น้ำท่วมปีนี้หนักกว่าทุกปีและแผ่ขยายวงกว้างออกไปหลายจังหวัด ส่งผลกระทบทั้งสภาพร่างกายและจิตใจของคนไทยโดยทั่วหน้ากัน ยังมีแนวโน้มว่าบ้านเรือนที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาจะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมไปด้วย เสียงร้องให้และคร่ำครวญของผู้ประสบภัยดูแล้วหดหู่ในหัวใจเป็นอย่างยิ่ง บางท่านมีสายตาเวิ้งว้างแสดงออกถึงการสูญเสียและสิ้นหวัง ทว่าอีกมุมหนึ่งก็ได้เห็นน้ำใจของคนไทยทุกหมู่เหล่าที่ให้การช่วยเหลือไม่ขาดสาย คนจะเห็นใจกันท่านว่าไว้ในสี่ยามคือ “ยามจน ยามเจ็บ ยามจาก และยามเจ๊ง”
ความจนเป็นสิ่งที่ไม่มีมีใครปรารถนา แต่จะทำอย่างไรได้โชคชะตาของใครบางคนเกิดมาจนต้องหาเช้ากินค่ำ เลือกอาชีพที่ไม่มีมีทางรวย แต่เขาก็ยังทำเช่นชาวไร่ชาวนาในชนบททั้งๆที่รู้ว่าอาชีพชาวนาในเมืองไทยไม่เคยมีคนรวย เพราะต้องลงทุนมาก และอีกอย่างก็ต้องหวังพึ่งน้ำจากจากฟ้า ปีไหนน้ำน้อยข้าวก็แห้งตาย ส่วนปีไหนที่น้ำมาก น้ำก็ท่วมอย่างเช่นในปีนี้ไม่รู้ฟ้าฝนเกิดอะไรขึ้นจึงตกลงมาอย่างหนักจนเกิดน้ำท่วมมากว่าสามสิบจังหวัด ส่วนมากจะอยู่ในช่วงตอนกลางของประเทศ ผลกระทบจากน้ำท่วมทำให้ข้าวในนาที่กำลังออกผลต้องจมหายอยู่ใต้กระแสน้ำ อนาคตของชาวนาไทยต้องสูญสิ้นเมื่อผลผลิตไม่มี หนี้สินที่กู้ยืมมาเพื่อหวังจะชดใช้ในเวลาที่ข้าวให้ผลก็ต้องมลายหายไปกับสายน้ำหลากด้วย ในที่สุดก็ต้องเป็นหนี้อีกอย่างไม่มีที่สิ้นสุด คนที่จนอยู่แล้วก็ต้องจนกันต่อไป บางครั้งความจนก็เกิดขึ้นเพราะปัจจัยจากภายนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งภัยธรรมชาติ แม้ไม่อยากจนแต่ธรรมชาติผลักดันให้จนได้เหมือนกัน
ความเจ็บป่วยเป็นเรื่องธรรมดาที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่กับใครก็ได้ทั้งนั้น ในยามเจ็บป่วยหากมีใครให้การช่วยเหลือดูแลรักษาพยาบาล เมื่อคนเจ็บหายป่วยก็ย่อมจะสำนึกในบุญคุณของผู้ให้การรักษา แม้แต่พระพุทธเจ้าก็ยังดูแลรักษาพยาบาลภิกษุไข้ด้วยพระองค์เอง ดังที่ปรากฎในพระวินัยปิฎก มหาวรรค (5/166/178) สรุปความว่า “ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธเป็นโรคท้องร่วง นอนจมกองมูตร(ปัสสาวะ)กองคูถ(อุจจาระ)ของตนอยู่ ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคมีท่านพระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะ เสด็จพระพุทธดำเนินไปตามเสนาสนะ ได้เสด็จเข้าไปทางที่อยู่ของภิกษุรูปนั้น ได้ทอดพระเนตรเห็นภิกษุรูปนั้นนอนจมกองมูตรกองคูถของตนอยู่ ครั้นแล้วเสด็จเข้าไปใกล้ภิกษุรูปนั้น แล้วตรัสถามว่า เธออาพาธเป็นโรคอะไรภิกษุ
ภิกษุรูปนั้นกราบทูลว่า “ข้าพระพุทธเจ้าอาพาธเป็นโรคท้องร่วง พระพุทธเจ้าข้า”
. พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า “เธอมีผู้พยาบาลไหมเล่า” ภิกษุรูปนั้นตอบว่า “ไม่มี พระพุทธเจ้าข้า”
พระพุทธเจ้าตรัสถามต่อไปว่า “เพราะเหตุไร ภิกษุทั้งหลายจึงไม่พยาบาลเธอ”
ภิกษุรุปนั้นตอบว่า “เพราะข้าพระพุทธเจ้ามิได้ทำอุปการะแก่ภิกษุทั้งหลาย ฉะนั้นภิกษุทั้งหลายจึงไม่ พยาบาลข้าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงรับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า “อานนท์ เธอไปตักน้ำมา เราจักสรงน้ำภิกษุรูปนี้ ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระพุทธบัญชาตักน้ำมาถวาย พระผู้มีพระภาคทรงรดน้ำ ท่านพระอานนท์ขัดสี พระผู้มีพระภาคทรงยกศีรษะท่านพระอานนท์ยกเท้าแล้ววางบนเตียง” ภิกษุป่วยไม่มีผู้ดูแลย่อมลำบาก ยิ่งญาติพี่น้องไม่มี และยังไม่ค่อยให้การช่วยเหลือใครอีก จึงไม่มีใครเข้ามารักษาพยาบาล ช่างเป็นชีวิตที่น่าอนาถนัก ปีนี้วัดหลายแห่งถูกน้ำท่วมพระสงฆ์สามเณรก็พลอยเดือดร้อนไปด้วย
ในครั้งนั้นพระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงกับภิกษุทั้งหลายว่า "ในวิหารหลังโน้น มีภิกษุอาพาธแต่ไม่มีใครพยาบาล ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอไม่มีมารดาไม่มีบิดา ผู้ใดเล่าจะพึงพยาบาลพวกเธอ ถ้าพวกเธอจักไม่พยาบาลกันเอง ใครเล่าจักพยาบาล ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดจะพึงอุปัฏฐากเรา ผู้นั้นจงพยาบาลภิกษุอาพาธ ถ้ามีอุปัชฌายะ อุปัชฌายะพึงพยาบาลจนตลอดชีวิต หรือจนกว่าจะหาย ถ้ามีอาจารย์ อาจารย์พึงพยาบาลจนตลอดชีวิต หรือจนกว่าจะหาย ถ้ามีสัทธิวิหาริก สัทธิวิหาริกพึงพยาบาลจนตลอดชีวิต หรือจนกว่าจะหาย ถ้ามีอันเตวาสิก อันเตวาสิกพึงพยาบาลจนตลอดชีวิต หรือจนกว่าจะหาย ถ้ามีภิกษุผู้ร่วมอุปัชฌายะ ภิกษุผู้ร่วมอุปัชฌายะพึงพยาบาล จนตลอดชีวิตหรือจนกว่าจะหาย ถ้ามีภิกษุผู้ร่วมอาจารย์ ภิกษุผู้ร่วมอาจารย์พึงพยาบาลจนตลอดชีวิต หรือจนกว่าจะหาย ถ้าไม่มีอุปัชฌายะ อาจารย์ สัทธิวิหาริก อันเตวาสิก ภิกษุผู้ร่วม อุปัชฌายะ หรือภิกษุผู้ร่วมอาจารย์ สงฆ์ต้องพยาบาล ถ้าไม่พยาบาล ต้องอาบัติทุกกฏ” หากภิกษุรูปใดเห็นภิกษุอื่นป่วยแล้วไม่รักษาพยาบาล พระพุทธเจ้าปรับอาบัติไว้ด้วย หากเราไม่ช่วยกันเองแล้วใครจะมาเห็นใจเรา
ในเวลาที่พระสงฆ์เจ็บป่วย พระสงฆ์ในวัดจะต้องดูแลกันเอง พระสงฆ์เป็นอนาคาริกคือผู้ที่ไม่มีบ้าน ออกจากเรือนบวช จึงเป็นเหมือนกับอยู่ตัวคนเดียว หากเจ็บป่วยก็ต้องดูแลกันเอง แต่คนทั่วไปมีครอบครัวมีญาติพี่น้อง จึงต้องดูแลกันตามสมควร ปัจจุบันการแพทย์เจริญขึ้นมาก เวลาเจ็บป่วยจึงหวังพึ่งโรงพยาบาล แต่ญาติพี่น้องก็ต้องคอยดูแลอย่างใกล้ชิด คนเราในยามเจ็บมักจะคิดมากใจน้อยซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ แต่หากโรงพยาบาลก็ถูกน้ำท่วมคนป่่วยยิ่งจะต้องเดือดร้อนเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่า
ยามจากในที่นี่หมายถึงการที่คนเราต้องพลัดพรากจากกันเป็นเรื่องธรรมดา พ่อแม่บางคนถูกลูกๆทอดทิ้งไม่เคยหันกลับมาดูแลพ่อแม่อีกเลย หัวอกของคนเป็นพ่อแม่ย่อมอยากอยู่ใกล้ลูก อยากให้ลูกมีอนาคตที่ดี แต่บางครั้งความฝันกับความจริงก็เป็นคนละเรื่องกัน คนจากต่างจังหวัดมุ่งหน้ามาหางานทำในกรุงเทพฯ เพื่อหวังว่าจะได้มีชีวิตที่ดีกว่า แต่พอทำไปสักพักกรุงเทพฯก็ไม่ได้เป็นอย่างที่ฝัน เงินไม่ค่อยพอใช้ เงินที่หามาได้ในแต่ละเดือนก็หมดไปกับค่าใช้จ่ายต่างๆ จะกลับบ้านก็อายคนเพราะไม่ได้มีเงินอย่างที่ชาวบ้านคิด ส่วนชาวบ้านก็คิดว่าไปได้ดีแล้วลืมญาติพี่น้อง เพราะความเข้าใจไปคนละทาง จึงทำให้ลูกต้องจากพ่อแม่ไม่ยอมกลับบ้านอีกเลย คนประเภทหนีจากบ้านไปตายเอาดาบหน้ามีปริมาณเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในชนบทก็เพิ่มจำนวนคนชราที่ไร้ญาติขาดมิตร ทนมีชีวิตอยู่อย่างเดียวดาย เฝ้าคิดเฝ้าฝันว่าสักวันลูกจะกลับมาหาวันแล้ววันเล่าที่เฝ้ารอ
ยามเจ๊งหมายถึงหมดสิ้นเนื้อประดาตัว ส่วนหนึ่งคนจะหมดตัวมักจะมาจากภัยธรรมชาติเช่นไฟไหม้ น้ำท่วม แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิดเป็นต้น ในช่วงนี้ชาวบ้านหลายจังหวัดต้องประสบกับสภาวะหมดเนื้อหมดตัว บางคนถึงกับฆ่าตัวตายเพราะคิดอะไรไม่ออก ทำอะไรไม่ได้ ทั้งจนใจไม่มีทางออก หากคิดเสียว่าทรัพย์สมบัติภายนอกหาใหม่ได้ แต่ร่างกายมนุษย์เรานั้นเกิดมาครั้งเดียวควรรักษาไว้อย่าพึ่งคิดสั้น ชีวิตย่อมมีทางออกเสมอ
วัดมัชฌันติการาม กรุงเทพมหานครได้จัดงานตักบาตรเทโวโรหรณะ อาหารที่ได้จากการบิณฑบาต ได้มอบให้ทหารนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติน้ำท่วมในครั้งนี้ด้วย แม้จะเป็นสิ่งของที่ไม่มากนัก คงช่วยเหลือได้ไม่ทั่วถึง แต่ก็เป็นน้ำใจที่พร้อมจะช่วยเหลือของพระสงฆ์สามเณรและพุทธศาสนิกชนได้ร่วมกันทำบุญ แม้สิ่งของจะน้อยแต่ก็มากด้วยน้ำใจ คนไทยไม่เคยทิ้งกัน ในยามที่คนเห็นใจกันสรุปได้สี่ยามคือ “ยามจน ยามเจ็บ ยามจาก และยามเจ๊ง” ไม่ช่วยเหลือกันในยามนี้จะช่วยเหลือในยามไหน
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
26/10/53