พระเถระในสมัยพุทธกาลที่บรรลุความเป็นพระอรหัตต์ กลายเป็นพระอรหันต์ที่มีภูมิธรรมสูงส่ง แต่ทว่าไม่ค่อยจะเป็นที่คุ้นเคยแก่พุทธศาสนิกชนเท่าไรนัก นอกจากผู้ที่ศึกษาในระดับนักธรรมเพื่อสอบในสนามหลวง ส่วนผู้ที่ไม่ได้ศึกษาในระบบของนักธรรมแทบจะไม่รู้จักชื่อ พระเถระที่เป็นพระอรหันต์ที่คนทั่วไปรู้จักชื่อได้มากที่สุดก็มีพระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ พระกัสสปะ พระอนุรุทธะ พระอานนท์เป็นต้น ธรรมสุภาษิตของพระอรหันต์ในสมัยพุทธกาลก่อนจะนิพพานมักจะกล่าวสุภาษิตไว้ บางองค์แสดงสุภาษิตต่อหน้าพระพุทธเจ้า แต่บางองค์แสดงไว้แก่พระสงฆ์รูปอื่นหรือบุคคลอื่น
พระคาถาในขุททกนิกาย เถระคาถา (26/140-147/204-206) ได้แสดงสุภาษิตไว้แตกต่างกัน ลองอ่านและพิจารณาดู ส่วนประวัติของพระอรหันต์แต่ละองค์นั้น มีปรากฎในอรรถกถาขุททกนิกาย เถรคาถา การศึกษาประวัติของพระอรหันต์เถระเป็นวิธีการศึกษาพระพุทธศาสนาได้อีกทางหนึ่ง วันนี้นำเสนอได้แปดองค์ดังต่อไปนี้
พระกังขาเรวตเถระได้แสดงสุภาษิตเกี่ยวกับปัญญาไว้ในกังขาเรวตเถรคาถาความว่า “ท่านจงดูปัญญานี้ ของพระตถาคตเจ้าทั้งหลายดังไฟอันรุ่งเรืองในเวลาพลบค่ำ พระตถาคตเหล่าใด ย่อมกำจัดความสงสัยของเวไนยสัตว์ทั้งหลาย ผู้มาเฝ้าถึงสำนักของพระองค์ พระตถาคตเหล่านั้น ย่อมชื่อว่าเป็นผู้แสงสว่างเป็นผู้ให้ดวงตา”
ปุณณมันตานีปุตตเถรได้แสดงสุภาษิตเกี่ยวกับการคบคนดีไว้ในปุณณมัตตานีปุตตเถรคาถาความว่า “บุคคลควรสมาคมกับสัปบุรุษ ผู้เป็นบัณฑิตชี้แจงประโยชน์เท่านั้น เพราะธีรชนทั้งหลายเป็นผู้ไม่ประมาท เห็นประจักษ์ด้วยปัญญา ย่อมได้บรรลุถึงประโยชน์อย่างใหญ่ ประโยชน์อย่างลึกซึ้ง เห็นได้ยาก ละเอียด สุขุม”
พระทัพพเถระได้แสดงสุภาษิตเกี่ยวกับการฝึกอบรมไว้ในทัพพเถรคาถาความว่า “เมื่อก่อนพระทัพพมัลลบุตรองค์ใด เป็นผู้อันบุคคลอื่น ฝึกฝนได้โดยยาก แต่เดี๋ยวนี้พระทัพพมัลลบุตรองค์นั้น เป็นผู้อันพระศาสดาได้ทรงฝึกฝนด้วย การฝึกฝนด้วยมรรคอันประเสริฐ เป็นผู้สันโดษ ข้ามความสงสัยได้แล้ว เป็นผู้ชนะกิเลส ปราศจากความขลาด มีจิตตั้งมั่น ดับความเร่าร้อนได้แล้ว”
พระสีตวนิยเถระได้แสดงสุภาษิตเกี่ยวกับความสันโดษไว้ในสีตวนิยเถรคาถาความว่า “ภิกษุใดมาสู่ป่าสีตวันแล้ว ภิกษุนั้นเป็นผู้อยู่แต่ผู้เดียว สันโดษ มีจิตตั้งมั่น ชนะกิเลส ปราศจากขนลุกขนพอง มีปัญญารักษากายาคตาสติอยู่”
พระภัลลิยเถรได้แสดงสุภาษิตเกี่ยวกับผู้ชนะไว้ในภัลลิยเถรคาถาความว่า“ผู้ใดกำจัดเสนาแห่งมัจจุราช เหมือนห้วงน้ำใหญ่ กำจัดสะพานไม้อ้ออันแสนจะทรุดโทรม ฉะนั้น ก็ผู้นั้นจัดว่าเป็นผู้ชนะมาร ปราศจากความหวาดกลัว มีตนอันฝึกฝนแล้วมีจิตตั้งมั่น ดับกิเลสและความเร่าร้อนได้แล้ว
พระวีรเถระแสดงสุภาษิตเกี่ยวกับการชนะกิเลสไว้ในวีรเถรคาถา ซึ่งท่านพระวีรเถระได้ภาษิตคาถานี้ในเวลาภรรยาเก่าไปเล้าโลมเพื่อให้สึก ความว่า “เมื่อก่อน ผู้ใดเป็นผู้อันบุคคลอื่นฝึกได้โดยยาก แต่เดี๋ยวนี้ผู้นั้นอันพระผู้มีพระภาคฝึกฝนได้ดีแล้ว เป็นนักปราชญ์มีความสันโดษ ข้ามความสงสัยได้แล้ว เป็นผู้ชนะกิเลสมาร ปราศจากขนลุกขนพอง ปราศจากความกำหนัด มีจิตตั้งมั่น ดับกิเลสและความเร่าร้อนได้แล้ว
พระปิลันทวัจฉเถระได้แสดงสุภาษิตเกี่ยวกับการฟังธรรมไว้ในปิลินทวัจฉเถรคาถา ความว่า “การที่เรามาสู่สำนักของพระศาสดานี้ เป็นการมาดีแล้ว ไม่ไร้ประโยชน์ การที่เราคิดไว้ว่าจักฟังธรรมในสำนักของพระผู้มีพระภาคแล้วจักบวช เป็นความคิดที่ไม่ไร้ประโยชน์ เพราะเมื่อพระผู้มีพระภาคทรงจำแนกธรรมทั้งหลายอยู่ เราได้บรรลุธรรมอันประเสริฐแล้ว
พระปุณณมาสเถระได้แสดงสุภาษิตเกี่ยวกับการไม่ติดในสิ่งทั้งปวงไว้ในปุณณมาสเถรคาถาความว่า“ผู้ใดไม่ทะเยอทะยานในโลกนี้หรือโลกอื่น ผู้นั้นเป็นผู้จบไตรเพท เป็นผู้สันโดษ สำรวมแล้ว ไม่ติดอยู่ในธรรมทั้งปวง เป็นผู้รู้แจ้งซึ่งความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปของโลก
พระเถระเหล่านี้บางองค์ได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็นผู้เลิศ ส่วนบางองค์แม้บรรลุพระอรหันต์แล้วแต่ท่านก็ยังดำเนินชีวิตตามปกติเหมือนพระภิกษุรูปอื่นๆ บางองค์แทบจะไม่เคยได้ยินชื่อเลยเช่นพระปุณณมาสเถระ พระวีรเถระเป็นต้น แต่ท่านเหล่านี้หมดสิ้นกิเลสแล้วได้แสดงคาถาภาษิตไว้
มีคำที่ใช้เรียกพระสงฆ์สองคำ คำแรกใช้คำว่า “องค์” อันแสดงถึงเป็นคำเรียกพระอรหันต์ และใช้เรียกพระพุทธรูป ส่วนอีกคำคือ “รูป” นิยมใช้เรียกพระสงฆ์โดยทั่วไป เช่นพระอรหันต์สององค์กำลังแสดงธรรมแก่พระสงฆ์สิบรูปเป็นต้น
อีกสองคำมีความหมายเหมือนกันแต่ใช้ต่างกันคือ“พระอรหัตต์”มาจากคำในภาษาบาลีว่า“อรหตฺต” เป็นคำนามนปุงสกลิงค์แปลว่าความเป็นพระอรหันต์ จึงใช้ในความหมายบ่งถึงคุณธรรม ส่วนคำว่า “พระอรหันต์”มาจากคำในภาษาบาลีว่า “อรหนฺต” เป็นคำนามปุงลิงค์เพศชายแปลว่า พระอรหันต์ ผู้ไกลจากข้าศึกคือกิเลส ใช้ในความหมายบ่งถึงตัวบุคคลที่บรรลุธรรม
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
17/04/54