หากจะมีใครสักคนพยายามเจาะภูเขาเพื่อสร้างเป็นถ้ำที่อยู่อาศัย ก็คงไม่น่าแปลกใจถ้าภูเขานั้นเป็นภูเขาดิน แต่ถ้ามีคนคิดจะเจาะภูเขาหินให้กลายเป็นวิหารเป็นวัดที่มีขนาดความยาวสิบเมตร กว้างห้าเมตร สูงอีกสิบเมตร หากอยู่ในสมัยปัจจุบันคงไม่ใช่เรื่องที่ยากนักเพราะมีเครื่องมือที่ทันสมัย แต่หากจะบอกว่าการเจาะภูเขานี้เกิดขึ้นมานานกว่าสองพันปีแล้ว ไม่ได้มีเพียงแค่ถ้ำเดียวแต่มีถึงสามสิบถ้ำก็ต้องบอกว่านี่คือสิ่งมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นจากฝีมือมนุษย์โดยแท้
นานมาแล้วเคยฟังเรื่องเล่าเกี่ยวกับชายชราคนหนึ่งกำลังขมักเขม้นขุดภูเขาที่หน้าบ้าน เขาสร้างบ้านหันหน้าเข้าหาภูเขาและลงมือขุดเจาะภูเขาเพราะภูเขานั้นขวางทางเดิน ตั้งแต่เช้าเขาและลูกชายจะถือจอบและเครื่องมือไปที่ภูเขาหน้าบ้านจากนั้นก็ลงมือขุดภูเขาไปเรื่อยๆ ลูกชายก็ขนหินไปทิ้งอีกทาง เหนื่อยก็พัก หายเหนื่อยก็ลงมือขุดต่อไป ในที่สุดภูเขาหินค่อยๆกลายเป็นถ้ำ นั่นเป็นเพียงเรื่องเล่าต่อๆกันมา แต่หากจะมีใครสักคนลงมือเจาะภูเขาหินทั้งลูกให้กลายเป็นวิหาร เป็นกุฎิที่พักสงฆ์และกลายเป็นวัดขึ้นมา ถ้ำนั้นก็ต้องมีคุณค่าคู่ควรกับการกลายเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกอย่างไม่ต้องสงสัย
วันนั้นอากาศร้อนมากจึงค่อยๆเดินไปตามทางสายเล็กๆที่มีขั้นบันไดสลับเป็นช่วงๆ บางแห่งทอดยาว บางแห่งสูงชันเหงื่อไหลโทรมกายแต่ทว่าหากเพ่งมองไปเบื้องหน้าไม่ไกลนักก็จะมองเห็นทิวถ้ำเป็นช่องๆอยู่ท่ามกลางเชิงเขา ทำให้ต้องข่มความเหนื่อยเพื่อมุ่งหน้าต่อไปให้ถึงจุดหมายนั่นคือถ้ำอชันตา รัฐมหาราษฎร์ อินเดีย สิ่งมหัศจรรย์ของโลกแห่งหนึ่ง อันเป็นถ้ำแห่งพระพุทธศาสนา
ตามหนังสือ Ajanta ระบุว่า “ประมาณพุทธศตวรรษที่สามพระพุทธศาสนาได้เจริญรุ่งเรืองอย่างมากในอินเดียและได้แพร่กระจายไปยังนานาประเทศ มีพระภิกษุกลุ่มหนึ่งพักอยู่ตามภูเขาและป่าไม้เพื่อหาความสงบ ได้สร้างที่พักขึ้นข้างๆภูเขาในที่สุดก็ได้ลงมือเจาะภูเขาเพื่อสร้างเป็นที่พัก เจาะภูเขาหินจนกลายเป็นถ้ำ ในยุคแรกเป็นพระภิกษุในนิกายหินยายหรือเถรวาท เจาะภูเขาสร้างเป็นวิหารได้ห้าถ้ำคือถ้ำหมายเลข 9-10-12-13-30"
ถ้ำหมายเลข 9 ซึ่งเป็นถ้ำในยุคแรกของภูเขาแห่งนี้ ภายในเป็นเจดีย์ทรงกลม ถ้ำนี้สร้างขึ้นโดยพระสงฆ์ในนิกายหินยานหรือเถรวาทประมาณพุทธศตวรรษที่สาม มีรูปพระพุทธเจ้าสองพระองค์สถิตอยู่ตรงประตูทางเข้าถ้ำ ภายในมีเจดีย์รูปทรงสาญจิที่สวยงาม หลังคาประดับด้วยเสาเป็นโดมมุมโค้ง ข้างๆมีเสาที่แกะจากหินตามแนวยาวของถ้ำ ตามผนังมีภาพวาดซึ่งส่วนหนึ่งได้ลบเลือนไปเกือบหมดแล้ว มองด้วยตาเปล่าในวันนั้นดูไม่ออกว่าเป็นภาพอะไรบ้าง แต่สันนิษฐานว่าเป็นภาพเกี่ยวกับพุทธประวัติ ส่วนถ้ำที่เก่าแก่ที่สุดคือถ้ำหมายเลขสิบ ภายในใช้เป็นพระอุโบสถที่มีขนาดใหญ่โตมากออกแบบคล้ายถ้ำที่ 9แต่ทั้งภาพวาด และหินแกะสลัก ได้เสื่อมโทรมลงไปมากแล้ว แสดงว่าการเริ่มต้นเจาะภูเขาครั้งแรกเพื่อต้องการสร้างเป็นพระอุโบสถเพื่อใช้เป็นที่ประกอบพิธีกรรม จากนั้นจึงสร้างเป็นวิหารและสร้างเป็นกิฏิที่พักสงฆ์ในถ้ำในช่วงต่อมา
การถ่ายภาพที่ถ้ำอชันตายากมาก เพราะมีข้อห้ามใช้ไฟแฟ็ช เมื่อเดินเข้าไปในถ้ำที่ค่อนข้างมืดมีเพียงแสงที่สาดส่องจากปากทางเข้าถ้ำเท่านั้น ภาพบางภาพจึงไม่สามารถถ่ายได้ นัยว่าไฟจากกล้องถ่ายภาพจะทำให้ภาพจิตรกรรมฝาผนังเสียหาย แต่หากต้องการถ่ายภาพจริงๆก็ต้องรอจนกระทั่งนักท่องเที่ยวหนีหมดแล้ว อาบังที่เฝ้าถ้ำก็จะเดินมาใกล้ๆกระซิบบอกด้วยคำสั้นๆที่เดาเอาว่าให้ถ่ายได้ พลางยื่นมาขอเงินจากผู้ต้องการหนึ่งภาพสิบรูปี ทุกคนต่างก็ไม่ต้องการทำลายความงามทางศิลปะอันล้ำค่าเหล่านี้ แต่ก็อยากจะได้ภาพ เพราะไม่แน่ใจว่าอีกเมื่อใดจะได้กลับมาเยี่ยมชมถ้ำเหล่านี้อีก
ความจริงถ้ำเหล่านั้นเรียงรายเป็นแนวยาวตามแนวแห่งภูเขาเริ่มต้นจากถ้ำที่หนึ่งไปสิ้นสุดที่ถ้ำหมายเลขยี่สิบเก้า บางถ้ำกำลังซ่อมแซมจึงเข้าชมไม่ได้ วันนั้นมีเวลาเพียงสี่ชั่วโมงจึงได้ชมเพียงไม่กี่ถ้ำ ไม่มีเวลาฟังคำอธิบายของวิทยากร เพราะห่วงแต่เรื่องถ่ายภาพอย่างเดียว พยายามถ่ายทุกอย่างที่ขวางหน้า เท่าที่กล้องจะทำหน้าที่ได้ เดินเข้าเดินออกถ้ำแต่ละแห่งจนจำไม่ได้ว่าถ้ำไหนว่าด้วยเรื่องอะไรบ้าง แต่สิ่งหนึ่งที่ได้สัมผัสคือความเพียรพยายามในการขุดเจาะถ้ำของพระภิกษุสงฆ์ในอดีตที่เปี่ยมล้นไปด้วยศรัทธาในคำสอนของพระพุทธศาสนา ถ้ำบางแห่งใช้เวลาเจาะนานถึงหกสิบปี จึงได้ห้องโถงใหญ่ที่ใช้เป็นวิหารเจดีย์ อารามได้อย่างสมบูรณ์
มีบันทึกไว้ในหนังสือ Ajanta & Ellora: Cave of Ancient India ระบุว่า “อชันตามีถ้ำที่เป็นเจดีย์เป็นวิหารหรือวัดห้าแห่งได้แก่ถ้ำหมายเลข 8-9-10-12-13 ซึ่งเป็นถ้ำในยุคแรกๆของพระพุทธศาสนาในฝ่ายหินยาน หากดูตามแผนผังถ้ำเหล่านี้จะอยู่ช่วงกลางภูเขา ต่อมาในยุคหลังเมื่อพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานจึงได้สร้างขยายออกทั้งสองข้าง จนกลายเป็นถ้ำที่สำคัญของพระพุทธศาสนาจำนวนสามสิบถ้ำ แต่บางตำราบอกว่ามีเพียงยี่สิบเก้าถ้ำ วันนั้นถ้ำสุดท้ายคือถ้ำหมายเลขยี่สิบหกเท่านั้น เพียงเท่านี้ก็ละลานตากลับความมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นจากฝีมือมนุษย์แล้ว ถ้ำเหล่านี้ใช้เวลาสร้างเป็นเวลาเกือบพันปี (จากประมาณพุทธศักราช 343 -1193) แสดงว่าค่อยๆเจาะไปเรื่อยๆคนหนึ่งสิ้นชีวิตแต่คนอีกรุ่นก็สืบทอดกันต่อไป คนรุ่นเก่าจากไปคนรุ่นใหม่ก็เสริมต่อ
ในระยะแรกๆ จากพุทธศตวรรษที่ 3-7 อชันตามีถ้ำเพียง 5 ถ้ำ เป็นถ้ำเจดีย์ 2 ถ้ำคือถ้ำที่ 9 และ11 ส่วนถ้ำที่ 8-12-และ 13 เป็นถ้ำที่ใช้เป็นวิหาร ถ้ำเหล่านี้จึงเป็นถ้ำที่เก่าแก่กว่าถ้ำอื่นๆ และเป็นถ้ำที่เกิดขึ้นจากฝีมือของพระภิกษุในนิกายเถรวาท
ประมาณพุทธศตวรรษที่ 7 ถ้ำอชันตาได้เสื่อมโทรมลงและถูกทอดทิ้งปล่อยให้รกร้างว่างเปล่า อยู่เป็นเวลานานถึงสี่ศตวรรษ จนกระทั่งประมาณพุทธศตวรรษที่ 10 ในราว พ.ศ. 993-1193 เมื่อพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน มีอำนาจมากขึ้น จึงมีการเจาะถ้ำที่อชันตาเพิ่มขึ้นอีก 24 ถ้ำ โดยทำเป็นถ้ำเจดีย์ 2 ถ้ำคือถ้ำที่ 19 และ 26 ส่วนถ้ำที่เหลือเป็นถ้ำวิหารและใช้เป็นที่พักของพระสงฆ์ พระพุทธศาสนานิกายมหายาน ได้มาฟื้นฟู ถ้ำอชันตาขึ้นใหม่ ทำให้ ถ้ำอชันตาแห่งนี้กลายเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาอันยิ่งใหญ่อีกแห่งหนึ่งในดินแดนอินเดียตะวันตก
หากดูตามประวัติศาสตร์ก็ต้องบอกว่าในยุคแรกพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทเจริญรุ่งเรืองและเริ่มเจาะภูเขาแต่ทำได้ไม่มากนัก เมื่อพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานมีอำนาจจึงได้ทำการขุดภูเขาต่อจนกลายเป็นถ้ำที่สำคัญของพระพุทธศาสนา แสดงว่าพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทเจริญรุ่งเรืองได้ประมาณเจ็ดร้อยปี จากนั้นก็ค่อยๆเลือนหายไปจากอินเดีย พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานก็เฉกเช่นเดียวกันเจริญในอินเดียได้ไม่นานเหมือนกัน ในที่สุดก็หายสาบสูญไป คงเหลือไว้แต่ถ้ำที่หลบซ่อนอยู่ภายใต้ภูเขากลายเป็นหลบซ่อนของสัตว์ป่านานาชนิดหลายร้อยปี
ขากลับแม้จะยังอยากจะอยู่ต่อ แต่ก็ได้แต่เพียงหันหลังกลับไปมองด้วยความอาลัย นอกจากนั้นยังต้องเผชิญกับนักขายชั้นเยี่ยมชาวภารตะ ส่วนมากจะเป็นของที่ระลึกเช่นหินจากในถ้ำไม่รู้ว่าหินจริงหรือปลอม แต่สิ่งหนึ่งที่จะต้องซื้อคือหนังสือประวัติและภาพเกี่ยวกับถ้ำ วันนั้นนักขายชั้นยอดกับนักซื้อชั้นเยี่ยมมาพบกัน คนขายบอกราคาสามเล่มสองพันรูปี แต่คนซื้อตั้งราคาต่อรองไว้ที่สองร้อยรูปี หากดูตามสถานการณ์คงไม่มีทางตกลงกันได้อย่างแน่นอน แต่ที่อินเดียสิ่งที่คิดว่าแน่นอนอาจจะไม่แน่นอนก็ได้ พอแขกคนขายจะเดินหนีเราก็เพิ่มราคา คนขายก็ค่อยๆลดราคาลงมาเรื่อยๆจนเหลือแปดร้อยรูปี ในที่สุดก่อนจะขึ้นรถกลับจึงทิ้งไพ่ใบสุดท้ายเป็นห้าร้อยรูปี แขกคนขายลดลงมาเหลือเจ็ดร้อย ในขณะที่ขาข้างหนึ่งก้าวขึ้นรถได้ยินเสียงคนขายบอกว่าหกร้อย หนังสือสามเล่มจึงอยู่ในมือ
ชายชรากับลูกชายที่พยายามเจาะภูเขาคนนั้น เมื่อมีคนถามว่าทำไมไม่สร้างถนนอ้อมภูเขาไป ซึ่งน่าจะสะดวกและง่ายกว่า เขาตอบคำถามนั้นว่า “ภูเขามีอยู่เท่าเดิมไม่มีโอกาสงอกขึ้นมาได้อีก แต่ข้าพเจ้ามีลูกหลานสืบต่อกันไปอีกหลายชั่วอายุคน ลูกหลานเหล่านั้นหากไม่ทอดทิ้งงานของบรรพชนในที่สุดก็จะสามารถเจาะภูเขาทะลุจนได้” เขาเปลี่ยนอุปสรรคเป็นพลังได้อย่างยอดเยี่ยม
งานใดก็ตามหากกระทำด้วยความศรัทธาเลื่อมใส ไม่ทอดทิ้ง ไม่กลัวอุปสรรคย่อมจะนำไปสู่ความสำเร็จได้ อุปสรรคและปัญหามีอยู่ทุกแห่ง บางคนอาจท้อแท้สิ้นหวังเมื่อประสบกับอุปสรรค แต่ถ้าหากเราไม่ยอมแพ้อุปสรรคและปัญหาก็จะกลายเป็นพลังที่จะนำไปสู่ความสำเร็จได้ ไม่รู้ใครพูดไว้ว่า “อุปสรรคและปัญหาคือที่มาแห่งความสำเร็จ” ทั้งชายชราขุดภูเขาและพระสงฆ์ที่สร้างสรรคถ้ำอชันตาเป็นสิ่งที่ยืนยันถึงคำกล่าวนี้ได้เป็นอย่างดี ภูเขาทั้งลูกยังสามารถเจาะและสร้างเป็นวัดและวิหารได้
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
08/02/54
เอกสารอ้างอิง
Abdul Nasir Almohammadi. Ajanta & Ellora: Cave of Ancient India.New Delhi: Mital Publications,2004.
Debala Mitra.Ajanta.New Delhi: The Director General Archaeological Survey of India, 2004.