เคยเห็นคนที่สมบูรณ์แบบทำอะไรไม่เคยผิดพลาดเลยบ้างไหม นอกจากพระอรหันต์แล้วไม่แน่ใจว่าคนประเภทนี้จะมีอยู่ในโลกหรือไม่ ทุกคนต้องเคยผิดพลาดแม้จะระมัดระวังขนาดไหนก็ตาม นักมวยที่ต่อยไม่เคยแพ้เห็นมีอยู่สองสามคน คนหนึ่งคือซูการ์เรย์ เลียวนาด แชมป์โลกชาวไทยก็มีอยู่คนหนึ่งคือเขาทราย แกแล็คซี่ ที่ต่อยแพ้เพียงครั้งเดียว จากนั้นมาก็ป้องกันแชมป์โลกได้ได้อีกสิบเก้าครั้งก่อนจะแขวนนวม เพราะถ้ายังต่อยอีกก็คงต้องแพ้ ไม่แพ้คนอื่นก็ต้องแพ้สังขารตัวเอง
ฟังข่าวเรื่องเตาปฏิมากรนิวเคลียร์ที่มีอยู่ทั่วโลกสี่ร้อยกว่าแห่ง ในญี่ปุ่นประเทศเดียวก็มีอยู่ห้าสิบกว่าแห่งแล้ว เมื่อประสบกับสึนามิก็มีแนวโน้มว่าจะระเบิด ซึ่งจะต้องก่อผลกระทบต่อประชาชนอีกมากมายมหาศาล ถึงจะมีประโยชน์มากมายแต่อันตรายก็มีไม่น้อยเหมือนกัน บางอย่างเราคิดว่าเป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์เช่นอุจจาระจะต้องทิ้งในที่มิดชิด แต่บางประเทศได้นำไปทำปุ๋ยหล่อเลี้ยงพืชพันธุ์ธัญญาหารให้เจริญงอกงามและเป็นอาหารที่สำคัญของมวลมนุษชาติ
ผู้ที่ประสบความสำเร็จในชีวิตจะต้องเคยล้มเหลวมาก่อนแทบทั้งสิ้น แม้แต่พระพุทธเจ้าก่อนที่จะตรัสรู้ก็เคยลองผิดลองถูกมาหลายครั้ง เข้าศึกษาในสำนักของอาฬารดาบสและอุทกดาบส จนได้ฌานสมาบัติ อดอาหารทรมานตนที่เรียกว่าทุกรกิริยาจนแทบจะสิ้นใจ แต่ก็ยังไม่สำเร็จตามที่หวัง จนในที่สุดก็ต้องทดลองด้วยตนเองและประสบความสำเร็จกลายเป็นศาสดาของชาวโลกในปัจจุบัน
นักวิทยาศาสตร์หลายท่านก็ประสบกับความผิดพลาดมานับครั้งไม่ถ้วน เช่นอัลเบิรต์ ไอสไตน์,โธมัส อัลวา เอดิสัน, บีโทเฟ่นเป็นต้นต่างก็เคยผิดพลาดมาด้วยกันทั้งนั้น
วันหนึ่งได้พบกับเพื่อนเก่าท่านหนึ่งเคยบวชเรียนมาด้วยกันสมัยเป็นหนุ่ม จากนั้นก็ได้ลาสิกขาออกไปประกอบอาชีพการงานหลายอย่าง เคยเดินทางไปทำงานต่างประเทศหลายประเทศเช่นประเทศแถบตะวันออกกลาง เกาหลี ญี่ปุ่น เป็นต้น ต่อมาเมื่ออายุมากขึ้นจึงกลับมาบวชอีก นัยว่าแกบวชมาสามครั้งแล้ว ทุกครั้งก็บอกว่าจะบวชเป็นครั้งสุดท้ายขอตายในผ้าเหลืองทุกที แต่อยู่ได้ไม่นานก็ต้องมีเหตุให้ลาสิกขาทุกครั้ง แต่ครั้งนี้เขายืนยันว่าจะบวชเป็นครั้งสุดท้ายอย่างแน่นอน ก็ได้แต่ยิ้มไม่ได้โต้แย้งอะไร ทุกคนผิดพลาดได้
