ได้พบกับเพื่อนสมัยเรียนชั้นประถมโดยบังเอิญ ตอนแรกจำไม่ได้ แต่พอได้ยินชื่อรู้สึกเหมือนคุ้นหูจึงถามไถ่ที่มาที่ไปจึงได้ทราบว่าเขาคือเพื่อนคนหนึ่งที่เคยเรียนด้วยกันสมัยชั้นประถม ปัจจุบันหันมายึดอาชีพเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง ได้งานบ้างไม่ได้งานบ้างแต่ก็พอประคับประครองหาเลี้ยงครอบครัวไปได้ไม่ลำบากนัก แต่ละคนต่างก็มีความหวัง แต่ชีวิตมนุษย์มักจะคาดหวังอะไรล่วงหน้าไม่ค่อยได้
เพื่อนคนนี้สมมุติชื่อว่าวิเชียร สมัยเรียนหนังสือเรียนเก่งมาก ถ้าหากพ่อแม่มีเงินพอคงเรียนจบในชั้นสูงๆ หากไม่มีอะไรผิดพลาดเขาคงได้ทำงานเป็นข้าราชการอย่างน้อยก็เป็นครูหรือนายตำรวจ อย่างที่เขาฝันใฝ่ตั้งแต่เด็ก เขาเคยบอกว่า “ถ้ามีโอกาสข้าฯอยากเป็นตำรวจ จะได้จับผู้ร้าย คอยปรายปรามขโมยทั้งหลาย หากเป็นตำรวจไม่ได้ก็อยากเป็นครูจะได้สอนเด็กให้เป็นคนดี” นั่นเป็นความฝันเมื่อยังเด็ก เมื่อวิเชียรหันมาถามว่า “แล้วเอ็งอยากเป็นอะไร”ในตอนนั้นจำได้ว่าตอบไปสองอย่างคืออยากเป็นนักการเมืองและอยากเป็นครู ถ้าไม่ได้เป็นนักการเมืองข้าฯคงต้องเรียนให้สูงที่สุดเท่าที่พ่อแม่จะมีเงินส่งให้เรียน
นั่นเป็นความฝันของเด็กชนบทในพื้นที่ห่างไกลความเจริญมาก ถนนหนทางยังเป็นหลุมเป็นบ่อ โรยด้วยหินกรวด พอถึงเวลาในช่วงหน้าแล้งจะกลายเป็นฝุ่นสีแดง แต่พอถึงหน้าฝนจะกลายเป็นดินโคลน ความคิดความฝันในวัยเด็กกับการเดินทางเพื่อแสวงหาความจริงตามเป้าหมายมักจะเดินสวนทางกันเสมอ เผลอตัวหลงสติเมื่อไหร่ออกนอกความฝันเมื่อนั้น
วิเชียรเรียนจบแค่ชั้นประถมปีที่หก จากนั้นก็ต้องหยุดเรียนหันไปช่วยพ่อแม่ทำนา ทำสวนตามอาชีพเดิมของบรรพบุรุษและด้วยความที่ชอบชกต่อยจึงกลายเป็นนักมวยเที่ยวชกตามงานวัดต่างๆ ส่วนมากจะแพ้มากกว่าชนะ แต่เขาก็สนุก จนกระทั่งโตขึ้นจึงได้เดินทางไปทำงานยังประเทศซาอุดิอาระเบีย (สมัยนั้นยังมีความสัมพันธ์อันดี เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนกรณีเพชรชาอุฯ) ทำงานได้หลายปีจนมีความรู้ทางด้านการก่อสร้าง พอกลับมายังบ้านเกิดจึงได้ยึดอาชีพเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างตามชนบท
ส่วนผู้เขียนพอเกณฑ์ทหารเสร็จพ่อแม่ขอให้บวชตามประเพณี แต่พอออกพรรษาอาจารย์ได้พาท่องเที่ยวกรรมฐานตามป่าเขาลำเนาไพรต่างๆ รู้สึกว่าเป็นชีวิตที่อิสระไม่ต้องวุ่นวายกับการทำมาหาเลี้ยงชีพ มีเท่าไหร่ก็ใช้เท่านั้น บางวันแม้จะหิวก็ไม่ถึงกับหิวโหย เพราะใจไม่ได้คำนึงถึงมากนัก แต่วันหนึ่งเมื่อหลวงพ่ออุปัชฌาย์ขอร้องให้เรียนหนังสือจึงได้เริ่มเรียนภาษาบาลี จนกลายเป็นพระมหาเปรียญในปัจจุบัน
สรุปว่าความฝันในวัยเด็กไม่มีใครบรรลุเป้าหมายเลย ในวันนี้จึงเป็นเพียงหลวงตาแก่ๆกับชายชราที่รอวันเวลาในช่วงสุดท้ายของชีวิตจะมาเยือนเท่านั้น ชีวิตในวัยเด็กมองไปข้างหน้าอย่างมีหวัง มองย้อนหลังก็มีความสุข แต่ชีวิตคนแก่มองไปข้างหน้าหมดหวัง มองย้อนหลังก็หดหู่ ดูเหมือนว่าเวลาจะหมุนเร็วขึ้นทุกวัน เวลาที่เหลืออยู่น้อยลง แต่เวลาที่ผ่านมามากขึ้น
เมื่อได้พูดคุยถึงความหลังดูเหมือนว่าเหตุการณ์นั้นจะพึ่งผ่านมาไม่นาน สมัยเด็กเราอยากให้เวลาหมุนเร็วขึ้นเราจะได้โตเป็นหนุ่มมีอาชีพการงาน หาเงินได้ แต่ดูเหมือนว่าเวลาไม่เคยทำตามใจเราสักทีคงเดินไปอย่างแช่มช้ากว่าจะถึงสิ้นปีดูเหมือนว่านานแสนนาน
แต่พอเริ่มแก่ตัวลง เราอยากให้เวลาหมุนช้าลง จะได้มีเวลาอยู่ดูโลกนี้นานๆแต่เจ้าเวลาไม่เคยทำตามที่เราคิดเพราะหมุนเร็วมาก ไม่นานก็จะสิ้นปีอีกแล้ว สิ่งที่คิดว่าจะทำก็ยังไม่ได้ทำหมดเวลาเสียก่อน วันหนึ่งเวลาหมุนเร็วมากไม่นานก็ค่ำและไม่นานก็สว่างอีกแล้ว
ข้อเท็จจริงคือเวลาหมุนไปเท่าเดิม แต่ความคิดของมนุษย์ต่างหากที่เข้าไปผูกพันกับกาลเวลา ในพระพุทธศาสนาได้กล่าวถึงธรรมว่าไม่ขึ้นกับกาลเวลา มีแสดงไว้ในวัตถูปมสูตร มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาส (12/95/49) ว่า “พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว อันบุคคลพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนจะพึงรู้เฉพาะตน”
พระธรรมมีลักษณะอย่างหนึ่งไม่ประกอบด้วยกาล หมายความว่าไม่ขึ้นกับกาลเวลา พร้อมเมื่อใดบรรลุได้ทันที บรรลุเมื่อใดเห็นผลได้ทันที หรือธรรมะนั้นเป็นจริงอยู่อย่างไรก็เป็นอยู่อย่างนั้นไม่จำกัดด้วยกาล
ธรรมะจึงเป็นความจริงที่มีอยู่คู่กับโลก ใครที่มีความพร้อมเมื่อใดก็สามารถเข้าถึงธรรมะได้เมื่อนั้น กาลเวลาจึงเป็นเพียงสิ่งสมมุติหรือทำให้มนุษย์ต้องกังวลกับช่วงของวันเวลา แต่การปฏิบัติธรรมอยู่ที่ความพร้อม เรามัวแต่วิ่งตามเวลาด้วยความเร่งรีบ บางคนต้องตื่นแต่เช้าเพี่อที่จะได้เดินทางไปให้ทันกับเวลาทำงาน และต้องทำงานอย่างรีบเร่งเพื่อให้ทันกับเวลาเลิกงาน จนลืมปัจจุบันขณะไป
หากมีชีวิตอยู่กับปัจจุบันอยู่กับลมหายใจเข้าออก เมื่อหายใจเข้าก็ให้รู้ว่าหายใจเข้า เมื่อหายใจออกก็ให้รู้ว่าหายใจออก นั่นคือการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่งเรียกว่าอานาปานสติกรรมฐานคือการมีสติระลึกกำหนดลมหายใจเข้าออก ซึ่งเป็นการฝึกกรรมฐานที่ง่ายที่สุด เพราะลมหายใจอยู่กับเราตลอดเวลา หากไม่หายใจเมื่อใดเมื่อนั้นก็สิ้นลม พระพุทธเจ้าก็ทรงยกย่องว่าเป็นธรรมที่ควรเจริญดังที่แสดงไว้ในเอกธัมมาทิบาลี อังคุตรนิกาย เอก(20/179/32) ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมอย่างหนึ่งที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความหน่ายโดยส่วนเดียว เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ธรรมอย่างหนึ่งนั้นคืออานาปานสติ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมอย่างหนึ่งนี้แลอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความหน่ายโดยส่วนเดียวเพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้เพื่อนิพพาน”คนส่วนหนึ่งมักจะมองแต่เรื่องที่อยู่ไกลตัว จนหลงลืมเรื่องสำคัญที่อยู่ใกล้ตัวและอยู่กับเราตลอดเวลาคือลมหายใจเข้าออกของเราเอง
วันนั้นได้คุยกับเพื่อเก่าแต่ต่างสถานะกัน คนหนึ่งเป็นช่างรับเหมาก่อสร้างที่กำลังตกงาน แต่อีกคนเป็นพระที่เริ่มแก่ชราตามสภาพ สายตาฟ้าฟางสุู้แดดไม่ค่อยได้ จึงต้องใส่แว่นตาดำเมื่ออยู่กลางแดด มองไม่เห็นอนาคตอยู่ไปวันๆอยู่กับลมหายใจเข้าออก โลกจะหมุนช้าลงหรือหมุนเร็วขึ้นก็ตามสิ่งที่มีความปรารถนามากที่สุดในทุกวันที่ตื่นขึ้นมาในตอนเช้าคือ “ขอเพียงในแต่ละนาทีให้มีลมหายใจออกก็เพียงพอแล้ว”
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
08/10/53
วันนี้พระธรรมสวนะ แรม 8 ค่ำ เดือน10 ขอเชิญฟังธรรมเทศนาบรรยายพระสุตตันตปิฎก
เอกนิบาต กรรมนิยวรรค1: โดยพระเทพดิลก วัดบวรนิเวศวิหาร
{mp3}ekanipata 1{/mp3}
เอกนิบาต กรรมนิยวรรค2
{mp3}ekanipata2{/mp3}
เอกนิบาต กรรมนิยวรรค3
{mp3}ekanipata3{/mp3}