ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

           มีคำถามมาจากแดนไกลส่งมาทางอีเมล์ว่า “ทำอย่างไรจึงจะได้บุญ” เห็นคำถามแล้วคิดว่าทุกคนคงตอบได้ แต่เอาเข้าจริงๆกลับตอบไม่ง่ายนัก มีคำถามหลายเรื่องที่ถามเข้ามาทางอีเมล์ แต่ไม่ได้ตอบทุกคำถาม เพราะบางคำถามก็ไม่น่าตอบ แต่บางคำถามตอบไม่ได้จริงๆ ส่วนคำถามนี้เป็นเรื่องใกล้ตัวที่พุทธศาสนิกชนควรทราบไว้ สาระสำคัญของคำถามอยู่ที่วิธีการคือ “ทำอย่างไร” โดยมีเป้าหมายคือ “บุญ” จึงลองตอบดู คนอ่านจะได้อ่านพร้อมกับคนถาม
           เปิดพจนานุกรมบาลีไทย คำว่า “บุญ” มาจากคำว่า “ปุญญ” ในภาษาบาลี  แปลว่า บุญ ความผ่องแผ้วแห่งดวงจิต ความสะอาด ความสุข ความดี เป็นคำที่ตรงกันข้ามกับคำว่า “บาป” ที่แปลว่า ความชั่ว ความเลวทราม ความไม่ดี เป็นบาป บุญและบาปมักจะมาคู่กัน เมื่อพูดถึงบุญก็ต้องพูดถึงบาปไปด้วย ผู้เขียนมีชื่อว่า "ปุญญมโน" แปลว่าผู้มีใจบุญ หรืออาจจะเรียกว่า "คนมีบุญ" ก็ย่อมได้
           มีคำสองคำที่เกี่ยวมาจากบุญนั่นคือ “ปุญญกรรม” และปุญญกิริยา ซึ่งแปลได้อย่างเดียวกันว่าการทำบุญ การกระทำอันเป็นไปเพื่อความดี ปัญหาต่อไปคือแล้วจะทำอย่างไร พระพุทธศาสนาแสดงไว้อย่างไรบ้าง 

 

           ในสังคีติสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค(11/228/170) ได้แสดงปุญญกิริยาวัตถุไว้สามอย่างคือทานมัย  บุญสำเร็จด้วยการบริจาคทาน สีลมัย  บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล และภาวนามัย บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา
           ในปุญญกิริยาวัตถุสูตร อังคุตรนิกาย อัฏฐกนิบาต(23/126/187) แสดงไว้สามประการเหมือนกันความว่า “ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุญกิริยาวัตถุสามประการนี้คือบุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยทาน  บุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยศีล บุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยภาวนา” 
           จากนั้นจำแนกผลที่เกิดจากการทำบุญตามปริมาณว่า“ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานนิดหน่อย ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลนิดหน่อย ไม่เจริญบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนาเลย เมื่อตายไปเขาเข้าถึงความเป็นผู้มีส่วนชั่วในมนุษย์”คนชั่วในโลกมนุษย์จึงมีมากเพราะผลของการให้ทานและรักษาศีลนิดหน่อย แต่ก็ยังทำให้เกิดเป็นมนุษย์ได้ แต่ยังเป็นมนุษย์ที่ยังทำชั่ว 
           ส่วนผู้ที่ททำบุญพอประมาณจะได้ผลดังนี้ “ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานพอประมาณ ทำบุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยศีลพอประมาณ ไม่เจริญบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนาเลย เมื่อตายไป เขาเข้าถึงความเป็นผู้มีส่วนดีในมนุษย์” 

 

           ส่วนผู้ที่ทำบุญมากนั้นพระพุทธเจ้าแสดงต่อไปว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานมีประมาณยิ่ง ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลมีประมาณยิ่ง ไม่เจริญบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนาเลย เมื่อตายไป เขาเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นจาตุมมหาราช ดูกรภิกษุทั้งหลาย มหาราชทั้งสี่ ในชั้นนั้น ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานเป็นอดิเรก ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลเป็นอดิเรก ย่อมก้าวล่วงเทวดาชั้นจาตุมมหาราชโดยฐานะสิบประการ คือ อายุทิพย์ วรรณทิพย์ สุขทิพย์ ยศทิพย์ อธิปไตยทิพย์ รูปทิพย์ เสียงทิพย์ กลิ่นทิพย์ รสทิพย์ โผฏฐัพพทิพย์ เข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นดาวดึงส์ ยามา ตุสิตา นิมมานรตี ปรนิมมิตวสวัตตี” 
           คำว่า “ประมาณยิ่ง” หมายถึงมากแต่ใครจะทำนิดหน่อย พอประมาณหรือมากจะวัดกันด้วยอะไร พอประมาณสำหรับบางคนแต่อาจนิดหน่อยสำหรับบางคน มากสำหรับคนบางคนอาจนิดหน่อยสำหรับใครอีกบางคน คิดดูสำหรับคนรับประทานอาหารแต่ละคนจะรู้สึกอิ่มในปริมาณอาหารที่ต่างกัน
           ในปุญกิริยาวัตถุกล่าวถึงอานิสงส์ของการให้ทานและรักษาศีลเท่านั้น ยังมีผลทำให้ไปเกิดในมนุษย์และเทวโลกได้ แต่ยังไม่ได้กล่าวถึงการทำบุญด้วยภาวนามัยเลย เรื่องของภาวนาท่านแยกอธิบายไว้อีกต่างหาก ซึ่งมีวิธีการที่ยากกว่าการทำบุญด้วยการบริจาคทานและการรักษาศีล  แต่กระทำอย่างไรจึงชื่อน้อย พอประมาณหรือมากนั้น ให้ดูที่เจตนาวัตถุที่ให้ทาน และเขตแห่งบุญ ทั้งสามประการถ้าสมบูรณ์ บริสุทธิ์ย่อมได้ผลตามที่ตั้งใจไว้

 

           ในสัปปุริสสูตร อังคุตรนิกาย อัฏฐกนิบาต (23/126/187) ได้แสดงทานของสัตบุรุษไว้แปดประการความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัปปุริสทานแปดประการคือ ให้ของสะอาด  ให้ของประณีต  ให้ตามกาล  ให้ของสมควร  เลือกให้  ให้เนืองนิตย์  เมื่อให้จิตผ่องใส  ให้แล้วดีใจ” 
           พระพุทธองค์ได้สรุปเป็นประพันธคาถาไว้ว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัปปุริสทานแปดประการนี้แล สัปบุรุษย่อมให้ทาน คือข้าวและน้ำที่สะอาด ประณีต ตามกาล สมควร เนืองนิตย์ ในผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ผู้เป็นเขตดี บริจาคของมากแล้วก็ไม่รู้สึกเสียดาย ท่านผู้มีปัญญาเห็นแจ้ง ย่อมสรรเสริญทานที่สัปบุรุษให้แล้วอย่างนี้ เมธาวีบัณฑิตผู้มีศรัทธา มีใจอันสละแล้ว บริจาคทานอย่างนี้แล้ว ย่อมเข้าถึงโลกอันไม่มีความเบียดเบียน เป็นสุข”
           อานิสงส์ของการให้ทานนั้นมีแสดงไว้อีกหลายแห่งเช่นประโยชน์หรืออานิสงส์ของการให้ทานนั้นมีพุทธดำรัสที่ทรงตรัสไว้ในทานานิสังสสูตร อังคุตรนิกาย ปัญจกนิบาต (21/351/35)กล่าวถึงอานิสงส์ของการให้ทานความว่า“ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์แห่งการให้ทานห้าประการคือ(1)ผู้ให้ทานย่อมเป็นที่รักที่ชอบใจของชนหมู่มาก (2)สัปบุรุษผู้สงบย่อมคบหาผู้ให้ทาน (3) กิตติศัพท์อันงามของผู้ให้ทานย่อมขจรทั่วไป (4) ผู้ให้ทานย่อมไม่ห่างเหินจากธรรมของคฤหัสถ์ (5) ผู้ให้ทานเมื่อตายไปแล้วย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์  

 

           ในอรรถกถาทีฆนิกาย ปาฏิกวรรคได้จำแนกบุญกิริยาวัตถุหรือที่ตั้งแห่งการทำบุญหรือทางแห่งการทำดีไว้ถึง 10 ประการได้แก่
           1. ทานมัย คือทำบุญด้วยการให้ปันสิ่งของ
           2. สีลมัย คือทำบุญด้วยการรักษาศีลหรือประพฤติดี
           3. ภาวนามัย ทำบุญด้วยการเจริญภาวนาคือฝึกอบรมจิตใจ
           4. อปจายนมัย ทำบุญด้วยการประพฤติอ่อนน้อม
           5. เวยยาวัจจมัย ทำบุญด้วยการช่วยขวนขวายรับใช้
           6. ปัตติทานมัย ทำบุญด้วยการเฉลี่ยส่วนแห่งความดีให้แก่ผู้อื่น
           7. ปัตตานุโมทนามัย ทำบุญด้วยการยินดีในความดีของผู้อื่น
           8. ธัมมัสสวนมัย ทำบุญด้วยการฟังธรรมศึกษาหาความรู้
           9. ธัมมเทสนามัย ทำบุญด้วยการสั่งสอนธรรมให้ความรู้
           10. ทิฏฐุชุกัมม์ ทำบุญด้วยการทำความเห็นให้ตรง
           บุญกิริยาวัตถุทั้งสิบประการนั้นสามารถสงเคราะห์เข้ากับทาน ศีล ภาวนาได้ดังนี้ ปัตติทานมัยและปัตตานุโมทนามัยจัดเข้าในทาน อปจายนมัยและเวยยาวัจจมัยจัดเข้าในศีล ธัมมัสสวนมัยและธัมมเทสนามัยจัดเข้าในภาวนา ส่วนทิฏฐุชุกัมม์จัดเข้าได้ทั้งทาน ศีลและภาวนา

 

           ทำอย่างไรจึงจะได้บุญจึงอยู่ที่ปัจเจกบุคคล เพราะต้องประกอบด้วยเจตนาและทานวัตถุและเขตที่ให้ทานด้วย ในพระสงฆคุณข้อหนึ่งว่า “ปุญญักเขตต์” แปลว่าเขตแห่งบุญ พระสงฆ์เป็นเขตหรือเนื้อนาบุญของชาวโลก หมายถึงพระสงฆ์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เมื่อทายกทายิกาได้ทำบุญกับพระสงฆ์เหล่านั้นย่อมได้บุญมาก ส่วนพระสงฆ์ที่ปฏิบัติพอประมาณและปฏิบัติน้อยก็ย่อมจะได้ผลตามลำดับไป เหมือนที่นาดี มีข้าวพันธุ์ดี น้ำดีย่อมได้ผลดี แต่ถ้าที่นาไม่ดี แต่ได้ข้าวพันธุ์ดีก็ยังพอทำเนา แต่ถ้าที่นาก็ไม่ดี ข้าวก็ไม่ดี แถมน้ำท่าไม่ค่อยดีไปด้วย ผลที่ได้ย่อมคาดคะเนได้
          คำถามนี้ตอบแล้วไม่รู้ว่าตรงกับวัตถุประสงค์ของคนถามหรือไม่ เรื่อง "การให้ทาน" มีอธิบายไว้มากมายทั้งในพระไตรปิฎกและอรรถกถา แต่เวลาจะนำมาตอบคำถามกลับต้องย้อนไปหาเรื่องเก่าๆที่เคยเขียนไปแล้ว ในมงคลัตถทีปนี งานประพันธ์ของพระสิริมังคลาจารย์ มีแสดงไว้อย่างละเอียดใครจะย้อนไปหาหนังสือเล่มนี้มาอ่านอาจจะได้คำตอบที่สมบูรณ์และชัดเจนยิ่งขึ้น

พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน
01/04/54

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก