเพียงป่าดอนเล็กๆที่ไม่มีผู้พักอาศัย แต่จากการสังเกตทำให้รู้ว่าเป็นป่าช้า เพราะยังเห็นกองฟอนที่ไฟกำลังจะมอดดับ คงเป็นการเผาศพชาวบ้านที่พึ่งเสียชีวิตมาไม่เกินสองสามวัน ป่าช้าเหมาะกับพระป่าเป็นอย่างยิ่งเพราะจะไม่มีใครมารบกวนเลย ทุกคนสงวนไว้สำหรับคนตายและพระธุดงค์กรรมฐานก็ชอบพักในสถานที่แบบนี้
คืนนั้นเราแยกย้ายกันพักคนละมุมของป่าช้ากางกลดเสร็จก็ได้เวลามืดค่ำพอดี หลังทำวัตรสวดมนต์เสร็จแล้วได้แผ่เมตตาไปยังสรรพสัตว์ทั้งหลายที่เกิด แก่เจ็บตายร่วมโลกด้วยกัน หากมีทุกข์ขอให้พ้นจากทุกข์ หากมีสุขขอให้สุขยิ่งขึ้นไป จากนั้นก็นั่งสมาธิกำหนดจิตให้อยู่ในอารมณ์กรรมฐานตามปกตินั่นคือวิธีที่ครูบาอาจารย์สั่งสอนมาว่า หายใจเข้าให้ใช้คำบริกรรมว่า “พุท” หายใจออกกำหนดด้วยคำว่า “โธ” ชีวิตอยู่กับลมหายใจและคำบริกรรม “พุทโธ” จนกระทั่งคำบริกรรมหายไปเหลือแต่ลมหายใจอันละเอียด สงบนิ่ง นานเท่าไหร่ไม่ได้กำหนดพอจิตเข้าสู่สมาธิแล้วจึงหยุดอยู่ในเอกัคคตารมณ์นั้น
เหมือนกับว่ามีผู้คนจำนวนมากพากันมารุมล้อมผม บางคนกราบ บางคนไหว้ บางคนนั่งหัวเราะ บางคนนั่งร้องให้ อริยาบถหลากหลายที่คาดคิดไม่ถึง ผมก็ไม่ได้แสดงอาการอย่างใดออกมาให้พวกเขาเห็น ปล่อยให้พวกเขาแสดงกิริยาอาการต่างๆไปสักพัก พวกเขาก็หยุด พลันนั้นมีร่างของหญิงสาวอีกจำนวนหนึ่งแต่งตัวในอาภรณ์สวยงามประหนึ่งนางขัตติยกษัตริย์ที่เคยเห็นในภาพยนตร์โบราณบางเรื่อง พวกนางต่างเดินเข้ามาอย่างองอาจสง่าผ่าเผย นางผู้เป็นหัวหน้านั่งบนเก้าอี้สูง ซึ่งก็ไม่รู้ว่ามาจากไหน ท่าทางประทับนั่งประหนึ่งนางพญาก็ไม่ปาน พวกผู้ชายที่กำลังแสดงอาการต่างๆพลันหายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอย
จากนั้นจึงเห็นนางพญาขัตติยานีคนนั้นกระซิบสั่งให้หญิงสาวสองคนซึ่งแต่งตัวด้วยผ้าถุงมีเพียงผ้าสไบคลุมไหล่คนหนึ่งสีเขียวอีกคนสีแดงอมม่วงเดินเข้ามาหาท่าทางการเดินของเธอทั้งสองอ่อนช้อยงดงามอย่างยิ่ง หญิงสาวคนหนึ่งกล่าวด้วยสำเนียงเหมือนบังคับว่า “นางพญาต้องการท่านไปเป็นสามี ท่านจะว่าอย่างไร”
ปุญญราโมจึงบอกเธอไปว่า “อาตมาเป็นพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา พระวินัยไม่อนุญาตให้มีภรรยาได้ และอาตมากำลังบำเพ็ญบารมีเพื่อที่จะได้พบกับการบรรลุธรรมในพระพุทธศาสนา”
หญิงคนนั้นบอกว่า “นางพญาไม่เคยถูกใครปฏิเสธมาก่อน ชายทุกคนมีแต่หมายปองอยากได้นางเป็นภรรยาทั้งนั้น ทำไมวาสนามาเกยแล้วท่านจึงปฏิเสธด้วยเล่า คิดดูให้ดีหากท่านตกลงสมบัติทุกอย่างจะเป็นของท่าน ท่านจะกลายเป็นพระราชาครอบครองเมืองแห่งนี้”
นางพูดจบพลันเหมือนกับมีปราสาทผุดขึ้นมาต่อหน้าต่อตา ในปราสาทเต็มไปทรัพย์สินเงินทองจำนวนมากมายมหาศาล วัสดุอุปกรณ์ทุกอย่างประดับด้วยทองคำเหลืองอร่ามงดงาม ภายในปราสาทมีแต่แต่งตัวสวยสดงดงามเต็มไปหมด มีเก้าอี้ประดับตกแต่งสวยงามว่างอยู่หนึ่งแห่ง ด้านซ้ายมองเห็นนางพญาประทับนั่งเด่นเป็นสง่า ส่วนด้านขวายังว่างอยู่เหมือนกำลังเชื้อเชิญให้พระราชาประทับนั่ง
ปุญญราโมขยับจะก้าวเดินอยู่แล้วเพราะทนต่อการเย้ายวนของทรัพย์สมบัติเหล่านั้นไม่ไหว แต่ขณะที่กำลังจะยอมแพ้อยู่นั้นพลันก็มีพระสงฆ์ชรารูปหนึ่งซึ่งไม่เคยเห็นหน้ามาก่อนเหมือนบังเอิญเดินผ่านมา และกล่าวขึ้นลอยๆว่า “ท่านจะไปวัดหินหมากเป้งไม่ใช่หรือ ไปยังไม่ถึงทำไมทิ้งเปลี่ยนเป้าหมาย” จากนั้นก็เดินลับหายไปในราวป่า ปุญญราโมจึงได้สติกลับมาอีกครั้ง
พอหันกลับมามองอีกทีทุกอย่างอยู่ในความเงียบปราสาทราชวังพลันหายไปเหมือนไม่เคยมีมาก่อน และหญิงสาวเหล่านั้นก็หายสาบสูญไปด้วย ทั้งหมดเป็นเพียงมายาภาพที่เกิดขึ้นภายในจิตเท่านั้น
ปุญญาราโมออกจากสมาธิหันมองซ้ายขวาป่าช้ายังเงียบสงัด ได้ยินเพียงเสียงแมลงกลางคืนส่งเสียงเป็นพักๆ มายาการที่เกิดขึ้นเหมือนความฝันแต่ทำไมจึงเหมือนกับภาพที่ปรากฎจริง ป่าก็ยังคงเป็นป่า กองฟอนที่อยู่ไม่ไกลนักที่กำลังจะมอดดับถูกลมรำเพยพัดปรากฎเป็นเพลิงที่คุกรุ่นขึ้นมาอีกครั้ง แสงจากกองไฟที่เผาศพนั้นมองดูไกลๆเหมือนดวงตาของสัตว์ร้าย คิดถึงธัมมวิริโยขึ้นมาอย่างช่วยไม่ได้ แต่ทว่าคงไปเยือนในยามวิกาลเช่นนี้ไม่ได้ ป่าช้าอาจแฝงไปด้วยอันตรายที่คาดคิดไม่ถึงก็ได้ ปุญญราโมจึงตัดสินใจหลับพักผ่อน ภาพมายาต่างๆก็ไม่ปรากฎให้เห็นอีกเลย
