ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

           วันนี้มีความรู้สึกเงียบเหงาโดดเดี่ยวเดียวดายเมื่อเดินเข้าที่ทำงานที่วัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งอยู่ห่างจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไม่ไกลนัก ตามปกติวันศุกร์ผู้คนจะครึกครื้นมากที่สุดเพราะจะได้หยุดติดต่อกันสองวัน แต่วันนี้ที่ทำงานเงียบสงบไม่มีใครสักคน นั่งทำงานอยู่คนเดียว จึงหันไปดูปฏิทินจึงได้รับรู้ว่าวันที่ 10 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันหยุดราชการเนื่องจากเป็นวันรัฐธรรมนูญ เสียงปราศรัยจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยยังคงแว่วมาไม่ขาดสาย เท่าที่จับประเด็นได้ส่วนหนึ่งจะพูดเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญและความเป็นสองมาตรฐานของสังคมไทย  
           จึงได้ค้นหาและศึกษาหาข้อมูลว่าวันรัฐธรรมนูญคืออะไรมีความเป็นมาอย่างไร ทุกวันนี้โลกไซเบอร์มีแหล่งข้อมูลหลากหลายมากมายมหาศาล หาได้ง่ายและสะดวก ข้อมูลจากวิกีพิเดียมีให้อ่านหลายหน้าแต่พอสรุปได้ว่าต้องย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475คณะราษฎร์ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทยจากระบอบสมบูรณายาสิทธิราษฎร์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จากนั้นจึงมีการร่างรัฐธรรมนูญและพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก่เจ้าพระยาพิชัยญาติ (ดั่น บุนนาค)ประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475  รัฐบาลไทยจึงได้กำหนดให้วันที่ 10 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันรัฐธรรมนูญ และกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการ
 

 

           ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยโดยมีระบบรัฐสภา มีการเลือกตัวแทนจากภาคต่างๆของประเทศที่เรียกว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้ามมาเป็นตัวแทนในรัฐสภา จากวันที่เริ่มต้นมีรัฐธรรมนูญจนถึงปัจจุบันประเทศไทยได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญมาแล้ว 18 ฉบับ รัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันคือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ที่มีผู้กล่าวกันว่าเป็นรัฐธรรมที่ผ่านประชามติคือคนทั้งประเทศเห็นด้วย จึงเชื่อกันว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด 
           หากนับจากวันที่ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในสการปกครองประเทศจากอดีตจนถึงปัจจุบันก็เป็นเวลายาวนานถึง 78 ปีแล้ว หากเป็นคนอายุเท่านี้ก็ต้องเรียกว่าคนแก่หรือคนชราที่อ่อนล้าเต็มที บางคนนั่งทอดถอนใจด้วยความสื้นหวัง รอวันจากโลกนี้ไปอย่างแสนเสียดาย มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ยังอยากเป็นนายกรัฐมนตรี 
           หากดูจากเจตนารมย์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในวันที่พระองค์ทรงสละราชสมบัติในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 ขณะทรงประทับอยู่ที่สหราชอาณาจักร หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเพียงปีเศษ โดยทรงมีเหตุผลในการตัดสินพระทัย ตามความในพระราชหัตถเลขาดังนี้ “ข้าพเจ้ามีความเต็มใจ ที่จะสละอำนาจ อันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิม ให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้า ให้แก่ผู้ใด คณะใดโดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร 

 

           บัดนี้ข้าพเจ้าเห็นว่า ความประสงค์ของข้าพเจ้า ที่จะให้ราษฎรมีสิทธิออกเสียง ในนโยบายของประเทศไทยโดยแท้จริง ไม่เป็นผลสำเร็จ และเมื่อข้าพเจ้ารู้สึกว่าบัดนี้เป็นอันหมดหนทาง ที่ข้าพเจ้าจะช่วยเหลือ หรือให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนได้ต่อไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงขอสละราชสมบัติ และออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์ แต่บัดนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าขอสละสิทธิของข้าพเจ้าทั้งปวง ซึ่งเป็นของข้าพเจ้าอยู่ ในฐานะที่เป็นพระมหากษัตริย์ แต่ข้าพเจ้าสงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งปวง อันเป็นของข้าพเจ้าแต่เดิมมา ก่อนที่ข้าพเจ้าได้รับราชสมบัติสืบสันตติวงศ์”
           ประเทศไทยภายใต้ระบบรัฐสภามีการเลือกตั้งหลายครั้ง เปลี่ยนรัฐบาลมาหลายสมัย มีนายกรัฐมนตรีเริ่มต้นจากพระยามโนปกรณ์นิติธาดา จนถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะรวมแล้ว 27คน(นับทั้งนายกรักษาการเช่นนายชวรัตน์ ชาญวีรกูลรักษาการนายกรัฐมนตรีช่วงที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์พ้นจากตำแหน่งเป็นต้น) แต่ทว่าก็ยังมีผู้ที่ไม่เห็นพยายามเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ แก้เพื่อประโยชน์ตนและพรรคพวกหรือว่าแก้เพื่อประเทศชาติเรื่องนี้ต้องไปถามคนขอแก้ไข
           มองไปมองมาเห็นหนังสือธรรมนูญชีวิตของพระพรหมคุณาภรณ์วางอยู่ใกล้ๆได้รับแจกมานานแล้ว หน้าปกระบุไว้ว่า “ห้ามจำหน่าย” จึงหยิบขึ้นมาดู พระเดชพระคุณได้ชื่อว่าเป็นนักคิดที่สำคัญท่านหนึ่งในพระพุทธศาสนา เปิดไปหน้า 19 ในหมวดที่ว่าด้วยคนกับสังคม หัวข้อว่า “คนมีส่วนร่วมในการปกครองที่ดี (สมาชิกที่ดีของรัฐ)” นั้นท่านอธิบายไว้ว่า “สมาชิกของรัฐผู้มีส่วนร่วมให้เกิดการปกครองที่ดี โดยเฉพาะคนในสังคมประชาธิปไตย พึงรู้หลักและปฏิบัติดังนี้ 

 

ก. รู้หลักอธิปไตย คือรู้หลักความเป็นใหญ่ที่เรียกว่า อธิปไตย 3 ประการ ดังนี้ 
           1. อัตตาธิปไตย ถือตนเป็นใหญ่ คือ ถือเอาตนเอง ฐานะ ศักดิ์ศรี เกียรติภูมิ ของตนเป็นใหญ่ กระทำการด้วยปรารภตนและสิ่งที่เนื่องด้วยตนเป็นประมาณในฝ่ายกุศล ได้แก่ เว้นชั่วทำดีด้วยเคารพตน 
           2. โลกาธิปไตย ถือโลกเป็นใหญ่ คือ ถือความนิยมของชาวโลกเป็นใหญ่ หวั่นไหวไปตามเสียงนินทาและสรรเสริญ กระทำการด้วยปรารภจะเอาใจหมู่ชน หาความนิยมหรือหวั่นกลัวเสียงกล่าวว่าเป็นประมาณในฝ่ายกุศล ได้แก่เว้นชั่วทำดี ด้วยเคารพเสียงหมู่ชน 
           3. ธรรมาธิปไตย ถือธรรมเป็นใหญ่ คือ ถือหลักการ ความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม เหตุผลเป็นใหญ่ กระทำการด้วยปรารภสิ่งที่ได้ศึกษา ตรวจสอบตามข้อเท็จจริง และความคิดเห็นที่รับฟังอย่างกว้างขวางแจ้งชัดและพิจารณาอย่างดีที่สุด เต็มขีดแห่งสติปัญญาจะมองเห็นได้ด้วยความบริสุทธิ์ใจว่า เป็นไปโดยชอบธรรมและเพื่อความดีงามเป็นประมาณอย่างสามัญ ได้แก่ ทำการด้วยความเคารพหลักการ กฎ ระเบียบ กติกา 
           เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ถ้าต้องการรับผิดชอบต่อรัฐประชาธิปไตย พึงถือหลักข้อ 3 คือ ธรรมธิปไตย (ที่มา:ที.ปา. 11/228/231)

 ข.มีส่วนในการปกครอง โดยปฏิบัติตามหลักการร่วมรับผิดชอบที่จะช่วยป้องกันความเสื่อม นำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองโดยส่วนเดียว ที่เรียกว่า อปริหานิยธรรม 7 ประการ คือ 
           1. หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ พบปะปรึกษาหารือกิจการงาน (ที่พึงรับผิดชอบตามระดับของตน) โดยสม่ำเสมอ 
           2. พร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม พร้อมเพรียงกันทำกิจทั้งหลายที่พึงทำร่วมกัน 
           3. ไม่ถืออำเภอใจใคร่ต่อความสะดวก บัญญัติวางข้อกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ อันมิได้ตกลงบัญญัติวางไว้ และไม่เหยียบย่ำล้มล้างสิ่งที่ตกลงวางบัญญัติกันไว้แล้ว ถือปฏิบัติมั่นอยู่ในบทบัญญัติใหญ่ที่วางไว้เป็นธรรมนูญ 
           4. ท่านผู้ใดเป็นผู้ใหญ่มีประสบการณ์ยาวนาน ให้เกียรติเคารพนับถือท่านเหล่านั้น มองเห็นความสำคัญแห่งถ้อยคำของท่านว่าเป็นสิ่งอันพึงรับฟัง 
           5. ให้เกียรติและคุ้มครองกุลสตรี มิให้มีการข่มเหงรังแก 
           6. เคารพบูชาสักการะเจดีย์ ปูชนียสถาน อนุสาวรีย์ประจำชาติ อันเป็นเครื่องเตือนความทรงจำ เร้าให้ทำดี และเป็นที่รวมใจของหมู่ชน ไม่ละเลยพิธีเคารพบูชาอันพึงทำต่ออนุสรณ์สถานเหล่านั้นตามประเพณี 
           7. จัดการให้ความอารักขา บำรุง คุ้มครอง อันชอบธรรม แก่บรรพชิตผู้ทรงศีลทรงธรรมบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นหลักใจและเป็นตัวอย่างทางศีลธรรมของประชาชน เต็มใจต้อนรับและหวังให้ท่านอยู่โดยผาสุก (ที่มา:ที.ม. 10/68/86) 
           ใครที่ต้องการหาอ่านเพิ่มเติมใช้คำค้นว่า "ธรรมนูญชีวิต" จะมีให้อ่านได้มากมายจนจบทั้งเล่มในโลกไซเบอร์ 

           อ่านได้สองเรื่องเท่านี้รู้หลักอธิปไตยและมีส่วนร่วมในการปกครองก็ถือได้ว่าเป็นผู้มีส่วนในการปกครองประเทศชาติบ้านเมือง แต่ระบอบประชาธิปไตยที่ถือเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์น่าจะเทียบได้กับที่พระพุทธศาสนาเรียกว่า “โลกาธิปไตย”ต้องทำเสียงมหาชน การเลือกตั้งหากพรรคการเมืองใดได้เสียงข้างมากก็ต้องให้สิทธิของพรรคนั้นตั้งรัฐบาล เพราะคนส่วนใหญ่ให้การยอมรับและเลือกเข้ามาแล้ว เมื่อโลกเจริญขึ้นคนมากขึ้นการมีส่วนร่วมก็ต้องเลือกตัวแทนเข้าไปประชุมแทน แต่คนๆเดียวจะพูดแทนคนเป็นแสนคนนั้นจะให้ถูกใจทุกคนคงทำได้ยาก 
           เสียงปราศัยของประชาชนที่แว่วมาจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนินเพิ่มความดุเดือดเร้าใจมากยิ่งขึ้นจึงตัดสินใจเลิกทำงาน ปล่อยไว้ก่อนวันนี้วันรัฐธรรมนูญไปฟังเขาปราศัยหน่อยว่าที่เรียกตัวเองว่าแนวร่วมประชาธิปไตยเพื่อประชาชนนั้น เขากำลังพูดเรื่องอะไรและต้องการอะไรจากวันธรรมนูญ พวกเขาพูดต่อหน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญวางไว้บนพานเป็นสัญญลักษณ์บนยอดสูงสุด เป็นรัฐธรรมนูญฉบับหนึ่งที่มีไว้โชว์ไม่ได้มีไว้บังคับใช้

พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน
10/12/53

 


เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก