การเดินทางไกลด้วยรถยนต์ในช่วงระยะเวลาที่จำกัดเป็นสิ่งที่ที่น่ากลัวอย่างยิ่ง เพราะต้องแข่งกับเวลาเสี่ยงกับการเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายที่สุด หลายคนเชื่อมั่นตัวเองมากเกินไปว่าตัวเองมีความชำนาญในการขับขี่รถยนต์ แต่บางครั้งอุบัติเหตุก็ไม่ได้เกิดขึ้นจากตัวเรา แต่เกิดจากคนอื่น ในช่วงปีใหม่หลายท่านต้องสังเวยชีวิตเพราะมีคนขับรถชนเป็นต้น จุดหมายในการเดินทางแม้จะมีเหมือนกันแต่คนที่ไปถึงจุดหมายด้วยความปลอดภัยนั้นอาจจะไม่ได้มีกับทุกคนเสมอไป
วันอาทิตย์ที่ผ่านมามีภารกิจที่วัดเขาสุกิม ตำบลเขาบายศรี อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ในงานทำบุญเจริญอายุครบรอบ 63 ปี และฉลองปริญญาศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์พระญาณวิลาศ(ดร.บุญ สิริปุญโญ) เจ้าอาวาสวัดเขาสุกิม เดินทางตั้งแต่เช้าคนขับและคนโดยสารต่างก็ไม่ชำนาญเส้นทางต้องคอยถามคนข้างทางไปตลอด บางครั้งหลงทางต้องย้อนกลับมาเริ่มต้นใหม่ สุภาษิตโบราณบอกว่า “หลงทางเสียเวลา” เห็นชัดเจนในวันนี้ มัวแต่หลงทางจึงเลยเวลาที่กำหนดไว้ไปเกือบไม่ทันงาน
วัดเขาสุกิมนั้นผู้ที่ริเริ่มในการก่อสร้างนั้นคือพระวิสุทธิญาณเถร(หลวงพ่อสมชาย ฐิตวิริโย) สภาพยังเป้นป่ารกชัฏเต็มไปด้วยสัตว์ป่านานาชนิด มีบันทึกในเว็บไซต์ของวัดเขาสุกิมเกี่ยวกับพระวิสุทธิญาณเถรกับกำเนิดวัดเขาสุกิมว่า “เมื่อวันที่ 4มกราคม พุทธศักราช 2507คุณโยมห่อ สูญญาจารย์และคุณโยมขวัญ ใจงาม ได้ไปกราบอาราธนานิมนต์ หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณรจากวัดเนินดินแดง จำนวน 9 รูป เพื่อมาเจริญพระพุทธมนต์ ณ ที่หมู่บ้านคลองพลูกระต่อย (ปัจจุบันเป็นบ้านเขาสุกิม) ตำบลเขาบายศรี อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ประชาชนชาวบ้านเห็นว่าเป็นโอกาส ดีจึงได้กราบอาราธนานิมนต์หลวงปู่สมชายู ฐิตวิริโย พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณรให้ขึ้นมาพักบำเพ็ญบนเขาสุกิม เพราะ เห็นว่าสถานที่แห่งนี้มีความสงบวิเวกน่าจะเป็นสถานที่บำเพ็ญสมณธรรมได้ หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณร เมื่อได้ขึ้นมาถึงบนเขาสุกิมแล้ว ก็พิจารณาเห็นว่าบนภูเขา แห่งนี้เหมาะแก่การบำเพ็ญสมณธรรมเป็นอย่างยิ่ง คือมี ลักษณะเป็นสภาพป่าดงดิบหนาทึบเต็มไปด้วยต้นไม้ขนาดใหญ่ๆ เงียบ สงบ สงัด อากาศดี น้ำก็อุดมสมบูรณ์ และในครั้งนั้นก็ได้มีพระภิกษุสามเณรที่สนใจในการปฏิบัติธรรม ติดตามขึ้นมาด้วยจำนวน 4รูป มีพระสองรูป สามเณรสองรูป รวมกับหลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ด้วย จึงเป็นห้ารูป มีอุบาสกอุบาสิกาติดตามขึ้นมาปฏิบัติธรรมด้วยจำนวนสิบคน ในระยะแรกๆ คณะพระภิกษุสามเณรและผู้ปฏิบัติได้ปักกลดภาวนาอยู่ตามโคนไม้บ้าง เงื้อมหินบ้าง ซึ่งมีอยู่ทั่วไปบนภูเขานั้น ทุกท่านทุกองค์ก็ได้ตั้งหน้าตั้งตาประพฤติปฏิบัติ กันอย่างจริงจังเป็นการทดลองชิมลางสถานที่อยู่หลายเดือน รู้ สึกว่าเป็นที่พอใจแก่พระภิกษุสามเณร และผู้ปฏิบัติธรรมกันทุกท่านทุกคน เพราะว่าสถานที่เป็นสัปปายะอันควรแก่การบำเพ็ญสมณธรรม ” นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดวัดเขาสุกิม ซึ่งปัจจุบันก็ยังอยู่กลางแมกม่าเขาเหมือนในอดีต ต้นไม้บางต้นใหญ่โตขนามสามคนโอบ นั่นเพราะการที่มีพระสงฆ์คอยดูแลรักษา ชาวบ้านกลัวบาปไม่กล้าตัดต้นไม้ มีวัดป่าก็จะมีต้นไม้เหลือ
รถวิ่งอยู่บนถนนจากกรุงเทพมุ่งหน้าสู่อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี งานเริ่มเวลา 10.30 น. ก่อนออกเดินทางก็ไม่ได้สอบถามว่าคนขับรู้จักเส้นทางดีหรือไม่ แต่พอขึ้นนั่งบนรถเรียบร้อยแล้วหลวงพ่อที่เดินทางไปด้วยกันถามว่าทางที่สะดวกที่สุดไปทางไหน การเดินทางครั้งนี้ทั้งคนขับและผมไม่รู้จักเส้นทาง สรุปว่าบนรถคันนั้นสามคนไม่มีใครชำนาญเส้นทางสายนี้เลย คนขับจึงต้องคอยจอดรถถามทางไปตลอดทาง หน้าที่ของหลวงพ่อทั้งสองจึงต้องคอยดูป้ายบอกทางไปโดยตลอด หากออกนอกเส้นทางเมื่อไหร่ก็ต้องหาทางวกกลับเข้ามาให้ได้
ยิ่งเวลาตามกำหนดการใกล้เข้ามา รถจึงต้องวิ่งเร็วขึ้นโดยมีจุดหมายที่วัดเขาสุกิม ตามถนนยังมีชาวบ้านขับรถสวนไปมา มีครั้งหนึ่งขณะที่รถกำลังตะบึงมาด้วยความเร็วน่าจะเกือบสองร้อยกิโลเมตรต่อชั่วโมง ข้างหน้ามีรถกระบะคันนหนึ่งเปิดไฟเลี้ยวขวาอยู่กลางถนน คนขับเบรคอย่างแรงกว่ารถจะหยุดได้ทุกคนก็ใจหายใจคว่ำ หลวงพ่อที่นั่งไปด้วยกันปาดเหงื่อที่หน้าผากและหายใจโล่ง ทั้งๆที่ในรถก็เปิดแอร์ แต่เหงื่อเจ้ากรรมมาจากไหนก็ไม่ทราบ จากนั้นท่านจึงบอกว่า “ไปถึงช้าดีกว่าไปไม่ถึง”ไม่ต้องรีบร้อนแล้วจะเกินไปกี่นาทีอย่าไปสนใจ ค่อยๆไปดีกว่า ผมยังไม่อยากเสียชีวิตตอนนี้ ยังมีสามเณรที่จะต้องดูแลอีกหลายรูป ผิดพลาดเพียงครั้งเดียวในชีวิตบางทีอาจจะไม่มีโอกาสได้แก้ตัวอีกเลย
จากนั้นจึงค่อยๆไปอย่างที่หลวงพ่อว่า นี่ยังดีที่ตั้งสติทันและมีหลวงพ่อร่วมเดินทางไปด้วย หากทั้งคนโดยสารและคนขับเมาทั้งคู่จะเกิดอะไรขึ้น คนขับคงใจร้อนอาจลงไปด่าคนขับรถกระบะคันนั้นก็ได้ หรือไม่อาจเบรคไม่ทันจนเกิดการชนกันเป็นเหตุให้เสียชีวิตทั้งหมด ชีวิตได้มาแสนยาก แต่การรักษาชีวิตให้อยู่ในสภาพปกติสมบูรณ์ยากยิ่งกว่า
ชีวิตคือการเดินทาง พระพุทธศาสนาได้แสดงทางที่เป็นทางยอดเยี่ยมที่นักนักศึกษาและปฏิบัติธรรมต้องเรียนรู้ก่อนลงมือปฏิบัติเรียกว่าทางสายเอกดังที่ปรากฎในพรหมาสูตร สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค(15/754/184)ความว่า "สติปัฏฐานสี่เป็นทางอันเอก ทางนี้เป็นที่ไปอันเอก เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อล่วงความโศกและความร่ำไร เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุธรรมที่ถูกต้อง เพื่อทำนิพพานให้แจ้งคือสติปัฏฐานสี่ประการได้แก่การพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ... พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ... พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียทางนี้เป็นที่ไปอันเอก เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อล่วงความโศกและความร่ำไร เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์ และโทมนัส เพื่อบรรลุธรรมที่ถูกต้อง เพื่อทำนิพพานให้แจ้ง” นักปฏิบัติธรรมชาวพุทธก็มีทางที่จะต้องเดิน มีเป้าหมายสูงสุดของการเดินทางเหมือนกัน แต่เป็นการเดินทางภายใน ไม่ต้องไปไหนอยู่กับจิตใจตนเองก็เป็นการเดินทางที่ยอดเยี่ยมแล้ว ส่วนใครจะไปถึงเป้าหมายหรือไม่นั้นเป็นเรื่องส่วนบุคคล
เป้าหมายแม้จะสำคัญแต่ช่วงเวลาระหว่างการเดินทางไปสู่เป้าหมายก็สำคัญไม่น้อยไปกว่า มีเป้าหมายไว้จะได้รู้ว่าจะเดินไปทางไหนเป้าหมายจึงเหมือนเข็มทิศคอยชี้บอกไม่ให้ออกนอกทาง ส่วนจะเดินทางไปอย่างไรเป็นวิธีการของแต่ละคนที่จะต้องศึกษาหาทางกันเอาเอง หลายท่านละเลยวิธีการมุ่งแต่จะไปให้ถึงเป้าหมายอย่างเดียว บางท่านจึงไม่มีโอกาสไปถึงเป้าหมายเพราะเกิดอุบัติเหตุในระหว่างการเดินทาง บางครั้งการเดินทางของชีวิตก็ต้องช้าลงบ้าง ชีวิตมีค่ายังมีเวลาเริ่มต้นใหม่ แม้จะไปถึงช้าบ้างก็ยังดีกว่ายังไม่เริ่มเดินทาง
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
10/01/54
ข้อมูลเกี่ยวกับวัดเขาสุกิมดูได้จาก: http://www.khaosukim.org/