พระพุทธศาสนาให้ความสำคัญกับจิตมากเป็นพิเศษ หากฝึกจิตให้ดีแล้วย่อมสามารถจะบ่งบอกได้ถึงหนทางที่จะไปข้างหน้าได้ การฝึกจิตจึงเป็นความดีที่ควรปฏิบัติกัน แต่วิธีการฝึกจิตนั้นแต่ละคนมีวิธีการที่แตกต่างกัน บางคนฝึกมองโลกในแง่ดีคือมองในมุมที่ดี แต่บางคนมองในมุมร้ายเพื่อที่จะได้พิจารณาให้เห็นความเป็นจริง ธรรมชาติของมนุษย์ทั่วไปนั้นมีทั้งร้ายและดี
คนที่คิดว่าทำความดีมาโดยตลอดต่อหน้าคนอื่นๆ อาจจะไม่ได้ไปในทางที่ควรจะไปก็ได้ ส่วนคนที่ในสายตาของคนอื่นคิดว่าเขาเป็นคนชั่วเพราะพฤติกรรมที่เขากระทำนั้นส่อไปในทางทำชั่ว อาจจะไม่ชั่วจริงก็ได้ การตัดสินคนจากพฤติกรรมเพียงอย่างเดียวไม่แน่นักว่าจะถูกต้องเสมอไป มนุษย์นั้นสำคัญที่จิตเพราะจิตพาไป โลกก็เป็นสิ่งที่จิตนำพาไป เส้นทางที่คิดว่าเป็นทางตรงอาจพาไปนรก ส่วนทางรกอาจวกไปสวรรค์ก็ได้
วัดไทยลุมพินี เนปาล
หากจิตเศร้าหมองก็หวังได้ว่าจะต้องไปสู่ทุคติเหมือนผ้าเก่าแม้ย้อมอย่างไรก็ยังมีสีเศร้าหมองดังที่แสดงไว้ในวัตถูปมสูตร มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ (12/92/48) พระผู้มีพระภาคจึงตรัสดังนี้ว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผ้าที่เศร้าหมองมลทินจับ ช่างย้อมพึงนำเอาผ้านั้นใส่ลงในน้ำย้อมใดๆ คือ สีเขียว สีเหลือง สีแดง หรือสีชมภู ผ้านั้นพึงเป็นของมีสีที่เขาย้อมไม่ดี มีสีมัวหมอง ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะผ้าเป็นของไม่บริสุทธิ์ฉันใด เมื่อจิตเศร้าหมองแล้ว ทุคติเป็นอันหวังได้ฉันนั้น
ส่วนผู้ที่มีจิตบริสุทธิ์ก็เหมือนผ้าผ้าที่บริสุทธิ์สะอาด ช่างย้อมพึงนำเอาผ้านั้นใส่ลงในน้ำย้อมใดๆ คือ สีเขียว สีเหลืองสีแดง หรือสีชมภู ผ้านั้นพึงเป็นของมีสีที่เขาย้อมดี มีสีสด ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะผ้าเป็นของบริสุทธิ์ฉันใด เมื่อจิตไม่เศร้าหมองแล้ว สุคติเป็นอันหวังได้ฉันนั้น
มีเรื่องเล่าว่าหญิงคนหนึ่งตั้งสำนักนางโลมอยู่ติดกำแพงวัด นางยึดอาชีพนี้มาจากแม่ที่เคยทำงานที่สำนักนางโลมมาก่อน และนางก็เคยเป็นอดีตนางโลม พออายุมากขึ้นทำงานไม่ไหวจึงทำหน้าที่เป็นเจ้าสำนักเสียเอง แม้นางจะยึดอาชีพนางโลมแต่ก็มีใจใฝ่ในธรรม พอได้ยินเสียงพระตีระฆังทำวัตรสวดมนต์ก็จะยกมืออนุโมทนาสาธุและคิดถึงหลวงพ่อเจ้าอาวาสไปในทางเป็นตัวแทนแห่งความดีว่า ท่านช่างมีโอกาสได้ทำบุญตลอดชีวิตขอให้ท่านมีความสุข นางกระทำดังนี้มาเป็นเวลานานหลายปี แต่ไม่กล้าเข้าวัดฟังธรรมเพราะกลัวว่าเจ้าอาวาสจะพูดกระทบทำให้อับอาย
ภาพนี้ไม่เกี่ยวกับเนื้อเรื่อง แต่หาภาพหลวงพ่อไม่ได้ (ถ่ายที่เจดีย์สาญจิ อินเดีย)
ฝ่ายเจ้าอาวาสที่บวชมานานแต่บวชตอนมีอายุมากแล้ว อดีตเมื่อครั้งเป็นฆราวาสเคยอาศัยอยู่ใกล้ช่องนางโลมมาก่อน จึงเข้าใจกิจกรรมในช่องนางโลมนั้นเป็นอย่างดี และก่อนอุปสมบทก็มีความคุ้นเคยกับหญิงเจ้าของซ่องนางโลมแห่งนั้นมาก่อน เพราะมีอายุไล่เลี่ยกัน และเมื่ออุปสมบทแล้วเกิดเลื่อมใสและซึ้งในรสพระธรรมจึงไม่ยอมลาสิกขา ในที่สุดก็ได้เป็นเจ้าอาวาสในเวลาต่อมา
ฌานสมาบัติที่เป็นโลกิยะย่อมมีเสื่อมเป็นธรรมดา ในสมัยพุทธกาลพระเทวทัตที่สามารถแสดงฤทธิ์ได้จนทำให้เจ้าชายอชาตศัตรูเลื่อมใส แต่ภายหลังเกิดความโลภฌานที่เคยได้จึงเสื่อม เจ้าอาวาสที่วัดแห่งนี้แม้จะไม่ได้ฌานสมาบัติใดๆแต่ก็มีความสุขในการบำเพ็ญสมณธรรมตามสมควร ทำวัตรสวดมนต์เป็นประจำ แต่เวลาทำสมาธิภาวนาเมื่อไหร่หากจิตใจไม่แน่วแน่ก็มักไพล่ไปนึกถึงเจ้าของซ่องนางโลมและเหล่าบรรดานางโลมสาวๆบ่อยๆ บางครั้งก็หวลระลึกนึกถึงความหลังเมื่อครั้งที่ยังเป็นฆราวาสวิสัย จิตใจมนุษย์ยากที่จะเข้าใจจริงๆ เจ้าอาวาสมักบ่นอยู่ในใจคนเดียวเสมอ ทุกอย่างเป็นเพียงความคิดไม่ได้ทำผิดศีลธรรมแต่อย่างใด
ต่อมาวันหนึ่งหลวงพ่อเจ้าอาวาสและเจ้าของซ่องนางโลมเดินทางไปต่างจังหวัดในช่วงเทศกาลสงกรานต์โดยสารรถยนต์คันเดียวกัน บังเอิญเกิดอุบัติเหตุมีคนเสียชีวิตหลายคน รวมถึงหลวงพ่อเจ้าอาวาสและหญิงเจ้าของซ่องนางโลมคนนั้นด้วย
วิญญาณของทั้งสองล่องลอยไปยังดินแดนแห่งหนึ่งพร้อมกับวิญญาณอื่นๆอีกหลายดวง ในขณะที่กำลังรอคำพิพากษาจากยมบาลที่ทางแยกระหว่างทางไปสวรรค์กับทางไปนรก ยมบาลก็ตัดสินไปตามบุญและบาปของแต่ละคน จนมาถึงวิญญาณของทั้งสองคน ยมบาลประกาศขึ้นด้วยเสียงอันดังต่อหน้าวิญญาณทั้งหลายว่า “หลวงพ่อไปนรก ส่วนหญิงเจ้าของซ่องนางโลมไปสวรรค์”
เขาคิชฌกูฏ เมืองราชคฤห์
สิ้นเสียงประกาศของยมบาลหลวงพ่ออดีตเจ้าอาวาสจึงยกมือประท้วงขึ้นทันทีว่า “เดี๋ยวก่อน ท่านยมบาลเมาเหล้าในช่วงสงกรานต์ยังไม่สร่างอยู่หรือยังไง อาตมาบวชมานานอาจจะทำผิดศีลบ้าง แต่ก็เป็นเพียงเรื่องเล็กๆน้อยๆตามธรรมดา และแสดงอาบัติทุกครั้งก่อนลงอุโบสถ ไม่น่าจะเป็นเหตุให้ตกนรกไปได้ ส่วนหญิงคนนี้ประกอบอาชีพเป็นเจ้าของซ่องนางโลมเธอค้าขายมนุษย์ผิดศีลธรรมแน่นอน แต่ทำไมจึงได้ไปสวรรค์ด้วยเล่า โปรดพิจารณาคำตัดสินอีกครั้งเถิด” หลวงพ่ออุธรณ์คำตัดสิน
ยมบาลยืนกรานว่า “ข้าฯตัดสินถูกต้องแล้ว หญิงคนนี้แม้จะประกอบอาชีพนางโลมก็จริง แต่เธอรู้สึกตัวตลอดเวลาว่าเป็นคนบาป จึงพยายามทำบุญเพื่อชดใช้บาป พอถึงเวลาที่พระสงฆ์ตีระฆังทำวัตรสวดมนต์เช้าเย็นเธอจะนั่งทำสมาธิและอนุโมทนายกมือสาธุทุกครั้ง ก่อนนอนเธอก็ยังสวดมนต์ไหว้พระนั่งสมาธิเป็นประจำทุกวัน ส่วนหลวงพ่อเจ้าอาวาสเวลาทำสมาธิเมื่อไหร่ก็มักจะคิดถึงซ่องนางโลมบ่อยๆ จิตใจจึงเศร้าหมองต้องไปนรกก่อนหมดเวรสิ้นกรรมเมื่อไหร่ จึงจะได้ไปสวรรค์ ส่วนหญิงเจ้าของซ่องนางโลมไปสวรรค์เพราะเธอมีจิตใจดีผ่องใส ไม่เศร้าหมองไปสวรรค์นะถูกต้องแล้ว”
ทางขึ้นเขาคิชฌกูฏ
หลวงพ่ออดีตเจ้าอาวาสยกพระสูตรขึ้นอ้างว่า “ในวัตถูปมสูตร มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์นั้น จิตเศร้าหมองเพราะอุปกิเลสไม่ใช่หรือ ซึ่งอุปกิเลสท่านแสดงไว้สิบหกประการคืออภิชฌาวิสมโลภะ (ละโมบไม่สม่ำเสมอ คือความเพ่งเล็ง)พยาบาท (ปองร้ายเขา) โกธะ (โกรธ)อุปนาหะ (ผูกโกรธไว้) มักขะ (ลบหลู่คุณท่าน) ปลาสะ (ยกตนเทียบเท่า) อิสสา (ริษยา) มัจฉริยะ (ตระหนี่) มายา (มารยา)สาเฐยยะ (โอ้อวด) ถัมถะ (หัวดื้อ) สารัมภะ (แข่งดี) มานะ (ถือตัว) อติมานะ(ดูหมิ่นท่าน) มทะ (มัวเมา) ปมาทะ (เลินเล่อ)เหล่านี้เป็นธรรมเครื่องเศร้าหมองของจิต” อาตมาคิดดูแล้วไม่เห็นมีอุปกิเลสตัวไหนที่อาตมาทำผิดเลย ก็แค่เผลอคิดไปบ้างเท่านั้น ความคิดปุถุชนก็ย่อมมีบ้างในบางครั้ง
ยมบาลยิ้มอย่างอารมณ์ดี “เก่งเหมือนกันนี่หลวงพ่อ ชำนาญพระไตรปิฎกเสียด้วย ลองคิดดูอีกทีสองข้อสุดท้ายมัวเมาและประมาทเลินเล่อยังไม่พอที่จะไปเที่ยวนรกอีกเหรอ” ยมบาลยืนยันตามคำตัดสินเดิม
สิ้นคำพิพากษาของยมบาล หลวงพ่ออดีตเจ้าอาวาสจึงต้องไปนรกตามคำตัดสิน
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
19/04/54
พุทธภาษิต
จิตฺเต สงฺกิลิฏเฐ ทุคฺคติ ปาฏิกงฺขา ฯ คำแปล "เมื่อจิตเศร้าหมองแล้ว ทุคติเป็นอันต้องหวัง"
จิตฺเต อสงฺกิลิฏฺเฐ สุคติ ปาฏิกงฺขา ฯ คำแปล "เมื่อจิตไม่เศร้าหมองแล้ว สุคติเป็นอันหวังได้"
ม. มู. (12/92/48)