เสียงไก่ขันแว่วมาจากเชิงเขา ส่งกันเป็นทอดๆจากเชิงเขาสูงขึ้นไปถึงยอดเขาและมีเสียงขานรับจากหุบเขาอีกลูก พระสงฆ์ท่านหนึ่งบอกว่าเป็นเสียงไก่ป่าที่อาศัยอยู่บริเวณภูเขาแห่งนี้ ฟังจากเสียงขันแสดงว่ามีอยู่สามกลุ่มใหญ่ๆ ธรรมชาติของไก่ป่ามักจะอยู่กันเป็นฝูง ไก่ตัวผู้หนึ่งตัวจะมีไก่ตัวเมียอีกประมาณเจ็ดแปดตัวพร้อมทั้งลูกๆอีกจำนวนหนึ่ง ไก่ป่าแต่ละฝูงจะมีผู้นำเพียงตัวเดียว หากไก่ตัวผู้มาพบกันยามใดก็มักจะเกิดสงครามแห่งความเป็นผู้นำเกิดขึ้น ตัวที่แข็งแรงกว่าจะชนะและกลายเป็นผู้นำฝูงต่อไป ส่วนตัวที่พ่ายแพ้มีทางเลือกเพียงสองทางคือตายในสนามการต่อสู้หรือไม่ก็หนีไปหาแหล่งหากินใหม่ นัยว่านั่นเป็นธรรมชาติของไก่ป่า
สงครามเกิดขึ้นได้เสมอแม้กับสัตว์ดิรัจฉานก็ยังมีการแย่งชิงความเป็นใหญ่ นับประสาอะไรกับมวลมนุษยชาติเล่า ใครที่มีพลังมากกว่าย่อมจะเป็นผู้ชนะ แม้ว่าบางครั้งจะต้องสังเวยด้วยชีวิตของประชาชนจำนวนมากก็ตาม ประชาชนคนธรรมดาจึงน่าสงสาร แต่บางครั้งพลังแห่งประชาชนก็อาจโค่นล้มเผด็จการผู้เรืองอำนาจได้ โลกนี้ดูเหมือนจะหนีสงครามไปไม่พ้น หากไม่สู้รบกับคนอื่นก็ต้องสู้รบกับตนเอง คือสู้กับกิเลสที่อยู่ภายใจจิตใจของตนนั่นเอง
เมื่อวานนี้(วันเสาร์)ตั้งใจจะไปร่วมงานพระราชทานเพลิงศพหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน แต่มีชาวบ้านจัดงานขึ้นบ้านใหม่ นัยว่าเป็นบ้านของฝรั่งชาวเยอรมันที่พบรักกับสาวชาวบ้านแห่งจังหวัดชัยภูมิ ฝรั่งคนนั้นขับรถมารับส่งด้วยตัวเองจึงได้คุยกันบ้าง ทราบว่าแกแต่งงานกับสาวชาวไทยมานานแล้ว ชาวบ้านที่ชัยภูมิส่วนหนึ่งนิยมมีเขยฝรั่ง เพราะค่อนข้างจะฐานะดี ฝรั่งที่นี่มีหลายชาติเช่นเยอรมัน สวีเดน เดนมาร์ก ฝรั่งเศส เป็นต้น ชาวบ้านตำบลนี้นิยมเฉพาะฝรั่งชาวยุโรป ทวีปอื่นๆไม่ค่อยมี เขานิมนต์ไปร่วมงาน กว่างานจะเสร็จก็ปาเข้าไปเกือบเที่ยงวัน จึงตัดสินใจยกเลิกการเดินทางดังกล่าว
กลับถึงกูฏิที่พักกลางหุบเขาหลังเที่ยงวันแล้ว ทั่วทั้งหุบเขายังเงียบสงัดนานๆจะได้ยินเสียงเจ้าไก่ป่าส่งเสียงขันมาเป็นระยะจึงลองเสี่ยงดูว่าอาจจะได้เห็นไก่ป่าพวกนี้บ้าง จึงได้นำน้ำใส่ภาชนะวางไว้ข้างๆกุฏิจากนั้นก็ลืมเลือนไป บ่ายคล้อยแล้วได้ยินเสียงจอแจข้างๆภาชนะจึงค่อยๆโผล่หน้าไปมองพลันก็ได้เห็นไก่ป่าฝูงใหญ่กำลังกินน้ำด้วยสายตาที่หวาดระแวง พอได้ยินเสียงนิดเดียวก็พลันหนีหายเข้าป่าไป ยังไม่ทันได้ยกกล้องถ่ายภาพด้วยซ้ำ จากนั้นมาก็ไม่ได้เห็นป่าพวกนั้นอีกเลย ไก่ป่าเฝ้าระวังภัยทุกย่างก้าวพวกมันต้องเอาตัวรอดในป่าเปลี่ยวเช่นนี้ แต่คงหิวจึงลงมาหาอาหาร ไก่ป่ายังรักตัวกลัวตายแล้วมนุษย์เล่ามีใครบ้างที่ไม่กลัวตาย
พลันก็คิดถึงสุภาษิตที่พระสงฆ์นิยมสวดในเวลาบังสุกุลเป็นภาษาบาลีความว่า “อนิจฺจา วต สงฺขารา อุปฺปาทวยธมฺมิโน อุปฺปชฺชิตฺวา นิรุชฺฌนฺติ เตสํ วูปสโม สุโขติ” แปลความเป็นภาษาไทยได้ว่า “สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีความเกิดขึ้นและเสื่อมไปเป็นธรรมดา บังเกิดขึ้นแล้ว ย่อมดับไป ความเข้าไปสงบสังขารเหล่านั้นเป็นสุข”ซึ่งมาจากมหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค (10/147/125) เป็นคำแสดงธรรมสังเวชของท้าวสักเทวราช หรือที่คนทั่วไปนิยมเรียกว่า “พระอินทร์”เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น เมื่อครั้งที่พระผู้มีพระภาคเสด็จปรินิพพานแล้ว ท้าวสักกะจอมเทพจึงได้ตรัสพระคาถานี้ ต่อมาพระสงฆ์ได้นำมาใช้ในพิธีบังสุกุลในงานเกี่ยวกับคนตาย แต่นิยมสวดเป็นภาษาบาลี
สังขารตามทัศนะพระพุทธศาสนานั้นจำแนกไว้สองประเภทคืออุปาทินนกสังขารหมายถึงสังขารมีใจครอง และอนุปาทินนกสังขารหมายถึงสังขารไม่มีใจครอง
ส่วนความทุกข์ที่เกิดขึ้นประจำสังขารเรียกว่า“สภาวทุกข์”ได้แก่ชาติ(ความเกิด) ชรา (ความแก่) และมรณะ(ความตาย) ส่วนความเจ็บท่านจัดไว้เป็นทุกข์อีกประเภทหนึ่งเรียกว่า “พยาธิทุกข์” ดังนั้นเมื่อมีสังขารจึงต้องมีทุกข์ตามมาด้วย
ส่วนคำว่า “สังขาร” ที่ปรากฎในขันธ์ห้าได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นั้นสังขารในขันธ์ห้านี้จำแนกไว้สามประการดังที่ปรากฎในสัมมาทิฏฐิสูตร มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ (12/127/70) ได้แก่กายสังขารคือสภาพอันแต่งกาย วจีสังขารคือสภาพอันแต่งวาจา และจิตตสังขารคือสภาพอันแต่งจิต ผู้ใดรู้ชัดสังขารได้ชื่อว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ ดังข้อความต่อไปว่า “เมื่อใดแล อริยสาวกรู้ชัดซึ่งสังขาร เหตุเกิดแห่งสังขาร ความดับสังขาร และปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับสังขาร แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ อริยสาวกชื่อว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ เหตุเกิดแห่งสังขารย่อมมีเพราะอวิชชาเป็นเหตุให้เกิด ความดับสังขาร ย่อมมีเพราะอวิชชาดับ”
เมื่อสาวหาเหตุจึงไปสิ้นสุดที่อวิชชาคือความไม่รู้จริง จึงทำให้สรรพสัตว์ต้องเวียว่ายตายเกิดในวัฏฏสงสารไม่มีที่สิ้นสุด ส่วนผู้ที่กำจัดอวิชชาได้แล้วย่อมไม่ย้อนกลับมาเกิดอีก เพราะเมื่ออวิชชาดับกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทก็ถูกตัดขาดลงอย่างสิ้นเชิงแล้ว หากยังกำจัดอวิชชาไม่ได้ก็ต้องกลับมาสู่กระแสแห่งกิเลส กรรม วิบากต่อไป
สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ ไม่เลือกแม้แต่ผู้ทรงคุณอันประเสริฐอย่างเช่นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ยังหนีความตายไม่พ้น หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโนคงเป็นผู้ไปดีแล้ว เราไม่อาจล่วงรู้สภาวะจิตของท่านได้ กายสังขารจึงเป็นเหมือนท่อนไม้ที่ไร้ประโยชน์ ดังที่มีแสดงไว้ในจิตตวรรค ขุททกนิกาย ธรรมบท (25/13/19) ความว่า “กายนี้อันบุคคลทิ้งแล้วมีวิญญาณปราศแล้วไม่นานหนอจักนอนทับแผ่นดิน ประดุจท่อนไม้ไม่มีประโยชน์” ภาษาบาลีใช้คำว่า “อจิรํ วตยํ กาโย ปฐวึ อธิเสสฺสติ ฉุฑฺโฑ อเปตวิญฺญาโณ นิรตฺถํว กลิงฺครํ”มนุษย์ก็มีเท่านี้ตายแล้วไม่ฝังก็ต้องเผา ส่วนจิตนั้นย่อมไปเกิดตามบุญกรรมของแต่ละคน มีแต่ผู้ที่หมดกิเลสแล้วเท่านั้น จึงไม่กลับมาเกิดอีก
ตะวันลับหลังเขาไปนานแล้วเหลือไว้แต่ความเงียบสงัดปราศจากเสียงผู้คน มีแต่เสียงของแมลงกลางคืนทั้งหลายที่เริ่มบรรเลงบทเพลงแห่งภูเขา ประสานเสียงอย่างไร้ทำนอง ต่างตัวต่างร้องเสียงใครเสียงมัน แต่ฟังด้วยใจอันสงบกลับเป็นบทเพลงที่แสนเสนาะ ยากที่นักวาทการใดๆจะเรียบเรียงเสียงประสานได้ เมื่อได้มาสัมผัสกับชีวิตในท่ามกลางป่าเขาแม้จะเป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆทำให้รู้สึกว่า ชีวิตนี้ควรหาที่สงัดเพื่อสร้างความสงบทางจิต ความสงัดคืออาหารสำหรับการฝึกจิต ไก่ป่าที่แสนจะหวาดระแวงพอได้กลิ่นน้ำยังลงจากหลังเขามาดื่มกิน เมื่อจิตใจได้อาหารคือความเงียบสงัดก็จะเริ่มสงบ จิตที่ฝึกดีแล้วจะนำสุขมาให้และเป็นที่พึ่งสำหรับตนได้ สังขารไม่เที่ยงแท้แน่นอนไม่รู้ว่าเมื่อไรความตายจะมาเยือน
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
06/03/54