ได้ยินเสียงไก่ขันแว่วมาจากหมู่บ้านที่อยู่ไม่ไกลนัก เป็นสัญญาณบอกให้รู้ว่ารุ่งอรุณกำลังจะมาเยือนแล้ว แสงเรื่อเรืองจากขอบฟ้าก็เริ่มปรากฎ ไม่นานธัมมวิริโยก็เดินอุ้มบาตรผ่านมา วันนั้นเราทั้งสองรูปจึงเดินบิณฑบาตที่หมู่บ้านแห่งนั้น ชาวบ้านต่างแปลกใจที่จู่ๆก็มีพระสงฆ์เดินบิณฑบาตโดยไม่คาดฝัน จึงใส่บาตรด้วยอาหารเท่าที่จะหาได้ในขณะนั้น อาหารที่ได้ในวันนั้นจึงมีเพียงข้าวเหนียวเปล่า ไม่มีอาหารอะไรเลย แต่ก็เพียงพอสำหรับที่จะทำให้ชีวิตมีกำลังอยู่ต่อไปได้ ระยะทางจากป่าช้าถึงหมู่บ้านเท่าที่คำนวรดูน่าจะไม่ต่ำกว่าสามกิโลเมตร
กลับถึงที่พักทุกอย่างยังคงเป็นปกติ แต่สิ่งที่ไม่ปกติคือชาวบ้านเดินตามพระหนุ่มทั้งสองมาห่างๆ พอถึงที่พักต่างก็เข้ามานั่งสนทนาด้วย และบอกให้รอสักครู่ชาวบ้านกำลังนำอาหารมาถวาย
จากคำบอกเล่าของชาวบ้านจึงทำให้ทราบว่า “หมู่บ้านแห่งนี้กำลังตกอยู่ในความกลัว เพราะกำลังมีผีแม่หม้ายมาพรากชีวิตชายหนุ่มตายไปหลายคนแล้ว นี่ก็พึ่งเผาไปได้ไม่ถึงสามวัน ชายหนุ่มในหมู่บ้านแห่งนี้มักจะเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ นอนหลับและตายไปเฉยๆ ท่านเห็นไหมที่รั้วบ้านแต่ละหลังจะมีภาพปลัดขิก(อวัยวะเพศชาย)ทาสีแดงใหญ่บ้างเล็กบ้างอยู่เต็มหมู่บ้าน เพราะเชื่อกันว่าผีแม่หม้ายจะมาเอาชีวิตของชายหนุ่มไปเป็นสามี เมื่อมาเห็นปลักขิกก็นึกว่าคงเป็นผู้ชายจึงนำไปเพื่อเป็นสามี ชายหนุ่มในหมู่บ้านนี้เสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุเกือบสิบคนแล้วในเวลาเพียงสองเดือน
ปุญญราโมพลันคิดถึงมายาการที่ปรากฎให้เห็นเมื่อคืนที่ผ่านมา รอยยิ้มอันเชิญชวนของหญิงเหล่านั้นยังติตาตรึงใจอยู่แม้จะเป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ แต่มันเป็นภาพที่ลบได้ยาก
มีชายชราคนหนึ่งเป็นตัวแทนชาวกล่าวขึ้นว่า “ขอนิมนต์ท่านอาจารย์ทั้งสองพักอยู่ที่ป่าช้าแห่งนี้อีกสักหลายวัน และขอให้ช่วยปราบผีแม่หม้ายให้พวกผมด้วย ตอนนี้พวกผมไร้ที่พึ่งแล้ว วัดในหมู่บ้านก็ร้างไปนานแล้วยังหาพระสงฆ์มาจำพรรษาไม่ได้เลย กองไฟทีท่านเห็นอยู่นั่นก็คือศพของชายหนุ่มคนหนึ่งที่พึ่งเสียชีวิตเพราะนอนหลับ ชาวบ้านเรียกว่าไหลตาย แต่พวกผมเชื่อกันว่าเป็นฝีมือของผีแม่หม้าย”
หันไปมองหน้าท่านธัมมวิริโยเหมือนกับจะบอกว่าแล้วแต่ท่าน ท่านอยู่ผมก็อยู่ ปุญญราโมจึงบอกชาวบ้านว่า “ตกลงอาตมาทั้งสองรูปจะพักอยู่ที่ป่าช้าแห่งนี้สักพัก แต่กำหนดไม่ได้ว่าจะอยู่สักกี่วัน ส่วนเรื่องผีแม่หม้ายนั้นอาตมาคิดว่ารอดูไปสักพักคงไม่ร้ายแรงอะไร หากเป็นผีจริงคงมีคุณธรรมไม่ทำร้ายชีวิตผู้คนอย่างไม่มีเหตุผล ทุกอย่างน่าจะแก้ไขได้”พอปุญญราโมพูดจบชาวบ้านต่างก้มกราบด้วยความดีใจ
เมื่อชาวบ้านกลับหมดแล้ว ท่านธัมมวิริโยจึงเอ่ยขึ้นว่า “ปัญหานี้ท่านเป็นคนผูก ท่านจะแก้อย่างไร” ปุญญราโมจึงเล่ามายาภาพที่เห็นในจินตนาการให้ฟัง ก่อนจะสรุปว่า “ผมก็ไม่ใช่ว่าอยากจะลองดี เพียงแต่สงสัยว่าทำไมสิ่งที่ผมประสบพบเห็นจึงเหมือนกับที่ชาวบ้านเล่าให้ฟัง”
ปุญญราโมและธัมมวิริโยจึงตัดสินใจพักอยู่ที่ป่าช้าแห่งนั้นอีก ยังคงทำภารกิจทุกอย่างเหมือนปกติ แต่ผ่านไปสามวันแล้วไม่มีอะไรเกิดขึ้น ชายหนุ่มในหมู่บ้านก็ไม่มีใครเสียชีวิตในช่วงนั้นเลย มายาการที่เคยปรากฎก็ไม่มีให้เห็นอีก ในวันต่อๆมาพระภิกษุหนุ่มทั้งสองจึงทำพิธีเพื่อความสบายใจของชาวบ้าน โดยการเจริญพระพุทธมนต์ แต่เพิ่มบทพิเศษอีกสองบทคือธัมมจักกัปปวัตนสูตร และมหาสมัยสูตรซึ่งต้องใช้เวลาสวดนานมาก พิธีกรรมจัดขึ้นที่บ่อน้ำนอกหมู่บ้าน สวดมนต์ทำน้ำพุทธมนต์โดยหยดเทียนน้ำมนต์ลงที่บ่อน้ำที่ชาวบ้านใช้ดื่มทั้งหมู่บ้าน ทำครั้งเดียวใช้ได้ตลอดไป และบอกลาชาวบ้านว่าจะเดินทางต่อไปแล้ว เพราะจุดหมายยังคงอยู่ที่วัดหินหมากเป้ง จังหวัดหนองคาย
คืนนั้นปุญญราโมกำหนดจิตแผ่เมตตาไปยังวิญญาณทั้งหลายตามปกติ แต่กำหนดพิเศษไปยังวิญญาณของหญิงสาวทั้งหลายที่เคยเห็นในมายาการในคืนวันแรก พร้อมทั้งบอกลา ตกดึกวันนั้นเป็นคืนเดือนหงายป่าช้ามองดูสลัวด้วยแสงแห่งดวงจันทรา บรรยายการกลางฤดูร้อนแต่เย็นสบายมีสายลมโชยมาแผ่วเบา ธัมวิริโยแยกไปที่พักนานแล้วและคงนั่งสมาธิเจริญภาวนาไปตามปกติ
ปุญญราโมกำหนดจิตแน่วแน่จึงเข้าสู่ความสงบ พลันก็เหมือนทุกอย่างหยุดนิ่ง หญิงสาวและนางพญาคนนั้นต่างพากันเดินเข้ามาด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มแสดงถึงความเป็นมิตรเหมือนอุบาสิกาทั่วไป ไม่ได้ประดับประดาร่างกายด้วยเครื่องอาภรณ์อันอลังการเหมือนวันก่อน พวกเธอมาในเพศของหญิงสาวชาวบ้านธรรมดา พอเข้ามาใกล้ต่างก็พากันก้มกราบจากนั้นก็ขอให้แสดงธรรมให้ฟัง
ปุญญราโมจึงบอกไปว่าอาตมาเป็นพระบวชใหม่ยังไม่ได้เข้าใจหลักธรรมของพระพุทธศาสนาลึกซึ้งนัก แต่มีกุศลจิตอยากปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าเคยได้ยินครูบาอาจารย์สอนว่า “ไฟเสมอด้วยราคะไม่มี ผู้จับเสมอด้วยโทสะไม่มี ข่ายเสมอด้วยโมหะไม่มี แม่น้ำเสมอด้วยตัณหาไม่มี” เท่านี้แหละนำไปพิจารณาดูเอาเองเถิด
หญิงที่เป็นหัวหน้าบอกว่า “มหาสมัยสูตรที่ท่านสวดให้ฟังทุกคืนนั่นแหละที่ทำให้จิตใจของพวกดิฉันมีความสุข เหล่าเทวดาทั้งหลายต่างมาสาธุการ พวกดิฉันก็พลอยยินดีไปด้วย ขออนุโมทนาในการบวชของท่าน ขอให้มีความสุขและขอให้เห็นธรรมแล้วกลับมาแสดงให้พวกดิฉันฟังด้วย”
“ผมไม่รู้ว่าหมู่บ้านแห่งนั้นยังมีชายหนุ่มเสียชีวิตเพราะผีแม่หม้ายอีกหรือไม่ และผีแม่หม้ายเป็นใครมาจากไหนนั้นผมก็ยังหาคำตอบไม่ได้ แต่สิ่งที่ได้พบเห็นในขณะที่พักที่ป่าช้าแห่งนั้น ผมมั่นใจว่าพุทธธรรมของพระพุทธศาสนานั้น เหล่าภูตผีปีศาจทั้งหลายก็ต้องพ่ายแพ้ไป” ปุญญราโมสรุป
ก่อนจากกันในวันนั้นปุญญราโมยังบอกว่าหากมีเวลาควรสวดมหาสมัยสูตร พวกวิญญาณและเทพยดาอารักษ์ทั้งหลายเขาชอบฟัง
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
เล่าเรื่อง
20/04/54
ที่มาของคาถา: ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท มลวรรค (25//28/34)
ภาษาบาลีว่า
นตฺถิ ราคสโม อคฺคิ นตฺถิ โทสสโม คโห
นตฺถิ โมหสมํ ชาลํ นตฺถิ ตณฺหาสมา นที ฯ
สุทสฺสํ วชฺชมญฺเญสํ อตฺตโน ปน ทุทฺทสํ
ปเรสํ หิ โส วชฺชานิ โอปุนาติ ยถาภุสํ
อตฺตโน ปน ฉาเทติ กลึว กิตวา สโฐ ฯ
แปลเป็นไทยความว่า
ไฟเสมอด้วยราคะไม่มี ผู้จับเสมอด้วยโทสะไม่มี
ข่ายเสมอด้วยโมหะไม่มี แม่น้ำเสมอด้วยตัณหาไม่มีฯ
โทษของผู้อื่นเห็นได้ง่าย ส่วนโทษของตนเห็นได้ยาก
เพราะว่าบุคคลนั้นย่อมโปรยโทษของคนอื่น
ดุจบุคคลโปรยแกลบแต่ปกปิดโทษของตนไว้
เหมือนพรานนกปกปิดอัตภาพด้วยกิ่งไม้ฉะนั้นฯ