บางทีคำถามง่ายๆอาจจะหาคำตอบได้ยาก หรืออาจจะไม่เคยมีใครคิดถามเพราะความคุ้นเคยและคุ้นชินกับความเป็นไปตามปกติ จนบางครั้งใครที่ถามคำถามเช่นนี้ขึ้นมา อาจจะถูกกล่าวหาว่าบ้า ถามอะไรก็ไม่รู้ ก็เห็นๆกันอยู่ ไม่รู้จะถามทำไม เช่นคำถามที่ว่า “มนุษย์คืออะไร เกิดมาทำไม สิ่งที่ควรทำคืออะไร ทำไมต้องตาย ตายแล้วจะไปไหน” เป็นต้น ซึ่งก็เป็นคำถามธรรมดาสามัญนี่แหละ แต่คำตอบบางครั้งอาจจจะเป็นความธรรมดาที่ไม่ธรรมดาก็ได้
เมื่อไม่นานมานี้มีนักศึกษาปริญญาโทท่านหนึ่งมาขอพบและบอกว่าขอคำปรึกษาเพื่อนำไปประกอบการเขียนวิทยานิพนธ์ เธอเป็นสุภาพสตรีวัยสี่สิบต้นๆแต่งงานมีครอบครัวมีลูกแล้วสองคน เธอบอกว่ามาขอคำปรึกษาในการเรียนและการเขียนวิทยานิพนธ์ ซึ่งเธอเขียนเกี่ยวกับชีวิตตามทัศนะของพระพุทธศาสนา
จึงถามเธอไปว่า “ทำเรื่องอะไร ทำอย่างไร ทำไปทำไม มีขั้นตอนในการทำอย่างไร ทำแล้วได้อะไร มีองค์ความรู้ใหม่เกิดขึ้นหรือไม่ และจะนำผลที่ได้นั้นไปใช้อย่างไร”ซึ่งเป็นคำถามธรรมดาสำหรับคนที่เขียนวิทยานิพนธ์ หากตอบคำถามเหล่านี้ได้ก็เหมือนกับว่าได้เริ่มต้นและมองเห็นจุดสุดท้ายได้แล้ว กระบวนการนี้ยังนำมาใช้กับการดำเนินชีวิตได้ด้วยเพียงแต่ปรับปรุงเล็กน้อยคือ “เรากำลังทำอะไร ทำอย่างไร ทำไมต้องทำ มีขั้นตอนหรือไม่ ทำแล้วได้อะไร เสร็จเรื่องนี้แล้วได้อะไรใหม่ เขียนเป็นทฤษฎีได้หรือไม่”
สนทนาไปได้สักพักเธอก็เอ่ยขึ้นมาว่า “ชีวิตคือความทุกข์” จากนั้นเธอก็สาธยายถึงความทุกข์ยากลำบากของการดำเนินชีวิต เพราะช่วงที่เรียนหนังสือนั้นไม่มีวันหยุดเลย ต้องทำงานประจำตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ พอถึงวันเสาร์อาทิตย์ก็ต้องเรียนตลอดวัน แม้ว่าชีวิตจะเป็น ของเราอยากคิด พูด ทำอะไรก็เป็นเรื่องของเราเอง แต่บางครั้งดูเหมือนว่าเรากำลังทำอะไรเพื่อคนอื่นมากกว่าทำเพื่อตัวเราเอง ลูกก็ต้องเรียนหนังสือ การเรียนก็หนักจนทำอะไรไม่ถูก จึงถามคำถามเธอเล่นๆว่ามนุษย์คืออะไร ขอให้ตอบตามความรู้สึกหรือความเข้าใจที่คิดว่าเป็นคำตอบที่ดีที่สุด เธออึ้งไปนิดหนึ่งคงนึกไม่ถึงว่าคำถามง่ายๆอย่างนี้จะนำมาถามทำไม
“มนุษย์คือสัตว์ประเสริฐที่รู้จักคิด” ในที่สุดเธอก็ตอบ แต่ยังทำหน้างงๆ
เมื่อเสนอความเห็นว่า “มนุษย์คือรูปนาม” เธออึ้งแต่ยอมรับว่าน่าจะถูกต้อง เพราะคงคิดหาคำโต้แย้งไม่ได้
ต่อจากนั้นจึงได้อธิบายต่อไปว่า หลักการของพระพุทธศาสนาอธิบายว่ามนุษย์คือส่วนประกอบของรูปกับนามนั่นเอง ส่วนที่เป็นรูปคือธาตุ 4 ได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ ส่วนที่เป็นนามคือเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เมื่อธาตุ 4 ขันธ์ 5 รวมตัวได้สัดส่วนจึงทำให้เราสมมุติเรียนว่ามนุษย์หรือแม้แต่สรรพสัตว์อย่างอื่นก็เฉกเช่นเดียวกัน เมื่อมนุษย์คือส่วนประกอบอย่างนี้แล้ว มนุษย์จึงมีหน้าที่อย่างหนึ่งคือการบริหารธาตุขันธ์ให้อยู่ในสภาพที่เกิดความสมดุลย์ ถ้าสูญเสียความสมดุลย์จะทำให้เกิดการเจ็บป่วยหรือเป็นมนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์
จุดหมายปลายทางของมนุษย์คืออะไร พระพุทธศาสนาให้คำตอบว่าจุดหมายสูงสุดของมนุษย์คือการพ้นทุกข์ เพราะพระพุทธศาสนาถือว่าชีวิตคือความทุกข์ จะต้องกำหนดรู้ให้เข้าใจความเป็นไปของสรรพสิ่งตามความเป็นจริง ความทุกข์ของมนุษย์โดยย่อมี 3 ประเภทคือ
(1) ทุกขทุกขตา หมายถึงความทุกข์ที่เกิดจากธรรมชาติคือความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ซึ่งถือว่าเป็นกฎแห่งความเป็นธรรมดา สัตว์โลกทั้งหลายจะต้องพบกับทุกข์ชนิดนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งๆที่ทุกคนไม่อยากเจ็บ ไม่อยากแก่ ไม่อยากตาย แต่ก็ไม่มีทางหนีพ้น มีทางเดียวที่จะเผชิญหน้ากับทุกข์ชนิดนี้คือกำหนดรู้ตามที่มันเป็น ให้ถือว่าทุกอย่างเป็นเรื่องธรรมดา ธรรมชาติมีความเที่ยงธรรมย่อมปฏิบัติหน้าที่ด้วยความยุติธรรม มนุษย์จึงไม่ควรฝืนธรรรมชาติ
(2) วิปริณามทุกขตา หมายถึงทุกข์ที่เกิดจากพลัดพรากจากสิ่งที่เรารักเราชอบใจ หรืออาจจะกล่าวว่าทุกข์นี้เกิดขึ้นจากการเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับคนอื่น สิ่งที่ทุกคนอยากได้คือลาภ ยศ สรรเสริญ สุข แต่ในทางตรงกันข้ามสิ่งที่มนุษย์ไม่อยากได้คือการเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา และทุกข์ แต่ในโลกของความเป็นจริง มนุษย์มีทั้งลาภและเสื่อมลาภ มีทั้งสุขและทุกข์คละเคล้ากันไป ไม่มีใครที่จะได้ตามที่เราหวังเสมอไป ดังนั้นการทำความเข้าใจและทำใจให้ยอมรับกับการเปลี่ยนแปลง พร้อมเสมอหากเกิดการเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์ก็ตามนั่นเป็นหน้าที่ของมนุษย์อย่างหนึ่ง
(3) สังขารทุกขตา หมายถึงความทุกข์ที่เกิดจากการปรุงแต่งของเราเอง เจ้าความรู้สึกนึกคิดเป็นเรื่องแปลก มักจะไม่พอใจในความเป็นอยู่ตามที่เราเป็น มนุษย์ส่วนมากจึงพยายามสร้างฝันให้เกิดขึ้นในใจของตนเองเสมอ เหมือนกับการสร้างวิมานในอากาศ มักจะขึ้นต้นด้วยคำถามว่า ถ้าเราเป็นอย่างนั้น ถ้าเราเป็นอย่างนี้ เราคงจะมีความสุขมากกว่าที่เป็นอยู่ หากสร้างความคิดหรือปรุงแต่งมากเข้า บางครั้งจะหาทางออกไม่ได้เป็นเหมือนการสร้างกงขังให้ตนเองหรือก่อไฟขึ้นเผาใจตนเอง ทุกข์ประเภทนี้ท่านจึงแนะนำให้คิดถึงแต่สิ่งที่ดีๆ ใจจะได้มีกำลัง ร่างกายจะมีพลังเพราะการเคลื่อนไหว ส่วนใจจะมีพลังก็ด้วยการหยุดนิ่งนั่นคือการทำสมาธินั่นเอง
ความทุกข์หากจะแปลง่ายๆว่าคืออาการที่ทนอยู่ในสภาพเดิมได้ไม่นาน ก็จะทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น พระพุทธศาสนาสอนว่าทุกข์เป็นปริญเญยยธรรม คือธรรมะที่ควรกำหนดรู้ ผู้ใดกำหนดรู้สภาวะแห่งทุกข์ทั้งหลายตามที่มันเป็นคือเป็นเรื่องธรรมดาเกิดเองตามธรรมชาติ เป็นเรื่องที่เป็นไปเพราะต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับคนอื่น และเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจากการปรุงแต่งของใจเราเอง ผู้นั้นชื่อว่าสำเร็จปริญญาคือการรู้จักชีวิตแล้ว เพราะชีวิตที่แท้คือตัวทุกข์นั่นเอง
ธรรมะคือธรรมชาติ ชีวิตคือการเข้าใจธรรมชาติ หากธรรมชาติและชีวิตเป็นไปด้วยความสมดุลชีวิตน่าจะมีความสุข นี่คือสัจธรรม แต่จะมีใครสักกี่คนที่เข้าใจหลักง่ายๆนี้ และดำเนินชีวิตอย่างเข้าใจธรรมชาติและมีมีความสุขตามที่ควรจะเป็น ชีวิตหนีทุกข์ไปไม่พ้น แต่ทุกคนไม่อยากประสบกับความทุกข์ พยายามจะหนีจากความจริงไปให้ไกล แต่ดูเหมือนว่ายิ่งหนีทุกข์ก็ยิ่งตามเหมือนเงาตามตัวหรือเหมือนล้อที่ตามรอยเกวียนไปไหนไปด้วย
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
09/03/54