การเป็นนักเผยแผ่พระพุทธศาสนานั้นหากยึดมั่นในหลักการและอุดมการณ์ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้แล้ว แม้แต่ความตายก็มิใช่ปัญหา เพราะตั้งความปรารถนาเพื่อให้หลักธรรมของพระพุทธศาสนาตั้งมั่นในจิตใจของประชาชน แม้จะเขามีความโหดร้ายอำมหิตจิตวิปลาสสักปานใดก็ตาม
พระเถระที่ถือว่าเป็นยอดแห่งนักเผยแผ่พระพุทธศาสนา มีหลักการมั่นคงหนักแน่นคือพระปุณณมันตานีบุตร ครั้งหนึ่งได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อทูลลาไปเผยแผ่พระพุทธศาสนายังดินแดนที่ถือว่ามนุษย์มีความโหดร้ายที่สุดแห่งหนึ่งคือสุนาปรันตะชนบท
พระปุณณะก่อนจะเดินทางไปยังสุนาปรันตะชนบทได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อขอคำชี้แนะ พระพุทธเจ้าได้สอบถามว่าหากเกิดปัญหาขึ้นจะทำอย่างไร ดังที่ปรากฎในปุณโณวาทสูตร มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ (14/754/36) มีเนื้อหาโดยสรุปดังต่อไปนี้
พระพุทธเจ้าถามว่า “พวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทดุร้ายหยาบช้านัก ถ้าพวกเขาจักด่า จักบริภาษเธอ เธอจักมีความคิดอย่างไรในมนุษย์พวกนั้น"
พระปุณณะทูลตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักด่า จักบริภาษข้าพระองค์ ข้าพระองค์จักมีความคิดในพวกเขาอย่างนี้ว่าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทนี้ ยังดีนักหนาที่ไม่ให้การประหารเราด้วยฝ่ามือ พระเจ้าข้า”
พระพุทธเจ้าถามต่อไปว่า “ถ้าเข้าการประหารเธอด้วยฝ่ามือ เธอจักมีความคิดอย่างไร”
พระปุณณะทูลตอบว่า "ข้าพระองค์จักคิดว่า ดีนักหนาที่ไม่ให้การประหารเราด้วยก้อนดิน”
พระพุทธเจ้าถามต่อไปว่า “ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักให้การประหารเธอด้วยก้อนดินเล่า”
พระปุณณะทูลตอบว่า “ข้าพระองค์ก็จักคิดว่าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทนี้ ยังดีหนักหนาที่ไม่ให้การประหารเราด้วยท่อนไม้"
พระพุทธเจ้าถามต่อไปว่า “ถ้าเขาจักให้การประหารเธอด้วยท่อนไม้เล่า”
พระปุณณะทูลตอบว่า“ข้าพระองค์จักคิดว่าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทนี้ ยังดีนักหนาที่ไม่ให้การประหารเราด้วยศาตรา"
พระพุทธเจ้าถามต่อไปว่า “ถ้าเข้าจักให้การประหารเธอด้วยศาตราเล่า”
พระปุณณะทูลตอบว่า “ข้าพระองค์จักคิดว่า พวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทนี้ ยังดีนักหนาที่ไม่ปลิดชีพเราเสียด้วยศาตราอันคม”
พระพุทธเจ้าถามต่อไปว่า “ถ้าพวกเขาจักปลิดชีพเธอเสียด้วยศาตราอันคมเล่า เธอจักมีความคิดอย่างไรในมนุษย์พวกนั้น”
พระปุณณะทูลตอบว่า “ข้าพระองค์จักคิดว่ามีเหล่าสาวกของพระผู้มีพระภาค ที่ึอึดอัดเกลียดชังร่างกายและชีวิต พากันแสวงหาศาตราสังหารชีพอยู่ เราไม่ต้องแสวงหาสิ่งดังนั้นเลย ก็ได้ศาตราสังหารชีพแล้ว ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้สุคต ข้าพระองค์จักมีความคิดในมนุษย์พวกนั้นอย่างนี้ พระเจ้าข้า"
พระพุทธเจ้าจึงอนุโมทนาว่า “ดีละๆ ปุณณะ เธอประกอบด้วยทมะและอุปสมะดังนี้แล้ว จักอาจเพื่อจะอยู่ในสุนาปรันตชนบทได้แล เธอจงสำคัญกาลที่ควรในบัดนี้เถิด”
จากนั้นท่านพระปุณณะยินดีอนุโมทนาพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้ว ลุกจากอาสนะถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคทำประทักษิณ แล้วเก็บเสนาสนะถือบาตรจีวรเดินทางจาริกไปยังสุนาปรันตชนบท เป็นอันว่าท่านพระปุณณะอยู่ในสุนาปรันตชนบทนั้น ท่านพระปุณณะได้ให้พวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทกลับใจแสดงตนเป็นอุบาสกประมาณ 500 คน กลับใจแสดงตนเป็นอุบาสิกาประมาณ 500 คน ภายในพรรษานั้นเอง และตัวท่านได้ทำให้แจ้งซึ่งวิชชาสามภายในพรรษานั้นเหมือนกัน
พระที่คิดได้อย่างนี้จะมีสักกี่รูป แค่เขาพูดไม่เข้าหูเพียงไม่กี่คำก็หน้าดำหน้าแดง ไม่อยากพบเห็นหน้าคนเหล่านั้นแล้ว แต่พระปุณณะยังคิดในแง่ดี แม้ขณะที่เขากำลังจะฆ่า ไม่ต้องหาศตราวุธให้เหนื่อย นับว่าเป็นพระที่หายากมาก
อย่าว่าแต่มนุษย์ที่มีความโหดร้ายเลย แม้แต่ช้างป่ายังฟังภาษาธรรมะรู้เรื่อง ดังกรณีของหลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล จังหวัดหนองบัวลำภู ครั้งหนึ่งเมื่อหลวงปู่ขาวกำลังบำเพ็ญเพียรในป่า มีช้างตัวหนึ่งคอยรบกวนข้างที่พัก ช้างพยายามสอดงวงเข้ามาแต่ไม่ถึงเพราะเป็นเงื้อมหิน แต่ช้างก็ไม่ยอมหนีไปไหน หลวงปู่ขาวจึงตัดสินใจออกไปพูดกับช้างให้รู้เรื่อง โดยแอบหลังต้นไม้หน้าที่พักแล้วเริ่มต้นพูดกับช้างว่า “พี่ชาย น้องขอพูดด้วยสักคำสองคำ ขอพี่ชายจึงฟังคำของน้อง พี่ชายเป็นสัตว์ของมนุษย์นำมาเลี้ยงไว้ในบ้านเป็นเวลานานจนเป็นสัตว์บ้าน ความรู้สึกทุกอย่างตลอดจนภาษามนุษย์ที่เขาพูดกันและพร่ำสอนพี่ชายมาตลอดนั้น พี่ชายรู้ได้ดีทุกอย่างยิ่งกว่ามนุษย์บางคนเสียอีก ดังนั้นพี่ชายควรรู้ขนบธรรมเนียมและข้อบังคับของมนุษย์ ไม่ควรทำอะไรตามใจชอบ เพราะการกระทำบางอย่างแม้จะถูกใจเรา แต่เป็นการขัดใจเขาก็มิใช่ของดี ต่อไปนี้ขอให้พี่ชายรับศีลห้า และพยายามรักษาให้ดี" จากนั้นจึงบอกช้างว่า "ขอให้ พี่ชายไปได้แล้ว"
ช้างยืนนิ่งสักครู่แล้วก็เดินจากไป ตังแต่นั้นมาช้างไม่เคยมารบกวนอีกเลย
สัตว์ยังรับรู้ถึงพลังแห่งเมตตาของพระพุทธศาสนาได้ คนแม้โหดร้ายอำมหิตสักปานใดก็ตาม ก็มักจะพ่ายแพ้ต่อความดี ในช่วงเทศกาลแห่งวันมาฆบูชา เรามาช่วยกันสร้างความดี ส่งเสริมคนดีให้มีจำนวนมากขึ้น โลกจะได้อยู่กันอย่างสันติสุข
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
เรียบเรียง
26/02/53