ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

           แม้จะไม่มีใครอยากเป็นคนแก่ แต่ทว่าธรรมชาติไม่เคยปราณีใคร หากคุณมีอายุมากขึ้นและยังคงมีลมหายใจก็ต้องเป็นคนแก่เข้าสักวัน แต่การที่จะบอกว่าใครแก่หรือไม่แก่นั้น บางทีอายุก็กำหนดไม่ได้ บางคนแก่ตั้งแต่ยังเด็ก เป็นพวกแก่แดด บางคนแม้อายุจะมากก็ยังทำตัวเหมือนเด็กคนพวกนี้เรียกว่าเฒ่าทารก พอถึงวันสงกรานต์ใครที่มีลูกหลานมารดน้ำดำหัวขอพรต้องยอมรับว่าเป็นคนแก่อย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง 


           ตาดี(นามสมมุติ)อาสาหิ้วน้ำมาส่งที่กุฏิซึ่งซื้อมาจากรถบริการส่งน้ำ เตรียมไว้เพื่อดื่มในช่วงเทศกาลสงกรานต์ บางทีอาจเกิดความขาดแคลน ขาดอาหารไม่เป็นไร แต่ขาดน้ำเมื่อไหร่ใจหายทุกที น้ำสำคัญกับชีวิตมนุษย์ แต่ถ้ามาอย่างไม่เตือนล่วงหน้าเหมือนที่ปักษ์ใต้อย่างนี้ก็กลายเป็นภัยที่น่ากลัว ถามตาดีว่าไม่กลับบ้านไปเยี่ยมลูกหลานหรือ แกตอบว่าผมไม่มีบ้านไม่มีลูกหลานเหลืออยู่แล้ว ทุกคนไม่เสียชีวิต ก็ไปไม่กลับ ผมอยู่ตัวคนเดียวมาหลายปีแล้ว

 

           เห็นตาดีทำงานช่วยวัดมาหลายปีแล้ว อาศัยอาหารเหลือจากการบิณฑบาตเลี้ยงชีวิตไปวันๆ หากมีงานเกิดขึ้นแกจะออกแรงช่วยเหลือทุกอย่าง กวาดขยะ ทำความสะอาดบริเวณวัด หรือหากมีการก่อสร้างก็จะช่วยผสมปูนฉาบปูน โดยไม่คิดค่าแรง ดูเหมือนว่าตาดีจะทำงานเพื่อให้ลืมอะไรสักอย่าง แต่แกก็ไม่ค่อยปริปากบ่นหรือเล่าความหลังให้ใครฟัง 
           แต่วันนั้นดูว่าแกจะเหนื่อยมากจึงขอนั่งพักหน้ากุฏิ ได้ดื่มน้ำเย็นๆจึงอารมณ์ดี พอเอ่ยถามจึงเล่าความหลังให้ฟังว่า “บ้านเดิมผมอยู่ทางภาคเหนือติดชายแดนพม่า โตเป็นหนุ่มจึงหนีจากบ้านมาหางานทำที่กรุงเทพฯจนกระทั่งได้ภรรยามีลูกสาวหนึ่งคน ผมไม่ได้กลับบ้านเกิดอีกเลยครั้งสุดท้ายไปร่วมงานศพแม่ พ่อแม่เสียชีวิตหมดแล้ว ญาติพี่น้องก็ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่อื่นหมด ที่นั่นไม่มีสมบัติอะไรเหลืออยู่เลย พอภรรยาเสียชีวิตและลูกสาวแต่งงานมีครอบครัว ผมก็หมดกังวลตั้งใจว่าจะบวช แต่ติดที่อายุมากแล้ว จึงไม่บวชดีกว่า ทำงานรับจ้างไปเรื่อยๆ ซึ่งก็พอใช้บ้างไม่พอบ้าง อยู่กรุงเทพฯไม่อดตายหรอกครับ อย่างน้อยก็มีวัดผมช่วยงานวัดเดี๋ยวพระท่านก็แบ่งอาหารเหลือจากบิณฑบาตให้ ผมไม่ต้องเอ่ยปากขอแต่ประการใด 

           ช่วงงานเทศกาลสงกรานต์เป็นช่วงที่ผมทรมานใจเป็นที่สุด ผมไม่มีญาติที่ไหนอีกเลย ลูกสาวคนเดียวของผมไปอยู่กับสามีที่ญี่ปุ่น ผมจำไม่ได้ว่าอยู่เมืองไหนอาจเสียชีวิตไปในช่วงเกิดสึนามิก็ได้ ผมคิดว่าลูกสาคงเสียชีวิตแล้ว ส่วนลูกสาวก็คงคิดว่าผมเสียชีวิตไปแล้วเหมือนกัน เพราะผมไม่เคยส่งข่าว แกก็ไม่เคยส่งข่าว ลูกสาวผมไม่เคยกลับมาเมืองไทยหลายปีแล้ว ครอบครัวแกก็คงลำบาก ทุกวันนี้ผมมีความหวังอยู่เพียงอย่างเดียวที่หล่อเลี้ยงชีวิตให้คงอยู่ได้ในปัจจุบันคืออยากเห็นหน้าลูกสาวเป็นครั้งสุดท้ายก่อนสิ้นลมหายใจ ลูกสาวผมชื่อน้อย  หากหลวงพ่อเห็นชื่อจากข่าวโทรทัศน์บอกผมด้วย” แกถอนสะอื้นเหมือนกำลังจะร้องให้ก่อนจบการสนทนา 
           มีผู้กล่าวถึงคนแก่มีหลายประเภท ทางภาคเหนือของประเทศไทยได้จำแนกคนแก่ไว้เป็นคำคล้องจองท่องได้ง่าย เมื่อยังเป็นหนุ่มเคยท่องและจำได้แม่น แต่พอมาถึงปัจจุบันที่น่าจะเข้าถึงช่วงที่ว่า “ที่ดำก็กลับขาว ที่ยาวก็กลับสั้น ที่มั่นก็กลับคลอน ที่หย่อนก็กลับตึง ที่เคยซึ้งก็กลับเซอะ ที่เลอะก็กลับเลือน” ซึ่งเป็นคุณสมบัติของคนแก่ ฝากไว้ให้ผู้อ่านไปตีความแก้ปริศนาเอาเอง  ส่วนคนแก่โบราณจำได้ลางๆท่านแสดงไว้ว่า“แก่หูหวาย แก่ตายดอก แก่หยอกหลาน แก่หาญป่า แก่แก้ว แก่กระดาษ แก่กระดูก”  ที่ก็อาจจะจำมาได้ไม่หมดเหมือนกัน แต่อธิบายตามทัศนะของข้าพเจ้าได้ดังนี้

           แก่หูหวายคือเป็นคนที่มีความอดทนเพราะผ่านกาลเวลามายาวนานผ่านประสบการณ์มามาก ทนทานเหมือนภาชนะที่ทำด้วยหวาย
           แก่ตายดอกหรือแก่ดายดอก หมายถึงแก่ไม่มีสมบัติเหมือนขอนไม้เก่ที่ไม่มีเห็ดเกิดบนขอนไม้เลย คนแก่ที่ไม่มีสมบัติจึงเหมือนขอนไม้แห้งหรือขอนไม้ที่ลอยอยู่กลางกระแสน้ำ
           แก่หยอกหลาน แก่ประเภทนี้ยังมีประโยชน์เพราะอย่างน้อยก็ยังสามารถเลี้ยงดูหลานๆได้
           แก่หาญป่า คนแก่ประเภทนี้ยังชอบทำบาป ปลงไม่ตก สมัยก่อนเข้าป่าล่าสัตว์ แต่สมัยปัจจุบันอาจเที่ยวผับเที่ยวบาร์พออนุโลมกันได้
           แก่แก้ว แก่กระดาษ แก่กระดูก คนแก่พวกนี้ชอบกินเหล้า เล่นไพ่ เล่นการพนัน ถึงจะแก่แต่ไม่ยอมเลิก ทรัพย์สมบัติคงไม่เหลือไว้ให้ลูกหลาน ไฟไหม้สิบครั้งยังเหลือที่ดินไว้ แต่เล่นการพนันหมดทั้งบ้านทั้งที่ดิน 

