วันศุกร์ตั้งแต่เช้าเสียงเด็กเล่นสนุกสนามที่โรงเรียนข้างวัดดังสนั่นลั่นวัด เนื่องเพราะโรงเรียนกับวัดอยู่ติดกันมีเพียงถนนเล็กๆกั้นกลางเท่านั้น โรงเรียนจัดกิจกรรมวันเด็กแห่งชาติมาตั้งแต่เช้า มีแข่งกีฬาสี มีการละเล่นต่างๆ เสียงหัวเราะเสียงเชียร์บ่งบอกว่าพวกเขากำลังสนุก นานๆครั้งพวกเขาจะมีวันพิเศษโดยเฉพาะ ในขณะที่พระสงฆ์มีวันพระเดือนละสี่ครั้ง แต่เด็กมีวันเด็กปีละครั้ง เสียงที่น่าจะทำให้เกิดความรำคาญกับฟังดูแล้วพลอยมีความสุขกับพวกเด็กๆไปด้วย ความเป็นเด็กมีอยู่ภายในใจของทุกคน แต่ได้หลับไหลไปตามกาลเวลา หากเมื่อใดถูกปลุกขึ้นมาจิตที่เยาว์วัยก็คือจิตที่บริสุทธิ์
สิ่งหนึ่งที่มีมากับวันเด็กคือคำขวัญประจำปีจากนายกรัฐมนตรี ปีนี้ให้คำขวัญว่า “รอบคอบ รู้คิด มีจิตสาธารณะ” แต่เว็บมาสเตอร์ไซเบอร์วนารามเกิดในยุคที่รัฐบาลมีคำขวัญว่า “เด็กจะเจริญต้องรักเรียนเพียรทำดี”ครูประจำชั้นขยายความให้ฟังว่าหากอยากเป็นคนดีต้องเรียนหนังสือ ต่อมาอีกสมัยหนึ่งนายกรัฐมนตรีคนเดียวกันก็ให้คำขวัญอีกว่า “เด็กดีเป็นศรีแก่ชาติ เด็กฉลาดชาติเจริญ”ในช่วงนั้นก็ได้แต่ฟังโดยครูบอกว่าเป็นคำขวัญในวันเด็ก ฟังแล้วก็ไม่เข้าใจ จำได้เพียงสองคำคือเด็กดีและเด็กฉลาด เพื่อต้องการจะเป็นเด็กดีและฉลาดจึงต้องเรียนหนังสือ แม้จะขี้เกียจอย่างไรก็ยังต้องเรียนเพราะอยากเป็นคนฉลาดนั่นเอง
พระพุทธเจ้ากับราหุลกุมาร วิหารวัดคงคาราม โคลัมโบ ศรีลังกา
เนื่องจากเป็นเด็กในชนบทห่างไกลความเจริญมาก สมัยนั้นไฟฟ้ายังไม่มีใช้ ถนนหนทางยังเป็นโรยด้วยลูกรัง ห้องเรียนในสมัยนั้นก็เป็นศาลาวัดป่าอยู่ห่างจากหมู่บ้านประมาณหนึ่งกิโลเมตร เดินเท้าเปล่าไปเรียนหนังสือ มือถือกระดานชนวน ไม่รู้จักสมุดดินสอ กระดานชนวนอันเดียวใช้เรียนและบันทึกทุกรายวิชา เขียนเสร็จลบทิ้ง ทุกอย่างจึงต้องใช้วิธีท่องจำ เพราะทั้งชั้นเรียนมีหนังสือตำราเพียงเล่มเดียว ครูหวงแหนมากต้องรักษาอย่างดี มีคติประจำใจสั้นๆว่า “เรียนให้รู้ ดูให้จำ ทำให้จริง” ซึ่งก็ยังใช้ได้แม้ในสมัยปัจจุบัน
ในวัยเด็กจึงไม่เคยมีความทรงจำในงานวันเด็กเลย โรงเรียนไม่เคยจัดงานวันเด็ก ไม่เคยได้ไปเที่ยวสวนสัตว์ ไม่เคยรู้จักเครื่องบิน ไม่รู้จักท้องฟ้าจำลอง เหมือนเด็กในสมัยนี้ ความทรงจำในวัยเด็กจึงลางเลือนเต็มที แม้จะเรียนจบชั้นประถมศึกษาตอนต้นแล้วก็ยังไม่เคยมีรองเท้าใส่ไปโรงเรียนกับเขาสักที จนกระทั่งรองเท้าคู่แรกที่ได้ใส่ไปเรียนหนังสือจำได้ว่าเป็นรางวัลที่สอบได้อันดับที่หนึ่งในชั้นประถมปีที่สาม ซึ่งใช้ความพยายามมาหลายปี มีเพื่อนร่วมห้องคนหนึ่งเรียนเก่งมากผูกขาดอันดับหนึ่งมาโดยตลอดสอบเมื่อไหร่แพ้แกทุกที จนกระทั่งพ่อบอกว่าหากอยากได้รองเท้าใส่ไปโรงเรียนต้องสอบให้ได้อันดับที่หนึ่ง ด้วยความที่อยากได้รองเท้าจึงเพียรพยายามอ่านตั้งใจเรียนอ่านหนังสืออย่างหนัก ผ่านไปสามปีจึงสอบชนะสอบได้อับดับหนึ่งครั้งแรกเมื่อจบชั้นประถมปีที่สาม ชนะเพียงเจ้าเพื่อนคนนั้นเพียงคะแนนเดียว แต่ก็เพียงพอ พ่อจึงซื้อรองเท้าคู่แรกได้ใส่ไปเรียนหนังสือเมื่อเรียนชั้นประถมปีที่สี่ เป็นนักเรียนเท้าเปล่าอยู่ถึงสามปี
เด็กแม้จะไม่ค่อยสนใจการเรียนเท่าใดนักแต่เมื่อใดก็ตามหากตั้งรางวัลไว้ให้เขามักจะพยายามไขว่คว้ามาจนได้ ทุกวันนี้ยังพยายามตั้งรางวัลให้สามเณรที่เริ่มเรียนนักธรรมชั้นตรี โท เอก ใครสอบได้มีรางวัลให้ส่วนมากจะเป็นปัจจัยหรือเงินที่ใช้หนี้ได้ตามกฎหมาย ปีนี้นักธรรมสอบได้ยกชั้นต้องหาเงินมาให้รางวัลแก่สามเณรที่สอบได้หลายหมื่นบาท ตอนนี้ยังคิดไม่ออกว่าจะหามาอย่างไร
ถวายเด็กต่อพระประธานในวิหารวัดคงคาราม โคลัมโบ ศรีลังกา
เด็กเหมือนผ้าขาวซึ่งจะเขียนรูปอะไรลงไปก็สามารถเต็มสีสันตามต้องการได้ หากผ้าขาวมีรอยเปื้อนก็ยากที่จะเขียนภาพที่สวยงามได้ เด็กไทยในยุคนี้หากถือตามคำขวัญว่า “รอบคอบ รู้คิด มีจิตสาธารณะ” รอบคอบหมายถึงการมีสติระลึกให้ได้ว่าตอนนี้กำลังทำอะไร มีหน้าที่อะไรต้องทำไปตามหน้าที่ รู้คิดนั้นอาจหมายถึงการรู้จักคิดใช้ปัญญาในการแก้ปัญหา ต้องคิดเป็น คิดได้ ส่วนคำว่าจิตสาธารณะต้องไปถามท่านนายกรัฐมนตรีเอาเองว่าท่านต้องการสื่อถึงอะไร เด็กฟังแล้วจะเข้าใจว่าอย่างไรอะไรคือจิตที่เป็นสาธารณะคงต้องอธิบายกันยาว เด็กที่ได้ชื่อว่าเริ่มต้นได้ดีที่สุดคนหนึ่งในพระพุทธศาสนาต้องยกให้ราหุลกุมาร
มีเรื่องเล่าว่าครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จกลับไปยังเมืองกบิลพัสดุ์ พระนางพิมพาได้นำราหุลซึ่งเป็นลูกชายคนเดียวมาเฝ้าพระพุทธเจ้า แม่บอกให้ลูกชายขอทรัพย์มรดกจากพ่อเพื่อจะได้ใช้จ่ายตามสมควรแก่ฐานะ ตามตำราบอกว่าเมื่อครั้งที่เจ้าชายสิทธัตถะถือกำเนิดนั้นมีขุมทรัพย์มาด้วย คนมีบุญเกิดบนกองเงินกองทอง แต่เจ้าชายสิทธัตถะกลับทิ้งทรัพย์สมบัติออกผนวชจนในที่สุดก็ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ขุมทรัพย์เหล่านั้นจึงถูกทิ้งอย่างไร้ประโยชน์
เมื่อลูกชายมาพบพ่อจึงได้เอ่ยขอทรัพย์ดังกล่าว ดังที่ปรากฎในพระวินัยปิฎก มหาวรรค (4/118/135)สรุปความว่า “พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปทางพระนครกบิลพัสดุ์ เสด็จเที่ยวจาริกโดยลำดับถึงพระนครกบิลพัสดุ์แล้วประทับอยู่ ณ นิโครธาราม เขตพระนครกบิลพัสดุ์ สักกชนบท ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงอันตรวาสกแล้ว ทรงถือบาตรจีวร เสด็จพระพุทธดำเนินไปสู่พระราชนิเวศน์ของพระเจ้าสุทโธทนศากยะ ครั้นแล้วประทับนั่งเหนือพระพุทธอาสน์ที่เขาปูลาดถวาย ครั้งนั้นพระเทวีราหุลมารดา(พระนางพิมพา)ได้มีพระเสาวนีแก่ราหุลกุมารว่า ดูกรราหุล พระสมณะนั้นเป็นบิดาของเจ้า เจ้าจงไปทูลขอทรัพย์มรดกต่อพระองค์ จึงพาราหุลกุมารเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ครั้นถึงแล้วได้ประทับยืนเบื้องพระพักตร์พระผู้มีพระภาค พลางกราบทูลว่า ข้าแต่พระสมณะ พระฉายาของพระองค์เป็นสุข
หัวใจถวายวัด ข้างๆต้นโพธิ์ที่อนุราธปุระ ศรีลังกา
ทันใดนั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จอุฏฐาการจากพระพุทธอาสน์แล้วกลับไป จึงราหุลกุมารได้ตามเสด็จพระผู้มีพระภาคไปเบื้องหลังๆ พลางทูลขอว่าข้าแต่พระสมณะขอได้โปรดประทานทรัพย์มรดกแก่หม่อมฉัน ๆไปตลอดทาง
พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกท่านพระสารีบุตรมารับสั่งให้เป็นพระอุปัชฌาย์บวชให้ราหุลกุมารซึ่งขณะนั้นมีอายุเพียงเจ็ดปี เมื่อบรรพชาเสร็จแล้วพระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถาในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตการบวชกุลบุตรเป็นสามเณรด้วยไตรสรณคมน์
ราหุลกุมารมีอายุเพียงเจ็ดขวบ ทูลขอทรัพย์มรดกจากพระราชบิดา ซึ่งก็คือพระพุทธเจ้าในตอนนั้น พระพุทธเจ้าแทนที่จะยกทรัพย์มรดกให้กลับมอบมหายให้พระสารีบุตรเป็นพระอุปัชฌาย์บรรพชาให้กับราหุลกุมาร ราหุลจึงกลายเป็นสามเณรรูปแรกในพระพุทธศาสนา สืบศาสนทายาทและบรรลุพระอรหันต์ในเวลาต่อหากในวันนั้นพระพุทธเจ้ามอบทรัพย์มรดกให้แก่ราหุล ราหุลอาจกลายเป็นกษัตริย์มิใช่สมณทายาท แสดงว่าเด็กที่มีอายุตั้งแต่เจ็ดขวบก็สามารถจะศึกษาธรรมะและบรรลุธรรมได้
พระราหุลได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ใส่ใจในการศึกษาดังที่ปรากฎในอังคุตรนิกาย เอกนิบาต(20/148/25)ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระราหุล เลิศกว่าพวกภิกษุสาวกของเราผู้ใคร่ต่อการศึกษา”
ภายในวิหารวัดคงคาราม เมืองโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา มีรูปหล่อพระพุทธเจ้ากำลังจูงมือราหุลกุมาร เป็นภาพที่เด่นมากภาพหนึ่งในศรีลังกา ที่ด้านหน้าพระประธานมีเด็กอายุยังไม่ถึงหนึ่งขวบนอนหลับสนิทเบื้องหน้าพระประธาน พ่อแม่และญาตินั่งเฝ้าดูอยู่ห่างๆ ที่ใกล้ๆต้นโพธิ์เมืองอนุราธปุระก็นำเด็กวางวางบนพื้ทรายถวายเด็กต่อต้นโพธิ์ เมื่อสอบถามจึงได้ความว่าพุทธศาสนิกชนชาวศรีลังกานิยมนำลูกมาถวายพระพุทธเจ้า เด็กเกิดใหม่จะได้กลายเป็นลูกพระพุทธเจ้า นัยว่าเป็นการบอกกล่าวให้ทราบว่าจากนี้ไปลูกชายหรือลูกสาวคือหน่อเนื้อของพระพุทธศาสนา พระพุทธรูปปางจูงเด็กยังไม่เคยเห็นที่ประเทศไทย อาจจะมีหรือไม่มีก็ได้ ใครเคยเห็นจะเมตตาแจ้งข่าวมาบอกด้วยจะได้ไปดู
เด็กไทยข้างๆวัด
ประเทศไทยมีความเชื่ออีกอย่างหนึ่งคือในชนบทนิยมนำเด็กที่เกิดใหม่ไปถวายพระสงฆ์ที่ตนเคารพมอบให้เป็นลูกของพระสงฆ์ เพราะเชื่อกันว่าจะทำให้เด็กรอดพ้นจากภยันตรายต่างๆได้ เมื่อได้ชื่อว่าเป็นลูกพระ วิญญาร้ายทั้หลายก็ไม่กล้าเข้าใกล้ ทำให้เด็กเจริญเติบโตและมักจะตามพ่อแม่เข้าวัดตั้งแต่ยังเด็ก ในสที่สุดก็คุ้นชินกับพิธีกรรมต่างๆ เรียกว่าเรียนรู้โดยการปฏิบัติ
เด็กไทยในยุคนี้คงเติบโตมาพร้อมกับความเก่งทางวิชาการ เด็กเก่งๆมีมากมีข่าวให้เห็นแทบทุกวัน แต่โลกปัจจุบันเก่งอย่างเดียวไม่พอต้องเป็นคนดีด้วย คนเก่งมีมาก แต่ที่หายากคือคนดี เด็กไทยในยุคคำขวัญ “เด็กดีเป็นศรีแก่ชาติ เด็กฉลาดชาติเจริญ” และเด็กในยุคคำขวัญ “รอบคอบ รู้คิด มีจิตสาธารณะ” แม้คำขวัญจะต่างกันแต่วิญญาณของความเป็นเด็กคงไม่ต่างกันเท่าไรนัก พวกเขาอยากรู้ อยากเห็น สงสัยใฝ่รู้ด้วยจิตอันบริสุทธิ์
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
08/01/54
คำขวัญวันเด็ก
คำขวัญวันเด็กเกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ปีพุทธศักราช 2499 จากนั้นก็มีการจัดงานวันเด็กมาแทบทุกปี และนายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้ให้คำขวัญในวันเด็กแห่งชาติ ซึ่งกำหนดไว้ในวันเสาร์แรกของเดือนมกราคม ปีนี้จึงตรงกับวันที่ 8 มกราคม 2554 คำขวัญในวันเด็กได้รวบรวมมาไว้ดังต่อไปนี้
พ.ศ. 2499 จอมพล ป.พิบูลสงคราม - จงบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและส่วนรวม
พ.ศ. 2502 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ - ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่รักความก้าวหน้า
พ.ศ. 2503 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ - ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่รักความสะอาด
พ.ศ. 2504 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ - ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่อยู่ในระเบียบวินัย
พ.ศ. 2505 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ - ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่ประหยัด
พ.ศ. 2506 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ - ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่มีความขยันหมั่นเพียรมากที่สุด
พ.ศ. 2507 งดการจัดงานวันเด็กแห่งชาติ
พ.ศ. 2508 จอมพล ถนอม กิตติขจร - เด็กจะเจริญต้องรักเรียนเพียรทำดี
พ.ศ. 2509 จอมพล ถนอม กิตติขจร - เด็กที่ดีต้องมีสัมมาคารวะ มานะ บากบั่น และสมานสามัคคี
พ.ศ. 2510 จอมพล ถนอม กิตติขจร - อนาคตของชาติจะสุกใส หากเด็กไทยแข็งแรงดีมีความประพฤติเรียบร้อย
พ.ศ. 2511 จอมพล ถนอม กิตติขจร - ความเจริญและความมั่นคงของชาติไทยในอนาคต ขึ้นอยู่กับเด็กที่มีวินัย ฉลียวฉลาดและรักชาติยิ่ง
พ.ศ. 2512 จอมพล ถนอม กิตติขจร - รู้เรียน รู้เล่น รู้สามัคคี เป็นความดีที่เด็กพึงจำ
พ.ศ. 2513 จอมพล ถนอม กิตติขจร - เด็กประพฤติดีและศึกษาดี ทำให้มีอนาคตแจ่มใส
พ.ศ. 2514 จอมพล ถนอม กิตติขจร - ยามเด็กจงหมั่นเรียน เพียรกระทำดี เติบใหญ่จะได้มีความสุขความเจริญ
พ.ศ. 2515 จอมพล ถนอม กิตติขจร - เยาวชนฝึกตนดี มีความสามารถ
พ.ศ. 2516 จอมพล ถนอม กิตติขจร - เด็กดีเป็นศรีแก่ชาติ เด็กฉลาดชาติเจริญ
พ.ศ. 2517 นายสัญญา ธรรมศักดิ์ - สามัคคีคือพลัง
พ.ศ. 2518 นายสัญญา ธรรมศักดิ์ - เด็กดีคือทายาทของชาติไทย ต้องร่วมใจร่วมพลังสร้างความสามัคคี
พ.ศ. 2519 หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช - เด็กที่ต้องการเห็นอนาคตของชาติรุ่งเรือง จะต้องทำตัวให้ดี มีวินัย เสียแต่บัดนี้
พ.ศ. 2520 นายธานินทร์ กรัยวิเชียร - รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นคุณสมบัติของเยาวชนไทย
พ.ศ. 2521 พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ - เด็กดีเป็นศรีแก่ชาติ เด็กฉลาดชาติเจริญ
พ.ศ. 2522 พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ - เด็กไทยคือหัวใจของชาติ
พ.ศ. 2523 พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ - อดทน ขยัน ประหยัด เป็นคุณสมบัติของเด็กไทย
พ.ศ. 2524 พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ - เด็กไทยมีวินัย ใจสัตย์ซื่อ รู้ประหยัด เคร่งครัดคุณธรรม
พ.ศ. 2525 พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ - ขยันศึกษา ใฝ่หาความรู้ เชิดชูชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นคุณสมบัติของเด็กไทย
พ.ศ. 2526 - พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ - รู้หน้าที่ ขยัน ซื่อสัตย์ ประหยัด มีวินัยและคุณธรรม
พ.ศ. 2527 - พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ - รักวัฒนธรรมไทย ใฝ่ดีมีความคิด สุจริตใจมั่น หมั่นศึกษา
พ.ศ. 2528 - พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ - สามัคคี นิยมไทย มีวินัย ใฝ่คุณธรรม
พ.ศ. 2529 - พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ - นิยมไทย มีวินัย ใช้ประหยัด ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม
พ.ศ. 2530 - พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ - นิยมไทย มีวินัย ใช้ประหยัด ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม
พ.ศ. 2531 - พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ - นิยมไทย มีวินัย ใช้ประหยัด ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม
พ.ศ. 2532 - พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ - รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม
พ.ศ. 2533 - พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ - รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม
พ.ศ. 2534 - พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ - รู้หน้าที่ มีวินัย ใฝ่คุณธรรม นำชาติพัฒนา
พ.ศ. 2535 - นายอานันท์ ปันยารชุน - สามัคคี มีวินัย ใฝ่ศึกษา จรรยางาม
พ.ศ. 2536 - นายชวน หลีกภัย - ยึดมั่นประชาธิปไตย ร่วมใจพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม
พ.ศ. 2537 - นายชวน หลีกภัย - ยึดมั่นประชาธิปไตย ร่วมใจพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม
พ.ศ. 2538 - นายชวน หลีกภัย - สืบสานวัฒนธรรมไทย ร่วมใจพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม
พ.ศ. 2539 - นายบรรหาร ศิลปอาชา - มุ่งหาความรู้ เชิดชูความเป็นไทย หลีกไกลยาเสพติด
พ.ศ. 2540 - พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ - รู้คุณค่าวัฒนธรรมไทย ตั้งใจใฝ่ศึกษา ไม่พึ่งพายาเสพติด
พ.ศ. 2541 - นายชวน หลีกภัย ขยัน - ประหยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย
พ.ศ. 2542 - นายชวน หลีกภัย ขยัน - ประหยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย
พ.ศ. 2543 - นายชวน หลีกภัย - มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ คู่คุณธรรม นำประชาธิปไตย
พ.ศ. 2544 - นายชวน หลีกภัย - มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ คู่คุณธรรม นำประชาธิปไตย
พ.ศ. 2545 - พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร - เรียนให้สนุก เล่นให้มีความรู้ สู่อนาคตที่สดใส
พ.ศ. 2546 - พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร - เรียนรู้ตลอดชีวิต คิดอย่างสร้างสรรค์ ก้าวทันเทคโนโลยี
พ.ศ. 2547 - พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร - รักชาติ รักพ่อแม่ รักเรียน รักสิ่งดีๆ อนาคตดีแน่นอน
พ.ศ. 2548 - พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร - เด็กรุ่นใหม่ ต้องขยันอ่าน ขยันเรียน กล้าคิด กล้าพูด
พ.ศ. 2549 - พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร - อยากฉลาด ต้องขยันอ่าน ขยันคิด
พ.ศ. 2550 - พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ - มีคุณธรรมนำใจ ใช้ชีวิตพอเพียง หลีกเลี่ยงอบายมุข
พ.ศ. 2551 - พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ - สามัคคี มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ เชิดชูคุณธรรม
พ.ศ. 2552 - นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ - ฉลาดคิด จิตบริสุทธิ์ จุดประกายฝัน ผูกพันรักสามัคคี
พ.ศ. 2553 - นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ - คิดสร้างสรรค์ ขยันใฝ่รู้ เชิดชูคุณธรรม
พ.ศ. 2554 - นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ - รอบคอบ รู้คิด มีจิตสาธารณะ
ที่มาของคำขวัญวันเด็ก: http://www.zonezeed.com/ForumId-9746-ViewForum.aspx