มนุษย์มีธรรมชาติอย่างหนึ่งคือเวลาที่อยู่ประจำในที่ใดที่หนึ่งนานๆมักจะเกิดความเบื่อหน่าย คนส่วนหนึ่งมักจะหาทางออกโดยการเดินทางท่องเที่ยวไปในที่ต่างๆเพื่อให้ลืมสิ่งที่ประสบพบเห็นอยู่เป็นประจำ ยิ่งในยุคที่บ้านเมืองมีเหตุการณ์วุ่นวาย เดี๋ยวมีการประท้วงรัฐบาลปิดถนนทำให้รถราติดกันเป็นตังเม หันมาดูข่าวทางโทรทัศน์ก็ต้องพานพบกับกรณีความขัดแย้งชายแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน บางครั้งมีการยิงถล่มกันจนวุ่นวายไปหมด คนไทยจึงกลายเป็นคนหงุดหงิดง่าย ไม่พอใจอะไรก็จะต้องเดินขบวนเรียกร้องในสิ่งที่ตนต้องการ เวลาอยู่วุ่นวายใจ ต้องหาทางหนีไกลจากปัญหา
วันหนึ่งเวลาเช้าปลายเดือนมกราคมดวงตะวันโผล่พ้นขอบฟ้าไปนานแล้ว แต่ก็ยังมองไม่เห็นดวงอาทิตย์เพราะมีหมอกหนาบดบัง ทั่วอาณาบริเวณจึงมองเห็นเพียงเงาสลัวของบรรยากาศที่หนาวเหน็บ ในขณะที่นักจาริกแสวงบุญจากที่ต่างๆพากันทยอยเข้าสู่บริเวณวัดพระศรีมหาโพธิเพื่อจะไปสักการะพระพุทธเมตตาภายในพระเจดีย์และสักการะแด่ต้นศรีมหาโพธิอันเป็นสถานที่ที่พระโพธิสัตว์ได้บำเพ็ญบารมีเต็มเปี่ยมบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณกลายเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าศาสดาของชาวพุทธ
รอบๆพระเจดีย์ศรีพุทธคยาเต็มไปด้วยนักจาริกแสวงบุญชาวพุทธจากนานาประเทศ ที่เห็นมากที่สุดคือชาวทิเบต มีทั้งลามะ และพุทธศาสนิกชนทุกเพศทุกวัย ส่วนหนึ่งยึดที่มั่นตามบริเวณรอบๆเจดีย์ บางคนนั่งสวดมนต์ บางคนกราบด้วยอัษฎางคประดิษฐ์หรือ อัษฎางคประณาม คือการแสดงความเคารพด้วยวิธีนอนพังพาบเหยียดมือเหยียดเท้าออกไปเต็มเหยียด ให้อวัยวะแปดแห่งคือหน้าผาก ฝ่ามือทั้งสองข้าง หน้าอก เข่าทั้งสองข้าง และปลายเท้าทั้งสองจดพื้น บางแห่งกล่าวว่าอัษฏางคประณาม คือมือสอง หน้าอกหนึ่ง หน้าผากหนึ่ง ตาสองข้าง คอหนึ่ง กลางหลังหนึ่งรวมเป็นแปด หรืออีกนัยหนึ่งว่ามือทั้งสอง หน้าอก หน้าผาก เข่า เท้า วาจา ใจ รวมเป็นแปด ความหมายสองประการหลังคงเข้าใจได้ยากและเข้าใจได้เฉพาะคนที่ปฏิบัติถึงระดับที่กายกับใจเป็นเอกภาวะแล้ว เมื่อกายกับใจรวมเป็นหนึ่งทุกอย่างก็อยู่เหนือคำอธิบาย
ลามะและชาวทิเบตนิยมกราบด้วยวิธีนี้โดยโน้มไปทั้งตัวครั้งแล้วครั้งเล่าจนเพียงพอแก่ความต้องการ บางคนไหว้เป็นหมื่นเป็นแสนครั้ง ใครที่ได้เห็นแล้วก็ต้องนิยมชมชอบในความศรัทธาของพวกท่าน ชาวพุทธในประเทศไทยไหว้ด้วยวิธีที่เรียกว่าเบญจางคประดิษฐ์คือประกอบด้วยองค์ห้าได้แก่เข่าทั้งสองข้าง มือสองข้างและหน้าผากรวมเป็นห้าพอดี ลามะทิเบตบางรูปไหว้จนเหนื่อย พักเหนื่อยแล้วก็กลับมากราบด้วยอัษฏางคประดิษฐ์ต่อไป
มีคำกล่าวกันว่าชาวทิเบตเป็นชาติที่คิดไวแต่เดินช้า บางคนเดินเวียนรอบเจดีย์ต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง เพราะเดินไปข้างหน้าสามก้าวก็กราบหนึ่งครั้ง ขอทานอินเดียไม่ขอเงินจากลามะทิเบต แต่ชอบขอเงินจากพระไทยและคนไทย นัยว่าคนไทยเป็นคนใจบุญชอบบริจาคทาน
นั่งฟังลามะทิเบตสวดมนต์อย่างเอาจริงเอาจัง และชื่นชมในวิธีการกราบด้วยความศรัทธาเลื่อมใส ใจเราก็พลอยสงบไปด้วยทั้งๆที่ฟังไม่ออก แต่บทสวดมนต์มักจะมีมนต์เสน่ห์ในตัวคือนำไปสู่ความสงบ คนอินเดียและทิเบตมักจะเรียกพระไทยว่า “ภันเตยี” อันมีความหมายว่า “ท่านที่เคารพ” ภาษาทิเบตค่อยๆผุดขึ้นมาในใจอย่างเลือนราง จึงใช้วิธีที่คนไทยถนัดที่สุดคือสยามเมืองยิ้มและทักทายด้วยภาษาทิเบตง่ายๆว่า “ตาชิดาเล” ซึ่งหมายถึง “สวัสดี” ได้ยินภาษาที่คุ้นเคยก็เหมือนได้พบญาติสนิท ชาวทิเบตทุกคนจึงยิ้มทักทายให้เป็นอย่างดี อยู่เมืองไทยยิ้มไม่ค่อยออก แต่พอไปอินเดียกลับมีความรู้สึกว่าเมืองไทยเป็นเมืองที่น่าอยู่ที่สุดในโลก ทิเบตไม่มีประเทศแต่ยังอยู่อย่างคนเข้าใจโลก
หากจะมีคำถามว่า “ทำไมพระพุทธเจ้าทุกพระองค์จึงประสูติ ตรัสรู้ แสดงธรรมและปรินิพพานที่ชมพูทวีปเหมือนกันทุกองค์” คำตอบที่เกิดขึ้นในขณะที่กำลังนั่งสงบจิตอยู่ภายใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์คือ “เพราะชมพูทวีปหรือส่วนหนึ่งของประเทศอินเดียในปัจจุบันมีทุกอย่างที่ขัดแย้งกันอย่างสุดขั้ว มีคนรวยที่สุด อยู่กินอย่างสบาย ในขณะที่ข้างๆบ้านพักของมหาเศรษฐีเหล่านั้นมีขอทานอดอยากนอนหนาวพร้อมที่จะสิ้นใจได้ทุกเวลา ความสุขและความทุกข์มองเห็นได้ในเวลาเดียวกัน ในขณะที่อีกคนกำลังเสวยสมบัติเหมือนอยู่ในทิพยสถาน แต่สองข้างถนนมีคนนอนรอความตายอยู่แทบทุกแห่ง สภาพของการเกิด แก่ เจ็บ ตาย มีให้เห็นได้แทบทุกชั่วขณะเวลา
กาลเวลาแม้จะผ่านพ้นไปหลายพันปี แต่อินเดียยังรักษาสภาพแห่งการดำเนินชีวิตไว้ได้อย่างยอดเยี่ยม ยังใช้ขี้วัวผสมดินและฟางแห้งเป็นฝาผนังบ้าน ใช้ทุ่งนาเป็นห้องส้วม ยังเป็นแขกขี้คุยเหมือนในอดีต นักท่องเที่ยวจากประเทศไทยบางคนแทบจะทนไม่ไหวกับการเข้าห้องน้ำตามสองข้างทางคือรถจอดที่ไหนก็ใช้ที่นั่นเป็นห้องน้ำ ถ้าที่ที่บังที่หลบในทุ่งนาหรือป่าไม้ก็ยังพอทนอายได้บ้าง แต่บางครั้งต้องแวะข้างบ้านชาวนาต้องนั่งก้มหน้าทำภารกิจไปโดยลืมมองไปข้างหน้า พอหันมาอีกทีชาวบ้านต่างมองตาเป็นมันได้อายกันมานักจ่อนักแล้ว แต่คนที่นี่เขาถือเป็นเรื่องธรรมดา
ออกจากบริเวณวัดมหาโพธินั่งดื่มน้ำชาผสมนมหรือที่ชาวอินเดียนิยมเรียกว่า “จายหรือไจ” หลังจากที่ได้สักการะต้นศรีมหาโพธิตามสมสมควรแก่เวลาแล้ว น้ำชาพึ่งพร่องไปครึ่งแก้วก็มีเด็กหญิงพี่น้องสองคน คนโตน่าจะอายุไม่เกินสิบปี ส่วนคนน้องอายุน่าจะประมาณสองถึงสามปี เดินเข้ามาในร้านนั่งลงกับพื้นยื่นมือขอเงินทันทีพลางพูดภาษาที่ฟังได้ว่า “ไปซ่า มหาราชา” หันซ้ายหันขวาเพราะไม่คุ้นกับคำร้องเรียกเช่นนั้น แต่ก็มีเพียงเราคนเดียวในร้าน ด้วยความสงสารและคำเรียกว่า “มหาราชา” ที่ร้องเรียกจากชาวอินเดียโดยตรงฟังดูแล้วมีความรู้สึกว่าเธอน่าจะเข้าใจผิด แต่พยายามอธิบายว่าไม่ใช่อย่างที่เธอคิด เรามีอาชีพเดียวกันคือขอทานเหมือนกัน จะอธิบายอย่างไรเธอก็ยังร้องเรียกคำเดิม ในที่สุดก็ต้องยื่นเงินให้เธอทั้งสองไปคนละสิบรูปี พอได้เงินตามที่หวังแล้วพี่สาวจึงอุ้มน้องสาวเดินจากไป
เหตุการณ์น่าจะจบลงเพียงแค่นั้น แต่อีกไม่นานน้ำชากำลังจะหมดแก้ว พลันก็มีเด็กสาวอีกประมาณสิบกว่าคนเดินเข้ามาพูดคำเดียวกันกับเด็กหญิงคนก่อน พวกเธอยื่นมือมาขอเงินในลักษณะเดียวกัน จึงค่อยๆเดินหลบพวกเธอหนีออกมาจากร้านน้ำชาและมุ่งหน้าไปยังพาหนะที่จอดรออยู่นอกวัด พวกเธอยังเดินตามและพูดคำเดิม สิบกว่าคนหากให้ทุกคนก็ต้องหมดเป็นร้อย แม้จะมีคนพยายามไล่ให้พวกเธอหนีก็ไม่สำเร็จ พวกเธอก็ยังเดินตาม แม้เท้าอีกข้างจะเหยียบที่บันไดรถแล้วก็ตาม พวกเธอก็ยังไม่ละความพยายาม ยังส่งสายตาที่น่าสงสาร บางคนถึงกลับร้องให้ออกมาให้เห็น ในขณะที่อีกฝากของถนนมีขบวนแห่อันโอ่อ่าของมหาเศรษฐี พร้อมๆกับมีตำรวจถือไม้ไล่ต้อนขอทานให้ออกไปห่างๆ ท่านผู้ทรงเกียรติจะได้เดินทางได้อย่างสะดวก คนรวยและคนจนอยู่บนถนนเดียวกันนั่นแล
คนที่นี่เขาบอกว่าหากจะให้เงินแก่ขอทานในอินเดียต้องให้ตอนจะขึ้นรถ เพราะถ้าให้คนหนึ่ง เขาจะไปบอกพวกเพื่อนให้มาขออีก เขาจะบอกต่อกันไปเรื่อยๆ คนพวกนี้ช่างนิสัยดีจริงไม่ยอมเก็บไว้คนเดียวได้แล้วต้องแบ่งปัน
อยู่เมืองไทยดูเหมือนจะมีปัญหาร้อยแปด ปวดเศียรเวียนเกล้ากับเรื่องราวต่างๆ ดูเหมือนทุกอย่างจะเต็มไปด้วยปัญหา แต่พอเดินทางหนีจากความเคยชิน เปลี่ยนสถานที่เห็นสิ่งแปลกๆใหม่ๆในอีกแง่มุมหนึ่ง กลับทำให้คิดถึงเมืองไทยขึ้นมาอย่างช่วยไม่ได้ เมืองไทยน่าอยู่ที่สุด น่ารักที่สุด เราอยู่กับเกลือแท้ๆ ไยต้องไปกินด่างด้วยเล่า สุภาษิตไทยที่ว่าใกล้เกลือกินด่างชัดเจนที่สุด ยามอยู่จริงๆกับเหมือนมีสิ่งปิดบังใจ แต่พอยามจากไกลกลับต้องหวลระลึกถึง
อยู่กับปัจจุบันขณะในประเทศไทยนี่แหละดีที่สุด จะยากดีมีจนผู้คนจะชุมนุมประท้วงเรียกร้องอะไรก็ปล่อยเขาไป ทุกคนมีความเห็นแตกต่างกันได้ ลมหายใจเข้าออกคือปัจจุปปันภาวะ เป็นอานาปานสติกรรมฐาน เมื่อจิตกับกายมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกัน จิตสงบกายสบายเข้าใจสภาพของโลกที่จะต้องมีความแปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา จิตมนุษย์ก็เฉกเช่นเดียวกันมีขึ้นมีลง มีหงุดหงิดมีฟุ้งซ่าน ไปอินเดียกลับมาครั้งนี้รู้สึกรักประเทศไทยมากยิ่งขึ้น ถึงจะมีปัญหาอย่างไรก็อยู่กันมาได้ ประเทศไทยนี่แหละเป็นเมืองที่น่าอยู่ที่สุดในโลก
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
10/02/54