เมืองสาวัตถีหรือสรัสวัตดีในปัจจุบัน เป็นเมืองที่ค่อนข้างจะอยู่ห่างไกลจากสังเวชนียสถานที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า อากาศแห้ง ตั้งอยู่ในที่ราบ ดูไปเหมือนประเทศไทยทางตอนบนหรือคล้ายเมืองอุดรหนองคายประมาณนั้น แต่ทว่าสถานที่แห่งนี้กลับสร้างคุณูปการให้กับพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง เพราะตามประวัติบันทึกไว้ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จประทับที่วัดเชตวันมหาวิหาร และวัดบุปผารามเมืองสาวัตถีเป็นเวลายาวนานถึงยี่สิบห้าปี เมืองนี้คงต้องมีอะไรดีพระพุทธเจ้าจึงอยู่จำพรรษาได้นานกว่าที่อื่น และทรงแสดงธรรมไว้มากที่สุด จนอาจกล่าวได้ว่าพระไตรปิฏกครึ่งหนึ่งเกิดที่พาราสาวัตถีแห่งนี้
เพลาเช้าต้นเดือนกุมภาพันธ์ ท้องฟ้าสลัวปกคลุมไปด้วยหมอกจางๆพื้นหญ้าในบริเวณวัดเชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถีเปียกชื้นเพราะหยาดน้ำค้างตั้งแต่เมื่อคืน ปัจจุบันเมืองสาวัตถียังมีวัวเทียมเกวียนให้เห็นแทบทุกแห่ง ตอนสายของวันนั้นหน้าบ้านอนาถปิณฑิกเศรษฐีและหน้าบ้านอหิงสกะยังเห็นเกวียนหลายเล่มบรรทุกอ้อยหรือพืชผลทางการเกษตรอื่นๆมาจนเต็มลำเกวียนค่อยๆผ่านไปบนถนนคอนกรีตสวนทางไปมากับรถยนต์ เกวียนและรถอยู่บนถนนสายเดียวกัน ดูเหมือนว่ากาลเวลาไม่อาจจะเปลี่ยนแปลงวีถีชีวิตของชาวเมืองสาวัตถีในอดีตเลย หรือหากเปลี่ยนก็เปลี่ยนน้อยมาก เมืองนี้ยังเลี้ยงวัวเลี้ยงควายไล่ต้อนวัวควายไปหากินหญ้าตามท้องทุ่ง
มองเห็นสภาพวัดเชตวันเมืองสาวัตถีในปัจจุบัน แต่ทำไมในใจจึงกลับจินตนาการเห็นว่าเมืองสาวัตถีมองดูคล้ายๆดินแดนทางภาคอีสานเช่นอุดรธานี ขอนแก่นสกลนครก็ไม่รู้ ดินแดนแถบนี้มักจะมีพระเถระที่มีชื่อเสียงและชาวบ้านเชื่อกันว่าเป็นพระอริยบุคคลจำนวนมากเช่นหลวงปู่มั่น หลวงปู่ขาว หลวงปู่ฝั้น หรือแม้แต่หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ที่พึ่งละสังขารไปไม่นานก็ยังมีถิ่นพำนักที่อุดรธานี
สมัยที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์ชีพอยู่นั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลกษัตริย์แห่งโกศลรัฐมักจะมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าอยู่เป็นประจำ ส่วนมากจะถามปัญหาทั่วไป ปัญหาที่พระเจ้าปเสนทิทูลถามนั้นมักจะเป็นปัญหาง่ายๆ อาจจะเรียกว่าได้ว่าเป็นปัญหาระดับชาวบ้านเช่นในปุริสสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค (15/328/88)ครั้งหนึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศลได้ทูลถามพระพุทธเจ้าว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมกี่อย่างเมื่อบังเกิดขึ้นในภายในของบุคคล ย่อมบังเกิดขึ้นเพื่อความไม่เป็นประโยชน์ เพื่อความทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่สบาย” แปลไทยเป็นไทยได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นภายในใจของมนุษย์แล้วมีส่วนทำให้อยู่ไม่มีความสุขไม่มีความสบายคืออะไร
พระพุทธเจ้าก็ตอบง่ายๆว่า “ดูกรมหาบพิตร ธรรมสามอย่างเมื่อบังเกิดขึ้นในภายในของบุรุษ ย่อมบังเกิดขึ้นเพื่อความไม่เป็นประโยชน์ เพื่อความทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่สบายคือโลภะ โทสะ โมหะ เมื่อบังเกิดขึ้นในภายในของบุคคล ย่อมบังเกิดขึ้นเพื่อความไม่เป็นประโยชน์ เพื่อความทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่สบาย”
ธรรมสามอย่างเรียกว่าอกุศลกรรมหมายถึงกรรมที่เป็นอกุศล กรรมชั่ว การกระทำที่ไม่ดี ไม่ฉลาด ไม่เกิดจากปัญญา ทำให้เสื่อมเสียคุณภาพชีวิต
โลภ หมายถึงความอยาก ความดิ้นรน ความอยากดูเหมือนจะเป็นธรรมชาติเบื้องต้นของมนุษย์ ทุกคนต้องมีความอยากอยู่ภายใน หากไม่มากจนเกินเหตุก็จะเป็นพลังผลักดันให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จได้ แต่ถ้าอยากได้จนเกินพอดีนั่นก็จะกลายเป็นผลร้าย เพราะบางคนเพื่อสนองความอยากของตนเองอาจทำลายล้างผู้อื่นให้พินาศฉิบหายได้ ผู้ปกครองบางประเทศเพียงเพื่อต้องการให้ตนเองอยู่ในอำนาจนานที่สุด ถึงกับต้องทำร้ายเข่นฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์ไปเป็นจำนวนมาก
หากแสดงธรรมแก่ชาวบ้านผู้ครองเรือนก็จะใช้คำว่า “โลภะ” แต่ถ้าแสดงธรรมแก่ภิกษุหรือพวกนักบวชจะใช้คำว่า “ราคะ” ซึ่งใช้แทนกันได้ เพราะคำว่า “ราคะ”แปลว่า สี เครื่องย้อม ความกำหนัด ความยินดี ฆราวาสเรียกว่าความอยาก แต่หากเป็นพระสงฆ์เรียกว่าความกำหนัด
โทสะ เป็นคำนามปุงลิงค์หรือเพศชายหมายถึงความประทุษร้าย ความโกรธ ความขัดเคือง ความเกลียดชัง ความมุ่งร้าย โทษ ความเสียหาย ความผิดพลาด ข้อบกพร่อง ข้อควรตำหนิ แต่ถ้าเป็นอัพยยศัพท์คือศัพท์ที่ตายตัวแจกตามวิภัตตินามและอาขยาตไม่ได้ คงอยู่อย่างไรก็คงอยู่อย่างนั้น ก็จะกลายเป็น “โทสํ”หรือ “โทสัง” แปลว่ายามค่ำ ตอนกลางคืน ในเวลากลางคืน
โมหะ หมายถึงความหลง ส่วนจะหลงอย่างไรนั้นเรื่องนี้อธิบายได้ยากที่สุด สรุปสั้นๆว่าหลงไม่รู้ตามความเป็นจริง ส่วนอะไรจริงอะไรเท็จนั้นเรื่องนี้ต้องคิดและอธิบายกันอีกยาว
ราคะ โทสะ โมหะนั้นเมื่อเกิดขึ้นภายในจิตใจของผู้ใดแล้วจะเกิดอาการร้อนเหมือนถูกไฟเผาผลาญท่านจึงเรียกกิเลสทั้งสามว่าไฟดังที่ปรากฎในอาทิตตปริยายสูตร มหาวรรค(4/55/49)ความว่า “สิ่งทั้งปวงเป็นของร้อนเพราะไฟคือราคะ ไฟคือโทสะ ไฟคือโมหะ” และยังถือว่าเป็นรากเหง้าหรือต้นเหตุของการทำชั่วอีกด้วย
ในติตถิยสูตรอังคุตรนิกาย ติกนิบาต ได้แสดงโทษของกิเลสทั้งสามไว้ว่า (20/508/191) “ราคะมีโทษน้อยคลายช้า โทสะมีโทษมากคลายเร็ว โมหะมีโทษมากคลายช้า” หากจะแสดงตามสำนวนไทยก็อาจจะได้ความว่า “ราคะเหมือนไฟไหม้แกลบ โทสะเหมือนไฟไหม้ฟาง ส่วนโมหะเหมือนไฟสุมขอน
เหตุปัจจัยที่ทำให้ราคะเกิดขึ้นนั้นพระพุทธเจ้าแสดงต่อไปว่า “สุภนิมิตคือความกำหนดหมายว่างาม เมื่อบุคคลนั้นทำไว้ในใจโดยอุบายไม่แยบคายถึงสุภนิมิต ราคะที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ยิ่ง”
เหตุปัจจัยที่ทำให้โทสะเกิดขึ้นนั้นพระพุทธเจ้าแสดงต่อไปอีกว่า “ปฏิฆนิมิตคือความกำหนดหมายว่ากระทบกระทั่ง เมื่อบุคคลนั้นทำไว้ในใจโดยไม่แยบคายถึงปฏิฆนิมิต โทสะที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ยิ่ง ผู้มีอายุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้โทสะที่ยังไม่เกิดเกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ยิ่ง
เหตุปัจจัยที่ทำให้ราคะเกิดขึ้นนั้นพระพุทธเจ้าแสดงไว้ว่า “อโยนิโสมนสิการ เมื่อบุคคลนั้นทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย โมหะที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ยิ่งผู้มีอายุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้โมหะที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ยิ่ง”
เมื่อกิเลสทั้งสามเกิดขึ้นแล้วจะละหรือระงับได้อย่างไรนั้น พระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงต่อไปว่า “ราคะละได้ด้วยอสุภนิมิตคือความกำหนดหมายว่าไม่งาม ส่วนโทสะละได้ด้วยเมตตาเจโตวิมุติเมื่อบุคคลนั้นทำไว้ในใจโดยแยบคายถึงเมตตาเจโตวิมุติโทสะที่ยังไม่เกิด ย่อมไม่เกิดขึ้นและที่เกิดขึ้นแล้วย่อมละได้ และโมหะนั้นจะละได้ด้วย โยนิโสมนสิการ เมื่อบุคคลนั้นทำไว้ในใจโดยแยบคาย โมหะที่ยังไม่เกิด ย่อมไม่เกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้วย่อมละได้”
ธรรมหมวดนี้พระพุทธเจ้าทรงแสดงที่เมืองสาวัตถี พระสูตรแรกแสดงแก่พระเจ้าปเสนทิโกศล ส่วนติตถิยสูตรแสดงแก่พวกภิกษุเพื่อที่จะได้ตอบคำถามของพวกเดียรถีย์อันเป็นนักบวชนอกพระพุทธศาสนา ซึ่งมีสำนักตั้งอยู่ไม่ไกลจากวัดเชตวันเท่าใดนัก หากดูตามแผนที่ในปัจจุบันที่ยังปรากฎหลักฐานของซากโบราณคดี สำนักเดียรถีย์ตั้งอยู่ระหว่างกลางพอดีระหว่างวัดเชตวันและบ้านอนาถปิณฑิกเศรษฐี พระพุทธเจ้าและหมู่ภิกษุคงเดินบิณฑบาตผ่านสำนักนักบวชเหล่านี้แทบทุกวัน
ธรรมนั้นแม้จะเกิดขึ้นต่างยุคต่างสมัย แต่ทว่าเนื้อหาทุกอย่างยังคงใช้ได้แม้ในปัจจุบัน ผู้คนยังเต็มไปด้วยโลภะ(ราคะ) โทสะ โมหะเหมือนในอดีต ดูเหมือนว่ากิเลสเหล่านี้จะเป็นคู่ปรับของมนุษย์ชาติตลอดกาล ผู้ที่เอาชนะได้ก็สบายไป ส่วนผู้ที่ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฎฎสงสารภายใต้กองกิเลสเหล่านี้ก็ต้องทนลำบากกันต่อไป ไฟภายนอกหากควบคุมไม่ได้ก็อาจทำลายล้างได้เพียงแค่ในปัจจุบันชาติเท่านั้น แต่ทว่าไฟภายในหากเกิดขึ้นกับผู้ใดแล้วควบคุมไว้ไม่ได้ก็จะแผดเผาใจไปอีกหลายภพหลายชาติ
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
23/02/54