เหตุการณ์ที่คนร้ายขว้างหินใส่รถยนต์ขณะที่กำลังวิ่งบนท้องถนน จนกระทั่งมีเด็กคนหนึ่งถูกก้อนหินได้รับบาดเจ็บ ต่อมาไม่กี่วันก็เสียเสียชีวิต ทั้งๆที่เด็กคนนั้นไม่มีความผิดอะไรเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ไม่รู้เรื่องอะไรเลย เพียงแต่ว่าขณะนั้นบังเอิญนั่งมาบนรถเท่านั้น พอตำรวจจับผู้ร้ายได้ฟังคำสารภาพแล้วมีคำหนึ่งเขาบอกว่ากระทำไปโดยไม่ได้ตั้งใจ ทำโดยไม่เจตนา ตอนนั้นไม่ได้คิดว่าจะทำให้มีคนเสียชีวิต เขาทำไปโดยไม่ได้คิดแท้ แต่มีผู้รับเคราะห์จากการกระทำจนเสียชีวิต
ในคำสอนพระพุทธศาสนาได้ยกให้จิตใจสำคัญที่สุด ร่างกายย่อมกระทำตามอำนาจของจิต มีคำที่พูดติดปากอยู่เสมอว่า “จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว” หากเริ่มต้นตั้งจิตคิดไว้ชอบแล้ว จากนั้นกายจึงจะกระทำตาม เบื้องต้นของการทำดีหรือทำชั่วหรือไม่ทำอะไรนั้น จึงมาจากความคิด จึงมีคำโบราณที่พูดเตือนใจไว้ว่า “ให้คิดก่อนทำ” แต่มีคนส่วนหนึ่งที่ชอบ “ทำก่อนคิด” ผลที่ตามมาบางอย่างก็แก้ไขไม่ได้เปลี่ยนใจก็ไม่ทัน แต่หากคิดใคร่ครวญก่อนแล้วจึงทำย่อมมีทางที่จะพอแก้ไขได้
สมัยโบราณในการเดินทางไกลใช้เกวียนเป็นพาหนะโดยมีโคเป็นผู้ลากไป ล้อเกวียนย่อมหมุนไปตามรอยเท้าโค เมื่อใดที่โคหยุดเดินเกวียนก็หยุดด้วย ท่านจึงเปรียบเทียบการกระทำทั้งหลายทั้งปวงของมนุษย์นั้นเกิดมาจากความคิดโดยมีจิตใจเป็นผู้สั่งการ หากพื้นฐานของจิตอยู่ในความโกรธ ก็จะสั่งให้ร่างกายกระทำตามอำนาจแห่งความโกรธไปด้วย แต่หากจิตใจประกอบด้วยเมตตาธรรม สิ่งที่กระทำลงไปก็มักจะประกอบด้วยเมตตาไปด้วย
พุทธภาษิตบททนี้มีแสดงไว้ในยมกวรรค ธรรมบท ขุททกนิกาย (25/11/11) ความว่า “ ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจประเสริฐที่สุด สำเร็จแล้วแต่ใจ ถ้าบุคคลมีใจอันโทษประทุษร้ายแล้ว กล่าวอยู่ก็ตาม ทำอยู่ก็ตาม ทุกข์ย่อมไปตามบุคคลนั้น เพราะทุจริตสามอย่างนั้น เหมือนล้อหมุนไปตามรอยเท้าโคผู้ลากเกวียนไปอยู่ฉะนั้น
ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้ามีใจประเสริฐที่สุด สำเร็จแล้วแต่ใจ ถ้าบุคคลมีใจผ่องใส กล่าวอยู่ก็ตามทำอยู่ก็ตาม สุขย่อมไปตามบุคคลนั้นเพราะสุจริตสามอย่างเหมือนเงามีปรกติไปตาม ฉะนั้น”
แปลมาจากภาษาบาลีว่า "มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฏฺฐา มโนมยา
มนสา เจ ปทุฏฺเฐน ภาสติ วา กโรติ วา
ตโต นํ ทุกฺขมเนฺวติ จกฺกํว วหโต ปทํ ฯ
มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฏฺฐา มโนมยา
มนสา เจ ปสนฺเนน ภาสติ วา กโรติ วา
ตโต นํ สุขมเนฺวติ ฉายาว อนุปายินี ฯ
ธรรมพุทธสุภาษิตหมวดนี้มีคนจำนวนมากนำไปอ้างอิงและกล่าวถึงเสมอ จึงขอนำเอาภาษาบาลีมาให้ท่องด้วย เผื่อบางทีคิดอะไรไม่ออกจะได้ท่องคาถานี้อาจบางที่จะทำให้จิตใจสงบได้ คาถาของพระพุทธเจ้านั้นดูจากเนื้อหาและความหมายก็มีประโยชน์ บางครั้งท่องไว้ประจำใจก็จะกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้ด้วย
ในสุภาษิตนี้มีลักษณะของการเปรียบเทียบคือล้อเกวียนย่อมหมุนไปตามรอยเท้าโค ปัจจุบันอาจเปรียบเทียบได้กับรถยนต์หรือเครื่องบินก็ได้ และเปรียบเหมือนเงาที่ติดตามตนไปทุกที่ทุกเวลา แม้บางครั้งจะมองไม่เห็นแต่เงาไม่เคยหายไปไหน ความดีความชั่วของมนษย์ก็เฉกเช่นเดียวกัน คนทำชั่วแล้วอย่านึกว่าผลกรรมจะไม่ตามสนอง ย่อมมีสักวันที่ผลกรรมจะตามมาทัน เหมือนเงาที่มีอยู่คู่กับร่างกายมนุษย์นั่นแหละ หากเป็นมนุษย์ที่ไม่มีเงาก็ต้องเรียกว่าผี
ส่วนผู้ที่ทำความดีแม้จะยังไม่เห็นผลก็ไม่ต้องเสียใจว่าทำความดีไม่เห็นมีผล สักวันหนึ่งความดีจะตอบสนองเหมือนเงาที่ปรากฎตัวในเวลาที่มีแดดเป็นต้น เพราะเงาคอยติดตามตนไม่เคยหายไปไหน เพียงแต่รอโอกาสและเวลาที่เหมาะสมจึงจะมองเห็นได้ ความดีที่เราทำก็เหมือนกัน ก็ต้องรอเวลาและโอกาสที่เหมาะสมเหมือนกัน
คนที่จะทำอะไรจึงควรคิดหน้าคิดหลังให้ดีก่อน อย่าพึ่งทำเพราะอยากทำ แต่ควรคิดก่อนว่าคุ้มค่ากับความเป็น มนุษย์ที่ได้มาโดยยากลำบากหรือไม่ คนที่ติดคุกส่วนหนึ่งมักจะเสียใจที่กระทำลงไปโดยไม่ทันได้คิด แต่ถ้ายั้งคิดสักนิดบางครั้งอาจจะมีผลต่อชีวิตทั้งชีวิตและพลอยหมดอนาคตไปตลอดกาลเลยก็ได้
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
15/12/53