คำสอนของพระพุทธศาสนาในเบื้องต้นมักจะเน้นที่ทาน ศีล ภาวนา เรื่องของการให้ทานและรักษาศีลเป็นที่เข้าใจได้ไม่ยาก แต่ทำยาก ส่วนการภาวนาต้องแยกกล่าวให้มีความแตกต่างออกไป เพราะมีวิธีการที่จะต้องอาศัยท่านผู้รู้คอยให้คำแนะนำ แต่ถ้าภาวนาเพื่อทำให้เกิดความสงบใจนั้นไม่ต้องมีใครสอนก็ทำได้ เพียงแต่อยู่นิ่งๆและก็เลิกคิดปล่อยให้จิตทำหน้าที่ไป หากเลิกคิดได้ใจก็จะสงบเพราะธรรมชาติของจิตนั้นผุดผ่องอยู่แล้ว
ในส่วนของผู้ให้ทานและได้รับการยกย่องว่าเป็นเลิศกว่าผู้ถวายทานทั้งหลายนั้นต้องยกให้อนาถปิณฑิกเศรษฐี ดังที่ปรากฎในอังคุตรนิกาย เอกนิบาต (20/151/26) ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย สุทัตตอนาถปิณฑิกคฤหบดี เลิศกว่าพวกอุบาสกสาวกของเราผู้ถวายทาน”
อัตตชีวประวัติของอนาถปิณฑิกเศรษฐีนั้นน่าสนใจเขาเป็นผู้สร้างเชตวันมหาวิหาร ที่เมืองสาวัตถี ถวายพระพุทธศาสนา โดยลงทุนซื้อที่ดินจากเจ้าเชตด้วยการนำเงินมาวางจนเต็มพื้นที่เท่าที่จะสามารถวางได้จนกระทั่งเงินที่มีอยู่หมดสิ้น จึงได้ที่ดินมาหลายไร่แต่เงินหมดก่อน เจ้าเชตเห็นเจตนาอันเป็นกุศลจึงได้ถวายที่ดินที่เหลือเพื่อให้เศรษฐีสร้างวัด แต่ขอให้ชื่อของตนเองเป็นชื่อวัด ดังนั้นวัดนั้นจึงได้ชื่อว่า “เชตวนาราม หรือวัดเชตวัน” ส่วนคนสร้างไม่มีชื่อปรากฎเลย ที่เมืองสาวัตถีนี้พระพุทธเจ้าทรงอยู่จำพรรษานานกว่ายี่สิบห้าปี สลับกันระหว่างวัดเชตวันและวัดบุปผาราม
อนาถปิณฑิกเศรษฐียังคงทำบุญโดยการถวายทานทำบุญในพระพุทธศาสนาและตั้งโรงทานเพื่อคนอนาถาทั้งหลาย ได้ชื่อว่าเป็นเศรษฐีที่ใจบุญที่สุดในยุคนั้น จนกระทั่งปั้นปลายได้เสียชีวิตและได้ไปบังเกิดยังสวรรค์ชั้นดุสิต เมื่อเห็นสมบัติที่ตนได้เพราะการทำบุญในพระพุทธศาสนาจึงได้มาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าดังที่ปรากฎในอนาถปิณฑิโกวาทสุตร มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ (14/738/353) ความว่า “ครั้งนั้นล่วงปฐมยามไปแล้ว อนาถบิณฑิกเทพบุตรมีรัศมีงามส่องพระวิหารเชตวันให้สว่างทั่ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ แล้วถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอยืนเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาเหล่านี้ว่า
“พระเชตวันนี้มีประโยชน์ อันสงฆ์ผู้แสวงบุญอยู่อาศัยแล้วอันพระองค์ผู้เป็นธรรมราชาประทับ เป็นที่เกิดปีติแก่ข้าพระองค์สัตว์ทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์ด้วยธรรมห้าอย่างนี้คือกรรม วิชชา ธรรม ศีล ชีวิตอุดม ไม่ใช่บริสุทธิ์ด้วยโคตรหรือด้วยทรัพย์ เพราะฉะนั้นแลบุคคลผู้เป็นบัณฑิต เมื่อเล็งเห็นประโยชน์ของตน พึงเลือกเฟ้นธรรมโดยแยบคาย จะบริสุทธิ์ในธรรมนั้นได้ด้วยอาการนี้” สาระสำคัญในพระสูตรนี้สรุปได้ว่าคนจะบริสุทธิ์หรือจะเป็นคนดีหรือไม่นั้นมาจากสาเหตุห้าประการ
คำว่า “กรรม” มาจากภาษาบาลีว่า “กมฺม” แปลว่า กรรม การกระทำ การงาน คนเราจะบริสุทธิ์หรือสมบูรณ์มีคุณค่าให้ดูที่การกระทำหรือการงานที่เขาทำ กรรมเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงอนาคตของแต่ละคน สามารถคาดเดาอนาคนของแต่ละบุคคลได้ คนที่ชอบทำบุญอนาคตที่คาดหวังได้ก็คือความสุขหรือแดนแห่งสวรรค์นั่นเอง
คำว่า “วิชชา” แปลเป็นภาษาไทยว่าความรู้ ที่เรียนกันในระบบโรงเรียนปัจจุบันเรียกว่าเป็นความรู้อย่างหนึ่งที่ทำให้คนเรานำไปประกอบอาชีพได้ ส่วนวิชาในการดำเนินชีวิตนั้นต้องเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงของแต่ละบุคคล บางคนอาจจะไม่ได้เรียนจบจากสถาบันการศึกษาใดๆเลยก็ได้แต่ก็มีความรู้ในการทำมาหาเลี้ยงชีพและสามารถดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขก็ได้ ในพระพุทธศาสนาได้อธิบายคำว่า “วิชชา” หมายถึงความรู้แจ้งหรือความรู้วิเศษไว้ถึงแปดประการในทีฆนิกาย สีลขันธวรรค(9/131/72) คือวิปัสสนาญาณ มโนมยิทธิ อิทธิวิธี ทิพพโสต เจโตปริยญาณ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ทิพพจักขุและอาสวักขยญาณ” ความรู้วิเศษเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการบำเพ็ญภาวนาหรือการฝึกอบรมจิตตามลำดับ
ส่วนคำว่า “ชีวิตอันอุดม” หมายถึงชีวิตที่ปราศจากมลทินความเศร้าหมองต่างๆ ชีวิตแบบนี้ต้องใช้ความพยายามอย่างมาก ยิ่งสังคมโลกในปัจจุบันมีสิ่งยั่วยวนมาก หากไม่ตั้งใจจริงมีหวังหลงไปในวังวนแห่งความมัวเมาได้ทุกเมื่อ
ใครก็ตามหากดำเนินชีวิตตามธรรมทั้งห้าประการก็จะสามารถนำไปสู่ความบริสุทธิ์สมบูรณ์ได้ จะเห็นได้ว่าองค์ประกอบที่สำคัญที่จะทำให้คนดีหรือไม่นั้นคือการมีธรรมหรือคุณธรรมประจำใจ มิใช่อยู่ที่การมีทรัพย์สมบัติแต่ประการใด ดังที่มีกวีท่านหนึ่งได้เขียนเป็นบทกลอนสอนใจไว้อย่างน่าใจว่า
อันคนดีมิใช่ดีด้วยที่ทรัพย์ มิใช่นับโคตรเหง้าเหล่าพงศา
คนดีนี้ดีด้วยการงานนานา อีกวิชาศีลธรรมนำให้ดี ฯ
อนาถปิณฑิกเศรษฐีทำคุณงามความดีมาตลอดชีวิต สร้างวัดถวายไว้ในพระพุทธศาสนา แม้ปัจจุบันวัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ประเทศอินเดีย ก็ยังมีคนไปเยือนไม่เคยขาด เขาทำดีเพื่อความดีจริงๆ แม้แต่ชื่อวัดที่ตนเองสร้างแท้ๆก็ยังเป็นชื่อของคนอื่นๆ การทำดีนั้นจึงไม่ได้จำกัดไว้เฉพาะใครคนใดคนหนึ่ง การกระทำของแต่ละบุคคลนั่นแหละจะเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าเขาคนนั้นจะเป็นคนเช่นไร การกระทำ วิชาความรู้ ธรรม ศีล ชีวิตอุดมจะเป็นเครื่องบอกถึงอนาคต
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
07/10/53