เช้าวันอาทิตย์เจ้าหลานสาวที่กำลังเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่สามโทรศัพท์มาถามว่า “หลวงลุงชนชาติใดคิดไวแต่เดินช้า” แกบอกว่าครูที่โรงเรียนถาม แต่ตอบไม่ได้ พลางขอร้องแกมบังคับว่าช่วยตอบคำถามด้วยจะได้นำไปตอบครูในวันจันทร์จากนั้นก็วางสาย เออหนอครูที่โรงเรียนนี้เข้าใจถาม ปัญหาไม่ได้อยู่ที่คำถามแต่อยู่ที่วิธีการสอนต่างหาก อย่างน้อยเด็กนักเรียนก็มีเวลาคิดตั้งสองวัน ถามวันศุกร์แต่ให้ตอบวันจันทร์ คำถามนั้นตอบประเทศใดก็ได้ เพราะไม่ได้อยู่ที่คำตอบว่าจะถูกหรือไม่ แต่อยู่ที่การให้เหตุผล ครูคนนี้น่าสนใจสอนให้คิดมากกว่าสอนให้จำ ความรู้ที่เกิดจากการคิดอยู่ได้นานมากกว่าการจำ
จำได้ว่าครั้งหนึ่งเมื่อเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่สาม มีครูสอนภาษาไทยท่านหนึ่งสอนในทำนองนี้ คือจะสมมุติเหตุการณ์ว่า “ผู้ชายถ้าเกิดอยากจะแต่งงานก่อนเรียนจบ จะเขียนจดหมายบอกพ่อว่าอย่างไร” ในทำนองเดียวกันถ้าเป็นผู้หญิง “หากจะเลิกเรียนหนังสือแล้วหนีตามผู้ชายที่รักกันมากคนหนึ่ง จะเขียนจดหมายบอกแม่ว่าอย่างไร”ให้ไปคิดและเขียนมา ชั่วโมงต่อไปให้นำมาส่งจะเป็นคะแนนเก็บ
พอถึงวันที่เรียนวิชาภาษาไทย ครูคนเดิมก็เปลี่ยนคำถามใหม่ โดยสมมุติเหตุการณ์ว่า “ถ้าคุณเป็นพ่อพอได้อ่านจดหมายของลูกจะตอบว่าอย่างไร” หรือในส่วนของผู้หญิง “ถ้าเป็นแม่จะตอบจดหมายลูกสาวว่าอย่างไร” จากนั้นก็สอนวิชาภาษาไทยตามหลักสูตรต่อไป
นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่สามในสมัยก่อน ส่วนมากจะมีอายุในวัยรุ่นกำลังเริ่มรู้จักความรักแล้ว สาวชาวบ้านบางคนหากไม่ได้เรียนหนังสือก็มักจะแต่งงานมีครอบครัวแล้ว หรือนักเรียนหญิงบางคนอาจลาออกกลางครันเพราะเผลอตั้งครรภ์ในวัยเรียน จำเป็นต้องลาออกเพราะในสมัยนั้นยังไม่อนุญาตให้เด็กสาวที่มีท้องเรียนในโรงเรียนได้ สมัยนั้นไม่รู้จักการทำแท้ง มีลูกก็คือมีลูก ท้องโตไปโรงเรียนก็อายเพื่อน
ตอนนั้นจำได้ว่าได้เขียนจดหมายบรรยายถึงพ่อตามเหตุการณ์สมมุติในทำนองว่า “ลูกขอรับผิดโดยประการทั้งปวง เพราะได้เกิดพบรักกับเพื่อนสาวคนหนึ่ง คิดว่าพ่อคงเข้าใจ ความรักเกิดขึ้นได้เสมอโดยไม่ได้เลือกว่าจะสมควรหรือไม่....” พอมาถึงตอนสมมุติเป็นพ่อก็ตอบไปในทำนองที่ว่า “พ่อเข้าใจว่าลูกอยู่ในวัยรุ่น ซึ่งจะต้องมีความรักเป็นธรรมดา รักได้แต่อย่าทิ้งการเรียน พ่อขอให้ลูกอดทนสักนิด ค่อยๆประครองความรักไว้ รักเป็นสิ่งที่ดีงาม อย่าพึ่งชิงสุกก่อนห่าม ทนอีกสักนิดเรียนให้จบก่อนค่อยคิดเรื่องแต่งงาน” ประมาณนั้น
วันนั้นครูคนนั้นได้คัดเลือกจดหมายสมมุติเหตุการณ์ฉบับนั้นมาอ่านหน้าห้องเรียน ช่วงนั้นอายมากคิดไปได้ยังไงก็ไม่รู้ แต่ทว่าเจ้าจดหมายฉบับนั้นได้เกิดเป็นแรงบันดาลใจในการเขียน ช่วงหนึ่งที่เป็นหนุ่มยังรับจ้างเขียนจดหมายรักให้เพื่อนๆที่เป็นหนุ่มชนบทจีบสาวบ้านนอก สำนวนการเขียนส่วนหนึ่งจำมาจากละครวิทยุ ถ้าหากเป็นสมัยปัจจุบันก็ต้องจำมาจากอินเทอร์เน็ตโดยถามอากู๋(กูเกิล) สำนวนละครวิทยุสมัยนั้นทำให้หนุ่มสาวหลายคู่ได้แต่งงานกันมีลูกมีหลานจนถึงปัจจุบัน สำนวนการเขียนจดหมายคงใช้ได้ แต่ทำไมพอมาเขียนบทความ สำนวนการเขียนจึงออกแนวลิเกหรืออกทะเลไปเลยก็ไม่รู้
พอหลานสาวโทรศัพท์มาอีกรอบจึงบอกแกไปว่าตอบชาติไหนก็ได้ แต่ขอให้บอกเหตุผลให้สมเหตุสมผล และบอกหลานสาวไปว่าลองตอบว่า “ทิเบต”ดูบ้างประไร ชนชาตินี้มีผู้นำทั้งทางการเมืองและศาสนาเป็นพระสงฆ์คือทะไลลามะได้ต่อสู้เรียกร้องความเป็นเอกราชจากประเทศจีนเป็นเวลายาวนานกว่าห้าสิบปี แต่ไม่เคยประสบผลสำเร็จ ในที่สุดองค์ทะไลลามะก็บอกยุติบทบาทการเรียกร้องหรือพูดง่ายๆว่ายอมแพ้นั่นเอง ชาวทิเบตคิดไวแต่เดินช้า
หากใครเคยไปพุทธคยาคงเห็นชาวทิเบตทั้งพระสงฆ์และฆราวาสที่เดินรอบเจดีย์พุทธคยาเดินหน้าไปได้สามก้าวแล้วก็กราบด้วยวิธีอัษฎางคประดิษฐ์คือนอนราบกับพื้นให้อวัยวะทั้งแปดส่วนสัมผัสกับพื้น ชนชาติอื่นๆเดินเวียนรอบเจดีย์ใช้เวลาไม่เกินห้านาที แต่ชาวทิเบตใช้เวลายาวนานกว่าสามชั่วโมง ชาวทิเบตบางคนเดินทางด้วยวิธีการแบบนี้กว่าจะถึงที่หมายปลายทางบางคนอาจใช้เวลานานเป็นปี ทั้งๆที่เส้นทางไม่ได้ไกลนักหากนั่งรถก็ใช้เวลาเพียงไม่กี่วันเท่านั้น ชาวทิเบตศรัทธาในพระพุทธศาสนามาก แม้จะคิดไวแต่ทว่าเดินช้าเป็นที่สุด พระสงฆ์บางรูปไม่เดินแต่ได้ทำเป็นแคร่ไม้กราบกันเป็นเวนานานแรมเดือน
อธิบายให้หลานสาวฟังแล้ว ไม่รู้แกจะไปตอบคำถามครูคนนั้นอย่างไรเพราะแกคงไม่เข้าใจทิเบต พอหลานสาววางสายก็กลับมาคิดได้อีกชาติหนึ่งคือประเทศไทยนี่เองเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองจากสมบูรณายาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตยเกือบแปดสิบปีแล้วก็ยังไม่เป็นประชาธิปไตยจริงๆสักที เดี๋ยวก็เกิดปฏิวัติรัฐประหาร เปลี่ยนรัฐธรรมนูญไม่รู้กี่ฉบับก็ยังมองประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ไม่ได้ คนไทยก็คิดไวแต่เดินช้าเหมือนกัน ยิ่งฟังรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศพูดถึงกรณีการช่วยเหลือญี่ปุ่นที่ประสบภัยพิบัติสึนามิด้วยแล้ว ไม่รู้เมื่อไรจะได้ช่วยเหลือ รัฐมนตรีท่านนี้ก็คิดไวแต่ทำงานช้า
แนวคิดเรื่อง“คิดไวแต่เดินช้า”เป็นที่รู้จักของโลกมานานแล้ว ใครที่เคยอ่านนิทานอีสปเรื่องกระต่ายกับเต่าคงคิดออก กระต่ายวิ่งไวแต่แพ้เต่าที่เดินช้า บางครั้งความไวก็ไม่แน่ว่าจะเป็นผู้ชนะได้เสมอไป คิดไวแต่เดินช้าน่าจะเหมาะกับคนกรุงเทพมหานคร เมื่องที่มีปริมาณรถติดมาก แต่คนยังชอบขับรถเร็ว หากคิดจะไปก็ไปไม่ดูตาม้าตาเรืออาจถูกรถชนบาดเจ็บหรือล้มตายได้ง่ายๆ บ้านนี้เมืองนี้ชีวิตคนไม่ค่อยมีค่าสักเท่าไหร่ อยู่ในวัดดีๆบางทีอาจถูกลูกปืนมาจากไหนไม่ทราบยิงตายได้ เดินช้าๆแต่ว่าไปเรื่อยๆเดี๋ยวก็ถึงจุดหมายปลายทาง ดีกว่าคิดไวเดินไวเดี๋ยวก็ไปไม่ถึงจุดหมาย ยิ่งวัยรุ่นเป็นพวกที่คิดไวทำไว บางครั้งอาจเกิดความผิดพลาดได้ง่าย ความผิดพลาดบางอย่างแก้ไขไม่ได้ เกิดเป็นมนุษย์ในยุคนี้คิดไวเข้าไว้ แต่พอถึงเวลาเริ่มต้นต้องเดินช้าๆแต่ทว่าต้องมั่นคง ไม่หยุดถึงจะท้อแต่ไม่ถอยในที่สุดก็ย่อมถึงจุดหมายได้เอง
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
14/03/54