ปัญหาอย่างหนึ่งที่ทำให้โลกมนุษย์วุ่นวายร้อนรนสับสนเข่นฆ่ากันไม่เว้นแต่ละวัน พื้นฐานของการทำลายล้างนี้ส่วนหนึ่งมาจาก “ความโกรธ”อันเป็นจุดเริ่มต้นของความอาฆาต พยาบาทและในที่สุดก็นำไปสู่การเข่นฆ่า การทำลายล้าง ความโกรธจึงเป็นเหมือนไฟที่พร้อมจะทำลายล้างโลกมนุษย์ได้ทุกเมื่อ
ความโกรธนั้นมิใช่จะเกิดกับมนุษย์เท่านั้น แม้แต่เทวดาที่เราถือว่าเป็นผู้มีคุณธรรมคือความละอายและเกรงกลัวต่อบาป(หิริโอตตัปปะ)ก็ยังมีความโกรธเกือบจะฆ่าพระภิกษุ แต่หักห้ามยับยั้งชั่งใจตัวเองได้เพราะมีคุณธรรมประจำใจ ไม่ลุอำนาจแก่ความโกรธ
มีเรื่องเล่าไว้ในอรรถกถาขุททกนิกาย ธรรมบท เล่ม 1 ภาค 2 ตอน 3 หน้า 432 มีเนื้อความโดยสรุปว่า ครั้งหนึ่งในสมัยพุทธกาล มีภิกษุชาวเมืองอาฬวีรูปหนึ่งต้องการสร้างกุฎี ภาษาบาลีกุฎีเป็นอิตถีลิงค์(เพศหญิง)แปลว่า กระท่อม ห้องเล็ก เพิง พอเป็นภาษาไทยส่วนนิยมเขียนกุฏิ ภิกษุนั้นเห็นต้นไม้ต้นหนึ่งสวยดีจึงเริ่มจะตัดไม้ต้นนั้น เทพดามีลูกอ่อนองค์หนึ่งเกิดที่ต้นไม้นั้นอุ้มบุตรออกมายืนอ้อนวอนว่า "พระคุณเจ้าขอท่านอย่าได้ตัดวิมานของข้าพเจ้าเลย,ข้าพเจ้าไม่มีที่อยู่ไม่อาจอุ้มบุตรเที่ยวเร่ร่อนไปได้"ภิกษุนั้นไม่ฟังคำขอร้องยังคงตัดต้นไม้ต่อไป เทวดาคิดว่าพอภิกษุเห็นเด็กทารกเข้าคงเกิดความสงสารจึงได้ลูกออกมายืนยิ้มบนต้นไม้ ภิกษุยกขวานขึ้นสุดหล้าพอเห็นลูกเทวดาก็ยั้งขวานไว้ไม่ทัน คมขวานแทรกลงบนเนื้อไม้ไพล่ไปตัดแขนบุตรเทวดาขาดสะบั้นไป เทวดาองค์นั้นโกรธมากคิดจะฆ่าภิกษุนั้นให้ตายคามือเพราะความแค้น แต่พลันได้คิดว่า "ภิกษุนี้เป็นผู้มีศีล ถ้าเราฆ่าภิกษุนี้เสีย ก็จะต้องเป็นผู้ไปนรก ภิกษุนี้มีเจ้าของเราควรไปแจ้งให้เจ้าของเขาทราบก่อนจึงได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า
พระศาสดาทรงสดับเรื่องนั้นแล้วตรัสว่า " ถูกแล้ว ๆ เทพดาเธอข่มความโกรธที่เกิดขึ้นอย่างนั้นไว้อยู่ เหมือนห้ามรถกำลังหมุนไว้ได้ชื่อว่าทำความดีแล้ว " จากนั้นแสดงธรรมสั้นๆว่าเป็นภาษาบาลีว่า
โย เว อุปฺปติตํ โกธํ รถํ ภนฺติ ธารเย
ตมหํ สารถิ พฺรูมิ รสฺมิคฺคาโห อิตโร ชโน ฯ
แปลเป็นไทยว่า "ผู้ใดแล พึงสะกดความโกรธที่พลุ่งขึ้นเหมือนคนห้ามรถที่กำลังแล่นไปได้ เราเรียกผู้นั้นว่า “สารถี” ส่วนคนนอกนี้เป็นเพียงผู้ถือเชือก" ในอดีตใช้รถม้าต้องถือเชือก ปัจจุบันน่าจะหมายถึงพวงมาลัย
ความโกรธจึงเหมือนรถที่วิ่งมาด้วยความเร็ว ผู้หักห้ามความโกรธได้จึงเปรียบเหมือนรถที่มีเบรคดีในที่นี่เบรคเทียบได้กับสติคือความรู้ตัวนั่นเอง คนเช่นนี้จึงควรเป็นนายสารถีนำพาชีวิตไปสู่แนวทางที่ถูกต้อง ส่วนผู้ที่ขาดสติก็เหมือนกับคนที่นั่งหลังพวงมาลัยแล้วปล่อยให้รถที่เบรคไม่ดีวิ่งไปตามยถากรรม รถจะดีต้องมีเบรคดี คนจะดีต้องมีสติคอยกำกับ
เมื่อพระพุทธองค์ไต่ถามได้ความชัดเจนแล้วจึงได้บัญญัติวินัยในภูตคามสิกขาบทว่า “ภิกษุใดตัดต้นไม้ ภิกษุนั้นต้องอาบัติปาจิตตีย์” ภายหลังได้เพิ่มเป็นพืชพันธุ์ุอื่นๆด้วยว่า "ภิกษุพรากของเขียวซึ่งเกิดอยู่กับที่ให้หลุดจากที่ ต้องปาจิตตีย์" วินัยข้อนี้ถือได้ว่าเป็นการเอื้อต่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วย เพราะเมื่อพระตัดต้นไม้เองไม่ได้ ป่าก็เหลือ พระที่บำเพ็ญเพียรในป่าจึงเป็นเพียงผู้อาศัยป่าและกลายเป็นผู้รักษาป่าไปในขณะเดียวกันด้วย
หลายคนคงสงสัยว่าเทวดาก็มีบุตรหรือ แล้วบุตรของเทวดาเป็นอย่างไร มีหน้าตาเหมือนมนุษย์หรือไม่ เทวดามีหลายระดับเหมือนกับมนุษย์มีหลายฐานะ เทวดาที่สิงสถิตย์อยู่ที่ภาคพื้นดินเรียกว่าภูมิเทวดา เทวดาที่สิงสถิตย์อยู่ที่ต้นไม้เรียกว่ารุกขเทวดา ในอากาสเรียกว่าอากาสเทวดา ในภพภูมิที่สูงขึ้นไปตามตามลำดับก็มีชื่อเรียกตามภูมิที่เทวดาสิงสถิตย์คือจาตุมมหาราชิกา ยามา ตาวดึงส์ ดุสิต ปรนิมมิสวัสดี จากนั้นก็จะเป็นพรหมโลก เทวดาที่ไปฟ้องพระพุทธเจ้าในเรื่องนี้เป็นรุกขเทวดา ยังมีความโกรธ แต่สามารถหักห้ามความโกรธเอาไว้ได้ เทวดาก็เป็นสัตว์เกิดร่วมโลกเราเหมือนกัน เทวดามิใช่พระอรหันต์ จึงโกรธเป็นเหมือนมนุษย์ แต่ที่ต่างกันคือมนุษย์บางคนเท่านั้นที่หักห้ามความโกรธได้ แต่เทวดาโดยทั่วไปแม้จะโกรธแต่ก็ยับยั้งไว้ได้
นักเรียนนักศึกษาตีกัน เพราะอยู่กันคนละสถาบัน แฟนบอลชาวไทยตีกันเพราะไม่พอใจกรรมการตัดสิน และข่าวอื่นๆมีให้เห็นแทบทุกวัน การลงมืออาจเริ่มต้นด้วยหมัด เท้า เข่าศอกหรือสรรพอาวุธที่มีในกาย จากนั้นพัฒนาเป็นอาวุธ และอาจจะลุกลามไปถึงระดับประเทศใช้ระเบิดปรมาณูยิงถล่มกันทำให้ชีวิตผู้บริสุทธิ์ล้มตายเป็นจำนวนมาก ปัญหาทั้งหลายส่วนหนึ่งเริ่มต้นมาจากความโกรธ
ครั้งหนึ่งหลวงปู่ดุลย์ อตุโล หรือพระราชวุฒาจารย์วัดบูรพาราม จังหวัดสุรินทร์ ศิษย์รุ่นแรกๆของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ชาวบ้านต่างเชื่อกันว่าท่านเป็นพระอรหันต์หมดกิเลสแล้ว แต่หลวงปู่ไม่เคยยอมรับ หนักๆเข้าจึงมีคนไปถามปัญหาที่อาจจะระบุได้ว่าหลวงปู่เป็นพระอรหันต์ แต่ท่านก็บ่ายเบียงทุกครั้งไป เข้าลักษณะที่ว่า “คนจริงไม่พูด คนพูดไม่จริง”ครั้งหนึ่งเมื่อมีคนไปถามว่า"หลวงปู่ยังมีความโกรธอยู่ไหม" หลวงปู่ตอบว่า “มี แต่ไม่เอา” ช่างตอบได้ชัดเจนถึงใจดีแท้
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
เรียบเรียง
23/02/53