           เมื่อค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมจึงพบว่ามีสุภาษิตทางภาคเหนือที่กล่าวถึงคนแก่ไว้แตกต่างกันไปความว่า “แก่เหนียวหัวหวาย (มีความอดทน) แก่เด็ดดายดอก (ขอบปลูกดอกไม้) แก่หยอกลูกหลาน (ชอบเลี้ยงเด็ก) แก่หาญแต่ป่า (ชอบล่าสัตว์) แก่ว่าแต่กิ๋น (ชอบรับประทาน) แก่บินค้างคาว(ขอบเที่ยวกลางคืน) แก่มะป๊าวเปลือกหนา (ไม่มีประโยชน์) แก่ต๋าไม้ไผ่ (คนแข็งแรง) แก่ไก่แก่นกเขา(ชอบเลี้ยงไก่และนกเขา) แก่ชอบเงามืด(ไม่สังคมกับคนอื่น) แก่ฝืดเห็ดลม(ผีเข้าผีออก) แก่จ่มแต่โคตร(ขี้บ่น) แก่โผดนิพพาน(คนธัมมะธัมโม) แก่ลูกหลานไหว้(น่าเคารพนับถือ) แก่ไข้เปิ้นมาหลาย (ป่วยกระเสาะกระแสะ) แก่ผายประโยชน์ (มีคุณค่า) แก่โผดสุรา(นักเลงเหล้า) แก่หามาเตี้อม(หาเงินทอง) แก่เหลื่อมตวยคน(ไม่มีจุดยืนเป็นของตนเอง) และแก่ขวั้นจั๊ดเหนียว(ตายยาก)” 
           สุภาษิตที่พูดถึงคนแก่ทางภาคอีสาน ทางภาคกลาง ภาคใต้ คงมีอีกมาก วันนี้เริ่มจากภาคเหนือ เพราะช่วงนี้ใกล้สงกรานต์เป็นช่วงของการระลึกถึงคนเฒ่าคนแก่ ประเพณีไทยนิยมไปรดน้ำดำหัวเพื่อขอพรคนแก่หรือผู้ใหญ่กัน ส่วนใครจะเป็นคนแก่ประเภทไหนนั้นอันนี้ตัวใครตัวมันไปพิจารณาเอาเอง

           ตาดีชายชราลากลับไปแล้ว ยืนมองที่หน้ากุฏิเห็นเพียงแผ่นหลังที่อ้างว้างโดดเดี่ยวเดียวดายภายใต้เสื้อเก่าๆจนแทบจะแยกไม่ออกว่าสีขาวหรือสีน้ำตาล เดินก้มหน้าหลังค่อมแล้ว แม้จะพยายามฝืนเดินตัวตรงแต่สังขารไม่ยอมฟังตาม คงเป็นไปตามสัจธรรมของธรรมชาตินั่นคือมีความแก่เป็นธรรมดา หันหลังเดินเข้ากุฏิรู้สึกแข้งขาเริ่มสั่น ปวดหลังปวดเอวขึ้นมาซะดื้อๆ ซึ่งเป็นอาการของคนแก่อย่างหนึ่ง อ้าว...เราก็เป็นคนแก่ที่โดดเดี่ยวอ้างว้างอยู่คนเดียวเดี่ยวโดดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้เหมือนกัน

พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน
09/04/54

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก