ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

            ได้พบกับเพื่อนเก่าอดีตนักบวชท่านหนึ่งที่ลาสิกขาไปเมื่อหลายปีก่อนพึ่งกลับจากทำงานที่ประเทศเกาหลี เขาเดินทางไปทำงานที่ประเทศเกาหลีนานสามปีมาแล้ว ก่อนไปเขาแวะมาหาจึงได้ให้จตุคามรามเทพรุ่นเงินไหลมาไปองค์หนึ่ง ช่วงนั้นกระแสจตุคามรามเทพกำลังแรง ตั้งแต่จากไปเขาไม่เคยแจ้งข่าวกลับมาอีกเลย เป็นตายร้ายดีอย่างไรจึงไม่ทราบความเคลื่อนไหว วันนี้เขาแวะมาเยือนสนทนาไปได้สักพักเขาจึงบอกว่าเกาหลีน่าไปเที่ยวแต่ไม่น่าอยู่เพราะค่าใช้จ่ายค่อนข้างแพง ผมทำงานเก็บเงินอย่างเดียว กลับมาหนนี้ผมมีชื่อเกาหลีอีกชื่อหนึ่ง คนที่นั่นเขาต่างเรียกผมว่า “มิสเตอร์วัง จี วอน” 
            ช่วงนี้วัฒนธรรมเกาหลีกำลังมาแรง ที่จริงก็เริ่มมาหลายปีแล้ว ละครเกาหลีมีเสน่ห์ ดาราชายรูปหล่อ ดาราหญิงสวยหุ่นดีดูแล้วเพลิดเพลินสบายตาสบายใจ มีเนื้อหาไม่หนักจนเกินไป บางครั้งออกแนวคิกขุเสียด้วยซ้ำ  เคยดูละครเกาหลีเกือบจบสองเรื่องเรื่องหนึ่งจำได้ว่าชื่อ “แดจังกึม”เป็นเรื่องที่ว่าด้วยการทำอาหาร ส่วนอีกเรื่องคือ “จูมง”ว่าด้วยการแย่งชิงอำนาจทางการเมือง ละครเกาหลีแตกต่างจากละครไทย เพราะละครไทยจะเน้นที่เรื่องชิงรักหักสวาทหรือไม่ก็ต่อสู้กับผู้มีอิทธิพล ตอนจบของเรื่องก็คลายปมในทำนองเดียวกันว่า “ธรรมย่อมชนะอธรรม”ตามหลักเหตุผลนะใช่ แต่ตามข้อเท็จจริงกว่าที่ธรรมจะชนะอธรรมได้ต้องใช้เวลาหลายปีหรือบางคนอาจใช้เวลาหลายภพหลายชาติ ส่วนละครเกาหลีในช่วงหลังๆไม่ค่อยได้ดูแล้ว เพียงแต่เปิดผ่านๆเพราะเนื้อหาของเรื่องเริ่มจะเหมือนละครไทยเข้าไปทุกที 

            ละครเรื่องแดจังกึมย้อนกลับมาฉายซ้ำอีกทางโทรทัศน์ ก็ยังเห็นความมุ่งมั่นเอาจริงไม่ยอมแพ้ของนางเอกคนทำอาหารคนนั้น เธอเชื่อมั่นในสิ่งที่เธอมีความชำนาญ ในที่สุดก็ฝ่าฟันจนประสบความสำเร็จ เขาจับเอาเรื่องธรรมดาสามัญมาทำเป็นละครที่น่าติดตามได้ แม้แต่เรื่องเจ้าชายกาแฟก็เป็นเรื่องของคนขายกาแฟธรรมดา แต่เขาสามารถนำมาสร้างเป็นละครส่งไปฉายทั่วโลก เป็นการนำเสนอแง่มุมทางวัฒนธรรมที่น่าสนใจอย่างหนึ่ง เพราะเมื่อชนชาติอื่นเข้าใจวัฒนธรรมเกาหลีแล้ว สินค้าต่างๆก็ขายได้ โดยเฉพาะสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับละครได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวไปโดยปริยาย วัฒนธรรมก็ยังกลายเป็นสินค้าที่ขายได้
            วันก่อนบังเอิญเปิดโทรทัศน์ช่องหนึ่งได้นำภาพยนตร์เกาหลีเรื่อง “กฏหมายรักฉบับฮาวาร์ด” ก็ยังหนีไม่พ้นเรื่องของความรักระหว่างชายหนุ่มหญิงสาว ซึ่งเป็นเรื่องที่ดาราได้แสดงบทบาทได้เต็มที่ ยิ่งพระเอกรูปหล่อสไตล์เกาหลีแท้ และนางเอกสวยด้วยแล้ว เนื้อหาจะเป็นอย่างไรนั้นดูจะเป็นเรื่องรอง มีคนเคยกล่าวไว้ว่าวัยที่มีความสุขมากที่สุดของมนุษย์คือวัยเรียน เพราะไม่ต้องมีความรับผิดชอบมากนัก เรียนอย่างเดียวให้จบตามหลักสูตรก็เพียงพอแล้ว ส่วนเรื่องอื่นๆพ่อแม่เป็นผู้รับผิดชอบ หาเงินส่งให้เรียน แม้จะเหนือ่ยสายตัวแทบขาดแต่เพื่อความสำเร็จของลูกๆถึงจะเหนื่อยแค่ไหนก็ยอม หยาดเหงื่อทุกหยดจึงมีไว้เพื่อลูก

            วัยเรียนเป็นช่วงที่คนกำลังเป็นหนุ่มสาว จึงมักจะหนีไม่พ้นเรื่องของความรัก บางครั้งสุข บางครั้งทุกข์ ชีวิตจึงมีครบทุกรสชาติทั้งผิดหวัง สมหวัง ภาพยนตร์ส่วนมากจึงมักจะเสนอเรื่องราวของมนุษย์ในช่วงที่เป็นหนุ่มสาว แม้แต่ภาพยนตร์ไทยบางเรื่องก็ยังตั้งชื่อให้ออกแนวเกาหลีเช่น “กวน มึน โฮ” นัยว่าสร้างรายได้ติดอันดับหนังทำเงิน หนังอะไรไม่รู้ดูจนจบเรื่องพระเอกนางเอกยังไม่รู้จักชื่อกันเลย แต่คำพูดฟังแล้วดูดี “ยินดีที่ไม่รู้จัก”
            ประเทศเกาหลีมีประชากรส่วนหนึ่งที่นับถือพระพุทธศาสนาและเคยเจริญรุ่งเรืองมาก่อน มีหลักฐานยืนยันจากหนังสือประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในอาเชียว่า “พระพุทธศาสนาเริ่มเข้าสู่ประเทศเกาหลีประมาณปีพุทธศักราช 915 โดยสมณทูตซุนเตา เดินทางจากประเทศจีนผ่นดินใหญ่เข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในอาณาจักรโกคุริโอ คือ ประเทศเกาหลีในปัจจุบัน พระพุทธศาสนาได้ขยายเข้ามาในเกาหลีอย่างรวดเร็ว เพียงระยะเวลา 20 ปีก็มีการสร้างวัดขึ้นมากมาย”(พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต) พระพุทธศาสนาในอาเซีย,กรุงเทพฯ:ธรรมสภา,2548
            ปัจจุบันชาวเกาหลีสามารถนับถือศาสนาได้อย่างเสรีภาพ อาจจะมีศาสนาหรือไม่มีก็ได้  ปัจจุบันมีผู้นับถือศาสนคริสต์ประมาณร้อยละ 49 นับถือศาสนาพุทธร้อยละ 47 ลัทธิขงจื้อร้อยละ 3 ที่เหลือนับถือศาสนาอื่นๆ ก่อนหน้านี้ไม่นานชาวเกหลีส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาพุทธ แต่เนื่องจากกระแสแห่งอารยธรรมตะวันตกที่เข้าสู่เกาหลี จึงเป็นสาเหตุให้ชาวเกาหลีหันไปนับถือศาสนคริสต์มากขึ้น (ปริศ วงศ์ธนเสน,อ่าน เขียน เรียนเกาหลี,กรุงเทพฯ: บุ๊คส์ ทู ยู,2553, หน้า 23) ประเทศไทยก็อยู่ในข่ายที่ชาวพุทธกำลังลดลงและมีคนกลุ่มหนึ่งกำลังบอกว่าตนเองไม่นับถือศาสนาใด

                ในปัจจุบันคณะสงฆ์ในประเทศเกาหลีถือได้ว่าเป็นคณะสงฆ์ที่มีการปรับตัวให้ทันกับเหตุการณ์ต่างๆอยู่เสมอ เพื่อความมั่นคงของพระพุทธศาสนานั่นเอง กิจการที่พระสงฆ์เกาหลีใต้สนใจ และทำกันอย่างเข้มแข็งจริงจังที่สุดคือการศึกษา ซึ่งเป็นการสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ในด้านการศึกษานอกจากจะมีโรงเรียนพระปริยัติธรรมสำหรับสอนพระภิกษุ ภิกษุณี สามเณร และสามเณรีแล้ว คณะสงฆ์เกาหลีใต้ยังมีสถานศึกษาฝ่ายสามัญระดับต่างๆที่เปิดรับนักเรียนชายหญิงโดยทั่วไปด้วย ซึ่งสถาบันเหล่านี้มีคฤหัสถ์เป็นผู้บริหาร แต่อยู่ในความควบคุมดูแลของคณะกรรมาธิการฝ่ายการศึกษาของคณะสงฆ์  มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดของเกาหลีคือมหาวิทยาลัยดงกุก ตั้งขึ้นเมื่อปีพุทธศักรา 2449 มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยก็ได้ไปเปิดสาขาขึ้นที่เกาหลีใต้ด้วย
            มิสเตอร์วังจีวอนเล่าให้ฟังว่า “หากมองดูจากแง่เศรษฐกิจแล้ว เกาหลีเจริญรุดหน้ากว่าไทยมาก ผลิตสินค้นที่มีย่อห้อติดตลาดโลกหลายอย่าง ผมไปทำงานเป็นช่างไม้ ผมเรียนจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิชาเอกภาษาบาลีสันสกฤตครับ พอผมลาสิกขาออกไปหางานที่ตรงกับสาขาวิชาที่เรียนมาไม่ได้ ช่วงนั้นผมตกงาน จึงได้ไปทำงานก่อสร้าง ทำให้พอมีความรู้ทางด้านช่างไม้ติดมือมาบ้าง เมื่อผมเอาจริงกับงานประเภทนี้ในที่สุดก็สามารถสอบผ่านเกณฑ์และมีสิทธิ์ได้ไปทำงานที่ประเทศเกาหลี ซึ่งเป็นประเทศที่ผมใฝ่ฝันอยากไปมาก ก็เพราะได้ดูละครเกาหลีนี่แหละมันมีอิทธิพลต่อความคิดผมอย่างมาก จึงเริ่มหาซื้อหนังสือเกี่ยวกับเกาหลีมาอ่าน พยายามหัดเขียนตัวอักษรเกาหลี หัดพูดเกาหลี จนสามารถพูดได้บ้าง

            พอผมไปถึงเกาหลีกลายเป็นว่าอาชีพรองของผมคือการเป็นล่าม ทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงแทนพวกคนงานที่ส่วนมากจะพูดภาษาอะไรอื่นไม่เลย นอกจากภาษาของตนเอง  ภาษาบาลีที่ผมเรียนมานี่แหละครับช่วยผมได้มาก ทำให้ผมเรียนภาษาอื่นๆได้รวดเร็วขึ้น แต่ละภาษามีเอกลักษณ์ของตัวเองนะครับ ถ้าหากเราตั้งใจจริงไม่มีอะไรที่เกินความสามารถหรอกครับ  
            คนเกาหลีไม่ค่อยเข้มงวดเกี่ยวศาสนามากนัก ผมว่าวัดพระพุทธศาสนาในเกาหลีน่าจะทำหน้าที่คล้ายๆศาลเจ้าคือคอยให้ความสะดวกแก่ผู้ที่จะไปไหว้พระและไหว้เจ้า พระเกาหลีจะทำพิธีอุทิศส่วนกุศลให้ ผมดูไม่ออกว่าเขาอยู่กันอย่างไรทำธุรกิจเหมือนในญี่ปุ่นหรือไม่เรื่องนี้ผมยังไม่ได้คำตอบ วัดบางแห่งใหญ่โตมาก ใช้เป็นสถาบันการศึกษาเหมือนโรงเรียนวัดบ้านเรานี่แหละครับ มิสเตอร์วังจีวอนสรุปตามที่ได้ไปพบเห็น
            ประเทศเกาหลีเคยปกครองด้วยระบอบกษัตริย์มาก่อน พระพุทธศาสนาก็เคยเจริญรุ่งเรืองภายใต้การอุปถัมภ์ของกษัตริย์ แต่เมื่อเปลี่ยนระบบการปกครอง โดยมีประธานาธิบดีเป็นผู้นำสูงสุดของประเทศ พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาก็ต้องเปลี่ยนหน้าที่หันไปเน้นเรื่องพิธีกรรมโดยเฉพาะพิธีเกี่ยวกับคนตาย 

 

            เมื่อมิสเตอร์วัง จี วอน ลากลับไปยังได้ทิ้งหนังสือเกี่ยวกับภาษาเกาหลีไว้เล่มหนึ่งมีชื่อตามหน้าปกว่า “อ่าน เขียน เรียน เกาหลี” จึงหยิบขึ้นมาอ่านดู ตอนนี้จำได้สองประโยคแล้วคือ “อัน นยอง ฮาเซโย” และคำว่า “คัมซา ฮัมนิดา” กำลังคิดจะเรียนภาษาเกาหลีเพิ่มอีกภาษาหนึ่ง เผื่อบางทีจะมีโอกาสเดินทางไปเกาหลีกับเขาบ้าง สมมุติว่าถ้าได้ไปเกาหลีจริงคงต้องหาชื่อเป็นภาษาเกาหลีสักชื่อ คิดถึงชื่อของเพื่อนเก่าอดีตนักบวชคนนั้น ฟังดูมันคุ้นๆยังไงไม่รู้ “มิสเตอร์วัง จี วอน” พลันก็ต้องเผลอยิ้มออกมาจนได้ เขาเข้าใจตั้งชื่อ หากออกเสียงยาวๆหน่อยก็จะได้ชื่อตามภาษาไทยว่า  “มิสเตอร์วางจีวร” เขาลาสิกขาไปแล้วจึงต้องวางจีวรไว้ในวัด ช่างเข้าใจสรรหาชื่อที่เหมาะสมกับสภาวะที่แท้จริงได้ดีมาก
  


พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน
24/02/54

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก