ในแต่ละวันแต่ละเดือนคงมีวันคล้ายวันเกิดของใครหลายคน โดยเฉพาะในเดือนตุลาคมนั้นมีวันคล้ายวันเกิดบุคคลสำคัญของโลกหลายท่าน วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2387 เป็นวันคล้ายวันเกิดของเฟรดริช นิทเช (Friedrich Wilhelm Nietzsche) นักปรัชญาชาวเยอรมันเชื่อกันว่าผู้วางรากฐานปรัชญา “โพสต์ โมเดิร์น” (Post Modernism) ปรัชญานี้มีผู้นิยมแปลเป็นภาษาไทยว่าปรัชญาหลังนวยุคหรือหลังนวสมัย ผู้มีส่วนสำคัญคนหนึ่งในการเริ่มต้นปรัชญาหลังนวยุคนิยมก็คือนิทเช่นี่แหละ ปรัชญาสายนี้เริ่มต้นในยุโรปโดยเฉพาะที่เยอรมัน
กำลังหาหนังสือเกี่ยวกับปรัชญาหลังนวยุคหรือโพสต์ โมเดิร์นมาอ่าน เคยสนใจปรัชญาสายนี้มานานแล้ว พยายามเก็บสะสมหนังสือของนิทเช่ไว้หลายเล่ม แต่อ่านจบเพียงเล่มเดียวคือพจนาซาราทุสตร้า ซึ่งก็อ่านแล้วเข้าใจยากมาก แต่เพราะความยากนี่แหละที่ทำให้งานเขียนของเขามีเสน่ห์ ยิ่งยากยิ่งอยากอ่าน แต่งานของนิทเช่ที่แปลเป็นภาษาไทยมีน้อยมาก ตั้งใจว่าจะแปลสักเล่ม ที่มีในมือขณะนี้มีสองเล่มคือ “Human ,All Too Human” จะแปลว่าอย่างไรดี “มนุษย์และมนุษยชาติหรือว่ามนุษย์เหนือมนุษย์” ก็ยังไม่เป็นที่ถูกใจ หาชื่อเรื่องภาษาไทยก็ยากแล้ว ยิ่งเนื้อหาที่มีถึง 638 เรื่อง 267 หน้า แม้จะเป็นเรื่องสั้นๆแต่ก็อ่านยากเต็มที และอีกเล่ม “Beyond Good and Evil” น่าจะแปลได้ง่ายกว่าว่า “อยู่เหนือความดีและความชั่ว” แต่อ่านได้สักพักก็ต้องวาง จากนั้นก็หันไปอ่าน Angels & Demons ของ Dan Brown ที่มีคนแปลเป็นไทยว่า “เทวากับซาตาน” แทนอ่านง่ายกว่าสนุกกว่า
ในขณะที่กำลังหาหนังสือเกี่ยวกับปรัชญาหลังนวยุคอยู่นั้นก็พบกับพจนาซาราทุสตร้า ของนิทเช่เข้า นิทเช่เป็นนักปราชญ์ที่เริ่มตั้งคำถามและเริ่มปฏิเสธยุคแสงสว่างที่โดดเด่นคนหนึ่ง นักปรัชญาชาวเยอรมันผู้นี้ปฏิเสธความเชื่อทางศาสนาถึงกลับกล้าเขียนไว้ในหนังสือ “Thus spoke Zarathustra” ว่า “พระเจ้าตายแล้ว” มีฉบับแปลเป็นภาษาไทยสองฉบับและแปลต่างกันเล่มแรกแปลเป็นภาษาไทยว่า “พจนาซาราทุสตร้า” อีกเล่มแปลว่า “ดังนั้นพูดซาราธุสตร้า” ไปได้ต้นฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษมาเล่มหนึ่ง พยายามอ่านมาหลายเดือนแล้ว แต่ไปไม่ถึงไหนคืออ่านยาก อ่านแล้วอ่านอีก ได้บันทึกเสียงฉบับแปลภาษาไทยจากนั้นก็เปิดฉบับภาษาอังกฤษพร้อมกับเปิดเสียงแปลไปด้วย เหตุผลอย่างหนึ่งคือได้เรียนภาษาอังกฤษไปด้วย
เดิมทีปรัชญาตะวันตกยังคงเดินตามอิทธิพลของปรัชญากรีก แต่นิทเช่เป็นผู้แหกขนบธรรมเนียมนี้ เขาเป็นนักต่อต้านทุกสิ่ง วิพากษ์ตั้งแต่โซคราตีสไปจนถึงพระเจ้า ในผลงานเรื่อง “Thus spoke Zarathustra” นิทเช่บอกว่า "พระเจ้าตายแล้ว" เขาหมายความถึงศาสนาคริสต์ในโลกตะวันตก ไม่มีความหมายมาตั้งแต่ต้นคริสตศตวรรษที่ 18 แล้ว แม้แต่แดน บราวน์ก็ชอบวิพากย์คริสตศาสนาเหมือนกัน ยิ่งเรื่องเทวากับซาตานมีเรื่องของศาสนจักรเป็นแกนของเรื่องเลย นิทเช่มอว่าสังคมยุคใหม่ถูกขับเคลื่อนโดยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรม แม้แต่ศีลธรรมก็เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาจากความอ่อนแอของตัวเองเพื่อใช้เป็นกฎเกณฑ์บังคับผู้อื่น ระเบียบกฎเกณฑ์ ประเพณีต่าง ๆ ก็เช่นเดียวกัน เพราะธรรมชาติของมนุษย์ต้องการอำนาจ ในโลกนี้ไม่มี "สิ่งจริงแท้"(Truth) ใด ๆ ทั้งสิ้น มีแต่การตีความ เมื่อไร้พระเจ้า ไร้ศีลธรรม ไร้กฎเกณฑ์ ไร้สาระ ไม่มีความจริงแท้ใด ๆ มนุษย์จึงต้องพึ่งตนเอง หรือเป็น “อภิมนุษย์" (Overman) ชีวิตมนุษย์ล้วนแต่ไร้สาระและน่าเศร้า นิทเช่บอกว่าทางออกคือการพยายามสร้างชีวิตให้เป็นผลงานศิลปะซึ่งจะเป็นผลงานที่ไม่มีวันตาย เรียกว่าแม้ตัวตายแต่ชื่อยังอยู่
นิทเช่เป็นศาสตราจารย์ด้านปรัชญาที่มหาวิทยาลัยบาเซิล (University of Basel) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ อีกสิบปีต่อมาก็ต้องเกษียณอายุตัวเอง เนื่องจากปัญหาด้านสุขภาพ และมีความคิดรุนแรงเข้ากับคนอื่นไม่ได้ ในช่วงสิบเอ็ดปีสุดท้ายของชีวิตเขาประสบปัญหาทางจิต จนกระทั่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2445 รวมอายุได้ 55 ปี หากนับเวลาถึงปัจจุบันก็เป็นเวลานานกว่า 108 ปีแล้ว แต่ผลงานของเขาก็มักจะได้รับการอ้างอิงและศึกษาค้นคว้าอยู่เสมอ
ในหนังสือคือพจนาซาราทุสตรา ฉบับแปลเป็นภาษาไทย นีทเช่ได้กล่าวถึงสิ่งที่ควรถูกสาปแช่งมากที่สุดในโลกนี้ไว้สามประการคือ “ความสุขทางเนื้อหนังมังสา ความกระหายอำนาจ และความเห็นแก่ตัว” ทั้งสามอย่างนี้คือสิ่งที่ถูกสาปแช่งมากที่สุด มีกิตติศัพท์เลวร้ายที่สุด และมีการโกหกเกี่ยวกับมันมาก
เขาอธิบายไว้อย่างน่าสนใจว่า ความสุขทางเนื้อหนังคือเนื้อและก้างที่ตำคอผู้รังเกียจร่างกายจริงจังทั้งหลาย และถูกสาปแช่งประณามว่าเป็นเรื่องทางโลก มันเป็นไฟคุกรุ่นที่เผาไหม้ นอกจากนั้นยังเป็นความไร้เดียงสาและอิสรเสรีสำหรับหัวใจเสรี คือความรื่นรมย์ในวนแห่งโลก เหมือนยาพิษหวานสำหรับผู้ที่เหี่ยวแห้งร่วงโรยแล้ว แต่สำหรับผู้มีความต้องการแบบสิงโต มันคือยาบำรุงหัวใจขนานเยี่ยม
ความกระหายอำนาจคือแส้ที่กระหน่ำโบยอย่างรุนแรงที่สุดในหมู่ผู้มีใจโหดเหี้ยม เป็นทัณฑ์ทรมานอันโหดร้ายที่มีไว้สำหรับคนโหดร้ายที่สุดโดยเฉพาะ คือสิ่งที่ทำให้มนุษย์คลานหมอบราบคาบแก้วและยอมตนเป็นทาสเมื่ออยู่เบื้องหน้ามัน จะตามไปหลอกล่อแม้กระทั่งผู้บริสุทธิ์และผู้ปลีกวิเวก รวมทั้งขึ้นไปหาแม้แต่ผู้ที่อยู่สูงสุด
ความเห็นแก่ตัวมักจะมาพร้อมกับความสุขทางเนื้อหนังและความกระหายอำนาจ เมื่อสามสิ่งเกิดขึ้นในบุคคลใดก็ยากที่จะเข้าถึงสัจจธรรมได้
ความเห็นของนิทเช่อาจจะถูกหรือผิดก็ได้ นักปรัชญากับนักศาสนามักจะมีแนวปฏิบัติที่แตกต่างกัน นักปรัชญาคิดเรื่องใหม่ๆได้ แต่ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามสิ่งที่ตนคิดได้ ส่วนนักการศาสนาจะปฏิบัติและทดลองด้วยตนเองจนเกิดความเชื่อและปฏิบัติตามสิ่งที่ตนคิด ปรัชญากับศาสนาจึงต่างกัน ความคิดทางปรัชญาบางอย่างมาจากการวิพากย์ความเชื่อทางศาสนา และหลักคำสอนทางศาสนาบางอย่างก็กลายเป็นหัวข้อถกเถียงกันของนักปรัชญา
แม้ว่านิทเช่จะคิดมากจนได้ชื่อว่าเป็นคนเสียสติแต่สิ่งที่เขาคิดอย่างหนึ่งคือ “อภิมนุษย์” เขาจะให้นิยามความหมายอย่างไรนั้นเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาหาคำอธิบายจากผลงานต่างๆของเขาต่อไป แต่หากจะบอกว่าเขาเชื่อในศักยภาพของพลังภายในมนุษย์ที่สามารถพัฒนาจนกลายเป็นมนุษย์ที่เหนือมนุษย์ได้ บังเอิญพระพุทธศาสนามีคำตอบในเรื่องนี้โดยได้เปรียบเทียบมนุษย์ที่อยู่เหนือมนุษย์ได้โดยการพัฒนาจนกลายเป็นผู้รู้แจ้งนั่นคือการตรัสรู้เช่นพระพุทธเจ้า พระพุทธสาวกทั้งหลายเมื่อก่อนก็เป็นมนุษย์ธรรมดา แต่เมื่อพัฒนาจิตจนถึงระดับหนึ่งที่เรียกว่าเป็นพระอรหันต์ก็กลายเป็นอภิมนุษย์ แม้ว่าวิธีการของนิทเช่และพระพุทธศาสนาจะแตกต่างกัน แต่ว่ามีเป้าหมายคล้ายกัน
วันที่ 15 ตุลาคม 2387 วันคล้ายวันเกิดของนิทเช่ หากนับถึงปัจจุบันก็เป็นเวลานานกว่า 166 ปี แต่วันที่ 14 ตุลาคม 2516 เหตุการณ์เกิดที่ประเทศไทยพึ่งผ่านไปไม่นานดูเหมือนว่าคนไทยส่วนหนึ่งไม่ค่อยอยากให้พูดถึง ผู้ที่สร้างผลงานอันทรงคุณค่าไว้ในโลก แม้จะตายไปแล้วหลายปีก็ยังมีคนคิดถึง ขอคารวะให้กับสิ่งที่นิทเช่คิด จากวันนี้ไปจะเริ่มต้นศึกษาปรัชญาหลังนวสมัยหรือโพสต์โมเดิร์นซึ่งเริ่มหาหนังสือของมิเซล ฟูโกต์ และดาริดามาอ่านแล้ว ความคิดใหม่ๆเกิดขึ้นได้ทุกเวลา ในขณะที่เวลาที่มีอยู่ของชีวิตเริ่มเหลือน้อยลงทุกวัน
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
19/10/53