วันนี้หลายคนต้องกลายเป็นคนตกงานเพราะต้องเกษียณอายุราชการ คนที่มีอายุครบหกสิบปีบริบูณ์จะต้องถึงเวลาพักผ่อน เพราะระบบข้าราชการเมืองไทยโดยทั่วไปกำหนดให้คนที่มีอายุครบหกสิบปีต้องเกษียณจากการทำงานที่ตรากตรำมาตลอดระยะเวลาอันยาวนาน บางคนทำงานเกือบสี่สิบปี จู่ๆก็ต้องตกงาน ทุกวันเคยออกจากบ้านตั้งแต่เช้าตรู่ต้องผจญกับสภาพการจราจรที่ติดขัด ก็ถึงเวลาได้หยุดพักเสียที บางคนอาจดีใจที่ไม่ต้องทำงานเดิมๆอันแสนเบื่อหน่าย แต่บางคนยังอยากทำงานต่อไปอีก เพราะความจำเป็นบางประการเช่นบ้านก็ยังผ่อนไม่หมด รถก็ยังต้องผ่อน ลูกยังเรียนไม่จบ แต่ระบบก็คือระบบอาจจะมีการต่ออายุราชการบ้างในบางตำแหน่ง แต่โดยทั่วไปคนอายุหกสิบปีต้องเกษียณในในที่ 30 กันยายนของทุกปี
ความหวังของมนุษย์นั้นอาจจะสมหวังหรือผิดหวังก็ได้ ในพระพุทธศาสนาได้แสดงข้อที่ภิกษุพึงหวังเมื่อปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธศาสนาไว้ในอากังเขยยสูตร มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ (13/73/43)สรุปความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุจะพึงหวังว่า ขอเราพึงเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจ เป็นที่เคารพ และเป็นผู้ควรยกย่องของเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ภิกษุนั้นพึงกระทำให้บริบูรณ์ในศีล หมั่นประกอบธรรมเครื่องระงับจิตของตน ไม่ทำฌานให้เหินห่าง ประกอบด้วยวิปัสสนา พอกพูนสุญญาคาร” ในข้อนี้แม้ฆราวาสก็สามารถหวังได้เหมือนกันว่าขอเราพึงเป็นที่รักที่ชอบใจของมหาชน ข้อปฏิบัติก็สามารถประยุกต์ใช้ได้คือมีความเป็นปกติเสมอต้นเสมอปลาย หักห้ามจิตไม่ให้หลงมัวเมาจนเกินไปเป็นต้น ศีลแปลว่าความเป็นปกติ คนมีศีลก็คือคนที่มีความเป็นปกตินั่นเอง
คนที่มีอายุหกสิบปีน่าจะมีความพอในเกือบทุกอย่างแล้ว เพราะได้ทำหน้าที่มาอย่างเต็มที่ควรจะถึงเวลาแห่งการพักผ่อนได้แล้ว อาจจะสรุปหลักธรรมสั้นๆสำหรับคนในวัยเกษียณได้สี่ประการคือ “รู้จักพอ รู้จักให้ รู้จักปล่อยวาง เห็นทุกอย่างเป็นธรรมดา” ซึ่งมีสาระโดยสรุปดังนี้
รู้จักพอ ชีวิตได้ผ่านเหตุการณ์มาหลากหลายประการได้เห็นทั้งโลกและธรรม ตามที่ปรากฎในโลกธรรมแปดประการดังที่ปรากฎในโลกธรรมสูตร อังคุตรนิกาย อัฏฐกนิบาต(23/96/122)ความว่าโลกธรรมแปดประการนี้ ย่อมหมุนไปตามโลกและโลกย่อมหมุนไปตามโลกธรรมแปดประการคือ ลาภ ความเสื่อมลาภ ยศ ความเสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุข ทุกข์ ธรรมในหมู่มนุษย์เหล่านี้เป็นสภาพไม่เที่ยง ไม่แน่นอน มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา แต่ท่านผู้เป็นนักปราชญ์ มีสติ ทราบธรรมเหล่านั้นแล้ว พิจารณาเห็นว่ามีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ธรรมอันน่าปรารถนา ย่อมย่ำยีจิตของท่านไม่ได้ ท่านย่อมไม่ยินร้ายต่ออนิฏฐารมณ์ ท่านขจัดความยินดีและความยินร้ายเสียได้จนไม่เหลืออยู่ อนึ่งท่านทราบทางนิพพานอันปราศจากธุลี ไม่มีความเศร้าโศก เป็นผู้ถึงฝั่งแห่งภพ ย่อมทราบได้อย่างถูกต้อง ” ชีวิตในวัยเกษียณจึงควรรู้จักพอ
รู้จักให้ เมื่อพอก็ควรให้ในสิ่งที่ตนมี อาจจะเป็นสมบัติทรัพย์สินเงินทองที่เก็บสะสมมาตลอดอายุราชการ พอถึงวัยพักก็ควรหาทางตอบแทบคุณแผ่นดิน ประเทศชาติหรือให้แก่คนรอบข้าง ญาติสนิทมิตรสหายทั้งหลายตามสมควร ชีวิตที่เหลืออยู่คือการให้ย่อมจะทำให้มีความสุข เพราะผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ดังที่ปรากฎในมนาปทายีสูตร อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต (22/44/44) ความว่า "ผู้ให้ของที่พอใจ ย่อมได้ของที่พอใจ ผู้ให้ของที่เลิศ ย่อมได้ของที่เลิศ ผู้ให้ของที่ดีย่อมได้ของที่ดี และผู้ให้ของที่ประเสริฐ ย่อมเข้าถึงสถานที่ประเสริฐ นรชนใดให้ของที่เลิศ ให้ของที่ดี และให้ของที่ประเสริฐ นรชนนั้นจะบังเกิด ณ ที่ใดๆ ย่อมมีอายุยืน มียศ” ที่สำคัญผู้ให้ย่อมเป็นที่รักของคนอื่นเสมอ คนในวัยนี้ควรรู้จักเป็นผู้ให้ แม้จะไม่ใช่สิ่งของเงินทอง แต่อาจจะเป็นการให้คำแนะนำ ให้วิชาความรู้แก่คนรุ่นหลังก็ได้ชื่อเป็นผู้รู้จักให้ย่อมจะมีความสุขจากการเป็นผู้ให้ตามสมควร
รู้จักปล่อยวาง ชีวิตดำเนินมาถึงขั้นนี้แล้ว ไม่ควรแบกทุกอย่างไว้บนบ่าแห่งความรับผิดชอบให้หนักอึ้งอีกต่อไป ผู้รู้ท่านแนะนำไว้ว่า “ปล่อยว่าง วางเบา เอาหนัก รักทุกข์” คนที่มีอายุมาถึงหกสิบปีได้ถือว่าผ่านร้อนผ่านหนาวมามากพอแล้ว ควรถึงเวลาต้องปล่อยวางกันแล้ว
เห็นทุกอย่างเป็นธรรมดา เรื่องนี้เป็นหลักธรรมขั้นสูง ในพระพุทธศาสนาได้แสดงสิ่งที่เป็นธรรมดาทั่วไปของสิ่งทั้งหลายว่ามีความเหมือนกันนั่นคือสามัญลักษณะดังที่ปรากฎในอุปปาทสูตรอังคุตรนิกาย ติกนิบาต(20/576/273)ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตอุบัติขึ้นก็ตาม ไม่อุบัติขึ้นก็ตาม ธาตุนั้นคือความตั้งอยู่ตามธรรมดา ความเป็นไปตามธรรมดาก็คงตั้งอยู่อย่างนั้นเอง ตถาคตตรัสรู้ บรรลุธาตุนั้นว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยงครั้นแล้วจึงบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนกทำให้เข้าใจง่ายว่าสังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ครั้นแล้วจึงบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก ทำให้เข้าใจง่ายว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา” นั่นคือความเป็นไปตามธรรมดาของสิ่งทั้งหลาย ต้องมองให้เห็นตามสภาพความเป็นจริง
ในส่วนของคนที่เกษียณอายุราชการในปีนี้ อาจจะมีความหวังตั้งแต่เริ่มทำงาน จนกระทั่งหมดเวลาทำงาน ส่วนใครจะสมหวังหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับวิธีการของแต่ละบุคคลเหมือนกัน บางคนทำงานพร้อมกัน คนหนึ่งขึ้นไปถึงตำแหน่งสูงสุด ในขณะที่อีกคนไปไม่ถึงไหนยังคงเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในตำแหน่งเดิมๆ จนกระทั่งเกษียณ การมีความหวังก็เป็นกำลังใจอย่างหนึ่งที่ทำให้มนุษย์มีเป้าหมาย แต่พอไปถึงเป้าหมายแล้วการตั้งความหวังก็ไม่มีความหมายอีกต่อไป เหมือนเรือที่ทำหน้าที่ข้ามฟาก พอส่งถึงฝั่งก็หมดหน้าที่ การทำงานในหน้าที่ก็คล้ายกันเมื่อหมดเวลาก็หมดหน้าที่ “หากรู้จักพอ รู้จักให้ รู้จักปล่อยวาง เห็นทุกอย่างเป็นธรรมดา”ชีวิตนี้ก็อยู่อย่างมีคุณค่า เมื่อเวลาแห่งชีวิตยังเหลืออยู่ก็ต้องสู้ อย่าพึ่งหมดแรงสิ้นหวังขาดกำลังใจ ตราบใดที่ลมหายใจยังไม่สิ้นชีวิตก็ต้องดิ้นกันต่อไป
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
01/10/53
วันนี้วันธรรมสวนะ แรม 8 ค่ำ เดือน 10 ขอเชิญฟังธรรมบรรยาย
อากังเขยยสูตร: บรรยายโดยพระเทพดิลก วัดบวรนิเวศวิหาร
{mp3}akankeyya{/mp3}