ในช่วงวันพ่อคงมีพ่อหลายคนที่ถูกลูกทอดทิ้ง บางคนต้องไปอยู่บ้านพักคนชรา บางคนได้แต่เฝ้ารอว่าเมื่อไหร่ลูกจะกลับมาหา ความสุขอย่างหนึ่งของพ่อคือการได้พบหน้าลูก ส่วนความสุขที่เห็นลูกได้ดีมีครอบครัวก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พ่อดีใจ มีคำถามว่าหากพ่อแม่ไม่มีลูกเลย หรือมีลูกแต่เสียชีวิตตั้งแต่ยังเด็ก หรือมีลูกเป็นคนชั่ว อันไหนจะเป็นความทุกข์ของพ่อแม่มากกว่ากัน
การไม่มีลูกก็เป็นความทุกข์อย่างหนึ่งของการมีชีวิตคู่ เพราะจะไร้ผู้สืบสกุล คติความเชื่อของพราหมณ์ในโบราณถึงกับกล่าวว่าใครไม่มีบุตรจะตกนรกขุมปุตตะ การที่ลูกเสียชีวิตก่อนเวลาอันควรก็เป็นความทุกข์อย่างยิ่งของพ่อแม่ประการหนึ่ง แต่การที่มีลูกแล้วลูกทำผิดคิดชั่วไม่รู้จักความดีความชั่วเลยนั้นเป็นความทุกข์มากที่สุดของพ่อแม่ โดยเฉพาะมีลูกแล้วไม่เคยเลี้ยงดูตอบแทนบุญคุณของพ่อแม่เลยก็ไม่ต่างอะไรกับการไม่มีลูกเสียเลย ถึงอย่างไรการมีลูกก็คงดีกว่าการไม่มีลูก ส่วนลูกจะเป็นคนดีหรือคนชั่วนั้นส่วนหนึ่งมาจากการอบรมสั่งสอนของพ่อแม่นั่นเอง
ในอดีตมีพราหมณ์คนหนึ่งมีลูกชายสี่คน พอโตเป็นหนุ่มพราหมณ์ก็ได้หาภรรยาให้ ต่อมาได้มอบทรัพย์สมบัติที่มีอยู่ทั้งหมดให้ลูกชายเพราะลูกชายต่างก็ยืนยันว่าจะเลี้ยงดูบิดาให้มีความสุข ลูกชายคนโตเลี้ยงดูพ่อได้ไม่นาน วันหนึ่งถูกลูกสะใภ้บ่นให้ได้ยินว่า “แก่แล้วไม่รู้จักทำมาหากิน มีลูกชายตั้งหลายคน แต่ทำไมต้องมาอยู่กับลูกชายคนเดียว ไม่รู้จักไปอยู่กับลูกชายคนอื่นๆบ้าง”พราหมณ์โกรธจึงหนีไปอยู่บ้านลูกชายคนรอง แต่ก็ถูกลูกสะใภ้พูดในทำนองเดิม สรุปว่าลูกชายทั้งสี่คนไม่มีใครเลี้ยงดูพ่อที่แก่ชราเลย เพราะเกรงใจภรรยาอย่างหนึ่ง และเพราะชายชราไม่มีสมบัติอะไรเหลือให้หวังได้อีกอย่างหนึ่ง ลูกๆพวกนี้ต่างก็เกี่ยงกันเลี้ยงดูพ่อ ในที่สุดพ่อไม่มีที่อยู่ต้องเที่ยวขอทานเขากินพอประทังชีวิตไปวันๆ มีความสุขมากกว่าที่จะทนฟังคำบ่นของพวกลูกสะใภ้ทั้งหลาย พ่อแม่ที่คิดจะยกทรัพย์สมบัติให้ลูกหมดทุกอย่างควรพิจารณา อย่างน้อยก็ควรเหลือบางส่วนไว้บ้าง เผื่อบางทีลูกๆจะได้เลี้ยงดูเพราะยังมีสิ่งที่ยังหวังจะได้อีก คนแก่ที่ไม่เหลือสมบัติอะไรไว้เลยก็ไม่ต่างอะไรกับไม้ที่ไร้แก่น
วันหนึ่งได้เดินทางไปขอข้าวกินในวัดเชตวัน ขณะนั้นพระพุทธเจ้ามองเห็นพราหมณ์จึงแวะมาสนทนา เมื่อทราบเรื่องราวแล้วจึงบอกว่า “พราหมณ์ท่านเรียนคาถาอย่างหนึ่ง ท่องจำให้ขึ้นใจ จากนั้นก็เที่ยวกล่าวในที่ชุมชน ไม่นานท่านลูกๆของท่านจะกลับมาเลี้ยงดูท่านเหมือนเดิม”
เมื่อพราหมณ์รับคำแล้วจึงบอกคาถาดังที่มีปรากฎในอรรถกถาขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม 1 ภาค 2 ตอน 4 หน้าที่ 233 ความว่า “ข้าพเจ้าจักเพลิดเพลินด้วยบุตรที่เกิดแล้วเหล่าใด และปรารถนาความเจริญแก่บุตรเหล่าใด บุตรเหล่านั้นถูกภรรยายุยงย่อมรุกรานข้าพเจ้าเหมือนสุนัขรุกรานสุกรฉะนั้น ได้ยินว่าบุตรเหล่านั้นเป็นอสัตบุรุษ เลวทราม เรียกข้าพเจ้าว่า “พ่อ พ่อ” พวกเขาคือรากษสมาแล้วโดยรูปเพียงดังบุตร ย่อมทอดทิ้งข้าพเจ้าผู้ถึงความเสื่อมแก่ชรา บิดาแม้ของเหล่าพาลชนเป็นคนแก่ ต้องเที่ยวขอทานที่เรือนของชนเหล่าอื่นเหมือนม้าที่แก่ใช้การงานไม่ได้ ถูกเขาพรากไปจากอาหารฉะนั้น
นัยว่าไม้เท้าของข้าพเจ้าแลยังประเสริฐกว่า บุตรทั้งหลายไม่เชื่อฟังจะประเสริฐอะไร เพราไม้เท้ากันโคดุก็ได้ อนึ่งกันสุนัขก็ได้ มีไว้ยันข้างหน้าเวลามืดก็ได้ ใช้หยั่งลงไปในที่ลึกก็ได้ เพราะอานุภาพแห่งไม้เท้าคนแก่เช่นข้าพเจ้าพลาดแล้วก็กลับยืนขึ้นอีกได้”
พราหมณ์ท่องคาถานี้อยู่หลายวันจนจำได้ขึ้นใจ วันหนึ่งมีการประชุมชาวบ้าน พราหมณ์แก่ถือไม้เท้าเดินเข้าไปกลางชุมชน และขอกล่าวสุนทรพจน์ เมื่อชุมชนอนุญาตจึงได้กล่าวคาถาที่เรียนมาจากพระพุทธเจ้า ในขณะนั้นลูกของชายชรานั่งอยู่ในที่ปะชุมด้วย
สมัยนั้นมีข้อปฏิบัติหรือกติกาสำหรับชาวบ้านอยู่ข้อหนึ่งคือ “บุตรใดใช้สอยทรัพย์ที่เป็นของมารดาบิดา แต่ไม่เลี้ยงมารดาบิดา บุตรนั้นจะต้องถูกฆ่า” ข้อปฏิบัตินี้ปัจจุบันคงยกเลิกไปแล้ว ถ้านำมาใช้ที่ประเทศไทยคงมีคนถูกประหารชีวิตวันละหลายคน
ลูกของชายชราพอได้ฟังถ้อยคำของบิดาก็เกิดสำนึกผิด อ้อนวอนขอให้พ่อยกโทษให้ มหาชนในที่ประชุมแห่งนั้นจึงสั่งกำชับให้นำชายชรากลับบ้านและต้องเลี้ยงดูอย่างดี หากเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้นอีก จะไม่มีข้อยกเว้นต้องประหารชีวิตสถานเดียว เพราะกลัวตายลูกชายทั้งสี่คนจึงช่วยกันเลี้ยงดูพราหมณ์อย่างดี ห้ามภรรยากล่าวถ้อยคำที่จะทำให้พ่อไม่สบายใจเด็ดขาด ใครขืนพูดให้ชายชราเจ็บซ้ำน้ำใจอีกต้องถูกลงโทษไล่ออกจากบ้านทันที ชายชราจึงอยู่อย่างมีความสุข บางครั้งก่อนจะมีความสุขก็ต้องเผชิญกับความทุกข์มาก่อน
เห็นคนที่ถือไม้เท้าอย่าพึ่งนึกว่ามีแต่คนแก่เท่านั้นที่ถือไม้เท้า คนอื่นๆก็อาจจะถือไม้เท้าไว้ช่วยพยุงตัวเองก็ได้ ไม้เท้าเป็นเหมือนเพื่อนสนิทของคนชรา เวลาไปไหนมาไหนหากมีไม้เท้าไว้ช่วยพยุงร่างกายก็จะรู้สึกตัวเองมีความปลอดภัย แต่ความสุขของคนเฒ่าคนแก่นั้นอยากให้ลูกหลานอยู่ใกล้ๆคอยดูแลเอาใจใส่ แต่ถ้ามีลูกอกตัญญูไม่รู้จักบุญคุณของพ่อแล้ว สู้มีไม้เท้าอันเดียวก็เที่ยวไปได้ทุกที่เหมือนมีเครื่องป้องกันภัย ไม้เท้าของคนเฒ่าจึงดีกว่าลูกเต้าอกตัญญู แต่ถ้ามีลูกที่กตัญญูรู้จักตอบแทนบุญคุณท่ีท่านเลี้ยงมาแล้วเลี้ยงท่านตอบถึงไม่มีไม้เท้าก็ไม่เป็นไร
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
03/12/53