ในสมัยพุทธกาลมีพระอรหันต์รูปหนึ่งนามว่าพระจิตตหัตถเถระบวชๆสึกๆตั้งเจ็ดครั้งจึงได้บรรลุพระอรหันต์ ดังที่มีเรื่องปรากฎในอรรถกถาขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม 1 ภาค 2 ตอน 1 หน้าที่ 418 สรุปความว่า “หนุ่มชาวเมืองสาวัตถีท่านหนึ่งมีอาชีพเลี้ยงโค วันหนึ่งโคหายจึงเที่ยวตามโคไปจนเหนื่อยอ่อน เกิดความหิวอย่างหนักจึงแวะเข้าวัดเชตวัน ขอข้าวพระกิน เห็นอาหารมากมายซึ่งเป็นลาภสักการะที่เกิดขึ้นจากบารมีของพระพุทธเจ้า จึงได้คิดว่า เราน่าจะบวชเพราะอาหารหาง่ายไม่ต้องเป็นเด็กเลี้ยงโคที่ต้องทนหิวเกือบตลอดวัน จากนั้นจึงได้ตัดสินใจบวชในวัดแห่งนั้นนั่นเอง
พระบวชใหม่ได้อาหารมากมาย ไม่นานก็มีร่างกายสมบูรณ์ เจ้าร่างกายที่สมบูรณ์นี่แหละทำให้เกิดตัณหาราคะ ไม่นานก็ลาสิกขาออกไปประกอบอาชีพเป็นคนเลี้ยงโคเหมือนเดิม พอทำงานไปสักพักมีอาหารน้อยก็เกิดซูบผอม คิดถึงการอยู่สบายที่วัดก็บวชอีก สมัยนั้นการบวชไม่ได้เป็นพิธีกรรมที่ยิ่งใหญ่เหมือนในปัจจุบัน เพียงมีบริขารครบก็บวชได้แล้ว ไม่ต้องมีการทำขวัญนาค ไม่ต้องมีขบวนแห่ ไม่ต้องจัดงานเลี้ยงใหญ่โตเชิญแขกเหรื่อทั้งตำบล บวชครบพรรษาแล้วลาสิกขาออกไปต้องหาเงินใช้หนี้งานบวชอีกเป็นปี อย่างนี้ทำให้คนไม่ค่อยอยากบวชกัน เพราะต้องเสียค่าใช้จ่ายมากเกินความจำเป็น
ท่านบวชๆสึกๆอยู่อย่างนี้หกครั้ง จนหมู่พระสงฆ์และชาวบ้านเอือมระอา แม้แต่ภรรยาก็ยังไม่เชื่อใจ พระสงฆ์จึงตั้งชื่อท่านว่า “พระจิตตหัตถ์” หมายถึงผู้ไปตามอำนาจจิต
ในครั้งที่หกที่ท่านลาสิกขาออกไปนั้นภรรยากำลังตั้งครรภ์ เธอนอนหลับในเรือน ทิดสึกใหม่เดินเข้าห้องจึงได้ประสบกับภาพที่ยากจะบรรยาย โปรดฟังสำนวนในอรรถกถาก็แล้วกันบรรยายไว้ว่า “ในขณะนั้นภริยาของเขากำลังนอนหลับ ผ้าที่หล่อนนุ่งหลุดลุ่ย น้ำลายไหลออกปาก จมูกก็กรนดังครืด ๆ ปากอ้า กัดฟัน หล่อนปรากฏแก่เขาประดุจสรีระที่พองขึ้น" เจอภาพแบบนี้เข้าคงเกิดความเบื่อหน่ายขึ้นจริงๆ
เขาจึงคิดว่า “สรีระนี้ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เราบวชตลอดกาลประมาณเท่านี้แล้วอาศัยสรีระนี้จึงไม่สามารถดำรงอยู่ในภิกษุภาวะได้”ดังนี้แล้วจึงถือเอาผ้ากาสาวะพันท้องพลางออกจากเรือนไป
แม่ยายเห็นอาการของลูกเขยสงสัยจึงไปดูที่ห้องเห็นลูกสาวกำลังนอนหลับด้วยอาการอันอย่างนั้นจึงแจ้งข่าวให้นางลูกสาวทราบ แต่ลูกสาวกลับตอบว่า “หลีกไป หลีกไปเถิดแม่ เขาจะไปที่ไหนได้อีกสองสามวันก็กลับแล้ว”ดูนางจะมั่นใจอย่างยิ่ง เพราะเห็นเหตุการณ์อย่างนั้นมาจนชินตา
นายจิตหัตถ์เดินไปบ่นไปว่า “ไม่เที่ยงเป็นทุกข์” ถึงวิหารก็ขอบวช แต่พวกภิกษุไม่ยอมบวชให้ง่ายๆ เพราะเขามีประวัติไม่ค่อยดีนัก แต่เมื่อทนการอ้อนวอนไม่ไหว และนายจิตตหัตถ์เป็นคนที่เรียกง่ายใช้คล่อง จึงอนุญาตให้เขาบวชอีกครั้ง พลางสำทับว่าควรจะเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว
พระจิตตหัตถ์บวชได้ไม่นานก็บรรลุพระอรหัตพร้อมทั้งปฏิสัมภิทา แต่ก็ยังถูกพวกภิกษุพูดจาเยาะเย้ยถากถางว่า “เมื่อไหร่จะลาสิกขาอีกเล่า ทำไมครั้งนี้อยู่ได้นานกว่าทุกครั้ง”
พระจิตตหัตถ์ก็บอกว่า “ผมไปแล้วในเวลาที่มีความเกี่ยวข้องเท่านั้นขอรับ ความเกี่ยวข้องนั้นผมตัดได้แล้ว ต่อไปนี้ผมมีความไม่ไปเป็นธรรมดาแล้ว”
พวกภิกษุจึงพากันยกโทษท่านว่า “พระจิตตหัตถ์พูดโกหก พูดในทำนองว่าตัวเองเป็นพระอรหันต์ คนที่บวชๆสึกๆตั้งหกครั้ง จะบรรลุพระอรหัตในการบวชครั้งที่เจ็ดไม่น่าจะเป็นไปได้” จึงแจ้งเรื่องให้พระพุทธเจ้าทราบ
พอพระพุทธองค์รู้เรื่องจึงบอกว่า "พระจิตตหัตถ์บรรลุเป็นพระอรหันต์จริงๆพร้อมทั้งยกคาถาขึ้นแสดงแปลเป็นไทยได้ความว่า “ปัญญาย่อมไม่บริบูรณ์แก่ผู้มีจิตไม่มั่นคง ไม่รู้แจ้งซึ่งพระสัทธรรม มีความเลื่อมใสอันเลื่อนลอย ภัย(ความกลัว) ย่อมไม่มีแก่ผู้มีจิตอันราคะไม่ซึมซาบ มีใจไม่ถูกโทสะตามกระทบละบุญและบาปได้ตื่นอยู่”
หากจะยกบาลีจะได้ความว่า “อนวฏฺฐิตจิตฺตสฺส สทฺธมฺมํ อวิชานโต
ปริปฺลวปสาทสฺส ปญฺญา น ปริปูรติ
อนวสฺสุตจิตฺตสฺส อนนฺวาหตเจตโส
ปุญฺญปาปปหีนสฺส นตฺถิ ชาครโต ภยํ ฯ
พระจิตตหัตถ์อาจเรียกในสำนวนปัจจุบันได้ว่า “เติบโตจากความผิดพลาด ฉลาดจากความผิดหวัง” เพราะท่านบวชตั้งเจ็ดครั้งจึงได้บรรลุพระอรหันต์ นับประสาอะไรกับคนธรรมดาสามัญที่จะต้องมีความผิดพลาดกันได้ แต่หากนำเอาความผิดพลาดมาเป็นบทเรียนก็สามารถแก้ไขได้ ความผิดหวังแม้จะไม่มีใครอยากประสบพบเจอ แต่ทว่าทุกคนจะต้องเคยพบกับความผิดหวังด้วยกันทั้งนั้น ความผิดพลาดทำให้คนรู้จักระมัดระวังมากขึ้น ส่วนความผิดหวังทำให้คนเกิดปัญญาและหาทางป้องกันได้
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
15/03/54