ดูข่าวคลื่นสึนามิถล่มญี่ปุ่นแล้วต้องบอกว่าน่ากลัวเป็นที่สุด เห็นภาพผู้หญิงคนหนึ่งพยายามตะเกียกตะกายเพื่อไปยังรถยนต์ที่จอดอยู่ใกล้ๆแต่เธอไปไม่ถึงได้แต่ยกมือไขว่คว้า ในช่วงนั้นคงไม่มีหยดน้ำตาแล้ว เพราะมันคงหลั่งไหลจนเหือดแห้งไปหมดแล้ว คำบรรยายหัวข้อข่าวบอกว่า “ฉันสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว”อีกภาพหนึ่งที่ดูแล้วยัจำติดตาอยู่ตลอดคือภาพรถนานาชนิดถูกกระแสน้ำไหลพัดมารวมกันก่อนจะหายไปกับสายน้ำ ดูแล้วก็ได้แต่สงสารแต่ไม่รู้จะช่วยเหลืออย่างไร ก็ได้แต่ส่งกำลังไปไปช่วยขอให้สู้ต่อไป
คิดถึงสาเหตุของสึนามิในครั้งนี้ก็ยังคิดไม่ออก ได้แต่ฟังคำอธิบายของพวกนักวิชาการทั้งหลายเท่านั้น เพราะไม่มีความรู้ทางด้านนี้เลย แต่ดูไปกลับย้อนคิดไปถึงเรื่องของกรรม คนเหล่านี้ทำกรรมอะไรไว้จึงต้องมาตั้งที่พักอาศัยในถิ่นที่พร้อมจะเกิดภัยได้ทุกเมื่อ แต่ก็ยังคิดหาคำอธิบายไม่ได้ จึงย้อนกลับไปคิดถึงพระจิตตหัตถ์เถระที่บรรลุพระอรหัตผลในการบวชครั้งที่เจ็ด ทำไมพระผู้สมบูรณ์ด้วยบารมีอย่างท่านจึงต้องบวชๆสึกๆอยู่ถึงเจ็ดครั้ง ในคติความเชื่อของคนไทยบวชสามครั้งก็ถูกคนตราหน้าว่าเป็นคนใจโลเลไม่มั่นคง เป็นคนที่ไม่ควรคบหาสมาคมด้วยแล้วดังสำนวนที่ว่า "หญิงสามผัว เจ้าหัวสามโบสถ์คบไม่ได้" แต่พระจิตตหัตถ์บวชตั้งเจ็ดครั้ง น่าจะเข้าสุภาษิตที่ว่า “ชั่วเจ็ดที ดีเจ็ดหน”
ก่อนจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าพระองค์ก็เคยบวชๆสึกๆเจ็ดครั้งเหมือนกันเมื่อครั้งที่เกิดเป็นกุทาลบัณฑิตเพียงเพราะจอบสั้นอันเดียว (สำนวนบาลีเรียกว่าจอบเหี้ยน) ดำเนินความโดยสรุปว่า “ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสีบุรุษผู้หนึ่งชื่อกุททาลบัณฑิต บวชเป็นนักบวชภายนอกอยู่ในป่าหิมวันต์แปดเดือน เมื่อภูมิภาคชุ่มชื้น ในสมัยที่ฝนตกชุกคิดว่า “ในเรือนของเรายังมีข้าวฟ่างและลูกเดือยประมาณครึ่งทะนานและจอบเหี้ยนอีกอันหนึ่ง ข้าวฟ่างและลูกเดือยอย่าเสียหายไปเลย” จึงสึกเอาจอบเหี้ยนฟื้นที่แห่งหนึ่งหว่านพืชนั้นทำรั้วไว้ ในเวลาที่เมล็ดพืชแก่ก็เกี่ยว เก็บพืชไว้ประมาณทะนานหนึ่ง เคี้ยวกินพืชที่เหลือ
พอหมดหน้างานท่านก็คิดได้ว่า “บัดนี้ประโยชน์อะไรด้วยเรือนของเรา เราจักบวชอีกแปดเดือน” จึงออกบวชแล้ว ท่านกุทาลอาศัยข้าวฟ่างและลูกเดือยเพียงหนึ่งทะนานและจอบเหี้ยน เป็นคฤหัสถ์เจ็ดครั้ง บวชเจ็ดครั้ง
พอครั้งที่เจ็ดจึงคิดได้ว่าเหตุที่เราบวชๆสึกๆอยู่นี้ก็เพราะจอบอันเดียว ถ้าทิ้งเสียคงไม่เป็นกังวลจึงนำจอบไปทิ้งเสีย การทิ้งจอบที่คิดว่าเป็นง่ายกลับกลายเป็นเรื่องยากสำหรับเขา เพราะถ้าทิ้งไม่ไกลคงต้องไปเก็บมาใช้งานอีกครั้ง สิ่งที่เราหวงแหนแม้จะไม่มีราคาค่างวดอะไร แต่ความเสียดายก็กลายเป็นกิเลสที่ผูกพันใจอย่างหนึ่งเหมือนกัน หลวงพ่อฤาษีลิงแดงเขียนไว้น่าสนใจว่า “จะให้คนอื่นก็เสียดาย จะเก็บไว้ก็ไม่มีที่ เออหนอชีวิตนี้ช่างวุ่นวายจริง”
ในการทิ้งจอบสำนวนอรรถกถากล่าวไว้ดีลองฟังดูความว่า “วันนั้นท่านไปยังฝั่งแม่น้ำคงคา คิดว่าเราเมื่อเห็นที่จอบตกคงต้องลงงมขึ้นมาอีก เราจักทิ้งมันโดยอาการที่เราจะไม่เห็นที่ซึ่งมันตก คิดได้ดังนี้แล้วจึงเอาผ้าเก่าห่อพืชประมาณทะนานหนึ่งแล้วผูกผ้าเก่าที่แผ่นจอบจับจอบที่ปลายด้าม ยืนที่ฝั่งแห่งแม่น้ำ หลับตาแกว่งเวียนเหนือศีรษะสามครั้งขว้างไปในแม่น้ำคงคา เมื่อหันไปดูไม่เห็นที่ตกได้เปล่งเสียงขึ้นว่า “เราชนะแล้วๆ” หลายคนอาจคิดว่าก็แค่การทิ้งจอบอันเดียวทำไมต้องประกาศเสียงดังขนาดนั้น ก็เพราะจอบอันเดียวนี่แหละทำให้กุททาละต้องบวชๆสึกๆตั้งเจ็ดครั้ง
ในขณะนั้นพระเจ้ากรุงพาราณสี ทรงปราบปัจจันตชนบทให้สงบราบคาบแล้วเสด็จมา โปรดให้ตั้งค่ายพักใกล้ฝั่งแม่น้ำ เสด็จลงอาบน้ำในแม่น้ำคงคาพอดีได้ยินเสียงนั้น ก็สงสัยใครมันจะชนะยิ่งใหญ่กว่าเราอีก เราปราบศัตรูราบคาบ แต่ใครบังอาจมาเปล่งเสียงเช่นนี้ จึงให้เรียกตัวคนพูดมา ทราบเรื่องแล้ว เราชนะคนทั้งเมืองยังไม่ประกาศเสียงดังปานนั้น ท่านเพียงแค่ทิ้งจอบเหี้ยนอันเดียวไยต้องประกาศเสียงดังปานนี้
กุททาลบัณฑิตจึงทูลว่า “พระองค์ทรงชนะพวกโจรภายนอก ความชนะที่พระองค์ทรงชนะแล้วย่อมกลับเป็นไม่ชนะอีกได้ ส่วนโจรคือความโลภซึ่งมีในภายในอันข้าพระองค์ชนะแล้ว โจรคือความโลภนั้น จักไม่กลับชนะข้าพระองค์อีก ชนะโจรคือความโลภนั้นอย่างเดียวเป็นดี”
เขาตอบได้ดีมาก พระราชาชนะแค่โจรภายนอก แต่เขาชนะกิเลสภายในย่อมเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่กว่า อย่าดูเพียงแค่ปัจจัยภายนอกแล้วบอกว่าตนเองยิ่งใหญ่ แต่ควรดูปัจจัยภายในประกอบด้วย กุททาลบัณฑิตได้กล่าวคาถาต่อหน้าพระราชาว่า “ความชนะใดกลับแพ้ได้ ความชนะนั้นมิใช่ความชนะที่ดี ส่วนความชนะใด ไม่กลับแพ้ แม้ความชนะนั้นแลเป็นความชนะที่ดี”
ในที่สุดกุทาลบัณฑิตก็บวชไม่สึกอีกเลย บำเพ็ญสมณธรรมจนได้ฌานสมาบัติแต่ยังไม่บรรลุพระอรหัตต์ ต้องเวียนตายเกิดอีกหลายชาติ จนในชาติสุดท้ายได้มาเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะและได้กลายเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าศาสดาของพระพุทธศาสนา ส่วนพระจิตตหัตถ์เมื่อบรรลุพระอรหันต์แล้ว ไม่ปรากฎว่าท่านได้แสดงธรรมอะไรไว้ หรือแสดงไว้แต่ยังค้นหาไม่พบ ไว้หาพบเมื่อไหร่จะนำมาเสนออีกที
สำนวนไทยที่ว่า “ชั่วเจ็ดทีดีเจ็ดหน” จะมาจากที่ไหนนั้น ผู้มีปัญญาพอประมาณอย่างข้าพเจ้ายังหาที่มาไม่พบ แต่หากจะบอกว่าน่าจะมาจากประวัติของพระจิตตหัตถเถระอรหันต์ และกุททาลบัณฑิตก็คงมีส่วนแห่งความเป็นไปได้ เพราะท่านก็ชั่วหกทีแต่ดีหนึ่งหน ธรรมดาของมนุษย์นั้นย่อมมีดีบ้างเลวบ้าง หรือชั่วบ้างในบางที ดีบ้างในบางครั้ง คนที่เคยทำชั่วหากเลิกได้ก็อาจจะกลายเป็นคนดีได้ ดังกรณีของพระจิตตหัตถเถระและกุทาลบัณฑิต ท่านชั่วหกทีแต่ดีหนึ่งหน หากจะเปลี่ยนสุภาษิตใหม่ว่า “ชั่วหกทีดีหนึ่งหน”น่าจะตรงกับเรื่องนี้มากที่สุด
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
16/03/54