การสอบของนักธรรมชั้นตรี โท เอกของพระภิกษุสามเณรเสร็จสิ้นไปแล้ว โดยกองธรรมสนามหลวงได้จัดให้มีการสอบธรรมสนามหลวงประจำปี 2553 ในช่วงวันที่ 22-25 พฤศจิกายน 2553 ส่วนวันที่ 26 พฤศจิกายน2553 จัดให้มีการสอบธรรมศึกษาขึ้น สอบวันเดียวเสร็จจากเช้าถึงเย็น วันเดียวสี่วิชาได้แก่วิชากระทู้ธรรม วิชาธรรม วิชาพุทธประวัติและวิชาเบญจศีลเบญจธรรม โดยมีสนามสอบตามโรงเรียนต่างๆทั่วประเทศ ในปีหนึ่งหนึ่งมีผู้เข้าสอบหลายแสนคน
การจัดการศึกษาของคณะสงฆ์ไทยปัจจุบันมีหลายแผนกเช่นในระดับพื้นฐานคือการเรียนนักธรรมมีสามระดับคือนักธรรมตรี โท เอก ต่อมาก็เป็นแผนกบาลีเรียนตั้งแต่บาลีไวยากรณ์จนถึงขั้นสูงสุดคือเปรียญธรรมเก้าประโยค ผู้สอบผ่านเปรียญธรรมสามประโยคขึ้นไปให้เรียกคำนำหน้าพระภิกษุรูปนั้นว่า “พระมหา” ถ้าสอบได้ตั้งแต่ยังเป็นสามเณรก็ให้เรียกว่า “เปรียญ” ต่อท้ายชื่อ เช่นสามเณรนก เบญจมา เปรียญ เป็นต้น การศึกษาของคณะสงฆ์ไทยตั้งแต่อดีตเป็นต้นมามีอยู่สองแผนกนี้
ต่อมาได้มีการตั้งสถาบันการศึกษาของคณะสงฆ์ไทยขึ้นในระดับมหาวิทยาลัย ปัจจุบันมีสองแห่งคือมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ตั้งอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร นอกจากนั้นยังมีวิทยาเขตตามภาคต่างๆอีกเจ็ดแห่ง และมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตั้งอยู่ที่วัดมหาธาตุยุวราษฎร์รังสฤษดิ์ กรุงเทพมหานคร มีวิทยาเขตตั้งอยู่ตามจังหวัดต่างๆอีกจำนวนมาก มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่งเปิดสอนระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอก
การศึกษาของคณะสงฆ์อีกอย่างหนี่งคือโรงเรียนปริยัติธรรมสามัญเปิดสอนสำหรับพระภิกษุสามเณรตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่หนึ่งถึงปีที่หก หากเรียนจบตามเกณฑ์ก็เข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยได้ทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันเปิดโอกาสให้พระภิกษุสามเณรเข้าศึกษาต่อได้ ทำให้มีพระภิกษุเรียนจบในระดับชั้นปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก แต่ก็ยังมีจำนวนน้อยมาก
หากดูตามนี้การศึกษาของคณะสงฆ์น่าจะครอบคลุมพระภิกษุสามเณรได้ทุกรูป แต่ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความพร้อมในการศึกษาพระพุทธศาสนา นั่นคือนักเรียนนักศึกษาซึ่งมีความพร้อมเพราะพวกเขาเรียนวิชาต่างๆอยู่แล้ว หากแทรกวิชาพระพุทธศาสนาเข้าไปในระบบการศึกษาก็น่าจะได้ประโยชน์ โรงเรียนหลายแห่งจึงบรรจุวิชาพระพุทธศาสนาเข้าไปในหลักสูตร แต่ก็ยังไม่เพียงพอ
กองธรรมสนามหลวงที่มีหน้าที่ในการจัดการศึกษาแผนกนักธรรม จึงได้จัดให้มีการเรียนการสอนธรรมศึกษาขึ้น โดยส่งพระภิกษุที่จำพรรษาในวัดใกล้ๆกับโรงเรียนไปสอน ส่วนหนึ่งจะสอนในวันอาทิตย์กลายเป็นโรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ แต่จัดให้มีการสอบตามหลักสูตรนักธรรมของคณะสงฆ์ไทย จึงเรียกการสอบนี้ว่า “สอบธรรมศึกษา” สอบปีละหนึ่งครั้ง สนามสอบมีอยู่ทั่วประเทศ
นักเรียนที่สอบผ่านก็จะได้ใบประกาศนียบัตรตามชั้นที่สอบผ่านเช่นสอบผ่านธรรมศึกษาชั้นตรีก็เรียกว่าธรรมศึกษาชั้นตรี เป็นต้น หลักสูตรมีเพียงสามชั้นคือธรรมศึกษาตรี โท เอก เหมือนที่พระภิกษุสามเณรเรียน ผู้เข้าศึกษาธรรมศึกษาไม่จำกัดอายุ เพศ ใครอยากเรียนซื้อหนังสือมาอ่าน หรือสอบถามจากครู พอถึงเวลาก็ส่งรายชื่อสมัครสอบตามวัดต่างๆ สอบได้ก็กลายเป็นที่ได้รับการศึกษาธรรมะขั้นพื้นฐาน คนที่มีความรู้ทางด้านพระพุทธศาสนานั้นอย่างน้อยก็จะมีภูมิคุ้มกัน เพราะรู้จักแยกแยะว่าอะไรคือความดี อะไรคือความชั่ว คนที่ไม่เคยศึกษาธรรมบางคนแยกไม่ออกอาจคิดว่าชั่วคือดีหรือคิดว่าดีคือชั่ว หลงทำชั่วเพราะว่าเป็นความดีเป็นต้น
ปีนี้วัดมัชฌันติการามร่วมกับโรงเรียนวัดมัชฌันติการามได้เปิดให้มีการสอบธรรมศึกษาขึ้นเป็นปีแรก มีนักเรียนเข้าสอบเกือบสองร้อยคน ส่วนชาวบ้านทั่วไปหากอยากสอบธรรมศึกษาก็ไม่ยาก ติดต่อขอสอบได้เลย การศึกษาธรรมสำหรับชาวบ้านอาจจะมีหลายวิธี ธรรมศึกษาส่วนหนึ่งเน้นที่นักเรียนนักศึกษา แต่ก็เปิดโอกาสให้ทุกคนที่อยากเรียนได้เรียนและเข้าสอบได้
ผู้ที่อ่านไซเบอร์วนารามมาเรื่อยๆคาดว่าน่าจะมีความรู้ทางธรรมพอสมควร ปีหน้าจะขอสอบเพื่อวัดภูมิรู้ของตนเองก็ย่อมกระทำได้ แต่ต้องเริ่มติดต่อกับวัดมัชฌันติการามประมาณช่วงเข้าพรรษา โดยติดต่อมาที่เว็บมาสเตอร์ไซเบอร์วนารามก็ได้ ถ้าเว็บไซต์นี้ยังอยู่ไปจนถึงเข้าพรรษาปีหน้า
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
26/11/53