ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

     วันนี้วันลอยกระทงสองฟากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำสายอื่นทั่วประเทศไทย คงสว่างไสวไปด้วยประทีปโคมไฟที่พุทธศาสนิกชนต่างก็พร้อมใจกันประดับตกแต่งอย่างสวยงาม เพื่อแสดงออกถึงการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีลอยกระทงไว้ แม้ว่าแม่น้ำเจ้าพระยาในยามนี้มีน้ำล้นตลิ่งบางแห่งทะลักล้นจนเกินฝั่งต้องหากระสอบทรายมาวางกั้นเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำไหลเข้าท่วมบ้านเรือน แต่ทว่าพอถึงวันเพ็ญเดือนสิบสองทีไรต่างก็ดูเหมือนจะลืมเลือนอุทกภัยชั่วคราว หันมาหาความสนุกเพลิดเพลินในงานลอยกระทงแม้จะเป็นเพียงแค่เวลาคืนหนึ่งก็ยังดี 
            วัดมัชฌันติการามแม้ว่าจะไม่ได้ตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ก็มีคลองบางเขนใหม่ไหลผ่านหน้าวัด ในอดีตเจ้าอาวาสคือหลวงปู่อ่อน ญาณเตโชจะพายเรือบิณฑบาต ในวันอื่นๆน้ำในคลองอาจจะมีสีคล้ำสกปรกไปบ้าง แต่พอถึงวันเพ็ญเดือนสิบสองคลองหน้าวัดก็พลันใสสะอาดขึ้นมาทันใด นั่นเพราะเจ้าหน้าที่ของเขตบางซื่อได้เปิดประตูน้ำให้น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาไหลเข้ามาจนล้นฝั่ง ชุมชนข้างๆวัดที่ไม่ได้เดินทางไปเที่ยวงานลอยกระทงที่ไหนต่างก็พร้อมใจกันมาร่วมลอยกระทงกันที่วัดมัชฌันติการาม

            กระทงเกิดจากฝีมือของพระสงฆ์สามเณร แม่ชี และชาวบ้านมาช่วยกันทำจากวัสดุเท่าที่จะหาได้ ส่วนมากจะเป็นต้นกล้วย ใบกล้วย ประดับด้วยดอกไม้นานาชนิด กระทงแต่ละอันจึงไม่เหมือนกัน ใครที่มีฝีมืออาจทำได้สวย แต่บางคนเพียงแต่จดจำจากคนข้างๆ จากนั้นก็ลงมือทำเองประดับเอง เพราะที่วัดมีวัสดุให้พร้อม ใครอยากลอยกระทงที่ทำด้วยฝีมือของตนเองก็ขอเชิญมาร่วมทำได้เลย หากทำได้หลายอันก็ขายนำรายได้เข้าวัด สามเณรบางรูปมีถิ่นกำเนิดบ้านเกิดอยู่บนดอยสูง ไม่เคยทำกระทงเลยก็สามารถทำได้เอง เพราะกระทงทำไม่ยาก แต่งนั่นเติมนี่ใส่ใบกล้วยเข้าไป ประดับด้วยดอกไม้ ธูปเทียน เพียงเท่านี้ก็เป็นกระทงที่สามารถลอยน้ำได้แล้ว 
            หลวงตาไซเบอร์เป็นพระบ้านนอก บ้านเกิดในชนบทก่อนจะย้ายมาอยู่พักในเมืองหลวงไม่เคยรู้จักประเพณีลอยกระทง งานบุญสุดท้ายประจำปีในเดือนสิบสองก็คืองานบุญกฐิน ซึ่งก็จะอยู่ประมาณเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ชาวบ้านเขามีประเพณีไหลเรือไฟส่วนมากจะจัดอยู่ตามจังหวัดที่ตั้งอยู่บริเวณแม้น้ำโขง เดือนธันวาคมชาวบ้านเรียกเดือนอ้าย งานบุญประเพณีประจำเดือนคือบุญเข้ากรรม เดือนยี่บุญคูนลาน เดือนสามบุญข้าวจี่ เดือนสี่บุญพะเหวด เดือนห้าบุญสรงน้ำหรือสงกรานต์ เดือนหกบุญบั้งไฟ เดือนเจ็ดบุญชำระ เดือนแปดบุญเข้าพรรษา เดือนเก้าบุญเข้าประดับดินเดือนสิบบุญข้าวสาก เดือนสิบเอ็ดบุญออกพรรษา(บุญเกิด พิมพ์วรเมธากุล,ประเพณีอีสาน,ขอนแก่น: นานาวิทยา 2544) 

            งานบุญต่างๆนี้ว่าตามฮิตสิบสองของคนไทยอีสาน ซึ่งไม่มีประเพณีลอยกระทง ส่วนประเพณีลอยกระทงนิยมจัดขึ้นในจังหวัดทางภาคกลางของประเทศ นัยว่ามีมาตั้งแต่สมัยก่อนสุโขทัย มีคติความเชื่อจากหลายคติตามที่ปรากฎในหนังสือวันสำคัญของไทยได้กล่าวถึงคติความเป็นมาของวันลอยกระทงไว้ดังนี้ “ลอยกระทงเพื่อขอขมาแก่พระแม่คงคา เพื่อบูชาพระผู้เป็นเจ้าตามคติพรามหณ์คือบูชาพระนารายณ์ซึ่งบรรทมสินธุ์อยู่ในมหาสมุทร เพื่อต้อนรับพระพุทธเจ้าในวันเสด็จจากเทวโลกเมื่อครั้งเสด็จไปจำพรรษาอยู่บนสวรรค์ขั้นดาวดึงส์  เพื่อบูชารอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าที่หาดทรายริมแม่น้ำนัมมทานที เพื่อบูชาจุฬามณีบนสวรรค์ เพื่อบูชาท้าวพกาพรหม เพื่อบูชาพระอุปคุตเถระซึ่งบำเพ็ญเพียรบริกรรมคาถาอยู่ในท้องทะเลลึกหรือสะดือทะเล”(ธนากิต,วันสำคัญของไทย,กรุงเทพฯ: ชมรมเด็ก,2541,หน้า 276) 

            ทางภาคเหนือจัดงานประเพณียี่เป็ง ซึ่งจัดขึ้นเพื่อบูชาพระอุปคุตต์ซึ่งเชื่อกันว่าท่านบำเพ็ญบริกรรมคาถาอยู่ที่สะดือทะเล ภาคเหนือยังมีประเพณีอย่างหนึ่งสำหรับการบูชาพระอุปคุตต์ซึ่งตรงกับวันเพ็ญขึ้นสิบห้าค่ำ ที่ตรงกับวันพุธ ชาวบ้านนิยมเรียกว่า “วันเพ็ญพุธ”จะมีประเพณีตักบาตรพระอุปคุตต์โดยกำหนดเวลาหลังเที่ยงคืนไปจนถึงสว่าง โดยมีความเชื่อต่อๆกันมาว่าพระอุปคุตต์จะออกบิณฑบาตในวันเพ็ญที่ตรงกับวันพุธ พระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่งอาจเป็นพระอุปคุตต์ก็ได้ พระอุปคุตต์องค์นี้ทางภาคเหนือเลยไปจนถึงพม่านิยมเรียกกันว่า “พระบัวเข็ม” ใครมีไว้บูชาเชื่อกันว่าจะป้องกันอันตรายได้
            ประเพณีลอยกระทงได้กลายเป็นประเพณีสำคัญของคนไทยมาตั้งแต่ก่อนสมัยสุโขทัย ซึ่งก็ล่วงเลยเวลามานานกว่าเจ็ดร้อยปีแล้ว ใครจะลอยกระทงเพื่อวัตถุประสงค์อะไรนั้นก็ขึ้นอยู่กับใครจะเชื่อตามคติความเป็นมาอย่างไรด้วย แต่คติที่คนไทยนิยมมากที่สุดคือลอยกระทงเพื่อขอขมาพระแม่คงคาซึ่งหล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คนจำนวนมากโดยไม่เคยบ่น แต่บางครั้งก็เล่นแรงเช่นปีนี้แม่คงคามีปริมาณมากจนท่วมไปหลายพื้นที่

            แม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำสายสำคัญอื่นๆทั่วประเทศไทยสว่างไสวไปด้วยแสงไฟระยิบระยับซึ่งประดับอยู่ทั่วสองฝั่งน้ำ บางแห่งอาจจะมีการประกวดกระทงสวยงาม แต่ที่วัดมัชฌันติการาม บางซื่อไม่มีการประกวด ใครมาก่อนลอยก่อน ใครไม่มีกระทงอาจจะลงมือทำเองหรือไม่ก็ซื้อหากระทงฝีมือช่างจำเป็นคือพระภิกษุสามเณรที่ช่วยกันทำก็ได้ หากเรามองให้สวยก็สวยไปเอง ใครยังไม่มีที่ลอยกระทงขอเชิญมาร่วมงานลอยกระทงชาวบ้านที่วัดมัชฌันติการาม ยินดีต้อนรับทุกท่าน

พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน
21/11/53

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก