หากไปวัดราชาธิวาสวิหารแล้ว ไม่ได้ไปถึงท่าน้ำริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา รู้สึกจะขาดอะไรไปสักอย่าง เหมือนไปยังไม่ถึงวัดราชาฯ เพราะเวลาเย็นของที่นี่ในช่วงที่พระอาทิตย์กำลังจะลับขอบฟ้า ลำแสงสุดท้ายตัดกับระลอกคลื่นของแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีเรือวิ่งสวนกันไปมานั้น เป็นสภาพที่สวยงามอย่างยิ่ง เหมือนกับช่วงต่อระหว่างโลกมนุษย์กับเมืองสวรรค์
เมืองสวรรค์วิมานอยู่ที่ไหนยังไม่เคยไปสักครั้ง เคยได้ยินแต่ในนิยายซึ่งบอกว่าอยู่ชายแดนเชื่อมต่อระหว่างโลกมนุษย์และเทวโลกเหมือนลำแสงสนธยา ณ ขอบฟ้าปัจฉิมทิศ ซึ่งเวลาที่ถือว่ามีความงดงามและประทับใจมนุษย์มากที่สุดคือเวลาพระอาทิตย์ขึ้นและเวลาพระอาทิตย์กำลังตก ดังนั้นหากมีเวลาช่วงใดควรไปทัศนาให้เห็นกับตาสักครั้ง
กำแพงวัดราชาฯยังคงทำหน้าประหนึ่งแสดงธรรมต่อไป อยากนำมาให้อ่านทุกป้าย ถ้าทำอย่างนั้นจริงก็ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่าหนึ่งเดือน คอลัมน์ข้อคิดประจำวันคงจะต้องเปลี่ยนเป็นธรรมะประจำวัดราชาธิวาสไป ได้พบกับเว็บมาสเตอร์เว็บไซต์วัดราชาฯกรุณาเล่าให้ฟังว่า“ได้นำเอาธรรมะจากแผ่นสังกะสีทุกป้าย นำเสนอไว้ภายในเว็บไซต์วัดราชาแล้ว” นั่นเป็นสิงที่ดี ดังนั้นภาพบางภาพที่นำเสนออาจจะไม่ชัด อ่านไม่ออก ไม่เป็นไรกรุณาติดตามที่เว็บไซต์วัดราชาธิวาสเอาเองเถิด แต่อยู่ตรงไหน เรื่องนี้ต้องหาเอาเอง หากยังหาไม่พบ (โปรดย้อนกลับไปตอนที่ 1 อีกครั้ง)
ป้ายทุกป้ายยังคงทำหน้าที่ชี้นำเพื่อเตือนจิต ชักนำให้คนคิดหันมามองตัวเองเช่นป้ายหนึ่งมีข้อความว่า “แก้ได้ แก้ไม่ได้.... มีร้อนมีเย็นแก้ มีมืดมีสว่างแก้ มีโรคมียาแก้ มีปัญหามีปัญญาแก้ ทุกอย่างมีทางแก้ ยกเว้นใจเสีย ใจแพ้ ใจตัวแย่ ทางแก้ไม่มี” คนที่กำลังประสบปัญหาในชีวิตโปรดฟังไว้ ใครที่กำลังคิดจะยอมแพ้แก่ชีวิตอย่างพึ่งท้อแท้ แวะไปวัดราชาธิวาสเสียก่อน นั่งนิ่งๆอ่านคติธรรมจากกำแพงและต้นไม้ อาจหาทางออกได้
การที่โลกมีพระพุทธศาสนาก็เพราะมีพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมะแก่ชาวโลก ก่อนจะมาเป็นพระพุทธเจ้านั้น พระองค์ก็เป็นคนธรรมดา เป็นโอรสของกษัตริย์ ประสูติใต้ต้นสาละ ตรัสรู้ใต้ต้นโพธิ แสดงธรรมครั้งแรกที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน วัดแห่งแรกคือวัดป่าไผ่(เวฬุวนาราม) ปรินิพพานใต้ต้นรังทั้งคู่ เห็นไหมว่าพระพุทธศาสนามีส่วนเกี่ยวข้องกับป่าแทบทั้งนั้น หากพูดด้วยภาษาชาวบ้านอาจสรุปได้ว่าพระพุทธเจ้านั้น “เกิดกลางดอน นอนกลางดิน กินกลางทราย ตายกลางป่า” ยุคสมัยปัจจุบันต้นไม้เหลือน้อย มนุษย์จึงมักจะลืมคุณประโยชน์ของป่า
ต้นไม้แสดงธรรมที่วัดราชาธิวาส มิใช่แต่จะสอนคนทั่วไปเท่านั้นยังมุ่งเน้นให้เห็นกิเลสการสะสมของพระภิกษุที่บวชมานานๆข้าวของเครื่องใช้ไม่มีที่เก็บ ดังเช่นป้ายหนึ่งข้างๆกำแพงเปรียบเทียบคนกับลิงว่า "โอ้ว่าตัวกูเป็นอยู่มานาน มีลาภสักการซ้ายขวาหนาแน่น ที่หลับที่นอนมีของวางแทน นอกแน่นในแน่นจะทำไงดี ทุกข์หาบทุกข์หามเพราะความมั่งมี นั่งปลงนอนปลงไม่ลงสักที......(กรุณาอ่านที่ป้าย)..... เกิดเป็นมนุษย์ประเสริฐสุดกว่าลิง แต่เอาเข้าจริงเป็นลิงติดตัง เอวังก็มีฉะนี้แล”
เคยเห็นไหม “ลิงติดตัง” คำว่า “ตัง”ทำจากยางไม้ชนิดหนึ่งเหนียวมาก คนโบราณใช้ตังไปทาตามต้นไม้ พร้อมกับวางอาหารไว้ล่อสัตว์ต่างๆ ลิงมาเห็นอาหารเข้านึกว่าเป็นลาภปากก็รีบคว้าทันที เพราะยางเหนียวมากลิงจึงไปไหนไม่ได้ ดิ้นไม่หลุด ยิ่งดิ้นยิ่งติด ใช้ขาอีกสามข้างเพื่อจะทำให้ขาอีกข้างหลุดในที่สุดก็ติดทั้งสี่ขา
เมื่อนำคำว่าลิงติตตังมาอธิบายพระภิกษุที่มีลาภสักการะมาก แต่ไม่อยากให้ใคร “จะทิ้งก็เสียดาย จะให้ก็ตระหนี่ จะเก็บไว้ก็ไม่มีที่” พระบางรูปจึงมีเตียงไว้เก็บข้าวของ เก็บห่อสังฆทาน ส่วนตัวเองต้องนอนใต้เตียง เพราะความเสียดายข้าวของนั่นเอง ฤาษีลิงแดงช่างเข้าใจพระได้ดีแท้
อีกแห่งหนึ่งติดประกาศไว้หน้ากุฎีเจ้าอาวาสใช้หัวข้อว่า “ขาประจำ ฉันอิ่ม จิ้มฟัน ฉันน้ำชา นินทาสมภาร กิจสี่ประการเป็นงานอดิเรก” อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เตือนใจพระภิกษุลูกวัดได้ดีเยี่ยม ช่างเข้าใจหัวอกพระลูกวัดได้ดีแท้ พระลูกวัดท่านใดอ่านแล้วคงสะดุ้ง ถามว่าผู้ที่กล้าเขียนวลีแบบนี้แล้วนำไปติดหราไว้หน้ากุฎีเจ้าอาวาส...... จะมีใครอื่นอีก...นอกจากฤาษีลิงแดง.......
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
เรียบเรียง
๑๙/๐๒/๕๓